Long-term GHG Emissions: RCP x SSP x SPA Perspective

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้จัดงาน Policy Forum: Discourses on Sustainability โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาบรรยายในหัวข้อ "Long-term GHG Emissions: RCP x SSP x SPA Perspective"
ในปี 2015 มีประเทศกว่า 195 ประเทศทั่วโลกลงนามในสนธิสัญญา Paris Agreement ให้ความร่วมมือที่จะลดการปล่อยแก๊ซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG) เพื่อให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม และ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ได้ตั้งเป้าให้ทุกประเทศทั่วโลกมี net-zero emission ภายในปี 2100
ทั้งนี้ การประเมินต้นทุนทางสังคมของแก๊สคาร์บอน (social cost of carbon) มาจากการจำลองการเติบโตของเศรษฐกิจและประชากร แล้วใช้แบบจำลองประมาณการว่าปริมาณ GHG ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจและสังคมมากน้อยขนาดไหน โดยมูลค่าความเสียหายในอนาคตจะนำมาคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการลด GHG
ส่วนกรอบในการตั้งเป้าในการลด GHG นั้น มาจากการประเมินทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยแบบจำลอง RCP (Representative Concentration Pathways) การประเมินปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม (SSP: Shared Socio-Economic Pathways) โดยนำผลไปวางแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม (SPA: Shared Policy Assumption) ที่เหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ได้มีการตั้งเป้าที่จะลดอัตราการปล่อย GHG จากที่ประมาณการไว้ร้อยละ 20 ในปี 2030 ซึ่งจะมาจากการลด GHG ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต และ ขนส่ง