Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ตราสารหนี้ยั่งยืน: มีแบบไหนและ Greenium คืออะไร
aBRIDGEd ล่าสุด
ตราสารหนี้ยั่งยืน: มีแบบไหนและ Greenium คืออะไร
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/fe72f4f53bf4a5dce2f4f71f511f49e3/e9a79/cover.png
6 มิถุนายน 2559
20161465171200000

สาเหตุของการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน

ปัจจัยพื้นฐาน หรือ ความตื่นตระหนก?
สาเหตุของการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน
excerpt

การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน (financial contagion) เป็นปัญหาสำคัญต่อการบริหารจัดการการลงทุน และเสถียรภาพของระบบการเงินในทุกระดับ ดังนั้น การศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดการลุกลามทางการเงินจึงมีผลเชิงนโยบายที่สำคัญต่อการลดความสูญเสีย หากผู้ดำเนินนโยบายทราบถึงช่องทางในการส่งผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงินระหว่างสถาบันการเงิน ประเทศ หรือภูมิภาค บทความนี้ศึกษาสาเหตุของการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน และสะท้อนว่า นอกจากผลจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว ความตื่นตระหนกของผู้เล่นในตลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้วิกฤตการณ์ทางการเงินลุกลามและรุนแรงขึ้นได้

การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน (financial contagion) เป็นปัญหาสำคัญต่อการบริหารจัดการการลงทุน และเสถียรภาพของระบบการเงินในทุกระดับ วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินหรือประเทศหรือภูมิภาคหนึ่งสามารถลุกลามไปยังอีกสถาบันการเงินหรือประเทศหรือภูมิภาคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ต้นต่อของปัญหาได้ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงในวงกว้าง การกระจายความเสี่ยง (diversification) ผ่านการกระจายการลงทุนในหลากหลายประเทศ โดยมีความคาดหวังว่าเมื่อมีวิกฤตการณ์เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง ความเสียหายที่มีต่อกลุ่มการลงทุน (portfolio) จะไม่รุนแรงนั้น กลับไม่สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ในเวลาที่นักลงทุนต้องการประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงมากที่สุด เพราะวิกฤตการณ์จะลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ สร้างความเสียหายในแต่ละประเทศในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน บทความนี้แสดงให้เห็นว่า การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากทั้งความสำคัญของปัจจัยพื้นฐานหรือจากความหวาดระแวง

Kaminsky, Reinhart and Vegh (2003) ศึกษาการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงินที่มีลักษณะที่ “รวดเร็วและรุนแรง” หรือ “fast and furious” ซึ่งการลุกลามประเภทนี้จะส่งผลกระทบที่มากที่สุด เพราะการลุกลามที่รวดเร็วจะไม่สามารถทำให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ทัน และหากการลุกลามมีลักษณะที่รุนแรง ก็จะส่งผลกระทบที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ การศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดการลุกลามทางการเงินจึงมีผลเชิงนโยบายที่สำคัญต่อการลดความสูญเสีย หากผู้ดำเนินนโยบายทราบถึงช่องทางในการส่งผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงินระหว่างสถาบันการเงิน ประเทศ หรือภูมิภาค ผู้ดำเนินนโยบายก็สามารถลดโอกาสและความรุนแรงของเหตุการณ์ดังกล่าวได้

Goldstein (2013) จำแนกสาเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเงินออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ สาเหตุที่มาจากปัจจัยพื้นฐาน หรือ “fundaments” และสาเหตุที่มาจากความตื่นตระหนก หรือ “panic” โดยในบริบทของการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน ปัจจัยพื้นฐาน หมายถึง ความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐานที่มีอยู่จริงระหว่างประเทศต้นต่อของปัญหาและประเทศที่ได้รับผลกระทบ และความสัมพันธ์นั้นเป็นช่องทางที่จะทำให้ปัญหาของประเทศต้นตอลุกลามไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบได้จริงตามหลักเหตุผล ในขณะที่ความตื่นตระหนกเกิดจากความเชื่อนอกเหนือเหตุผลที่ว่า วิกฤตการณ์ของประเทศต้นต่อจะส่งผลลุกลามไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบ และความเชื่อเหล่านั้นนำไปสู่การลุกลามจริง การกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันเหตุการณ์การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงินจึงต้องคำนึงถึงช่องทางและบทบาทของแต่ละองค์ประกอบของการส่งผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงิน ให้ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อให้ได้นโยบายที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง

กรณีตัวอย่างของการลุกลามที่มาจากความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐาน

ตัวอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐานคือความเชื่อมโยงทางการเงิน (financial linkages) Kodres and Pritsker (2002) เสนอแบบจำลองทางทฤษฎีที่สมมติว่ามูลค่าของสินทรัพย์ของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมทางเศรษฐกิจมหภาค (common macroeconomic factors) และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ (country-specific factors) โดยเมื่อนักลงทุน ที่เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า (informed investors) ได้รับข้อมูลใหม่เกี่ยวกับประเทศต้นตอของปัญหา ก็จะนำไปสู่การปรับระดับการลงทุนในประเทศนั้นตามข้อมูลที่ได้มา ซึ่งจะส่งผลให้ระดับความสัมพันธ์ (exposure) ที่มีต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคของกลุ่มการลงทุนโดยรวมเปลี่ยนไป นักลงทุนจึงต้องมีการปรับสัดส่วนการลงทุน (portfolio rebalancing) ในประเทศอื่น ๆ เพื่อ ให้ระดับความสัมพันธ์ที่มีต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคของ กลุ่มการลงทุนอยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกครั้ง เมื่อนักลงทุนที่เข้าถึงข้อมูลได้น้อยกว่า (uninformed investors) สังเกตเห็นการไหลเข้าออกของเงินลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น ซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นประเทศต้นตอหรือประเทศได้รับผลกระทบก็ปรับการลงทุนตามในทิศทางเดียวกันโดยอนุมานว่า กระแสเงินทุนที่เป็นประจักษ์นั้นสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบราคาของสินทรัพย์ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจึงเคลื่อนไหวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลุกลามที่รุนแรงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วมิได้ มีข้อมูลอันใหม่เกี่ยวกับมูลค่าของสินทรัพย์ของประเทศนั้น แต่อย่างใด

Kodres and Pritsker (2002) ได้ยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเกิดการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงินระหว่างประเทศสามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าประเทศทั้งสองจะไม่มีปัจจัยร่วมกันทางเศรษฐกิจมหภาคโดยตรงเลย แต่มีปัจจัยร่วมทางเศรษฐกิจมหภาคกับประเทศที่สาม นอกจากนี้ระดับของความแตกต่างของการเข้าถึงข้อมูลของนักลงทุน (information asymmetry) ของแต่ละประเทศก็มีผลต่อระดับความรุนแรงของการลุกลามทางการเงิน โดยประเทศที่มีความแตกต่างกันมาก จะได้รับผลกระทบที่แรงกว่า เพราะว่านักลงทุนที่เข้าถึงข้อมูลได้น้อยกว่าทราบว่านักลงทุนที่เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่ามีข้อมูลที่มีคุณภาพสูง พฤติกรรมการซื้อขายของนักลงทุนที่เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าจึงเป็นสัญญาณที่ดี ดังนั้นเมื่อนักลงทุนที่เข้าถึงข้อมูลได้น้อยกว่าเห็นการไหลเข้าออกของเงินลงทุนในประเทศหนึ่ง จึงปรับการลงทุนในประเทศนั้นตามไปในขนาดที่มากขึ้นด้วย

โดยปกติแล้วระดับของความแตกต่างของการเข้าถึงข้อมูลของนักลงทุนในตลาดกำลังพัฒนา (emerging markets) จะอยู่ในระดับที่สูง ในขณะที่ตลาดที่พัฒนาแล้ว (developed markets) จะมีการเข้าถึงข้อมูลได้เสมอภาคกันมากกว่า และจะเป็นประเทศที่ส่งต่อผลกระทบจากประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นต้นตอของปัญหาไปยังประเทศกำลังพัฒนาอีกประเทศหนึ่ง แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งสองประเทศจะไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมหภาคกัน ดังตัวอย่างเช่น วิกฤตการณ์การลดค่าเงินเปโซของประเทศเม็กซิโกในปี 1994 ที่ส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียทั้ง ๆ ที่สองภูมิภาคไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกันทางเศรษฐกิจมหภาค โดยงานวิจัยของ Frankel and Schmukler (1998) พบว่าวิกฤตการณ์ของประเทศเม็กซิโกส่งผ่านไปยังเอเชียผ่านทางตลาดนิวยอร์กของประเทศสหรัฐอเมริกา

การศึกษาของ Kodres and Pritsker (2002) จึงนำไปสู่นัยเชิงนโยบายสำหรับตลาดกำลังพัฒนา กล่าวคือ การออกนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจะสามารถลดผลกระทบอันเนื่องมาจากการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงินผ่านช่องทางประเภทนี้ได้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจของการศึกษานี้ก็คือ นักลงทุนในแบบจำลองของ Kodres and Pritsker (2002) ตัดสินใจด้วยเหตุผล (rational expectation) ตามข้อมูลที่ตนมีอยู่ จึงไม่มีองค์ประกอบของความตื่นตระหนกอยู่เลย การดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นแต่การลดความตื่นตระหนก จึงไม่สามารถป้องกันการเกิดการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงินผ่านช่องทางประเภทนี้ได้

กรณีตัวอย่างของการลุกลามที่มาจากความตื่นตระหนก

Brown, Trautmann, and Vlahu (2016) ทำการทดลองเพื่อศึกษาถึงช่องทางและองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดการลุกลามของวิกฤตการณ์ที่ผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินจากธนาคาร หรือ “bank run” โดยในแต่ละกลุ่มการทดลองจะมีธนาคาร 2 แห่ง แต่ละแห่งมีผู้ฝากเงิน 2 ราย ผู้ฝากเงินทั้งสองรายของธนาคารที่ 1 เป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจก่อน (leaders) ว่าจะถอนหรือไม่ถอนเงินฝากจากธนาคาร จากนั้นผู้ฝากเงินทั้งสองของธนาคารที่ 2 จึงตัดสินใจ (followers) โดยการทดลองจะศึกษาว่าการเกิด bank run ในธนาคารที่ 1 จะส่งผลให้เกิด bank run ในธนาคารที่ 2 หรือไม่ และผ่านช่องทางใด

การตัดสินใจของผู้ฝากเงินทั้งสองรายของแต่ละธนาคารจะต้องตัดสินใจพร้อมกันและไม่ได้รับอนุญาตให้หารือกัน หากผู้ฝากเงินทั้งสองรายตัดสินใจไม่ถอนเงินออกจากธนาคาร ผู้ฝากเงินทั้งสองจะได้รับผลตอบแทน R ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะของธนาคารว่าเข้มแข็ง (strong) หรืออ่อนแอ (weak) หากมีผู้ฝากเงินเพียงหนึ่งรายถอนเงินออกจากธนาคาร ธนาคารจะต้องปิดทำการลงเพราะขาดสภาพคล่อง โดยผลตอบแทนของผู้ฝากเงินที่ถอนเงินออกไปคือ L ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับสถานะของธนาคาร ส่วนผู้ฝากเงินที่ไม่ถอนเงินออกไปได้รับผลตอบแทนเป็นศูนย์ ในกรณีที่ผู้ฝากเงินทั้งสองรายตัดสินใจถอนเงินออกพร้อมกัน ธนาคารจะปิดทำการลง และผู้ฝากเงินแต่ละรายจะได้รับผลตอบแทน L/2 รูปที่ 1 แสดงตารางผลตอบแทนของผู้ฝากเงินทั้งสองรายของแต่ละธนาคาร

รูปที่ 1 ตารางผลตอบแทนของผู้ฝากเงินทั้งสองรายของแต่ละธนาคาร

ตารางผลตอบแทนของผู้ฝากเงินทั้งสองรายของแต่ละธนาคาร

Brown, Trautmann, and Vlahu (2016) กำหนดค่า R ที่ 60 สำหรับธนาคารที่เข้มแข็ง และที่ 50 สำหรับธนาคารที่อ่อนแอ และกำหนดค่า L ที่ 40 ดังนั้น หากผู้ฝากเงินแต่ละรายมีความเชื่อมั่นสูงว่าผู้ฝากเงินอีกรายจะไม่ถอนเงิน ผู้ฝากเงินทั้งสองรายก็จะไม่ถอนเงิน (จึงไม่ก่อให้เกิด bank run) และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับผู้ฝากเงินทั้งคู่ คือ (R, R) ไม่ว่าสถานะของธนาคารจะเป็นอย่างไร แต่หากผู้ฝากเงินมีความเชื่อมั่นที่สูงว่า ผู้ฝากเงินอีกรายจะถอนเงิน ผู้ฝากเงินรายนั้นก็จะถอนเงิน และก่อให้เกิด bank run ดังนั้น การเกิด bank run มาจากความเชื่อของผู้ฝากเงินแต่ละรายว่าผู้ฝากเงินอีกรายจะถอนเงินหรือไม่ โดยสถานะของธนาคารไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าผู้ฝากเงินควรจะถอนเงินหรือไม่ เพราะว่าค่า R ของทั้งสองสถานะมีค่าสูงกว่า ค่า L แต่ความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงินนั่นเองที่เป็นตัวที่ทำให้เกิด bank run อย่างไรก็ตาม การเกิด bank run จะเกิดได้ยากกว่าในกรณีที่ธนาคารมีสถานะเข้มแข็ง เพราะต้องอาศัยความตื่นตระหนกที่สูงกว่าในการนำไปสู่ bank run กล่าวโดยสรุป สถานะของธนาคาร (fundaments) และความตื่นตระหนกที่ว่าผู้ฝากเงินอีกรายจะถอนเงินหรือไม่ (panic) มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะถอนเงินหรือไม่ของผู้ฝากเงินแต่ละราย

ในการทดลอง ผู้ฝากเงินทั้งสองของธนาคารที่ 1 จะทราบว่าธนาคารอยู่ในสถานะอะไร (เข้มแข็ง หรือ อ่อนแอ) จากนั้นผู้ฝากเงินทั้งสองรายจึงตัดสินใจ ผลของการตัดสินใจจะถูกแจ้งไปยังผู้ฝากเงินทั้งสองของธนาคารที่ 2 ซึ่งทราบว่าผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ตัดสินใจโดยทราบถึงข้อมูลสถานะของธนาคารที่ 1 อย่างไรก็ตาม สถานะของธนาคารที่ 2 จะไม่ถูกแจ้งกับผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 แต่ข้อมูลที่จะให้กับผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 มีอยู่ 2 กรณี กรณีแรกคือ สถานะของทั้งสองธนาคารเป็นอิสระต่อกัน หรือ “No-Linkage” และกรณีที่สอง คือ สถานะของธนาคารทั้งสองเหมือนกัน หรือ “Linkage” โดยในแต่ละกรณี หลังจากที่ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 ได้รับข้อมูลการตัดสินใจของผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 แล้ว ผู้ฝากเงินทั้งสองรายของธนาคารที่ 2 จึงตัดสินใจพร้อมกันว่าจะถอนหรือไม่ถอนเงินฝากจากธนาคารที่ 2 โดยไม่มีการหารือกัน ผลของการทดลองจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีฐาน หรือ “Baseline” ที่ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 ต้องตัดสินใจโดยไม่ได้รับแจ้งผลของการตัดสินใจของผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ตารางที่ 1 แสดงเงื่อนไขของการทดลองของทั้ง 3 กรณี

ตารางที่ 1 เงื่อนไขของการทดลอง

เงื่อนไขของการทดลอง

ภายใต้การทดลองนี้ สาเหตุของการเกิดการลุกลามของเหตุการณ์ bank run ระหว่างธนาคารมีอยู่สองประการ ประการแรกมาจากความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐาน (fundaments) กล่าวคือ พฤติกรรมการถอนเงินของผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 จะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสถานะของธนาคารที่ 2 ในกรณี Linkage และทำให้ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 ที่เห็นการถอนเงินของผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 เพิ่มความเชื่อมั่นที่ว่าสถานะของธนาคารที่ 2 น่าจะเป็นสถานะอ่อนแอ อีกประการหนึ่งมาจากความตื่นตระหนก (panic) กล่าวคือ พฤติกรรมการถอนเงินของผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ทำให้ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 เริ่มตื่นตระหนกว่า ผู้ฝากเงินอีกรายหนึ่งของธนาคารที่ 2 จะไปถอนเงินเหมือนกับ ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ผู้ฝากเงินทั้งสองรายจะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อทั้งคู่ตัดสินใจไม่ถอนเงิน แต่ด้วยความกลัวนี้ จึงทำให้ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 ตัดสินใจถอนเงิน

ผลการทดลองของ Brown, Trautmann, and Vlahu (2016) พบว่าในกรณี No-Linkage ไม่ว่าผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 จะเห็นว่าผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ถอนเงินหรือไม่ ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 ก็ไม่ได้เปลี่ยนความเชื่อในสถานะของธนาคารที่ 2 หรือความเชื่อเกี่ยวกับการถอนเงินของผู้ฝากเงินอีกรายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณี Baseline ซึ่งหมายความว่า พฤติกรรมของผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับสถานะของธนาคารที่ 2 (ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายเพราะสถานะของทั้งสองธนาคารเป็นอิสระต่อกันในกรณี No-Linkage) และไม่ได้ส่งผลให้ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 เพิ่มความตื่นตระหนกขึ้นแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน เมื่อเปรียบเทียบกรณี Linkage กับกรณี Baseline ผลการทดลองพบว่าผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 จะเพิ่มความเชื่อที่ว่าสถานะของธนาคารที่ 2 เป็นแบบอ่อนแอเมื่อเห็นผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ถอนเงิน (ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวังเพราะสถานะของทั้งสองธนาคารเหมือนกันในกรณี Linkage) และผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 จะเพิ่มความตื่นตระหนกว่าผู้ฝากเงินอีกรายของธนาคารที่ 2 จะไปถอนเงิน เมื่อเห็นผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ถอนเงิน ซึ่งทั้งสองปัจจัยทำให้สัดส่วนของ ผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 2 ตัดสินใจถอนเงินมากขึ้นอย่างมีนัย สำคัญเมื่อเห็นผู้ฝากเงินของธนาคารที่ 1 ถอนเงิน ซึ่งแสดงให้เห็น ถึงการลุกลามของการเกิด bank run ของธนาคารที่ 1 ไปสู่การเกิด bank run ของธนาคารที่ 2

ผลการทดลองของ Brown, Trautmann, and Vlahu (2016) แสดงให้เห็นว่าการลุกลามของเหตุการณ์ bank run ระหว่างสองธนาคารสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐาน (fundaments) และความตื่นตระหนก (panic) โดยความตื่นตระหนกเป็นช่องทางของการเกิดการลุกลามของ bank run ก็ต่อเมื่อธนาคารทั้งสองมีความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐานกันอยู่ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐานของธนาคารจึงไปเพิ่มโอกาสของการเกิดการลุกลามของเหตุการณ์ bank run ผ่านความตื่นตระหนกด้วยอีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อผู้ฝากเงินของธนาคารเงินทราบถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐานระหว่างธนาคารนั้น

Brown, Trautmann, and Vlahu (2016) แนะนำว่า ผู้กำกับดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงินต้องให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างธนาคาร และประเมินความเสี่ยงของระบบการเงินที่พิจารณาถึงองค์ประกอบของความตื่นตระหนก ร่วมด้วย นโยบายการประกันเงินฝาก (deposit insurance) และนโยบายด้านผู้ให้กู้รายสุดท้าย (lender of the last resort) ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์การลุกลามของ bank run โดยเฉพาะในระบบที่ธนาคารมีความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐานร่วมกัน การลดความตื่นตระหนกว่าผู้ฝากเงินรายอื่นจะถอนเงินจะช่วยป้องกันวิกฤตการณ์ bank run และการลุกลามของ bank run ได้ ดังนั้น ผู้กำกับดูแลควรให้ข้อมูลด้านสภาพคล่องและการเพิ่มลดของเงินฝากของธนาคารที่อาจได้รับผลกระทบของการลุกลามเพื่อช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าว

ข้อสรุป

บทความนี้นำเสนอตัวอย่างของสาเหตุของการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน โดยอาศัยงานวิจัยของ Kodres and Pritsker (2002) และ Brown, Trautmann, and Vlahu (2016) โดยจะเห็นว่าการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐาน หรือจากความตื่นตระหนกเพราะความเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งส่งผลให้วิกฤตการณ์ทางการเงินสามารถขยายผลในวงกว้างได้และมีความรุนแรงมากกว่าผลที่เกิดจากปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ผู้กำหนดโยบายจึงต้องเข้าใจถึงช่องทางการส่งผ่านของวิกฤตการณ์ทางการเงิน เพื่อกำหนดนโยบายที่ลดโอกาสและความรุนแรงของการเกิดการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงินตรงตามสาเหตุที่แท้จริง

เอกสารอ้างอิง

Brown, M., S.T. Trautmann and R. Vlahud (2016): “Understanding Bank-Run Contagion.” Management Science, Forthcoming.

Frankel, J.A. and S.L. Schmukler (1998): “Crises, Contagion, and Country Funds: Effects on East Asia and Latin America,” in Reuven Glick, ed.: Managing Capital Flows and Exchange Rates: Perspectives from the Pacific Basin. Cambridge University Press, Cambridge 232–266.

Goldstein, I. (2013): “Empirical Literature on Financial Crises: Fundaments vs. Panic,” In Caprio Gerard, ed.: The Evidence and Impact of Financial Globalization. Elsevier, London 523–534.

Kaminsky, G.L., C.M. Reinhart and C.A. Vegh (2003): “The Unholy Trinity of Financial Contagion,” Journal of Economic Perspectives 17 (4): 51–74.

Kodres, L.E. and M. Pritsker (2002): “A Rational Expectations Model of Financial Contagion,” Journal of Finance 62 (2): 769–799.

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Financial Markets and Asset Pricing
Tags: financial crisisfinancial contagionpanicrational expectation
ไทยศิริ เวทไว
ไทยศิริ เวทไว
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email