Solar roof กับ นโยบายจูงใจให้เกิดการติดตั้งในครัวเรือน

ในปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (solar roof)1 เป็นที่สนใจของครัวเรือนอย่างแพร่หลายมากขึ้นในหลายประเทศ มีครัวเรือนจำนวนมากสนใจลงทุนติดตั้ง solar roof เนื่องจากระบบดังกล่าวช่วยให้ผู้ที่ติดตั้งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนได้มาก อีกทั้งยังเป็นระบบที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานนับสิบปีโดยไม่จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษามากนัก นอกจากนี้ ภาครัฐในหลายประเทศได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ solar roof ในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนและถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ (low carbon) ได้
อย่างไรก็ดี การติดตั้งระบบ solar roof จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ทำให้บางครัวเรือนไม่สามารถติดตั้งระบบได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการจูงใจให้ครัวเรือนสนใจลงทุนติดตั้งระบบมากขึ้น หลายประเทศจึงมีนโยบายส่งเสริมที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา หลายรัฐได้เลือกใช้นโยบายระบบหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป (Net Energy Metering หรือ NEM) ซึ่งเป็นการให้เครดิตส่วนลดในกรณีที่ครัวเรือนผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าไฟฟ้าที่ใช้ หมายความว่า เมื่อครัวเรือนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา และผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ใช้ในครัวเรือน ไฟฟ้าส่วนเกินนี้จะถูกแปลงเป็นเครดิตส่วนลดในบิลค่าไฟฟ้าของเดือนถัดไป โดยที่ 1 หน่วยของไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกแปลงเป็นส่วนลดเทียบเท่ากับค่าไฟฟ้า 1 หน่วยในเดือนถัดไป
ถึงแม้ว่านโยบาย NEM นี้จะช่วยดึงดูดครัวเรือนจำนวนมากให้ลงทุนติดตั้ง solar roof แต่ทว่านโยบายดังกล่าวกลับส่งผลลบต่อครัวเรือนในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งน้อย กล่าวคือ นโยบาย NEM ทำให้เกิดการผลักภาระต้นทุนคงที่ไปให้กับครัวเรือนที่ไม่มีการติดตั้ง solar roof ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งน้อย ผลที่ตามมาคือ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยสำหรับครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งน้อยและไม่มีการติดตั้ง solar roof มีราคาที่สูงขึ้น นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บางรัฐ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีการทบทวนนโยบาย NEM หลายครั้งเพื่อลดปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนียได้เปลี่ยนมาใช้นโยบาย NEM 3.0 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2023 โดย NEM 3.0 ลดมูลค่าของการให้เครดิตส่วนลดเหลือเพียง 25% การตัดสินใจลดมูลค่าของเครดิตนี้อาจช่วยลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อครัวเรือนที่ไม่ติดตั้ง solar roof ได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดการจูงใจให้ครัวเรือนใหม่ ๆ หันมาติดตั้ง solar roof ด้วยเช่นกัน เพื่อหาทางออกให้กับปัญหานี้ Bollinger et al. (2025) จึงได้ศึกษาหาแนวทางจูงใจในรูปแบบอื่น ๆ แทนการใช้นโยบาย NEM
Bollinger et al. (2025) ได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Sunroof เพื่อประเมินศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพของหลังคาบ้าน (เช่น ขนาดพื้นที่ ทิศทางของหลังคา เป็นต้น) อีกทั้งยังทำการเชื่อมโยงข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมกับฐานข้อมูลอื่น ๆ เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน การใช้ไฟฟ้า และการจดทะเบียนติดตั้ง solar roof ของครัวเรือน เพื่อประเมินศักยภาพของครัวเรือน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ของรัฐแคลิฟอร์เนียในระหว่างปี 2014 ถึง 2016 จำนวนทั้งสิ้น 183,667 ครัวเรือน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลในช่วงที่ยังใช้นโยบาย NEM แบบเดิมที่เครดิตยังไม่โดนลดมูลค่า
การศึกษานี้ได้มีการพัฒนาแบบจำลอง dynamic discrete choice เพื่อวิเคราะห์การตัดสินใจและแรงจูงใจของครัวเรือนในการติดตั้ง solar roof โดยการประมาณค่าอัตราคิดลดแฝง (implicit discount rate) จากอรรถประโยชน์รวมที่ครัวเรือนจะได้รับในอนาคตจากการติดตั้ง
ผลการประมาณค่าจากแบบจำลองเมื่อแยกตามระดับความมั่งคั่งของครัวเรือนตัวอย่าง พบว่า ครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งมากมีอัตราคิดลดแฝงที่ 10.0% ส่วนครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งปานกลางมีอัตราคิดลดแฝงที่ 13.8% และครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งน้อยมีอัตราคิดลดแฝงที่ 15.3% กล่าวคือ ครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งน้อยจะได้รับอรรถประโยชน์รวม ณ ปัจจุบันจากการติดตั้ง solar roof ต่ำกว่าครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งมาก แสดงให้เห็นว่า รัฐควรใช้นโยบายจูงใจที่ให้ผลตอบแทนจากการติดตั้ง solar roof แก่ครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งน้อย "สูงกว่า" ครัวเรือนที่ความมั่งคั่งมาก
นอกจากนี้ ในการศึกษานี้ยังได้มีการปรับแบบจำลองเพื่อทดสอบสถานการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง (counterfactual) โดยจำลองการใช้นโยบายลดมูลค่าเครดิตลงเช่นเดียวกับ NEM 3.0 แล้วนำเงินครึ่งหนึ่งของเครดิตที่ประหยัดได้ไปช่วยเหลือในการลงทุนติดตั้ง solar roof แทน ผลลัพธ์ที่ได้คือ ขนาดของการติดตั้ง solar roof ในครัวเรือนใหม่ ๆ โดยรวมมีระดับใกล้เคียงกับก่อนที่จะปรับลดมูลค่าเครดิตลง และยังพบว่าครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งน้อยมีสัดส่วนในการติดตั้งที่มากขึ้นกว่าตอนก่อนลดมูลค่าเครดิต ในขณะที่ครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งมากมีการติดตั้งที่ลดลง ซึ่งหมายถึงวิธีการนี้ช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียมของนโยบายจูงใจให้น้อยลงได้ โดยยังรักษาระดับการเติบโตของการติดตั้ง solar roof ไว้ได้
งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยเสนอทางเลือกใหม่สำหรับนโยบายจูงใจติดตั้ง solar roof โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียม และยังเป็นการใช้งบประมาณของรัฐหรือผู้ให้บริการไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งอนาคตอาจเป็นทางเลือกที่สำคัญของหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยให้สามารถเข้าสู่การเป็นประเทศ carbon neutrality ได้เร็วยิ่งขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง
- Solar roof เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้หลักการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ photovoltaic (แผง PV) บนหลังคาบ้านพักอาศัย หรือ อาคาร โดยพลังงานไฟฟ้าจะถูกเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าในครัวเรือนจากการติดตั้งชุดควบคุม inverter↩