Differences in Household Food Demand by Income Category as Evidenced in Rural Thailand

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีที่ค่อนข้างดี จนสามารถยกระดับไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่ค่อนไปทางสูงได้สำเร็จในปี 2011 อย่างไรก็ตาม ก็ยังเผชิญกับปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งย่อมทำให้มาตรฐานการครองชีพและพฤติกรรมของประชากรในแต่ละกลุ่มรายได้ต่างกันออกไป
ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. เชาวนา เพชรรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มานำเสนองานวิจัย ในงาน PIER Research Exchange ออนไลน์ หัวข้อ “Differences in Household Food Demand by Income Category as Evidenced in Rural Thailand” เพื่อศึกษาถึงการตอบสนองของอุปสงค์ต่อสินค้าในกลุ่มอาหารที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาและรายได้ของครัวเรือน รวมถึงตัวแปรทางประชากรศาสตร์ (demographic variables) อื่น ๆ ซึ่งการตอบสนองนั้นอาจแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มชั้นรายได้ของครัวเรือน
โดยการศึกษานี้ ผู้วิจัยใช้ข้อมูล Townsend Thai ร่วมกับข้อมูลราคาสินค้าจากกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี 2002 ถึง 2014 เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของครัวเรือนใน 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ โดยผู้วิจัยได้แบ่งครัวเรือนออกเป็น 5 กลุ่มตามระดับรายได้ และแบ่งกลุ่มอาหารออกเป็น 13 ประเภท
จากการใช้แบบจำลอง Quadratic Almost Ideal Demand System (QUAIDS) ในการประมาณค่าสัมประสิทธิ์ ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนในทุกกลุ่มรายได้จะมีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อรายได้ที่ค่อนข้างสูงในอาหารจำพวกข้าว เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ไข่และนม และสูงที่สุดในกลุ่มสุราและบุหรี่ กล่าวคือหากครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนการซื้อสุราและบุหรี่มากที่สุด
ทางด้านการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าพบว่า อุปสงค์ต่ออาหารแต่ละกลุ่มจะปรับลดลงเมื่อราคาอาหารประเภทนั้น ๆ ปรับเพิ่มขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยจะลดปริมาณในการซื้อข้าวและน้ำมันพืชลงในสัดส่วนที่มากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง เมื่อราคาอาหารกลุ่มดังกล่าวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์มีผลต่อความต้องการซื้ออาหารเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิกของครัวเรือนที่พบว่าหากมีจำนวนมากขึ้น จะมีแนวโน้มในการบริโภคอาหารที่จำเป็น ราคาถูก และให้พลังงานสูงขึ้น รวมไปถึงในเรื่องสัดส่วนของสมาชิกครัวเรือนที่อายุมากกว่า 65 ปี และอายุของหัวหน้าครัวเรือนอีกด้วย