Food vs. Food Stamps: Evidence from an At-Scale Experiment in Indonesia
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) ได้จัดงาน RCT Human Capital Seminar Series ครั้งที่ 4 โดยได้รับเกียรติจาก ได้รับเกียรติจาก Professor Rema Hanna จาก Harvard Kennedy School มาบรรยายในหัวข้อ “Food vs. Food Stamps: Evidence from an At-Scale Experiment in Indonesia” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับ Abhijit Banerjee, Ben Olken, Elan Satriawan และ Sudarno Sumarto
โดย Prof. Hanna ได้เล่าถึงโครงการ Rastra ซึ่งเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ครัวเรือนที่ยากจน โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1999 และมีการแจกข้าวสาร 10 กิโลกรัมต่อเดือนให้กับครัวเรือนในกลุ่ม bottom 30 หรือ ร้อยละ 30 ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด ในปี 2018 โครงการต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการช่วยเหลือเป็นการให้คูปองที่อยู่ในรูปแบบของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (debit card) เพื่อซื้อข้าวหรือไข่แทน
ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์นั้น ข้อดีของคูปอง คือ
- คูปองมีความยืดหยุ่นมากกว่า ผู้รับสามารถเลือกซื้อของได้ตามความจำเป็น
- คูปองน่าจะบิดเบือนราคาข้าวในตลาดน้อยกว่าการให้ข้าวโดยตรงนั้น หากคนนำข้าวมาขายต่อ หรือความต้องการซื้อข้าวลดลงอย่างมาก อาจจะกระทบราคาข้าวในตลาดท้องถิ่น
- การใช้คูปองน่าจะช่วยลดต้นทุนได้เนื่องจากการเติมเงินเข้าไปในบัตรอิเล็กทรอนิกส์นั้นง่ายกว่าการขนส่งข้าวสารไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี การให้ข้าวโดยตรง อาจจะช่วยให้การคัดกรองความช่วยเหลือไปยังคนจนดีกว่าได้ หากข้าวที่รัฐให้มีคุณภาพด้อยกว่าอาหารจำเป็นอื่น ๆ ในตลาด คนที่มีเงินและอยากได้อาหารคุณภาพดีกว่าก็จะเลือกที่จะคัดกรองตัวเองออกโดยไม่มารับข้าวของรัฐ
รัฐบาลอินโดนีเซียมีความสนใจที่จะประเมินผลการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จึงได้ร่วมกับคณะผู้วิจัยออกแบบโครงการให้มีการสุ่มบางพื้นที่ที่จะค่อย ๆ ทยอยมีการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่ม treatment มีการเปลี่ยนเป็นคูปองก่อนในช่วง พ.ค., ต.ค., และ พ.ย. ปี 2018 ทั้งหมด 42 เขต ส่วนกลุ่ม control เปลี่ยนเป็นคูปองในช่วง มิ.ย. 2019 ทั้งหมด 63 เขต คณะผู้วิจัยอาศัยทั้งการเพิ่มเติมแบบสอบถามในข้อมูลสำรวจครัวเรือนประจำปี และเชื่อมข้อมูลนี้กับข้อมูลทะเบียนของภาครัฐ (administrative data) ทำให้มีข้อมูลมิติต่าง ๆ ของครัวเรือน และมีข้อมูลเรื่องการเข้าร่วมโครงการที่แม่นยำ
ผลพบว่า
- การให้คูปองช่วยให้ inclusion error (การให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่ไม่ได้จน)น้อยลงเกินครึ่ง แต่ก็ก่อให้เกิด exclusion error (ครัวเรือนที่ยากจนไม่ได้รับความช่วยเหลือ) บ้าง แต่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้จนที่สุด
- การให้คูปอง ทำให้ครัวเรือนได้รับเงินช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าหากเทียบกับการให้ข้าว ซึ่งเดิมมีการแบ่งไปให้ครัวเรือนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ยากจนมากนัก
- ครัวเรือนที่ได้รับคูปองยังหันมาบริโภคไข่มากขึ้น และซื้อข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้น จึงไม่พบหลักฐานเรื่องการคัดกรองตัวเอง
- ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการความช่วยเหลือแบบคูปองนั้นต่ำกว่าการแจกข้าวโดยตรงถึงร้อยละ 25–50 เพราะค่าใช้จ่ายหลัก คือ การเช่าเครื่องรับ debit card ให้ร้านค้าในท้องถิ่น ขณะที่การแจกข้าวต้องมีต้นทุนในการขนส่งและเก็บรักษาข้าว
- การให้คูปองหรือการแจกข้าว ไม่ได้มีผลต่อราคาข้าวในตลาดท้องถิ่นที่แตกต่างกัน