Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/9e9e94ed636ce30b1f8d0de302f9b58f/e9a79/cover.png
18 ตุลาคม 2560
20171508284800000

ถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ

ปรับปรุงวิธีการระบุตัวผู้มีรายได้น้อย ผ่านบทเรียนจากสวัสดิการไฟฟ้าฟรีของรัฐ
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐภวินทร์ เตวียนันท์
ถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ
excerpt

รัฐบาลต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้มีความพยายามบรรเทาปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผ่านมาตรการอุดหนุนการบริการและสาธารณูปโภคพื้นฐานประเภทต่าง ๆ บทความนี้วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายไฟฟ้าฟรีที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ว่าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีเพียงใด และมีการรั่วไหลไปนอกกลุ่มเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งนำเสนอนัยเชิงนโยบายต่อการออกแบบมาตรการประชารัฐสวัสดิการ (“การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย”) ประจำปี พ.ศ. 2560

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการประชารัฐสวัสดิการผ่านการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยโครงการดังกล่าวจะให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด และใช้เงินอุดหนุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี1 เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยที่คงอยู่มาช้านาน โดยในอดีต รัฐบาลต่าง ๆ ได้พยายามบรรเทาปัญหาดังกล่าวผ่านการอุดหนุนบริการและสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ให้ประชากรเฉพาะกลุ่มมาแล้ว เช่น เบี้ยคนชรา/คนพิการ น้ำประปาฟรี ไฟฟ้าฟรี

เนื่องจากโครงการเหล่านี้ต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากประชาชนบางกลุ่ม หรือในบางกรณีจากฐานภาษีของประชาชนทุกคน ดังนั้นความท้าทายสำคัญของการออกแบบมาตรการเหล่านี้คือกลไกการคัดกรองผู้ที่สมควรได้รับสิทธิ เพื่อให้สวัสดิการเข้าถึงประชากรกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดและมีการรั่วไหลน้อยที่สุด บทความชิ้นนี้ จึงหยิบยกเอาบทเรียนที่ได้จากการวิเคราะห์มาตรการไฟฟ้าฟรีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดประเด็นในการออกแบบสวัสดิการที่ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงถึง เพื่อปรับปรุงสวัสดิการของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป

ความเป็นมาของนโยบายไฟฟ้าฟรี

นโยบายไฟฟ้าฟรีเป็นนโยบายที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยเริ่มจากการเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ และกลายมาเป็นมาตรการถาวรเมื่อกลางปี พ.ศ. 2554 โดยภาครัฐได้มีการปรับหลักเกณฑ์ในการอุดหนุนมาหลายต่อหลายครั้ง สรุปได้ดังนี้

ระหว่างปี พ.ศ. 2551 จนถึงปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลกำหนดกลุ่มของผู้ที่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีให้มีเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย รวมทั้งประชาชนที่พักอาศัยในสถานประกอบการที่พักให้เช่าเท่านั้น และต้องมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน โดยถ้าหากมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือนจะได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้าทั้งหมดในเดือนนั้น แต่ถ้าหากมีการใช้อยู่ในช่วง 80–150 หน่วยต่อเดือนจะได้การลดหย่อนค่าไฟฟ้าเหลือครึ่งหนึ่ง ซึ่งงบประมาณอุดหนุนนั้นมาจากกระทรวงการคลังโดยตรง

ระหว่างปี พ.ศ. 2552 จนถึง พ.ศ. 2554 มีการปรับเงื่อนไขการได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีให้เป็นเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่พักอาศัยเท่านั้น และผู้ที่พักอาศัยในสถานประกอบการที่พักให้เช่าไม่สามารถได้รับสิทธิอีกต่อไป รวมทั้งปรับเกณฑ์ของการให้สิทธิไฟฟ้าใหม่ให้เป็นไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ถึงจะได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้ งบประมาณสนับสนุนยังคงได้รับจากกระทรวงการคลังโดยตรงเช่นเดิม

ระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 มาตรการไฟฟ้าฟรีถูกปรับให้กลายเป็นมาตรการถาวร โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้ช่วยเหลือเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งมิเตอร์ขนาด 5 (15) แอมแปร์และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนแทนเท่านั้น โดยภาระอุดหนุนจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย (cross-subsidy)

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 สิทธิไฟฟ้าฟรีถูกปรับลดจาก 90 หน่วยฟรี กลายเป็น 50 หน่วยฟรีและล่าสุด ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีจะต้องไม่เป็นนิติบุคคล และต้องใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วยติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์นี้ถูกใช้ต่อเนื่องมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระบุว่าระหว่างปี พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2558 มีครัวเรือนได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีอยู่ระหว่าง 3–5 ล้านครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20–30 ของครัวเรือนทั้งหมดในเขตของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 จำนวนและสัดส่วนครัวเรือนที่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี

จำนวนและสัดส่วนครัวเรือนที่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) โดยใช้ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

อนึ่ง ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2560 มีแนวคิดเบื้องต้นว่ารัฐอาจให้การอุดหนุนค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาแก่ผู้มาลงทะเบียนผ่านทางบัตรผู้มีรายได้น้อยด้วย แต่สวัสดิการดังกล่าวถูกถอนออกไปเนื่องด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ และให้มีการช่วยเหลือผ่านมาตรการไฟฟ้าฟรีดังเดิม

การวิเคราะห์เกณฑ์การคัดกรองของมาตรการไฟฟ้าฟรี

ในกรณีของสวัสดิการสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ (targeted subsidy) เช่น มาตรการไฟฟ้าฟรีนั้น ตัวชี้วัดสำคัญสำหรับวิธีการคัดกรองคือ (1) สัดส่วนของผู้ที่สมควรได้รับสิทธิแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ (การตกหล่น หรือ error of exclusion) และ (2) สัดส่วนของผู้ที่ไม่สมควรได้รับสิทธิแต่ผ่านเกณฑ์ (การรั่วไหล หรือ error of inclusion) ซึ่งโดยทั่วไปการกำหนดนโยบายคัดกรองผู้ได้รับสิทธิมักจะเผชิญปัญหา trade-off ระหว่าง error of exclusion และ error of inclusion ด้วยเสมอ กล่าวคือ การกำหนดเกณฑ์ที่รัดกุมแม้จะช่วยลดการรั่วไหลได้ แต่ก็ทำให้จำนวนประชากรที่ตกหล่นจากการได้รับการช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (Komives et al. 2005)

โครงการมาตรการไฟฟ้าฟรีให้สิทธิยกเว้นค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม (targeted subsidy) โดยการระบุตัวผู้ได้รับสิทธิจากสถานะความเป็นเจ้าของมิเตอร์ ขนาดของมิเตอร์ และระดับการใช้ไฟฟ้า ดังนั้น การระบุสิทธิดังกล่าวสามารถนำไปสู่ความผิดพลาดในทั้ง 2 กรณีข้างต้น

กรณีที่หนึ่ง คือ จะมีผู้ที่สมควรได้รับสิทธิแต่ไม่ผ่านการคัดกรอง ซึ่งในกรณีนี้ครัวเรือนที่จะไม่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีทั้งที่สมควรจะได้รับมีด้วยกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ (i) ครัวเรือนที่เป็นผู้เช่าและไม่ได้จ่ายค่าไฟฟ้าด้วยตนเอง (ii) ครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และ (iii) ครัวเรือนยากจนที่มีขนาดใหญ่ (มากกว่า 5 คนขึ้นไป) ที่อาจมีความต้องการใช้ไฟฟ้าพื้นฐานมากกว่า 50 หน่วย

รูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนสองประเภทแรกถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในประเทศไทย (ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของครัวเรือนทั้งหมด) โดยครัวเรือนที่พลาดสิทธิเพราะเป็นผู้เช่าหรือไม่ได้จ่ายค่าไฟฟ้าด้วยตนเอง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมือง ในขณะที่ครัวเรือนประเภทที่สองที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และประเภทที่สามที่เป็นครัวเรือนยากจนขนาดใหญ่ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 2 สัดส่วนครัวเรือนยากจน (ต่อครัวเรือนทั้งหมด) ที่อาจไม่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี

สัดส่วนครัวเรือนยากจน (ต่อครัวเรือนทั้งหมด) ที่อาจไม่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2556–2558

กรณีที่สอง คือ จะมีผู้ที่ไม่สมควรได้รับสิทธิแต่ผ่านการคัดกรอง โดยการรั่วไหลประเภทแรกที่เกิดจากเกณฑ์การให้สิทธิไฟฟ้าฟรีคือการที่ครัวเรือนส่วนหนึ่งพยายามลดการใช้ไฟฟ้าลงจากระดับปกติ 1–2 หน่วย เพื่อให้เข้าข่ายได้รับยกเว้นค่าไฟฟ้า พฤติกรรมนี้เห็นได้ชัดจากรูปที่ 3 ซึ่งแสดง histogram ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยจำนวนมิเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าพอดีที่ 50 หน่วยมีมากกว่าปกติ

รูปที่ 3 Histrogram หน่วยการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทมิเตอร์ 5(15) แอมป์ ในปี พ.ศ. 2556 ในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หน่วยการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทมิเตอร์ 5(15) แอมป์ ในปี พ.ศ. 2556 ในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) โดยใช้ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) ใช้วิธีการประมาณจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ปรับพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว ตามการศึกษาของ Kleven (2016) พบว่าระหว่างปี พ.ศ. 2556–2558 มีจำนวนมิเตอร์ที่ปรับพฤติกรรมไม่มากนัก คือประมาณ 1.5–1.8 แสนครั้งต่อปี (หรือ 12,263–15,000 มิเตอร์ต่อเดือน) คิดเป็นภาระเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้น 18–23 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีค่าน้อยเมื่อเทียบกับภาระการอุดหนุนโดยรวมของโครงการ (3,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงดังกล่าว)

ตารางที่ 1 การรั่วไหลที่เกิดจากการปรับพฤติกรรม

การรั่วไหลที่เกิดจากการปรับพฤติกรรม

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) โดยใช้ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

การรั่วไหลอีกประเภทหนึ่งเกิดจากเกณฑ์การให้สิทธิไฟฟ้าฟรีก่อนเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ที่กำหนดแค่เพียงว่า ครัวเรือนต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์ขนาด 5(15) แอมแปร์ และใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วยในเดือนนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าสถานที่ใช้ไฟฟ้าบางแห่งที่ได้รับสิทธิยกเว้นค่าไฟฟ้าจะเป็นบ้านหลังที่สองของครอบครัวที่มีฐานะดี เพราะหากสถานที่นั้นไม่มีการพักอาศัยเป็นประจำ ก็อาจทำให้ค่าไฟฟ้ารายเดือนต่ำกว่า 50 หน่วยได้2

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) ทำการวิเคราะห์ Upper bound ของความรั่วไหลนี้ระหว่างปี พ.ศ. 2556–2558 โดยใช้เกณฑ์ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ที่กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีต้องไม่เป็นนิติบุคคล และต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป

ตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2556–2558 มีการให้สิทธิไฟฟ้าฟรีแก่มิเตอร์ที่อาจเป็นบ้านหลังที่สองประมาณ 9.3–9.6 ล้านครั้งต่อปี ถือเป็นเงินอุดหนุนประมาณ 830–840 ล้านบาทต่อปีเฉพาะในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรืออีกนัยหนึ่ง การปรับเกณฑ์การให้สิทธิไฟฟ้าฟรีตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไปให้เข้มงวดขึ้น จะช่วยลดภาระการอุดหนุนซึ่งรั่วไหลไปยังครัวเรือนที่อาจจะเป็นบ้านหลังที่สองลงอย่างต่ำ 830 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม การปรับเกณฑ์การให้สิทธิไฟฟ้าฟรีให้เข้มงวดขึ้นนี้ แม้จะลดภาระการอุดหนุนและการรั่วไหลไปยังบ้านหลังที่สองลงได้ แต่ก็อาจทำให้ครัวเรือนยากจนที่มีขนาดใหญ่บางส่วนถูกตัดสิทธิออกไปมากขึ้นเช่นเดียวกัน (การตกหล่นหรือ error of exclusion มีสูงขึ้น)

ตารางที่ 2 Upper bound ของการรั่วไหลของสิทธิไฟฟ้าฟรีไปยังครัวเรือนที่อาจเป็นบ้านหลังที่สองในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

Upper bound ของการรั่วไหลของสิทธิไฟฟ้าฟรีไปยังครัวเรือนที่อาจเป็นบ้านหลังที่สองในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) โดยใช้ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

บทเรียนของนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

จะเห็นได้ว่า กลไกการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิของมาตรการไฟฟ้าฟรีที่อ้างอิงกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้านั้น มีจุดแข็งคือสามารถเข้าถึงครัวเรือนรายได้น้อย และควบคุมภาระการอุดหนุนมิให้การรั่วไหลไปยังครัวเรือนรายได้สูงได้ค่อนข้างดี เนื่องจากครัวเรือนเกือบทั้งหมดในประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ และระดับการใช้ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับระดับรายได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การใช้เกณฑ์คัดกรองที่อิงกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ก็อาจทำให้ครัวเรือนยากจนบางส่วนตกหล่นไปจากการได้รับสิทธิ โดยเฉพาะครัวเรือนยากจนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ครัวเรือนยากจนที่เช่าบ้านพักอาศัยและไม่ได้เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า หรือครัวเรือนยากจนที่มีขนาดใหญ่

เมื่อนำข้อค้นพบเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับรูปแบบนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี พ.ศ.2560 (“บัตรผู้มีรายได้น้อย”) จะเห็นได้ว่านโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจุดแข็งหลักคือ การจัดทำฐานข้อมูลลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ลงทะเบียนทั้ง 14.1 ล้านคนอย่างละเอียด จึงมีศักยภาพในการนำข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ลงทะเบียนมาใช้คัดกรองผู้ได้รับสิทธิให้แม่นยำขึ้น โดยมีการตรวจสอบความแม่นยำด้วยการนำข้อมูลของผู้ลงทะเบียนไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลของรัฐถึง 26 ฐานข้อมูล เช่น จากกรมการปกครอง ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ กรมสรรพากร กรมที่ดิน กระทรวงแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกรมบัญชีกลาง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, 2017) จึงอาจทำให้มีการรั่วไหลหรือตกหล่นที่น้อยกว่ากรณีที่ใช้ระดับการใช้ไฟฟ้าเป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเกณฑ์ที่ใช้คัดกรองผู้ได้รับสวัสดิการในปี 2560 นั้น อ้างอิงจากรายได้และการถือครองทรัพย์สินเป็นหลัก เช่น รายได้ในปี 2559 ต้องต่ำกว่า 100,000 บาท มีสินทรัพย์ทางการเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวยังสามารถทำให้เกิดการรั่วไหลได้ในบางกรณี ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ลงทะเบียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐ เช่น นักเรียน/นักศึกษาจากครอบครัวที่มีฐานะดี แต่ยังไม่เคยเปิดบัญชีธนาคารหรือมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ในส่วนนี้รัฐจะไม่มีทางตรวจสอบข้อมูลด้วยวิธีดังกล่าวได้เลย นอกจากการส่งเจ้าหน้าที่ (นักศึกษา) ลงไปสำรวจสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริง ซึ่งก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ หรือกรณีที่มีการโยกย้ายบิดเบือนข้อมูลรายได้และทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิ เช่น ข้าราชการเกษียณอายุที่โอนทรัพย์สินให้กับลูกหลานไปแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เป็นต้น

จากการคำนวณอย่างคร่าว ๆ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) หากสมมติว่าหากสิทธิไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยต่อครัวเรือนต่อเดือนถูกผนวกรวมให้อยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งมีผู้ได้รับสวัสดิการทั้งสิ้น 11.4 ล้านคน จะทำให้เกิดภาระการอุดหนุนในส่วนของไฟฟ้าสูงถึง 4,115–6,900 ล้านบาทต่อปี3 ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาระการอุดหนุนมาตรการไฟฟ้าฟรีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ 3,000 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่าภาระในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ในกรณีสมมติ) จะสูงกว่าภาระในอุดหนุนผ่านมาตรการไฟฟ้าฟรีเป็นอย่างมาก ความไม่สอดคล้องกันนี้ บ่งชี้ว่าเกณฑ์การคัดกรองสิทธิไฟฟ้าฟรีจากระดับการใช้ไฟฟ้าอย่างเดียวอาจรัดกุมเกินไป และ/หรือ เกณฑ์การคัดกรองผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบันซึ่งอาศัยข้อมูลรายได้และสินทรัพย์เท่านั้น อาจไม่รัดกุมพอจนก่อให้เกิดการรั่วไหลที่สูงอยู่

ดังนั้น แนวทางหนึ่งในการปรับปรุงวิธีการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐหรือสวัสดิการอื่น ๆ (รวมไปถึงมาตรการไฟฟ้าฟรี) ในอนาคต คือการนำจุดแข็งของวิธีการคัดกรองตามมาตรการไฟฟ้าฟรี มารวมกับจุดแข็งของมาตรการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย กล่าวคือ รัฐบาลควรเน้นการเชื่อมฐานข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกับฐานข้อมูลอื่น ๆ ของรัฐให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย เช่น พฤติกรรมการใช้น้ำ/ไฟฟ้าของผู้ที่มาลงทะเบียน หรือการใช้บริการทางการเงิน เช่น บัตรเครดิต หรือเดบิต เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถสะท้อนระดับความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้มาลงทะเบียนได้แม่นยำกว่าระดับรายได้และสินทรัพย์เพียงอย่างเดียว

เอกสารอ้างอิง

Kleven, H. J. (2016): “Bunching. Annual Review of Economics.” 8(1), 435–464. https://doi.org/10.1146/annurev-economics-080315-015234

Komives, K., V. Foster, J. Halpern, and Q. Wodon (2005): “Water, Electricity, and the Poor: Who Benefits from Utility Subsidies.” The World Bank

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ. (2017). มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560 วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. (2017). เอกสารนำเสนอ “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ.” กระทรวงการคลัง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2017). ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ “มาตรการไฟฟ้าฟรีเพื่อครัวเรือนรายได้น้อย”


  1. หนังสือกระทรวงการคลังที่ กค ๐๔๑๒.๔/๑๔๕๔๘ ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560↩
  2. จากการประเมินของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2017) ประกอบกับการสัมภาษณ์การไฟฟ้าฯ พบว่ามิเตอร์ขนาด 5 แอมแปร์ยังสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กได้ประมาณ 1 ตัว (โดยที่ไม่มีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นที่กินไฟมากไปพร้อม ๆ กัน) ในกรณีนี้ ถือได้ว่ากลไกการระบุตัวที่ยังก่อให้เกิดการรั่วไหลของสิทธิอยู่↩
  3. ใช้สมมติฐานว่าจำนวนผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 11,431,681 คน แต่ละครัวเรือนมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 3–5 คน และค่าไฟฟ้าฐานสำหรับไฟฟ้า 50 หน่วยเท่ากับ 150 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ดังนั้นภาระการอุดหนุนใน 1 ปี กรณีที่จำนวนสมาชิกเฉลี่ยเป็น 3 คน/ครัวเรือน จะเท่ากับ 11,431,68115012/3 = 6,859,008,600 บาท/ปี↩
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ภวินทร์ เตวียนันท์
ภวินทร์ เตวียนันท์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
Topics: Development EconomicsPublic Economics
Tags: povertysubsidy burdentargeted subsidytargeting the poorutility subsidy
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email