Trend Inflation in Moderate and Low Inflation Periods: the Implications of Thai Monetary Policy

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มานำเสนองานศึกษาในหัวข้อเรื่อง “Trend Inflation in Moderate and Low Inflation Periods: the Implications of Thai Monetary Policy” ในงาน PIER Research Exchange ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์
ดร.นิพิฐ ชี้ให้เห็นว่า แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคประเภท New-Keynesian Dynamic Stochastic General Equilibrium (NK-DSGE) โดยส่วนใหญ่จะสมมติให้แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาว (trend inflation) มีค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ trend inflation มักจะมีค่าเป็นบวกและเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ
งานศึกษานี้จึงเลือกใช้แบบจำลอง NK-DSGE ที่พัฒนาให้ trend inflation มีค่ามากกว่าศูนย์ได้ เพื่อศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าแนวโน้มเงินเฟ้อนั้นส่งกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว สวัสดิการรวม (welfare) ของสังคม รวมถึงการตัดสินนโยบายการเงินที่เหมาะสมอย่างไร โดยได้ใช้ข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคของไทยตั้งแต่ปี 2557 จนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เพื่อประมาณค่าสัมประสิทธิ์ต่าง ๆ ในแบบจำลอง โดยได้แบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนปี 2558 ที่แนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับกลาง ๆ (moderate inflation period) และช่วงตั้งแต่ปี 2558 เพื่อสะท้อนช่วงที่แนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (low inflation period)
ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มขึ้นของ trend inflation นั้นทำให้การตอบสนองของอัตราเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจมีน้อยลง (กล่าวคือความชันของ short-run Phillips curve ลดลง) ซึ่งหมายถึงประสิทธิผลที่ลดลงของนโยบายการเงินในการดูแลความผันผวนของเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ผลวิจัยยังชี้ว่า ในทั้ง 2 ช่วงเวลาข้างต้น ธนาคารกลางต้องพิจารณาปรับลดน้ำหนักที่ให้กับความผันผวนของเศรษฐกิจหรือผลผลิตใน loss function ขณะที่ให้น้ำหนักกับความผันผวนของเงินเฟ้อมากขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่ welfare รวมของสังคมสูงที่สุด อย่างไรก็ดี พบว่า เมื่อ trend inflation ปรับสูงขึ้น ความผันผวนของผลผลิตและอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจต้องเผชิญกับ shock ต่อผลิตภาพการผลิตและต่อนโยบายการเงิน ซึ่งมีผลให้ welfare ของสังคมโดยรวมยิ่งแย่ลง
นอกจากนี้ trend inflation ที่สูงขึ้น ทำให้ผลผลิตของประเทศในระยะยาวปรับลดลง (กล่าวคือ ความชันของ long-run Phillips curve มีค่าเป็นลบ) ซึ่งเป็นผลจากการกระจายตัวของราคาสินค้าชนิดเดียวกัน (price dispersion) ที่ปรับเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ ผลการศึกษานี้ขัดกับแนวคิดดั้งเดิมเรื่อง monetary neutrality ที่อธิบายว่าผลผลิตกับอัตราเงินเฟ้อไม่มีความสัมพันธ์กันในระยะยาว อีกทั้ง ผลวิจัยยังพบว่า เมื่อ trend inflation สูงขึ้น การยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนจะทำได้ยากขึ้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อมากขึ้นกว่าเดิม มิเช่นนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจไร้ซึ่งเสถียรภาพได้