Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการล่าสุด
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Policy Forumsforums
QR code
Year
2025
2022
2021
2020
...
/static/855c6304c66513d68e0083004b4c9e45/e9a79/cover.png
30 พฤศจิกายน 2563
20201606694400000
Restructuring the Regional Economy Series

เพิ่มผลิตภาพเกษตรภาคเหนือตอนบนและเกษตรพื้นที่สูง มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย
บทสรุปผู้บริหาร
  • ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคเหนือทั้งด้านรายได้และการจ้างงาน แต่ประสบปัญหาและความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ข้อจำกัดด้านพื้นที่และการเข้าถึงแหล่งน้ำ แรงงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่สูงวัย เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อยและขาดองค์ความรู้ด้านตลาด การทำเกษตรอินทรีย์มีอุปสรรค การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีข้อจำกัด องค์ความรู้งานวิจัยการเกษตรขาดความต่อเนื่องและการบูรณาการ ตลอดจนนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ผ่านมาไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาการผลิต

  • แนวทางการเพิ่มผลิตภาพเกษตรภาคเหนือตอนบนและเกษตรพื้นที่สูง ทำได้โดย

    1. คัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพเข้ามาพัฒนาให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน
    2. สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปิดรับและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ผ่านแปลงสาธิต
    3. รวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายกันอยู่มาส่งต่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่ และ
    4. ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรดั้งเดิมโดยรัฐเข้าไปดูแลอย่างต่อเนื่อง
  • บทบาทภาครัฐมีส่วนสำคัญในด้านต่าง ๆ โดย

    1. หน่วยงานในพื้นที่ต้องเข้าใจปัญหาเกษตรกรอย่างแท้จริง
    2. เพิ่มบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาดูแลภาคเกษตร
    3. จัดให้มีตัวกลางในชุมชนดูแลเป็นพี่เลี้ยงและประสานงานให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
    4. พัฒนาหน่วยงานที่ดูแลการรวมกลุ่มเกษตรกรให้สามารถรับรองศักยภาพของกลุ่มก่อนส่งต่อให้สถาบันการเงินเพื่อขอสนับสนุนเงินทุน
    5. จัดทำ big data ภาคเกษตรโดยเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดรายแปลง
    6. รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรมาอยู่ที่เดียวกันเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงและเลือกใช้
    7. ปรับเปลี่ยนนโยบายภาคเกษตรจากการช่วยเหลือปลายทางมาเน้นที่ต้นทาง เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร และจูงใจให้เกษตรกรทำเกษตรในมาตรฐานสูงขึ้น และ
    8. ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมมือกันในทุกด้าน รวมทั้งพัฒนาภาคเกษตรให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่น เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม

สถานการณ์ ปัญหา และความท้าทายของเกษตรภาคเหนือตอนบนและเกษตรพื้นที่สูง

  • เกษตรกรมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และการเข้าถึงแหล่งน้ำ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีลักษณะทางกายภาพเป็นภูเขาและพื้นที่สูงเกือบร้อยละ 80 และมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ป่า มีชุมชนดั้งเดิมกว่า 4,000 ชุมชน ส่วนหนึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาพื้นที่ เกิดปัญหาบุกรุกป่าและเผาพื้นที่ทำการเกษตร รวมทั้งมีข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้ไม่สามารถสร้างแหล่งน้ำและระบบชลประทานเพื่อทำการเกษตรอย่างเป็นระบบได้ ส่งผลให้การเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมคุณภาพผลผลิตเกษตรทำได้จำกัด

  • แรงงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่สูงวัย เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี ทำให้มีข้อจำกัดในการปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งทำได้ยากและต้องใช้เวลานาน ขณะเดียวกันยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่กลับสู่ภาคเกษตรมากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 พบว่าภาคเกษตรเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยรองรับแรงงานคืนถิ่น

  • เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ทำการเกษตรเป็นแบบดั้งเดิมและพึ่งพิงพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก โดยเกษตรกรยังไม่สามารถรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ มักแย่งกันขายเมื่อผลผลิตออกมามากทำให้ราคาตกต่ำ นอกจากนี้ การมีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ทำให้การเข้าไปส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและจัดการประสิทธิภาพการผลิตทำได้ไม่ทั่วถึง

  • เกษตรกรขาดองค์ความรู้ด้านตลาด เกษตรกรไม่เห็นภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและมีความรู้เฉพาะในส่วนการผลิตเท่านั้น ยังขาดความเข้าใจตลาดอย่างแท้จริง บางครั้งมีสินค้าดีแต่ขายไม่เป็น หรือไม่รู้ว่าควรปรับปรุงสินค้าอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรมักจะไม่ได้บริโภคสินค้าที่ตนเองปลูก เช่น กาแฟ ผลไม้แปรรูป ส่งผลให้เกษตรกรปลูกพืชโดยขาดองค์ความรู้ด้านการตลาด ซึ่งค่อนข้างเป็นจุดอ่อนของเกษตรกร ทั้ง ๆ ที่การตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้สูงขึ้น

  • การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมียังมีข้อจำกัด เนื่องจากประเทศไทยมีโรคพืชและแมลงมากทำให้จำเป็นต้องใช้สารเคมีช่วยในการทำเกษตร ขณะที่สารชีวภัณฑ์กําจัดวัชพืชและโรคพืชให้ประสิทธิผลที่น้อยกว่า นอกจากนี้ ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ยังด้อยกว่าเกษตรสารเคมีในแง่ของขนาดผลผลิตที่อาจเล็กลง สีไม่สวย ความหวานลดลง ซึ่งตรงข้ามกับความต้องการของตลาดส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดเกษตรอินทรีย์ได้มากนัก ดังนั้น การส่งเสริมมาตรฐานเกษตรส่วนใหญ่จึงอยู่บน GAP (Good Agricultural Practice) คือ การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยเป็นหลักเท่านั้น

  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีข้อจำกัดเนื่องจากหลักประกันไม่เพียงพอ สถาบันการเงินมีเงินทุนและพร้อมให้บริการแก่เกษตรกร แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งไม่สามารถได้รับวงเงินตามที่ต้องการได้ เนื่องจากหลักประกันไม่เพียงพอ ขณะที่การรวมกลุ่มของเกษตรกรที่พบส่วนใหญ่ยังไม่เข้มแข็งทำให้ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ

  • องค์ความรู้งานวิจัยการเกษตรขาดความต่อเนื่องและการบูรณาการ งานวิจัยหลายชิ้นตั้งโจทย์จากส่วนกลางและถูกนำไปรวบรวมไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ไม่ตอบโจทย์การเกษตรเชิงพื้นที่ที่มีความหลากหลาย

  • นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ผ่านมาไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาการผลิต แต่กลับส่งผลให้เกษตรกรอ่อนแอและเคยชินกับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันราคา การช่วยเหลือต้นทุนการทำเกษตร รวมทั้งมาตรการพักชำระหนี้

ข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มผลิตภาพเกษตรภาคเหนือตอนบนและเกษตรพื้นที่สูง

แนวทางการพัฒนาเกษตรกร

  • เลือกพัฒนาเกษตรกรกลุ่มที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนก่อน โดยสร้างให้เกษตรกรกลุ่มที่มี “หัวไวใจสู้” เป็นต้นแบบของความสำเร็จ และดึงดูดเกษตรกรอื่นเข้ามาพัฒนาร่วมกัน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจการพัฒนาตนเองและกล้าคิดกล้าทำ ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิผลมากกว่าการวางเป้าหมายเป็นเกษตรกรทั่วไป

  • สร้างแรงจูงใจผ่านแปลงสาธิตให้เกษตรกรเปิดรับและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่มากขึ้น เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ต้องถูกทดสอบและประยุกต์ใช้จริงในแปลงสาธิต แสดงให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นหลังเห็นผลสำเร็จจริง จึงจะสร้างการยอมรับและขยายผลได้

  • ส่งมอบองค์ความรู้สู่เกษตรกรรุ่นใหม่ โดยรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายมาอยู่บน platform ที่รวบรวมแนวทางปฏิบัติ (solution) ตามความต้องการของผู้ที่สนใจ มีระบบติดตาม (tracking) เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ ระบบควบคุม (monitoring) และมีพื้นที่ตลาด online ให้ผู้ที่สนใจทำการเกษตรสามารถเลือกนำไปปฏิบัติเองได้ เช่น การเพาะปลูกในพื้นที่เนินเขาสามารถเพาะปลูกอะไรได้บ้าง ด้วยวิธีการอย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไร และหาซื้อได้จากที่ไหน เป็นต้น

  • ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลการเปลี่ยนวิถีของเกษตรกรดั้งเดิมในระยะยาว โดยนำเกษตรกรเข้าร่วมโครงการโดยออกแบบกระบวนการให้เข้าไปทดลองปฏิบัติจริงเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม หน่วยงานภาครัฐอาจต้องเป็นพี่เลี้ยงสอนซ้ำหลายครั้งกว่าเกษตรกรจะทำได้และกล้าลงมือทำจริง รวมทั้งต้องมีกระบวนการติดตามผลอย่างต่อเนื่องด้วย

แนวทางพัฒนาบทบาทของภาครัฐ

  • หน่วยงานในพื้นที่ต้องเข้าใจปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริง เนื่องจากการแก้ปัญหาในแต่ละชุมชนต้องอาศัยความเข้าใจบริบทของพื้นที่ ลักษณะของประชากร ระดับการพัฒนาที่มีอยู่เดิมและศักยภาพของชุมชน เพื่อตั้งเป้าหมายและออกแบบแรงจูงใจให้เหมาะสม โดยต้องหาวิธีให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่ทำ เช่น บางชุมชนมุ่งเป้าหมายให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร บางชุมชนมุ่งสร้างรายได้เพิ่ม หรือยกระดับมาตรฐานการผลิต เป็นต้น

  • เพิ่มบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในภาคเกษตร เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดชุมชนและการดำเนินงานในพื้นที่มีความต่อเนื่อง ควรมีบทบาทสนับสนุนการสร้างผู้นำในชุมชนเพื่อดูแลภาคเกษตร แก้ไขปัญหาภาคเกษตรด้วยการจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ในพื้นที่ ช่วยวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกพื้นที่ และอาจมีตำแหน่งนักวิชาการเกษตรในระดับ อปท. ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงในท้องถิ่นที่จะต้องทำงานอย่างจริงจังเพื่อดูแลเกษตรกรในระยะยาว นอกจากนี้ ควรมี “นักจัดการตลาดชุมชน” ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวกลาง (mediator) ผลักดันให้มีการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและภาคเอกชน เพื่อสร้างจุดขายและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดของเกษตรกร

  • ควรมีหน่วยงานเฉพาะดูแลการรวมกลุ่มของเกษตรกรและเชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน โดยเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บ่มเพาะกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้ด้านการจัดทำแผนการตลาดและแผนธุรกิจ เสริมสร้างความเชื่อมโยงภายในกลุ่ม พัฒนาระบบบัญชีให้ตรวจสอบได้ เพื่อให้กลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น พัฒนาให้หน่วยงานดังกล่าวจัดทำ MOU กับสถาบันการเงินเพื่อให้มีบทบาทช่วยคัดกรองและรับรองกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ ก่อนส่งต่อให้สถาบันการเงินเพื่อขอสนับสนุนเงินทุน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรได้

  • จัดทำระบบ big data ภาคเกษตร โดยภาครัฐอาจสนับสนุนอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ ให้เกษตรกรใช้งาน เช่น อุปกรณ์วัดความชื้น ความเข้มแสง อุณหภูมิ เพื่อเก็บข้อมูลในระดับแปลงเพาะปลูก ซึ่งภาครัฐสามารถอุดหนุนได้เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวปัจจุบันมีราคาถูกลงมาก และจะช่วยให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรแบบแม่นยำมากขึ้น รวมทั้งให้อุปกรณ์ส่งข้อมูลมารวมที่ศูนย์กลาง ภาครัฐก็จะมีฐานข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

  • จัดให้มีศูนย์กลางรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรที่มีอยู่ให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตและการจัดการ เพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาและเลือกใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิด “นวัตกรรมเกษตรบริการ” เพื่อให้บริการด้านการเกษตรในขั้นตอนที่แต่ละรายมีความชำนาญ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เร็วขึ้นแทนที่จะรอให้เกษตรกรเรียนรู้เอง รวมทั้งจะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในระยะยาว

  • ควรเปลี่ยนนโยบายภาคเกษตรจากการช่วยเหลือปลายทางมาเน้นที่ต้นทาง โดยลดการอุดหนุนที่ปลายทางของปัญหา เช่น นโยบายประกันรายได้ ประกันราคา ช่วยเหลือต้นทุน ซึ่งไม่ช่วยให้เกิดการปรับตัว มาเป็นนโยบายที่ต้นทางโดยการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่ภาคเกษตร และจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชที่ได้มาตรฐานสูงขึ้นแทน

  • ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเกษตรกร ชุมชน หน่ายงานภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาของภาคเกษตร พัฒนาผลิตภาพ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ วางแผนการผลิตโดยใช้การตลาดนำการผลิต สร้าง platform ให้เกษตรกรขายผลผลิตเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด รวมทั้งพัฒนาภาคเกษตรให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่น เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในการประชุมนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email