เศรษฐกิจจีน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง กับความท้าทายด้านภูมิเศรษฐศาสตร์

note
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ศาสตราจารย์จัสติน ยี่ฟู ลิน (Justin Yifu Lin) ได้บรรยายในหัวข้อ “China’s Economy, Structural Changes and the New Geoeconomic Landscape” ในงาน Academic Network ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันศาสตราจารย์ลินดำรงตำแหน่งคณบดีของ The Institute of New Structural Economics แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเคยดำรงตำแหน่ง Chief Economist ของธนาคารโลกระหว่างปี พ.ศ. 2551–2555 บทความนี้เป็นบทสรุปสาระสำคัญของการบรรยายของศาสตราจารย์ลิน และไม่ได้แสดงถึงแนวคิดของผู้เขียนบทความ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
หลังจากที่ประเทศจีนได้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ของจีนเพิ่มขึ้นจากเพียง 156 ดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 1978 (ซึ่งถือว่าน้อยกว่าหนึ่งในสามของ GDP per capita ของประเทศไทยในขณะนั้น) เป็นเกือบ 50 เท่า การเติบโตที่รวดเร็วดังกล่าวทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกหากพิจารณาจากระดับของ nominal GDP นอกจากนี้ หากพิจารณาในมิติของสัดส่วนของเศรษฐกิจจีนต่อเศรษฐกิจโลก พบว่าสัดส่วนของเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มจากประมาณ 4% ของ GDP โลกในปี ค.ศ. 2000 เป็น 16% ในปี ค.ศ. 2018 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ค่อนข้างรวดเร็วนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึง "การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่" ของจีน
นอกจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว เศรษฐกิจของจีนยังมีความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) ที่ค่อนข้างสูง โดยในช่วงเวลาที่หลายประเทศในภูมิภาคได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากวิกฤตการเงินในเอเชียในช่วงปี ค.ศ. 1997–98 เศรษฐกิจจีนในขณะนั้นยังคงมีเสถียรภาพ ในเวลาต่อมา เมื่อเศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี ค.ศ. 2008 ประเทศจีนยังคงรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเฉลี่ยในช่วง 7 ปีต่อมาอยู่ที่ประมาณ 9.4% ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศคู่ค้าของจีนรวมถึงประเทศไทย
ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G8 ซึ่งได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี รัสเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เคยมีสัดส่วนถึง 47% ของ GDP โลกในช่วงปี ค.ศ. 2000 แต่ในปี ค.ศ. 2018 ส่วนแบ่งนี้กลับลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 35% ของ GDP โลก ในขณะที่สัดส่วนของเศรษฐกิจจีนต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 17%
ศาสตราจารย์ลินชี้ว่าเมื่อพิจารณานโยบายต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา นโยบายเหล่านี้พยายามจำกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสหรัฐฯ สังเกตได้จากการที่สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (protectionist policy) กับบางประเทศ เช่น การดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศจีนในช่วงของประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีไบเดน เช่นเดียวกับที่เคยมีการดำเนินนโยบายดังกล่าวกับประเทศญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษ 1980 นอกจากนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 สหรัฐฯ มีการสร้างฐานทัพในแถบเอเชียตะวันออกมากขึ้นในช่วงของประธานาธิบดีโอบามาซึ่งศาสตราจารย์ลินเชื่อว่าเป็นการพยายามกดดันจีนด้วยนโยบายทางการทหาร
แม้หลายฝ่ายจะมีความกังวลต่อความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ศาสตราจารย์ลินเชื่อว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายหากเศรษฐกิจจีนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีอิทธิพลมากขึ้น โดยหาก GDP per capita ของจีนเพิ่มขึ้นมาเป็นครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ เศรษฐกิจของจีนจะมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศจีนมีประชากรมากกว่าสหรัฐฯ ถึงสี่เท่า หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็ค่อนข้างยากที่สหรัฐฯ จะรักษาความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก รวมถึงสหรัฐฯ เองก็จะได้รับประโยชน์จากฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในจีน ซึ่งจะเป็นแหล่งรองรับสินค้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการในสหรัฐฯ
โดยทั่วไป การค้าระหว่างประเทศนั้นมีข้อดีหลายประการต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็ก ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มทางเลือกด้านสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็ได้รับประโยชน์จากการทำการค้ากับประเทศจีนเช่นกัน ผ่านการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบซึ่งประเทศจีนสามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ทั้งสหรัฐฯ และจีนน่าจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีระหว่างกัน
ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้จีนสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และหลีกเลี่ยงการเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ตลอดจนสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าหลายภาคส่วนจะมีความเชื่อว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แต่ประเทศจีนก็ยังมีศักยภาพที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะหากมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการยกระดับอุตสาหกรรม (industrial upgrading) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชื่อว่า “New Structural Economics”
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (structural transformation) มีความสำคัญมากต่อการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง ในกรณีของประเทศไทย หากภาคเกษตรกรรมมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำการเกษตรมากขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ ในกรณีของประเทศจีน สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการยกระดับอุตสาหกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศควบคู่กับการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ เมื่อประเมินจากความสำเร็จของเยอรมนี เกาหลี และญี่ปุ่นในอดีตที่มีการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เศรษฐกิจจีนก็น่าจะสามารถเติบโตได้ที่ 8% ต่อปีในช่วงปี ค.ศ. 2019–2035 หากจีนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้สำเร็จ
สุดท้ายนี้ ประเทศจีนมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) หลายประการซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้จีนสามารถรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตในระดับที่สูงกว่า 8% โดยปัจจัยที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมคือทรัพยากรมนุษย์ ปัจจุบัน ประเทศจีนมีบัณฑิตที่จบในสาขา STEM ปีละ 6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนบัณฑิตจบใหม่ในสาขา STEM ของทุกประเทศในกลุ่ม G8 รวมกันประมาณสองเท่า นอกจากนี้ ประเทศจีนยังมีความได้เปรียบจากการที่มีตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ นอกจากนี้ จีนมีระบบการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
ศาสตราจารย์ลินกล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า ถึงแม้ว่าความท้าทายและความขัดแย้งระหว่างประเทศจีนกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนน่าจะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความต้องการสินค้าและบริการของโลก อย่างไรก็ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้สหรัฐฯ และจีนมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสันติภาพของโลกและของภูมิภาค