Relationship between Conflict and Labor Market in the Deep South of Thailand

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก ดร. สุกำพล จงวิไลเกษม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.เฉลิมพงศ์ ก้องเจริญ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.นครินทร์ อมเรศ จากธนาคารแห่งประเทศไทย มาบรรยายในงาน PIER Research Exchange ออนไลน์ ในหัวข้อ “Relationship between conflict and labor market in the deep South of Thailand”
ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านทางปัจจัยทุนและทุนมนุษย์ที่สูญเสียไป รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องลดปริมาณการผลิตลงหรือย้ายฐานการผลิต เศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อคนในพื้นที่ เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน
งานวิจัยนี้จึงได้ทำการศึกษาผลกระทบของความขัดแย้งดังกล่าวที่มีต่อตลาดแรงงาน โดยใช้ข้อมูลระดับอำเภอจาก 4 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2562 ผลจากแบบจำลอง Panel VAR พบว่า เมื่อจำนวนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบสูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราการว่างงาน (คำนวณจากฐานข้อมูลประกันสังคม) เพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนกิจการปรับลดลง ผลข้างต้นสอดคล้องกับผลจากวิธี Synthetic Control ผ่านข้อมูลในระดับจังหวัดที่พบว่า จังหวัดทั้ง 4 จังหวัดข้างต้นจะมีอัตราการว่างงานที่ต่ำลง หากไม่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งเช่นจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศ