Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/1496870cf3c50015b5aa5a15977665b7/e9a79/cover.png
30 มกราคม 2560
20171485734400000

อุปสรรคของการพัฒนาระบบประกันที่สมบูรณ์ในชุมชนชนบทของไทย

การปกปิดรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาระบบประกันที่จะช่วยให้ครัวเรือนบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น
นราพงศ์ ศรีวิศาล
อุปสรรคของการพัฒนาระบบประกันที่สมบูรณ์ในชุมชนชนบทของไทย
excerpt

อุปสรรคของการพัฒนาระบบประกันภัยที่จะช่วยให้ครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคให้คงที่ได้อย่างสมบูรณ์ (smooth consumption) คือ ปัญหา asymmetric information ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ไม่สมควร (moral hazard) ปัญหาข้อจำกัดในการปฏิบัติตามข้อตกลงกลุ่ม (limited commitment) และปัญหาการปกปิดรายได้ที่แท้จริง (hidden income) ของครัวเรือนจากการศึกษาโดยข้อมูล Townsend Thai Monthly Micro Data พบว่า อุปสรรคสำคัญสำหรับครัวเรือนในชุมชนชนบทของไทยในกลุ่มตัวอย่างนี้ คือ การปกปิดรายได้ที่แท้จริง ดังนั้น การมีนโยบายที่ช่วยให้ผู้รับประกันสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยประมาณรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนได้ดีขึ้น จะส่งผลดีต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบประกันความเสี่ยงของครัวเรือนในชุมชนชนบทไทยได้

ในทางเศรษฐศาสตร์ การรักษาระดับการบริโภคที่เหมาะสม (smooth consumption) จะช่วยให้ครัวเรือนได้รับอรรถประโยชน์ (utility) สูงสุดจากทรัพยากรที่มี แต่ในทางปฏิบัติ หลายครัวเรือนต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลายรูปแบบซึ่งส่งผลต่อความไม่แน่นอนของรายได้ อาทิ ภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อผลิตผลการเกษตร อุบัติเหตุ หรือโรคภัยไข้เจ็บที่ส่งผลต่อแรงงานในครัวเรือน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้หลายครัวเรือนที่ไม่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีพอ อาจจะต้องลดการบริโภคลงในบางช่วงเวลาที่มีรายได้น้อยและบริโภคมากขึ้นเมื่อมีรายได้ดี อย่างไรก็ตาม พัฒนาการในตลาดการเงิน (financial market) ได้ทำให้เกิดเครื่องมือทางการเงินหลายชนิดที่ช่วยในการกระจายความเสี่ยง (risk diversification) เพื่อให้ครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคได้ดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการออม (saving) เพื่อการกู้ยืม (borrowing) และเพื่อการประกันภัย (insurance) นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้น1 ที่ชี้ให้เห็นว่ามีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างไม่เป็นทางการ (informal risk-sharing system) เช่น ในรูปแบบของการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างครัวเรือน ซึ่งช่วยในการกระจายความเสี่ยงของครัวเรือนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดเงินได้มากเท่าที่ควร ดังเช่นในเขตชนบทของประเทศไทย คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมเครื่องมือทางการเงินหรือการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคให้คงที่ได้ ทำไมข้อมูลสำรวจภาคครัวเรือนโดยทั่วไปยังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางบวก ระหว่างการอุปโภคบริโภคกับรายได้ที่มักจะมีความผันผวน อะไรคือปัญหาหรืออุปสรรคในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ดีพอเพื่อให้ครัวเรือนบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างสมบูรณ์

ความเสี่ยงอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะครัวเรือน (idiosyncratic risk) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบางครัวเรือนเท่านั้น และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวม (aggregate risk) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกครัวเรือนในชุมชนหรือในระบบเศรษฐกิจนั้น ๆ ในกรณีของ aggregate risk นั้น แต่ละครัวเรือนในชุมชนหรือระบบเศรษฐกิจเดียวกันจะไม่สามารถบริหารจัดการโดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากทุกครัวเรือนจะได้รับผลกระทบเหมือนและพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ การออมและการกู้ยืมต่าง ๆ จะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง เพราะสามารถช่วยให้ครัวเรือนจัดสรรทรัพย์ สินเพื่อการบริโภคข้ามช่วงเวลา (intertemporal allocation) ได้ เช่น ในช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งซึ่งเป็น aggregate shock ที่ทำให้ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านเดียวกันได้รับผลผลิตจากการเพาะปลูกต่ำและส่งผลให้มีรายได้น้อยนั้น ครัวเรือนอาจจำเป็นต้องบริโภคจากรายได้ที่เก็บออมไว้หรือที่กู้ยืมมาแทน เนื่องจากทุกครัวเรือนประสบปัญหาในเวลาเดียวกัน ทำให้การขอความช่วยเหลือจากคนในหมู่บ้านเดียวกันเป็นไปได้ยาก เป็นต้น ส่วนในกรณีของ idiosyncratic risk อาทิ กรณีที่หัวหน้าครัวเรือนประสบอุบัติเหตุทำให้ทุพพลภาพและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือเสียชีวิต ผลิตภัณฑ์การออมหรือการกู้ยืมอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากรายได้ของครัวเรือนจะลดลงอย่างถาวร ในกรณีเช่นนี้ ระบบประกันภัยเพื่อกระจายความเสี่ยงระหว่างครัวเรือนจะมีบทบาทสำคัญในการลดความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะมีการจัดสรรทรัพยากรระหว่างครัวเรือน (Cross-sectional Allocation) ไปช่วยเหลือครัวเรือนที่โชคร้ายดังกล่าวได้

นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน2 ได้พัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และการบริโภคที่จะใช้อธิบายพฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนในสถานการณ์ต่าง ๆ และพบว่าในกรณีที่ครัวเรือนสามารถออมหรือกู้ยืมเงินได้โดยไม่มีข้อจำกัด และไม่มีปัญหา asymmetric information กล่าวคือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถได้รับข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับครัวเรือนอย่างถูกต้องครบถ้วนเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ระบบประกันภัยที่จะช่วยให้ครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคได้โดยไม่ขึ้นกับรายได้ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาจะสามารถเกิดขึ้นได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ asymmetric information เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับบริหารจัดการความเสี่ยงในหลายรูปแบบไม่สามารถเกิดและคงอยู่ได้ตามกลไกตลาด ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอให้ครัวเรือนสามารถขจัดความเสี่ยงของรายได้ที่ไม่แน่นอนเพื่อรักษาระดับการบริโภคให้คงที่ได้อย่างสมบูรณ์

หนึ่งในปัญหา asymmetric information ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างระบบประกันรายได้ที่สมบูรณ์ ได้แก่ ในกรณีที่ครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ไม่สมควรหลังจากเข้าร่วมระบบประกันภัย หรือในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า moral hazard งานวิจัยหลายชิ้น ได้แก่ Phelan (1998) และ Rogerson (1985) เป็นต้น ได้ผนวกปัญหา moral hazard เข้าไปในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และการบริโภค ซึ่งในกรณีนี้ปัญหา moral hazard เกิดจากการที่ครัวเรือนต้องใช้ความพยายามในการลงแรงงานหรือความคิดในกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี แต่มีความเป็นไปได้ที่ความพยายามดังกล่าวอาจไม่ส่งผล ดังนั้น หากผู้รับประกันไม่สามารถตรวจสอบถึงระดับความพยายามที่ครัวเรือนใช้ในการผลิตได้ ผู้รับประกันจะไม่สามารถทราบได้ว่าครัวเรือนลดความพยายามในการผลิตลง หรือทำเต็มความสามารถแต่โชคร้ายได้รับผลผลิตที่ไม่ดี ด้วยเหตุนี้ จึงมีช่องทางให้ครัวเรือนลดต้นทุนการผลิตด้วยการไม่พยายามลงแรงลงความคิด แล้วไปขอรับสินไหมชดเชยกับทางผู้รับประกันแทน โดยอ้างว่าได้พยายามแล้วแต่โชคร้ายได้ผลผลิตน้อย

Limited Commitment หรือขีดจำกัดในการสร้างและปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่มครัวเรือน เป็นอีกปัญหา asymmetric information ที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดระบบประกันที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะระบบประกันที่เกิดจากการรวม กลุ่มครัวเรือนและกระจายความเสี่ยงภายในกลุ่มครัวเรือน ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่หลายครัวเรือนรวมกลุ่มกันเพื่อประกันความเสี่ยงของรายได้ที่ผันผวน โดยมีข้อตกลงร่วมกันให้ในแต่ละช่วงเวลาครัวเรือนที่โชคดีได้รับผลผลิตหรือรายได้ดีให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่โชคร้ายได้รับผลผลิตหรือรายได้ต่ำ หากข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถบรรลุได้หรือแต่ละครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวเมื่อมีรายได้ดีแล้วนั้น การประกันลักษณะดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดและคงอยู่ได้ ดังที่ศึกษาในงานวิจัยของ Kimball (1988), Coate and Ravallion (1993), และ Ligon et, al. (2002) โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่เพิ่มความเป็นไปได้ในการเกิดปัญหา limited commitment ดังกล่าว

อีกปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดการประกันความผันผวนของรายได้ คือ ปัญหาที่ผู้บริหารจัดการระบบประกันหรือผู้รับประกันไม่สามารถตรวจสอบรายได้ที่แท้จริงของแต่ละครัวเรือนได้ ทำให้ครัวเรือนมีแรงจูงใจที่จะรายงานรายได้ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หรืออาจกล่าวได้ว่า ครัวเรือนพยายามปกปิดรายได้บางส่วน เพื่อให้ได้รับการจัดสรรความช่วยเหลือจากระบบประกันเพิ่มมากขึ้น

ในทางปฏิบัติ นอกเหนือจากการทราบว่าปัจจัยใดบ้างที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดระบบประกันที่สมบูรณ์แล้ว ประเด็นที่สำคัญกว่า คือ การชี้ชัดว่าปัจจัยใดเหล่านี้ที่เป็นสาเหตุหลักของอุปสรรคดังกล่าวในสถานการณ์จริง เพื่อให้สามารถสร้างนโยบายมาเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดเพราะหากใช้นโยบายผิดแล้วอาจส่งผลเสียมากขึ้นได้

เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่แท้จริงที่เป็นอุปสรรคต่อการมีประกันรายได้อย่างสมบูรณ์ Kinnan (2014) ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่ผนวกความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหา moral hazard, limited commitment และ hidden income ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และการบริโภค เพื่อพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติว่า ปัจจัยใดเป็นอุปสรรคสำคัญของการเกิดระบบประกันที่สามารถช่วยให้ครัวเรือนรักษาระดับการบริโภคได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้ความสามารถในการคาดการณ์การบริโภคของครัวเรือนจากตัวแปรที่สร้างจากข้อมูลรายได้ในอดีตเพื่อแยกปัญหา moral hazard และ limited commitment ออกจาก hidden income จากนั้น Kinnan (2014) ได้นำวิธีการดังกล่าวมาทดสอบกับข้อมูล Townsend Thai Monthly Micro data ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้ที่แท้จริงและการบริโภคในระดับครัวเรือนเป็นอนุกรมเวลา (time series) ที่ยาวเพียงพอ การศึกษานี้พบว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาสำหรับครัวเรือนในชนบทไทยเหล่านี้ คือ การปกปิดรายได้ที่แท้จริง (hidden income) ไม่ใช่ moral hazard และ limited commitment

เพราะฉะนั้น นโยบายที่เหมาะสมกับชุมชนชนบทในประเทศไทย ดังเช่นครัวเรือนในข้อมูล Townsend Thai Monthly Micro data ควรเป็นนโยบายที่ช่วยลดปัญหา hidden income ทำให้ผู้รับประกันสามารถประเมินรายได้ของผู้ซื้อประกันในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

นโยบายที่การันตีการจ้างงานหรือประกันรายได้ในชนบทมีแนวโน้มที่จะทำให้ปัญหา moral hazard และ limited commitment รุนแรงขึ้น เพราะการที่ประชาชนมีทางเลือกที่จะทำงานที่รัฐจัดให้จะทำให้ผลเสียจากการลดความพยายามในการผลิตหรือความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมกับระบบการแชร์ความเสี่ยงในชุมชนลดลง ในส่วนของปัญหา hidden income นั้น Kinnan (2014) เห็นว่านโยบายนี้จะทำให้ครัวเรือนไม่สามารถอ้างได้ว่ามีรายได้น้อยเกินไป ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหา hidden income ที่เกิดขึ้นในระบบแชร์ความเสี่ยงระหว่างครัวเรือนหรือเกิดขึ้นต่อผู้รับประกันในชุมชนชนบทไทยได้ เพราะมีขอบเขตของรายได้ขั้นต่ำชัดเจนขึ้นอย่างไรก็ตาม นโยบายการันตีการจ้างงานหรือประกันรายได้อาจยังไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมในการลดอุปสรรคการเกิดประกันที่มีสาเหตุจาก hidden income ประการแรกเนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นการเพิ่มต้นทุนของภาครัฐ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจจะมีมูลค่าสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการลดปัญหา hidden income ประการที่สอง นโยบายประกันการจ้างงานหรือประกันรายได้อาจจะไม่ได้ทำให้ปัญหา hidden income ลดน้อยลง ภาครัฐหรือองค์กรที่ใช้นโยบายดังกล่าวเองยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการปกปิดรายได้ โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนชนบทที่ภาครัฐไม่มีวิธีการตรวจสอบรายได้แท้จริงที่ดีกว่าผู้รับประกันที่อยู่ในพื้นที่และเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ของชุมชนได้ดี ดังนั้น นโยบายเหล่านี้อาจเป็นเพียงการย้ายปัญหา hidden income จากชุมชนสู่รัฐบาล

นโยบายที่มีศักยภาพมากกว่าการประกันการจ้างงานหรือประกันรายได้ในแง่ของการลดปัญหา hidden income ได้แก่ การใช้ดัชนีชี้วัดรายได้ (income index) ซึ่งสร้างจากตัวแปรต่าง ๆ ที่ผู้รับประกันสามารถวัดได้อย่างถูกต้อง และเป็นดัชนีที่มีความสามารถในการบ่งชี้ระดับรายได้ครัวเรือนในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยผู้รับประกันสามารถอ้างอิงถึงดัชนีดังกล่าวในการประเมินรายได้ครัวเรือนเพื่อหลีกเลี่ยงการปกปิดรายได้ที่แท้จริงจากครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายลำดับแรกของการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้คือการสร้างดัชนีรายได้ดังกล่าว นอกจากนี้ การประกันโดยใช้ดัชนีรายได้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อครัวเรือนมีความเข้าใจและยอมรับในข้อบ่งชี้ของดัชนีนั้น มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีอุปสงค์ในการเข้าร่วมประกันจากครัวเรือน

ข้อสรุป

การสร้างนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดประกันให้ครัวเรือนสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรักษาระดับการบริโภคให้คงที่ได้อย่างสมบูรณ์ (smooth consumption) ตามกลไกตลาด จำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดประกันดังกล่าว สำหรับครัวเรือนในชุมชนชนบทไทยจากการศึกษาด้วยข้อมูล Townsend Thai Monthly Micro Data นั้น อุปสรรคที่สำคัญ คือ การปกปิดรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนต่อผู้รับประกัน (hidden income) ดังนั้น นโยบายที่จะส่งผลดีควรช่วยลดปัญหาดังกล่าว อาทิ การใช้ดัชนีชี้วัดรายได้ของแต่ละครัวเรือนที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับของทั้งผู้ซื้อและผู้รับประกัน เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Coate, S. and M. Ravallion (1993): “Reciprocity without Commitment: Characterization and Performance of Informal Insurance Arrangements.” Journal of Development Economics, vol.40, p.1–24.

Kimball, M. S. (1998): “Farmers’ Cooperatives as Behavior toward Risk.” American Economic Review, vol.78, p.224–232.

Kinnan, C. (2014): “Distinguishing Barriers to Insurance in Thai Villages.”

Ligon, E., J. P. Thomas, and T. Worrall (2002): “Informal Insurance Arrangements with Limited Commitment: Theory and Evidence from Village Economies.” Review of Economic Studies, vol.69, p.209–244.

Mace, B. J. (1991): “Full Insurance in the Presence of Aggregate Uncertainty.“Journal of Political Economy, vol.99, p.928–956.

Phelan, C. (1998): “On the Long Run Implications of Repeated Moral Hazard.” Journal of Economic Theory, vol.79, p.174–191.

Rogerson, W. P. (1985): “Repeated Moral Hazard. Econometrica.” vol.53, p.69–76.

Townsend, R. M. (1994): “Risk and Insurance in Village India.” Econometrica, vol.62, p.539–591.

Townsend, R. M. (1995): “Financial Systems in Northern Thai Villages.” Quarterly Journal of Economics, vol.110, p.1011–1046.

Udry, C. (1994): “Risk and Insurance in a Rural Credit Market: An Empirical Investigation in Northern Nigeria.” Review of Economic Studies, vol.61, p.495–526.

Wilson, R. (1968): “The Theory of Syndicates. Econometrica.” vol.36, p.119–132.


  1. อาทิ Townsend (1994), Townsend (1995), Udry (1994)↩
  2. อาทิ Mace (1991), Wilson (1968) เป็นต้น↩
นราพงศ์ ศรีวิศาล
นราพงศ์ ศรีวิศาล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Topics: Development Economics
Tags: complete insurancehidden incometownsend thai project
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email