สินเชื่อที่รับผิดชอบ ฟินเทค และการเข้าถึงบริการทางการเงิน : มุมมองจาก ‘ข้างล่าง’ และบทเรียนจาก ‘ข้างนอก’

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจากคุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด มาเป็นวิทยากรบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงาน PIER Economics Seminar ภายใต้หัวข้อ “สินเชื่อที่รับผิดชอบ ฟินเทค และการเข้าถึงบริการทางการเงิน: มุมมองจาก ‘ข้างล่าง’ และบทเรียนจาก ‘ข้างนอก’ ” ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคุณสฤณีเล่าถึงผลการศึกษาจากโครงการวิจัยเกี่ยวกับการธนาคารที่ยั่งยืนซึ่งมีประเด็นหลัก ๆ 3 ประเด็น
ประเด็นแรก การธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable banking) คือ การที่ธนาคารมีวิถีปฏิบัติสองข้อ ข้อแรกต้องปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ซึ่งหมายความรวมถึงมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และข้อสอง ต้องเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึง งานวิจัยพบว่าวงการธนาคารพาณิชย์ไทยยังค่อนข้างล้าหลังทั้งสองด้าน ความปลอดภัยของข้อมูลของลูกค้าที่ใช้บริการ mobile และ e-banking ก็ยังไม่ได้มาตรฐานสากล
ประเด็นที่สอง คุณสฤณี เห็นว่าวิถีปฏิบัติสองข้อดังกล่าวจะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับธนาคารพาณิชย์ในอนาคต โดยเฉพาะฟินเทค (FinTech) มีศักยภาพสูงมากในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับความต้องการทางการเงินและการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินสำหรับกลุ่มฐานราก กว่าร้อยละ 83 ของประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน มีมือถือและใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเข้มข้น แต่มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ใช้บริการธนาคารผ่านมือถือ อย่างไรก็ดี ฟินเทคยังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายอย่าง เช่น ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และความกระจัดกระจายของหน่วยงานกำกับดูแล
ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเงินของไทย โครงการนี้พบว่าประชาชนจำนวนมากยังพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบอยู่ เนื่องจากสินเชื่อนอกระบบให้วงเงินกู้ได้ตามที่ต้องการ อนุมัติรวดเร็ว ขั้นตอนน้อย และยอดเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดนั้นต่ำ แม้ว่าดอกเบี้ยทั้งหมดจะสูงมาก นอกจากนี้ ครัวเรือนไทยยังมีปัญหาขาดการออมระยะยาวและขาดการวางแผนทางการเงินอย่างเพียงพอ เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่กะทันหันและอาศัยต้นทุนทางสังคมไม่ได้ จึงเกิดปัญหาทางการเงินได้ง่าย คณะผู้เขียนได้แนะนำนัยเชิงนโยบายสำหรับผู้ดำเนินนโยบาย ผู้ให้บริการทางการเงิน และกลุ่มการเงินชุมชน