Mainstreaming an Effective Intervention: Evidence from Randomized Evaluations of 'Teaching at the Right Level' in India
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) ได้จัดงาน RCT Human Capital Seminar Series ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก Associate Professor James Berry จาก University of Delaware มาบรรยายในหัวข้อ “Mainstreaming an Effective Intervention: Evidence from Randomized Evaluations of 'Teaching at the Right Level' in India” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับ Rukmini Banerji (Pratham) Abhijit Banerjee (MIT) Esther Duflo (MIT) HariniKinnan (J-PAL) Shobhini Mukherji (J-PAL) Marc Shotland (J-PAL) และ Michael Walton(Harvard) โดย Prof. Berry ได้เล่าถึงบทเรียนต่าง ๆ จากโครงการ “Teaching at the Right Level” (TaRL) ในประเทศอินเดีย ซึ่งพยายามแก้ปัญหาระดับชั้นและความรู้ของเด็กไม่สอดคล้องกัน ครึ่งหนึ่งของเด็ก ป. 5 ก็ยังอ่านหนังสือได้เท่าเด็ก ป.2 และเด็ก ป.2 จำนวนมากก็ยังอ่านคำง่าย ๆ หรือลบเลขสองหลักไม่ได้
TaRL เป็นโครงการที่ Pratham ซึ่งเป็น NGO ขนาดใหญ่ริเริ่มขึ้นในระดับชุมชนแออัด และยึดหลักการว่าการสอนนักเรียนควรสอนตามระดับความสามารถปัจจุบันของเด็ก ไม่ใช่สอนไปเรื่อย ๆ ตามหลักสูตรของแต่ละระดับชั้น เพราะหากเป็นเช่นนั้น เด็กที่ตามไม่ทันก็ไม่มีทางตามทัน นอกจากนั้น TaRL ยังเน้นเรื่องความรู้พื้นฐาน เน้นการสอนเพิ่มให้เด็กที่ไม่เก่ง และใช้การจ้างครูจากคนในชุมชน เพราะคาดว่าน่าจะช่วยให้เด็กและครูมีความสัมพันธ์กันที่ดีขึ้น
แม้แนวคิดดังกล่าวฟังดูมีเหตุมีผล Prof. Berry และทีมของ J-PAL (The Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab) ของ MIT ได้ตั้งคำถามว่า TaRL ได้ผลจริงหรือ และหากได้ผลจริง จะขยายผลไปสู่ระดับที่ใหญ่กว่าชุมชนไปสู่เด็กอินเดียทุกคนได้อย่างไร ทางทีม J-PAL ได้นำวิธี Randomized Controlled Trial (RCT) มาประเมินผลของโครงการในระยะต่าง ๆ
ในช่วงต้นซึ่งเป็นการ proof of concept ในระดับชุมชนแออัดที่เมือง Mumbai และ Vadodara นั้น TaRL ได้ผลดีมาก นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้คะแนนทั้งด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ดีขึ้น ต่อมารัฐบาลอินเดียได้พยายามขยายผล โดยเริ่มจากเปลี่ยนบริบทจากชุมชนเป็นหมู่บ้านในชนบทและใช้ครูอาสาสมัครแทนครูชุมชนนั้น ซึ่งยังพบว่าโครงการได้ผลดีอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อพยายาม scale up ขึ้นไปอีก โดยส่งต่อไปในระดับโรงเรียนและให้ครูของโรงเรียนเป็นผู้สอนแทนอาสาสมัคร การประเมินกลับพบว่าคะแนนของเด็กที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการไม่ได้ต่างกันมากนัก
เมื่อทบทวนถึงปัญหา คณะผู้วิจัยพบว่าครูไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการของ TaRL อย่างจริงจัง รวมทั้งขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการต่อมาจึงพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีทั้งการให้คำแนะนำและการติดตามว่ามีการสอนตามวิธีที่ได้รับอบรมมาในชั่วโมงเรียนจริง ครั้งนี้พบว่าเด็กคะแนนดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีบางรัฐในอินเดีย ซึ่งมีปัญหาในการบริหารจัดการระบบการศึกษา การส่งต่อ TaRL ให้ครูเป็นผู้ปฏิบัติและให้รัฐช่วยติดตามจึงเป็นไปไม่ได้ ทางทีม NGOs จึงลองวิธีส่งครูอาสาสมัคร TaRL ลงไปอย่างเข้มข้นในระยะ 10–20 วันแทน แม้โครงการดังกล่าวจะไม่สามารถส่งต่อหลักการ TaRL ได้ แต่ก็พบว่าการเข้าไปดังกล่าวช่วยเด็กให้เด็กมีคะแนนสอบดีขึ้น
ทั้งนี้ Prof. Berry ได้สรุปบทเรียนจาก TaRL กว่าสองทศวรรษไว้ว่า
- สิ่งที่ได้ผลกับโครงการขนาดเล็กอาจจะไม่สามารถ scale-up ได้เสมอไป
- การเข้าใจกลไกการทำงานของรัฐซึ่งเป็นผู้นำแนวคิดไปปฏิบัติ เป็นองค์ประกอบสำคัญ
- TaRL ที่ผ่านมาเผชิญทั้งความสำเร็จและล้มเหลว แต่ทุกครั้งได้ให้บทเรียนที่ดีสำหรับการดำเนินงานในลำดับถัดไป
- แม้ตัวเลขผลการประเมินโครงการมักจะเป็นส่วนที่ได้รับความสนใจ แต่ความรู้จากกระบวนการทำงานทั้งหมดนั้น เป็นหัวใจสำคัญต่อความสำเร็จเช่นกัน