ต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและมาตรการรับมือ
เนื้อหาการบรรยายในงาน PIER Research Brief นี้ ถูกกลั่นกรองจากบทความ ต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและมาตรการรับมือ
งานวิจัยของ รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากมลพิษทางอากาศต่อสังคมไทย โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจและความสุขในชีวิตของชาวไทยและรายได้ครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แบบสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานและข้อมูลประชากรของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนข้อมูลคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ งานวิจัยทำการประมาณมูลค่าความเต็มใจจ่ายเพื่อลดมลพิษทางอากาศด้วยวิธี subjective well-being ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าความพึงพอใจในชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับรายได้ สถานะทางสุขภาพ สภาพสังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสมมติว่าครัวเรือนจะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหากระดับความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในจังหวัดที่อาศัยอยู่สูงกว่าค่าแนะนำรายปีขององค์การอนามัยโลก
ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2562 ฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาท และหากรวมทุกสารมลพิษ (PM10, PM2.5, CO, NOx, NO2) มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจะสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท
ดร.วิษณุ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยเมื่อพิจารณารายจังหวัดจะพบว่า ครัวเรือนทุกจังหวัดของไทย (ยกเว้นภูเก็ต) ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศกันถ้วนหน้า โดย 5 จังหวัดแรกที่มีมูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนสูงสุดได้แก่ กรุงเทพฯ (ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 436,330 ล้านบาทต่อปีสำหรับ PM2.5 และ 927,362 ล้านบาทต่อปีเมื่อพิจารณาทุกสารมลพิษ) รองลงมาได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ1
นอกจากนี้ หากปรับใช้ค่าแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลกซึ่งพบว่า PM2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เพิ่มขึ้นจากในอดีตมาก มูลค่าความเสียหายจะสูงขึ้นจากที่รายงานไว้ข้างต้น โดย WHO ได้ยกระดับการเตือนภัยในปี 2564 ที่ผ่านมาด้วยการปรับค่าแนะนำใหม่เป็น 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี กล่าวคือ หาก PM2.5 ค่าสูงเกินกว่าค่าแนะนำ จะเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งไต หลอดเลือดในสมองอุดตัน หัวใจล้มเหลว สมองเสื่อม ภูมิแพ้ และหอบหืด เป็นต้น
เหตุใดมลพิษทางอากาศของประเทศไทยถึงทวีความรุนแรงมากขึ้น? งานวิจัยของ ดร.วิษณุ ระบุว่า หลักๆ แล้วมาจาก 3 ประเด็น ได้แก่
ที่ผ่านมา ไทยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจมากและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งสังเกตได้จากงบประมาณแผ่นดินที่ตั้งไว้สำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้เพียง 8,361-12,868 ล้านบาทต่อปีในช่วง 2560-2566 หรือคิดเป็น 0.270-0.491% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด โดยในปี 2566 ล่าสุด ตั้งงบประมาณไว้เพียง 0.33% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดซึ่งนับว่าน้อยกว่ามาเลเซียถึง 2 เท่า และสหภาพยุโรปถึง 5 เท่า อีกหนึ่งตัวอย่างได้แก่ การเก็บภาษีรถเก่าในอัตราที่ต่ำกว่ารถใหม่ทำให้มลพิษเพิ่มขึ้นเนื่องจากรถเก่าปลดปล่อยมลพิษที่มากกว่ารถใหม่
ที่ผ่านมา ไทยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยมาก กล่าวคือ มาตรการส่วนใหญ่ที่ใช้แก้ไขปัญหามักมีลักษณะบังคับให้ปฏิบัติตาม อาทิ มาตรการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง การใช้มาตรฐานไอเสียและน้ำมัน เป็นต้น โดยมาตรการบังคับเหล่านี้ทำให้เอกชนไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวเพื่อปรับปรุงวิธีการผลิตให้ดีขึ้น และ
ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและขาดกฎหมายที่บูรณาการการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ กล่าวคือ ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลคือกรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการกับปัญหาเพราะมักจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น ๆ ด้วย นอกเหนือไปจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ หากมีการลักลอบปล่อยมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษจะไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินการเชิงปฏิบัติ เพราะขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
นอกเหนือจากการแก้ไข 3 ประเด็นข้างต้นแล้ว สำหรับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ดร.วิษณุ กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายควรเร่งดำเนินการดังนี้
ควรสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษทางอากาศให้ทุกคนได้รับทราบอย่างทั่วถึงทั้งเกษตรกร ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำสุด แต่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่สูงมาก
ควรเพิ่มจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยจากมลพิษและเชื่อมโยงแอปพลิเคชันเพื่อส่งข้อมูลเตือนภัยคุณภาพอากาศแบบ real-time ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
พิจารณาปรับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศของไทยให้เข้มงวดมากขึ้น จากปัจจุบันที่เข้มงวดน้อยกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกกว่า 3 เท่า
ควรเร่งแก้ปัญหาตามแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศ ซึ่งหลัก ๆ ประกอบด้วย
- การเผาไหม้เชื้อเพลิงในภาคยานยนต์และการขนส่ง
- การเผาในที่โล่งแจ้งภาคเกษตรและป่าไม้ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน และ
- การเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
โดยต้องเข้าใจว่ามลพิษทางอากาศในแต่ละแหล่งกำเนิดมีช่วงเวลาการปล่อยและสาเหตุที่แตกต่างกัน และมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นชั่วคราวและแก้ไขกันเฉพาะหน้าในระยะสั้นแต่ละปีเท่านั้น
ควรประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการต่าง ๆ เนื่องจากแม้จะมีแผนหรือมาตรการที่ดี แต่การปฏิบัติจริงมักไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้น ควรสร้างตัวชี้วัดเพื่อประเมินความสำเร็จของมาตรการข้างต้น พร้อมระบุบุคคลและหน่วยงานผู้รับผิดชอบตั้งแต่หน่วยงานส่วนกลางลงไปถึงหน่วยงานท้องถิ่นระดับพื้นที่
- ชลบุรี คิดเป็น 80,119 ล้านบาทต่อปีสำหรับ PM2.5 และ 167,052 ล้านบาทต่อปีเมื่อพิจารณาทุกสารมลพิษ นครราชสีมา คิดเป็น 70,784 ล้านบาทต่อปีสำหรับ PM2.5 และ 149,901 ล้านบาทต่อปีเมื่อพิจารณาทุกสารมลพิษ เชียงใหม่ คิดเป็น 70,356 ล้านบาทต่อปีสำหรับ PM2.5 และ 148,222 ล้านบาทต่อปีเมื่อพิจารณาทุกสารมลพิษ และขอนแก่น คิดเป็น 53,466 ล้านบาทต่อปีสำหรับ PM2.5 และ 138,615 ล้านบาทต่อปีเมื่อพิจารณาทุกสารมลพิษ↩