The Effect of Classroom Rank on Learning throughout Elementary School: Experimental Evidence from Ecuador

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) ได้จัดงาน RCT Human Capital Seminar Series ครั้งที่ 5 ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก Professor Pedro Carneiro จาก University College London มาบรรยายในหัวข้อ “The effect of classroom rank on learning throughout elementary school: experimental evidence from Ecuador” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับ Yyannu Cruz Aguayo, Francesca Salvati, และ Norbert Schady
งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่าการที่เด็กคนหนึ่งเป็นเด็กคนเก่งระดับต้น ๆ ของห้อง ดังกับเป็น “big fish in a small pond” ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เด็ก และยิ่งช่วยให้เด็กเหล่านั้นตั้งใจเรียน มีความอยากเรียนรู้และประสบความสำเร็จในอนาคตมากขึ้น
Prof. Carneiro เล่าถึงโรงเรียนในเอกวาดอร์ซึ่งสุ่มห้องเรียนใหม่ให้กับนักเรียนในทุกปีการศึกษา ทำให้นักเรียนที่มีความสามารถเท่า ๆ กัน กระจายอยู่ในห้องเรียนที่มีเพื่อนร่วมห้องต่างกัน ดังนั้น หากเด็กสองคน มีคะแนนสอบในปีการศึกษาที่ผ่านมาเท่ากัน แต่คนหนึ่งถูกสุ่มไปอยู่ห้องที่มีเด็กเก่งมาก อันดับในห้องเรียน (หรือ classroom rank) ของเด็กคนนั้นก็จะอยู่ต่ำกว่าเด็กอีกคนซึ่งโดนจัดไปอยู่ในห้องที่มีเด็กเก่งน้อย
การที่โรงเรียนใช้วิธีสุ่มดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนเป็นการทำการทดลองให้คณะผู้วิจัยสามารถเปรียบเทียบผลของ classroom rank จากเด็กที่มีความสามารถเท่า ๆ กันได้ งานศึกษาของ Prof. Carneiro ได้ใช้ข้อมูลจากโรงเรียนประถมในเอกวาดอร์ 200 โรงเรียน และติดตามเก็บข้อมูลเด็กคนเดิมต่อเนื่องตลอด 7 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง 6th grade (ปี 2012–2018) โดยข้อมูลที่เก็บจะมีทั้งคะแนนทดสอบวิชาเลขและภาษา (ซึ่งเป็น standardized test) ความสามารถในการบริหารจัดการและควบคุมตนเอง (executive function) การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยคุณครู รวมถึงข้อมูลด้านอารมณ์และสุขภาพจิต
การศึกษาพบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
- Classroom rank มีผลต่อความสำเร็จของนักเรียน โดยเด็กที่อยู่อันดับต้น ๆ ในห้องเรียน มีคะแนนสอบเลขช่วงปลายปีการศึกษาที่สูงกว่าเด็กที่มีความสามารถเท่ากันเมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้อันดับในห้องเรียนต่ำกว่า
- ผลดังกล่าวเกิดขึ้นชัดเจนสำหรับอันดับของนักเรียนในช่วงประถมต้นถึงกลาง (1st - 4th grades) และความแตกต่างยิ่งเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว
- classroom rank มีผลต่อ executive function และระดับความสุขของนักเรียนด้วย
อย่างไรก็ดี Prof. Carneiro กล่าวว่า เนื่องจากเรื่อง classroom rank เป็น zero sum game มีทั้งเด็กที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการโดนจัดอันดับ งานนี้จึงไม่ได้มีนัยทางนโยบายว่าควรสนับสนุนการจัดอันดับ เป็นเพียงการทดสอบสมมติฐานที่ว่า เด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง จะมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต และงานนี้ยังมีจุดด้อยที่ว่า ยังไม่สามารถวัดเรื่องความมั่นใจได้โดยตรง เพียงแต่คาดเดาว่าความมั่นใจมีความสัมพันธ์กับอันดับในห้องเรียน