Global Cost Shock Pass-through to Domestic Prices in Thailand: Sectoral Perspectives

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จัดงาน PIER Research Exchange ในหัวข้อ "Global Cost Shock Pass-through to Domestic Prices in Thailand: Sectoral Perspectives" โดย ดร.ฐิติมา ชูเชิด คุณณัฐา ปิยะกาญจน์ คุณชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง และ คุณรังสิมา ศรีสวัสดิ์ จากสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกประสบกับภาวะเงินเฟ้อสูงจากปัจจัยด้านอุปทาน อันเป็นผลจากปัญหา supply disruption รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อในหลายประเทศ
คณะผู้วิจัยได้ร่วมกันศึกษาถึงผลกระทบของ global supply shocks ดังกล่าวที่มีต่อราคาผู้ผลิต และราคาผู้บริโภคของไทยรายสาขาการผลิต โดยได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่สำคัญ 4 รายการ ได้แก่ น้ำมันดิบ ข้าวสาลี เหล็ก และปุ๋ยเคมี รวมถึงการเร่งขึ้นของค่าระวางเรือ
ผลการศึกษาพบว่า การส่งผ่านของต้นทุนการผลิตไปยังราคาผู้บริโภคในรายหมวดสินค้าจะเกิดขึ้นมากและมีนัยสำคัญในระยะเวลาประมาณ 1–5 เดือน ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ผ่านตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต พบว่า การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบส่งผลกระทบต่อราคาผู้บริโภคมากที่สุด (หากราคาน้ำมันดิบเพิ่ม 1% จะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่ม 0.036%) ตามมาด้วยราคาเหล็ก
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ติดตามการส่งผ่านต้นทุนในแต่ละกลุ่มธุรกิจและพบว่า บางกลุ่มธุรกิจได้มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคหรือมีการปรับตัวเพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตแล้ว ในขณะที่บางกลุ่มธุรกิจ เช่น ธุรกิจการขนส่งผู้โดยสาร ยังมีการแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงอยู่ และมีแนวโน้มสูงที่จะปรับขึ้นราคาในระยะข้างหน้า