Falling Out of Frame: When Firms Benefit from Divergent ESG Ratings
.jpg)
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก ดร.นฤภร ปิยะสินชัย postdoctoral researcher จาก Cambridge Judge Business School มานำเสนองานศึกษาในหัวข้อเรื่อง “Falling Out of Frame: When Firms Benefit from Divergent ESG Ratings” ในงาน PIER Research Exchange ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบไฮบริด ณ ห้อง Auditorium ธนาคารแห่งประเทศไทย และผ่าน Microsoft Teams
งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าบริษัทที่ถูกจัดอันดับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ในระดับที่สูงมักได้รับผลดี เห็นได้จากมูลค่าบริษัทที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่พบว่าบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ ESG ในระดับปานกลางหรือค่อนไปทางต่ำก็อาจได้รับผลดีด้วยเช่นกัน จึงเกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วการถูกจัดอันดับ ESG ที่สูงให้ประโยชน์กับบริษัทนั้น ๆ หรือไม่และภายใต้สถานการณ์ลักษณะใด เนื่องจากบางครั้งเราอาจมองอันดับ ESG ที่ดีว่าเป็นบริษัทที่มีแนวคิดดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและน่าลงทุน แต่บางครั้งก็อาจมองว่าบริษัทอาจใช้ทรัพยากรไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากจนกระทบกับผลประกอบการของบริษัทได้
งานศึกษานี้พยายามตอบคำถามข้างต้น บนแนวคิดว่านักลงทุนมักประเมินการจัดอันดับแบบง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเทียบการจัดอันดับ ESG ของแต่ละบริษัทกับค่าเฉลี่ยการประเมิน ESG ในอุตสาหกรรมเดียวกัน งานศึกษานี้พบว่าในช่วงเวลาปกติ บริษัทที่ได้อันดับสูงกว่าหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ESG ในอุตสาหกรรมเดียวกันจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยลง ส่งผลให้มีมูลค่าบริษัทต่ำลง แต่ในภาวะที่อุตสาหกรรมนั้น ๆ เผชิญประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือประเด็นทางสังคม กลับทำให้บริษัทที่ถูกจัดอันดับสูงกว่าหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้รับประโยชน์ ทำให้มูลค่าบริษัทสูงขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ค่า ESG ของแต่ละบริษัทมีความใกล้เคียงกันมาก