Common Cycles and Spillovers in International Equity Markets

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จัดงาน PIER Research Exchange โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิม มโนพิโมกษ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยประจำสถาบันฯ และ คุณชัยธัช จิโรภาส นักวิจัยประจำสถาบันฯ มาบรรยายในหัวข้อ “Common Cycles and Spillovers in International Equity Markets”
โดยทั้งสองท่านได้เล่าว่า ในช่วงสองช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บทบาทของประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียต่อตลาดการค้า ตลาดเงิน และตลาดทุนโลกเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ผ่านมามักวิเคราะห์การลุกลามของ financial shocks จากตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาต่อตลาดหุ้นโลกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น เช่น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 1997 นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ศึกษาปัจจัยขับเคลื่อนความเชื่องโยงของตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาระดับความเชื่อมโยงและปัจจัยที่ขับเคลื่อนความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ 24 ประเทศทั่วโลก โดยใช้วิธี Diebold-Yilmaz ซึ่งวัดความเชื่อมโยงผ่านการแพร่กระจายของผลตอบแทน (return spillovers) ในตลาดหลักทรัพย์ การศึกษาพบว่า 1) ความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ประเทศต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และเร่งตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2) ความเชื่อมโยงในตลาดหลักทรัพย์โลกกระจุกตัวตามภูมิภาคมากกว่าระดับการพัฒนา 3) แม้ว่าบทบาทของประเทศเกิดใหม่ในเอเชียต่อตลาดการเงินโลกเพิ่มสูงขึ้น ประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ รวมถึงประเทศจีนยังเป็นผู้รับ financial shocks ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในอเมริกาและยุโรปยังเป็นผู้แพร่กระจาย (transmitter) financial shocks 4) Global equity factor เป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายความเชื่อมโยงของตลาดหลักทรัพย์โลก โดยปัจจัยดังกล่าวถูกขับเคลื่อนโดยนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาในช่วงก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลก ในขณะที่หลังจากนั้น ความผันผวนในตลาดตราสารทุน S&P500 (Implied volatility index: VIX) ความไม่แน่นอนในนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโลกมีบทบาทสำคัญมากขึ้น