Beyond Short-Term Learning Gains: the Impact of Outsourcing Schools in Liberia After Three Years

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) ได้จัดงาน RCT Human Capital Seminar Series ครั้งที่ 3 ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก Assistant Professor Mauricio Romero จาก Instituto Tecnológico Autónomo de México (ITAM) มาบรรยายในหัวข้อ “Beyond Short-term Learning Gains: The Impact of Outsourcing Schools in Liberia after Three Years” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับ Justin Sandefur (CGD) โดย Prof. Romero ได้เล่าถึง บทเรียนของโครงการ Liberian Education Advancement Programme (LEAP) ในประเทศไลบีเรีย ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพของโรงเรียนรัฐในระดับชั้นประถมศึกษา
ประเทศไลบีเรีย นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความยากจนที่สุดในโลก การเกิดสงครามกลางเมืองที่กินระยะเวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาภายในประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 25 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ยังอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ ไลบีเรียจึงถือเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำสุดเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา
โครงการ LEAP นับเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในลักษณะ Public-Private Partnership (PPP) ที่รัฐได้มีการ outsource และให้เงินสนับสนุนภาคเอกชนจำนวน 8 องค์กรให้เข้ามาช่วยบริหารจัดการโรงเรียนระดับประถมศึกษาจำนวน 93 โรงเรียน (ครอบคลุมนักเรียนรัฐจำนวนร้อยละ 8.6 ของทั้งหมดในไลบีเรีย) ด้วยความมุ่งหวังที่ว่า เอกชนน่าจะสามารถบริหารจัดการโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบแบบเดิมที่บริหารงานโดยรัฐ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะไม่เช่นนั้น ก็มีเพียงครอบครัวที่ร่ำรวยที่สามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชนที่มีคุณภาพ
Prof. Romero เล่าว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้วิธี Randomized Controlled Trial (RCT) เพื่อประเมินประสิทธิผลขององค์กรเอกชนทั้ง 8 องค์กรใน 4 มิติ คือ
- ด้านคุณภาพการเรียนการสอน (Learning)
- ด้านการเข้าถึงทางการศึกษา (Access)
- ด้านความยั่งยืน (Sustainability)
- ด้านความมั่นคงปลอดภัย (Child safety)
โดยคณะวิจัยได้ติดตามเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเดิมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งลักษณะของโรงเรียน ครูผู้สอน คะแนนสอบของนักเรียน คุณภาพของการสอนในห้องเรียน และรวมไปถึงข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเรียน การติดตามเด็กกลุ่มเดิมไม่ว่าจะอยู่ที่ใดนั้นให้ภาพที่ดีกว่าการเก็บข้อมูลเฉพาะเด็กที่ยังอยู่ในโรงเรียน และไม่สร้างแรงจูงใจให้โรงเรียนเลือกเฉพาะเด็กเก่งให้เรียนต่อ
การวิเคราะห์ประสิทธิผลของ LEAP ในทั้ง 4 มิติ พบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังนี้
- มิติด้านคุณภาพการเรียนการสอน (Learning) – พบว่าโรงเรียนที่บริหารโดย LEAP มีการเปิดทำการ และมีชั่วโมงการสอนที่มีคุณภาพมากกว่า แต่ไม่ได้ต่างอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่า นักเรียนในกลุ่ม treatment มีคะแนนสอบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีแรก แต่คะแนนสอบที่เพิ่มยังมีขนาดเล็กและไม่ได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลา 3 ปี
- มิติด้านการเข้าถึงทางการศึกษา (Access) – พบว่า LEAP ไม่สามารถลดอัตราการ dropout ของนักเรียนได้ นอกจากนี้ ยังมีอัตราการ drop out ของนักเรียนในโรงเรียนที่บริหารโดยบางองค์กรเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางองค์กรเอกชนมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาเท่านั้น ไม่ได้รู้ว่าทีมวิจัยจะวัดผลเรื่องอัตราการไม่เรียนต่อด้วย จึงปิดโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในบางพื้นที่เพื่อจัดสรรทรัพยากรมาให้ประถมศึกษามากกว่า
- มิติด้านความยั่งยืน (Sustainability) – พบว่าเแต่ละองค์กรมีต้นทุนในการดำเนินงานไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าองค์กรที่มีการใช้งบประมาณทางการศึกษาเยอะกว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ในบางมิติที่ดีกว่าองค์กรอื่น แต่รูปแบบดังกล่าวอาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว และไม่สามารถขยายผลใน scale ใหญ่ได้ เนื่องจากต้นทุนสูง
- มิติด้านความมั่นคงปลอดภัย (Safety) – พบว่า LEAP สามารถลดการทำโทษนักเรียนทางร่างกายอย่างเช่นการเฆี่ยนตีลงได้ แต่ LEAP ไม่สามารถลดอัตราการเกิด sexual violence ในโรงเรียนลงได้
อย่างไรก็ดี การที่เอกชนภายใต้โครงการ LEAP มีความแตกต่างกันทั้งในรูปแบบของหน่วยงาน การแสวงหากำไร และลักษณะการดำเนินงาน การเปรียบเทียบขนาดและทิศทางของผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ จะต้องวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง อีกทั้ง การที่แต่ละองค์กรยังมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน ทำให้รัฐจำเป็นที่จะต้อง trade–off ถึงผลดีและผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละทางเลือกด้วยหากต้องการขยายผลโครงการฯ ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ Prof. Romero ทิ้งท้ายว่า การหวังว่ารัฐจะสามารถบริหารจัดการ Public-Private Partnerships ได้ดี ก็อาจจะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะรัฐก็ล้มเหลวในการบริหารจัดการโรงเรียนของรัฐเองมาแล้ว จนเป็นเหตุผลให้เริ่ม outsource education