แนวทางการวัดบรรทัดฐานและความชอบทางสังคมด้วยการทดลองในห้องทดลอง
excerpt
การทดลองทางเศรษฐศาสตร์ในห้องทดลองถือเป็นศาสตร์ใหม่ในสังคมไทย และสามารถใช้วัดค่าการตัดสินใจของคนในสังคมไทยได้ บทความนี้พิจารณาถึงบรรทัดฐานและความชอบทางสังคมด้วยการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ในประเด็นการแบ่งปันให้กับสังคมด้วยเกมเผด็จการ เกมยื่นคำขาด และเกมการลงโทษโดยบุคคลที่สาม พบว่า มนุษย์ไม่ได้มีความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์อย่างสมบูรณ์ พวกเขาตัดสินใจโดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคมและผู้อื่นด้วย อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างชาวไทยมีระดับของการให้โดยปราศจากเงื่อนไขอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของแต้มที่ตนเองมี ขณะที่หากเปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถลงโทษได้ การแบ่งแต้มจะสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 และหากเปิดโอกาสให้บุคคลที่สามสามารถลงโทษได้เมื่อเห็นว่าไม่เป็นธรรม การแบ่งแต้มจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งแตกต่างจากผลการทดลองของต่างประเทศที่สัดส่วนการแบ่งแต้มในกรณีที่มีบุคคลที่สามจะสูงกว่ากรณีของการลงโทษโดยผู้รับ
เศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จึงจำเป็นต้องผสานรวมระหว่างความเป็นศาสตร์ (Science) อันเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาเข้ากับความเป็นศิลป์ (Art) ในการตีความ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสมกับแต่ละสังคม
ด้วยเหตุนี้ “เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง” (Experimental Economics) จึงเป็นศาสตร์ที่นำเอาหลักการของการทดลองที่เป็นวิทยาศาสตร์เข้ามาตอบคำถามทางสังคม ซึ่งในที่นี้ หมายถึง กระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างตั้งใจของผู้วิจัย ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนตัวแปรในการทดลอง เพื่อศึกษากระบวนการตัดสินใจหรือผลกระทบของตัวแปรที่มีต่อผลการศึกษาได้อย่างชัดเจน (Smith, 1994)
ในปัจจุบันเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ระดับนานาชาติ เนื่องจากสามารถเติมเต็มวิธีวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องการศึกษาให้สมบูรณ์ขึ้น
สาเหตุหลักของความไม่สมบูรณ์ของผลลัพธ์ทางเศรษฐศาสตร์มักจะมีผลเนื่องมาจากข้อสมมติที่สำคัญสองประการคือ หนึ่ง มนุษย์มีเหตุมีผล (โดยสมบูรณ์) (Rationality) และสอง มนุษย์ตัดสินใจบนพื้นฐานของประโยชน์ของตัวเขาเอง (หรือปัจเจกบุคคล) เท่านั้น (Individual Decision Making) ทั้งที่ในโลกความเป็นจริง
- การตัดสินใจของมนุษย์ไม่ได้อาศัยเฉพาะเหตุผลเท่านั้น แต่มีอารมณ์ (Emotion) ความรู้สึก (Feeling) และประสบการณ์ (Experience) มาร่วมด้วย การตัดสินใจจึงมีความแตกต่างไปจากข้อสมมติพื้นฐานที่เศรษฐศาสตร์กำหนดไว้ (Bias in Decision Making) ซึ่งนับเป็นแกนหลักของ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) และ
- มนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งปัจเจกเสมอไป บ่อยครั้งที่มนุษย์ตัดสินใจบนฐานของความร่วมมือ (Collectivism) กับคนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งพัฒนามาเป็นแกนหลักของ เศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน (Institutional Economics)
ในส่วนของเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันนั้น การทดลองทางเศรษฐศาสตร์นับว่ามีคุณูปการอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้สามารถวัดหรือประเมินค่าของตัวแปรต่าง ๆ ในเชิงสถาบันออก มาเป็นตัวเลขได้ ไม่ว่าจะเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเมตตา ความรู้สึกที่มีต่อความเป็นธรรม เป็นต้น
การศึกษาแนวทางการวัดบรรทัดฐานและความชอบทางสังคมด้วยการทดลองในห้องทดลองได้ดำเนินการทดลองทั้งสิ้น 7 เกม โดยทำกับกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร จำนวน 214 คน จำแนกบรรทัดฐานและความชอบทางสังคมออกเป็น 3 กลุ่มประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นทางด้านความร่วมมือกับสังคม (Social Cooperation) ประกอบด้วยเกมการตัดสินใจของนักโทษ (Prisoners’ dilemma Game) และเกมสินค้าสาธารณะ (Public Goods) 2.ประเด็นทางด้านการแบ่งปันกับสังคม (Social Sharing) ได้แก่ เกมเผด็จการ (Dictator Game) เกมยื่นคำขาด (Ultimatum Game) และเกมการลงโทษโดยบุคคลที่สาม (Third Party Punishment Game) และ 3.ประเด็นทางด้านความไว้เนื้อเชื่อใจ (Social Trust) ได้แก่ เกมความไว้ใจ (Trust Game) และเกมแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน (Gift Exchange Game)
ในบทความนี้จะนำเสนอเพียงประเด็นทางด้านการแบ่งปันกับสังคมเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยเกมเผด็จการ เกมยื่นคำขาด และเกมการลงโทษโดยบุคคลที่สาม
เกมเผด็จการแสดงถึงสถานการณ์การตัดสินใจและพฤติกรรมการตัดสินใจภายใต้การให้สิทธิขาดแก่ผู้ใดผู้หนึ่งในสังคม โดยจะทำการแบ่งผู้ร่วมทดลองออกเป็นสองฝ่าย คือ ผู้ให้กับผู้รับ ระบบจะทำการจับคู่แบบสุ่มและไม่มีใครทราบว่าตนเองจับคู่กับใคร ผู้ให้จะได้รับแต้มจำนวน 100 แต้ม ขณะที่ผู้รับจะไม่ได้รับอะไรเลย ผู้ให้มีอำนาจในการแบ่งแต้มให้กับผู้รับเท่าไรก็ได้ โดยที่ผู้รับไม่มีสิทธิโต้ตอบใดใดเลย ผลที่คาดหวังในทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่ามนุษย์มีเหตุมีผลนั้น คือ การที่ผู้ให้ต้องไม่แบ่งแต้มให้ผู้รับเลยแม้แต่แต้มเดียว
ผลการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง พบว่า จากการเล่นเกมทั้ง 20 รอบ ในรอบแรก ๆ มีผู้ไม่ได้รับการแบ่งสรรแต้มเลยจำนวน 8 คน เมื่อจำนวนรอบผ่านไป สัดส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการแบ่งปันแต้มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อจบการทดลองในรอบที่ 20 พบว่า มี 13 คนที่ไม่ได้รับการแบ่งสรรแต้มเลย หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวนผู้รับทั้งหมดนอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยของการแบ่งปันแต้มของผู้เข้าร่วมการทดลองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการทดลองของประเทศต่าง ๆ จะถือได้ว่าอยู่ในระดับปกติค่อนข้างต่ำ เนื่องจากสัดส่วนการแบ่งแต้มของงานศึกษาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ร้อยละ 10–20 (Camerer and Fehr, 2002) ผลการทดลองในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ไม่ได้เห็นแก่ตัวโดยสมบูรณ์ที่จะเก็บแต้มทั้งหมดไว้กับตนเอง แต่ได้ให้ความสำคัญกับการแบ่งปันให้กับผู้อื่นด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นระดับของความเมตตาในสังคม
เกมยื่นคำขาดคล้ายกับเกมเผด็จการ แต่ข้อแตกต่างคือ เกมยื่นคำขาดนั้นจะให้สิทธิแก่ผู้รับสามารถลงโทษผู้ให้ได้เมื่อรู้สึกว่าผู้ให้มีการตัดสินใจที่ตนเองคิดว่าไม่เป็นธรรม โดยผู้รับสามารถปฏิเสธที่จะรับแต้มที่ถูกแบ่งให้มาจากผู้ให้ได้ซึ่งหากผู้รับปฏิเสธการรับแล้ว ผู้ให้ก็จะไม่ได้รับแต้มในส่วนที่เหลือด้วยเช่นกัน เช่น หากผู้ให้ตัดสินใจแบ่งแต้มเพียง 1 แต้มจาก 100 แต้ม และผู้รับปฏิเสธการรับ 1 แต้มดังกล่าว ผู้ให้ก็จะสูญเสีย 99 แต้มด้วย ผลที่คาดหวังในทางเศรษฐศาสตร์คือ การที่ผู้ให้แบ่งแต้มให้กับผู้รับเพียงแต้มเดียวก็เพียงพอ เพราะผู้รับที่มีเหตุมีผลควรยอมรับแม้เพียงแต้มเดียวก็ย่อมดีกว่าไม่ได้รับอะไรเลย ดังนั้น ผู้รับย่อมไม่ปฏิเสธ
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเกมยื่นคำขาดเพิ่มเงื่อนไขจากเกมเผด็จการให้ผู้รับสามารถลงโทษได้สัดส่วนการแบ่งแต้มให้ผู้รับมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่ากรณีเกมเผด็จการ โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 หากเปรียบเทียบผลการทดลองที่ได้จากเกมนี้ของไทยกับผลการทดลองของต่างประเทศ จะพบว่า กรณีของประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่า โดยกรณีของต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 (Camerer and Fehr, 2002) นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ร่วมการทดลองกลัวการถูกปฏิเสธและไม่ได้รับอะไรเลยในระดับที่สูงกว่ากรณีของประเทศอื่น ๆ
การทดลองพฤติกรรมการตัดสินใจในเกมการลงโทษจากบุคคลที่สามคล้ายกับเกมเผด็จการและเกมยื่นคำขาด ความแตกต่างของเกมนี้อยู่ที่การมีบุคคลที่สามเข้ามามีอำนาจในการลงโทษด้วยการหักแต้มของผู้ให้ได้ หากบุคคลที่สามรู้สึกว่าเกิดการแบ่งปันไม่เป็นธรรม แต่บุคคลที่สามเองก็มีต้นทุนในการลงโทษเช่นกัน ผลที่คาดหวังในทางเศรษฐศาสตร์คือ ผู้ให้จะไม่แบ่งแต้มให้กับผู้รับเลย เพราะบุคคลที่สามจะไม่ยอมเสียแต้มของตนเองไปเพื่อการลงโทษใดใด
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง ค่าเฉลี่ยของแต้มที่ผู้ให้ให้กับผู้รับอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ขณะที่บุคคลที่สามที่สามารถลงโทษได้ก็ตัดสินใจลงโทษด้วยต้นทุนไม่เกินร้อยละ 30 ของแต้มที่ตนเองมีเช่นกัน หากเปรียบเทียบกับผลการทดลองในหลายประเทศจะพบว่า ในต่างประเทศนั้นจะมีสัดส่วนการแบ่งแต้มเข้าใกล้ระดับ 50-50 มากกว่าเกมยื่นคำขาด เนื่องจากผู้เล่นจะกังวลใจว่าบุคคลที่สามจะเข้ามาลงโทษ (Camerer and Fehr, 2002) แต่ในกรณีของประเทศไทย กลับพบว่าผลที่ได้มีค่าห่างจากระดับ 50-50 มากกว่าเกมยื่นคำขาด นั่นแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองเชื่อว่าการทำงานของบุคคลที่สามอาจจะมีความประนีประนอมมากกว่าคู่ของตนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
จากการศึกษาเกมเผด็จการ เกมยื่นคำขาด และเกมการลงโทษโดยบุคคลที่สาม พบว่า มนุษย์ไม่ได้มีความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์โดยสมบูรณ์ พวกเขาตัดสินใจโดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคมและผู้อื่นด้วย อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกรณีของไทยกับต่างประเทศแล้ว พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวไทยมีระดับของการให้โดยปราศจากเงื่อนไขไม่ต่างไปจากคนในประเทศอื่น แต่เกรงกลัวการถูกลงโทษจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง มากกว่าการกลัวการลงโทษจากบุคคลที่สามที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความเป็นธรรม ซึ่งต่างกับผลการทดลองของต่างประเทศที่จะเกรงกลัวการลงโทษจากบุคคลที่สามมากกว่า
อย่างไรก็ดี การทดลองทางเศรษฐศาสตร์กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเตรียมการทดลองในพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อทำการเปรียบเทียบค่าของตัวแปรที่ได้จากการทดลองเกี่ยวกับบรรทัดฐานและความชอบทางสังคม อันจะนำมาสู่ความเข้าใจมิติทางสังคมของคนในแต่ละภาคของประเทศไทย
คณะผู้เขียน
ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Camerer, C. F. and E. Fehr (2002): “Measuring Social Norms and Preferences using Experimental Games: A Guide for Social Scientists,” Working Paper.
Camerer, C. F. (2003): Behavioral game theory: Experiments on strategic interaction. Princeton: Princeton University Press.
Fehr, E. and U. Fischbacher (2001): “Third Party Punishment”, mimeo, University of Zürich.
Fehr, E., G. Kirchsteiger, and A. Riedl (1993)” “Does Fairness prevent Market Clearing? An Experimental Investigation,” Quarterly Journal of Economics CVIII, 437–460.
Güth, W., R. Schmittberger, and B. Schwarze (1982): “An Experimental Analysis of Ultimatium Bargaining,” Journal of Economic Behavior and Organization III, 367–88.
Kahneman, D., J. L. Knetsch, and R. Thaler (1986): “Fairness as a Constraint on Profit Seeking: Entitlements in the Market,” American Economic Review LXXVI, 728–41.
Smith, V. L. (1994): “Economics in the Laboratory,” Journal of Economic Perspectives 8:1, 113–131.