Through the Meritocratic Looking Glass: The Effect of Unveiling Others' Latent Luck and Efforts on Redistributive Behaviour

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี จาก Nanyang Technological University (NTU) ประเทศสิงคโปร์ มาบรรยายในงาน PIER Economics Seminar ในหัวข้อ “Through the Meritocratic Looking Glass: The Effect of Unveiling Others' Latent Luck and Efforts on Redistributive Behaviour”
งานวิจัยนี้ศึกษาแนวคิด meritocracy (ระบบคุณธรรมที่ความสำเร็จของคนเกิดขึ้นจากความสามารถและความพยายามของตนเอง ไม่ใช่เงินหรืออำนาจทางสังคม) และการแบ่งปันทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ โดยออกแบบการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันกว่า 1,986 คน เล่นเกมตอบคำถามทางวิชาการ 6 ข้อติดต่อกัน ทั้งนี้ แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่ม ๆ (แต่ละกลุ่มมีสมาชิก 2 คน) และโยนเหรียญหัวก้อยเพื่อตัดสินว่า 1 ใน 2 คนของแต่ละกลุ่มนั้น จะมี 1 คนได้เข้าร่วมเกมตอบคำถาม โดยจะได้รับเงินรางวัลมากขึ้นหากตอบถูกมากข้อ ขณะที่อีกคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเล่นเกม ก็ตอบคำถามเหมือนกัน แต่เป็นการตอบนอกเกม และไม่ได้รางวัลใด ๆ จากการตอบคำถาม
ผลการทดลองพบว่า กรณีผู้เล่นเกมที่ทราบผลการตอบคำถามของอีกคนที่ตอบอยู่นอกเกม จะแบ่งเงินรางวัลที่ได้ให้แก่คนที่ตอบอยู่นอกเกมนั้น มากกว่ากรณีผู้เล่นที่ไม่ทราบผลการตอบคำถามของคนที่ตอบอยู่นอกเกม เนื่องจากผู้เล่นที่ทราบผลการตอบคำถามของอีกคนจะมีความเข้าใจว่าไม่ใช่ความสามารถของตนเองเพียงอย่างเดียว (เพราะอีกคนก็ตอบคำถามได้ดีพอ ๆ กับตน) แต่เกิดจากโชคชะตา (การโยนเหรียญหัวก้อยที่ทำให้ได้เข้าร่วมเกมตอบคำถามด้วย) ดังนั้น ยิ่งเพิ่มความโปร่งใสของข้อมูล เพื่อให้ทุกคนรู้เท่ากัน ยิ่งจะเพิ่มความร่วมมือกันและการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมมากขึ้นในสังคม