Tax Administration versus Tax Rates: Evidence from Corporate Taxation in Indonesia
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก Prof. Ben Olken จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) มาบรรยายในงาน PIER Economic Seminar ในหัวข้อ “Tax Administration versus Tax Rates: Evidence from Corporate Taxation in Indonesia” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน American Economic Review ในเดือนธันวาคม ปี 2564
งานวิจัยนี้เปรียบเทียบการปฏิรูปนโยบายภาษีนิติบุคคล (corporate tax) 2 มาตรการในประเทศอินโดนีเซีย ว่ารูปแบบไหนจะสามารถเพิ่มรายได้จากภาษีได้ดีกว่า
เพื่อปฏิรูปการบริหารการจัดเก็บภาษีให้ดีขึ้นในปี 2007 รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานในแต่ละภูมิภาคที่เรียกว่า medium taxpayers office โดยให้บริการและจัดเก็บภาษีบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ในภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งสำนักงานดังกล่าวจะมีสัดส่วนของพนักงานต่อจำนวนบริษัทสูงขึ้นมาก เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่บริษัทเหล่านั้นซึ่งเป็นแหล่งภาษีสำคัญของรัฐ
ได้มีการปรับอัตราภาษีในปี 2008–2009 จากการจัดเก็บแบบอัตราภาษีก้าวหน้า (progressive rate) ที่มีอัตราภาษีอยู่ที่ 10, 20, หรือ 30% ตามระดับรายได้ที่ต้องเสียภาษี เปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บในอัตราเดียวกันทั้งหมด (flat rate) แต่อัตราภาษีจะปรับลดลงได้หากรายได้รวมของบริษัทอยู่ต่ำกว่าระดับหนึ่ง โดยอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 28% ในปี 2009 และ 25% ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
การศึกษาพบว่า การยกระดับการจัดเก็บภาษีผ่าน medium taxpayers office นั้น มีประสิทธิภาพและช่วยให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านั้นสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะที่ต้นทุนในการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้นถือว่าต่ำมาก ทั้งนี้ รายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นเทียบเท่ากับการปรับเพิ่มอัตราภาษีในขั้นสูงสุด 8% กับทุกบริษัท (เช่น จาก 30% เป็น 38%) ดังนั้น การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีจึงอาจเป็นมาตรการที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการเพิ่มรายได้ภาษีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา