X-Ray พฤติกรรมการกู้ของคนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร
excerpt
บทความตอนแรกใน mini series ของบทความ aBRIDGEd ที่มุ่งเข้าใจหนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big data ของเครดิตบูโร ได้นำเสนอเหมืองข้อมูลที่สำคัญของหนี้ครัวเรือนไทยซึ่งเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ของประเทศ บทความตอนที่สองนี้มุ่งที่จะเข้าใจพฤติกรรมการกู้ของคนไทยว่า มีหนี้กี่สัญญา กี่ประเภท มีเจ้าหนี้กี่ราย จากสถาบันการเงินประเภทใด และผู้กู้ที่มีหนี้เสียมักจะมีพฤติกรรมการกู้แบบใด โดยการศึกษานี้เจาะลึกไปถึงสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีผู้กู้มากที่สุด และมีสัดส่วนหนี้และหนี้เสียในระบบที่สูง
ความเข้าใจในพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้แต่ละรายเป็นรากฐานสำคัญที่จะเข้าใจถึงเสถียรภาพของครัวเรือนและของระบบเศรษฐกิจการเงิน เพราะในนัยหนึ่งพฤติกรรมการกู้อาจสามารถสะท้อนถึงคุณภาพหนี้ของผู้กู้แต่ละราย เช่น ผู้กู้ที่มีหนี้หลายสัญญาอาจสะท้อนถึงภาระหนี้ที่สูง ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเปราะบาง และความสามารถในการจ่ายหนี้ที่ลดลง ผู้กู้ที่มีหนี้อยู่กับหลายสถาบันการเงินอาจจงใจที่จะกู้หนี้จากแหล่งหนึ่งไปชำระหนี้ของอีกแหล่งหนึ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นต้น และหากผู้กู้ส่วนใหญ่ของประเทศมีพฤติกรรมดังกล่าว หรือหากหนี้ครัวเรือนไทยไปกระจุกตัวอยู่กับผู้กู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และอาจก่อให้เกิดความเปราะบางต่อระบบการเงินได้
หรืออีกนัยหนึ่ง เราอาจมองได้ว่าพฤติกรรมการกู้ที่เราเห็นในปัจจุบันอาจสะท้อนพื้นฐานของผู้กู้แต่ละราย เช่น ผู้กู้ที่มีบัตรเครดิตหลายใบอาจเป็นผู้กู้ที่มีประวัติการกู้ที่ดี มีศักยภาพในการจ่ายคืนหนี้ ดังนั้นการมีบัตรเครดิตหลายใบก็อาจไม่ได้ส่งผลเสียต่อคุณภาพหนี้แต่อย่างใด ดังนั้นความเข้าใจในพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้แต่ละราย ตลอดถึงความเชื่อมโยงของพฤติกรรมการกู้ต่อคุณภาพหนี้ และความแตกต่างของพฤติกรรมการกู้ในมิติของประเภทของผู้กู้ ประเภทสินเชื่อ และประเภทสถาบันการเงิน จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการออกแบบและมุ่งเป้านโยบายที่เหมาะสม ที่ผ่านมาการศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยไม่สามารถวิเคราะห์ลึกลงไปถึงพฤติกรรมการกู้รายคนได้ เนื่องจากขาดข้อมูลในระดับจุลภาคที่มีความคลอบคลุมหนี้ทุกสัญญาและกับทุกสถาบันการเงินในระบบของผู้กู้อย่างข้อมูลเชิงสถิติของเครดิตบูโร
ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมการกู้รายคน โดยสะท้อนข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากการศึกษาของ Chantarat et al. (2017b) ซึ่งมองพฤติกรรมการกู้ใน 2 มิติ คือ
- จำนวนสัญญาและสถาบันการเงินที่ผู้กู้แต่ละคนใช้ และ
- ประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ผู้กู้แต่ละคนใช้
โดยจะตอบ 3 คำถามเชิงนโยบาย คือ
- คนไทยมีพฤติกรรมการกู้อย่างไร
- พฤติกรรมการกู้แต่ละแบบมีผลต่อคุณภาพหนี้อย่างไร และ
- หนี้ส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่กับคนที่มีพฤติกรรมการกู้แบบใด
นอกจากนี้การศึกษายังเจาะลึกไปถึงสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีผู้กู้มากที่สุด มีสัดส่วนปริมาณหนี้ในระบบที่สูง และมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงมากเช่นกัน
ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่าพฤติกรรมการกู้ของคนไทยมีความหลากหลายมาก โดยเกือบครึ่งของผู้กู้มีหนี้เพียง 1 สัญญา แต่ก็มีผู้กู้ถึง 1 ใน 6 ที่มีหนี้มากกว่า 5 สัญญา นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้กู้มากกว่าครึ่งมีเจ้าหนี้เพียง 1 ราย และโดยเฉลี่ยคนไทยมีจำนวนสินเชื่อ 3 สัญญา และมีจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ 2 แห่ง
รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ในแต่ละช่วงอายุและพื้นที่ ตามจำนวนสัญญาสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการกู้ของคนไทยมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุและภูมิภาค โดยประมาณ 60% ของกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อย (< 25 ปี) และอายุมาก (> 70 ปี) จะมีสินเชื่อเพียง 1 สัญญาและใช้สถาบันการเงิน 1 แห่ง ในขณะที่ 60% ของผู้กู้วัยทำงานจะมีหลายสัญญา (20% มีมากกว่า 5 สัญญา) และใช้หลายสถาบันการเงิน (10% ใช้มากกว่า 5 สถาบันการเงิน) ทั้งนี้สัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อหลายสัญญา และใช้สถาบันการเงินหลายแห่งจะมากที่สุดในกลุ่มผู้กู้ที่อายุ 35–45 ปี
ในเชิงพื้นที่เราพบว่าสัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อหลายสัญญามีมากที่สุดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีมากถึง 60% ซึ่งแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ที่มีเพียง 40% และชุมชนเมืองก็มีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหลายสัญญามากกว่าชนบท โดยมีผู้กู้ถึง 20% ในชุมชนเมืองที่มีสินเชื่อมากกว่า 5 สัญญา เปรียบเทียบกับ 10% ในชนบท ทั้งนี้ ก็มีความแตกต่างที่น่าสนใจในระดับจังหวัด โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสัดส่วนของผู้กู้มากถึง 50% ที่มีสินเชื่อเพียง 1 สัญญา นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงจำนวนสถาบันการเงินที่ผู้กู้ใช้ก็พบลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และชุมชนเมืองจะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่ใช้หลายสถาบันการเงินมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการกู้ที่แตกต่างกันในเชิงอายุและพื้นที่ข้างต้นอาจสะท้อนถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ความจำเป็น และแรงจูงใจในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้กู้ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน พบว่าจำนวนผู้กู้ที่มีสินเชื่อหลายสัญญามีเพิ่มขึ้นในเกือบทุกช่วงอายุและภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อย ผู้กู้ในกรุงเทพมหานครและ ปริมณฑลซึ่งมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหลายสัญญามากที่สุดในปัจจุบัน และภาคใต้ที่ยังมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหลายสัญญาเกือบน้อยที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งพฤติกรรมการใช้สินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นของผู้กู้รายเดิม (หรือ intensive margin) และการเข้าถึงสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นของผู้กู้รายใหม่ (หรือ extensive margin)
รูปที่ 2 คำนวณสัดส่วนของหนี้แต่ละประเภทสินเชื่อและประเภทสถาบันการเงินจากปริมาณหนี้ทั้งหมดของผู้กู้แต่ละราย แล้วหาค่าเฉลี่ยของสัดส่วนดังกล่าวตามอายุและพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเภทของสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุและภูมิภาค โดยเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการกู้จากประเภทสินเชื่อ รูปที่ 2a แสดงให้เห็นว่า ในมิติด้านอายุ ผู้กู้อายุน้อย (< 30 ปี) จะมีสัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นสัดส่วนที่สูงจากหนี้ทั้งหมด เนื่องจากสินเชื่อเหล่านี้เป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของสินเชื่อบ้านจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุมากขึ้น และสัดส่วนของสินเชื่อบ้านจะสูงที่สุดถึง 10% ต่อหนี้ทั้งหมด ในกลุ่มผู้กู้อายุ 35–45 ปี และสัดส่วนนี้จะค่อย ๆ ลดลงในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุมากขึ้น สวนทางกับสัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุมาก (> 70 ปี) ซึ่งจะมีสินเชื่อธุรกิจในสัดส่วนที่สูงถึง 40% ร่วมกับสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลัก ลักษณะการใช้สินเชื่อที่แตกต่างกันไปตามอายุสะท้อนพฤติกรรมการใช้สินเชื่อตาม Life cycle theory และ ข้อจำกัดที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุในการเข้าถึงสินเชื่อได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ สัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตจะค่อนข้างคงที่ในผู้กู้เกือบทุกกลุ่มอายุ โดยอยู่ที่ 20% และ 10% ของหนี้ทั้งหมดตามลำดับ แต่อาจมากขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมาก นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงจำนวนประเภทของสินเชื่อที่ผู้กู้แต่ละคนมี เราพบว่า 50–70% ของกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมากจะมีสินเชื่อเพียงประเภทเดียว ในขณะที่กลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่จะมีสินเชื่อหลายประเภท
ในมิติเชิงพื้นที่ เราพบว่าภาคเหนือและภาคอีสานมีสัดส่วนของสินเชื่อเพื่อธุรกิจสูงถึงเกือบ 40% ต่อหนี้ทั้งหมดของผู้กู้ ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งมีเพียง 20% และเรายังพบอีกว่าสัดส่วนของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อบัตรเครดิตมีสูงที่สุดในกลุ่มผู้กู้ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ชุมชนเมืองและจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น ชลบุรี ระยอง เชียงราย เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ตและสงขลา เป็นต้น นอกจากนี้ หากพิจารณาตามจำนวนประเภทของสินเชื่อที่ผู้กู้แต่ละคนมี เราพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้กู้ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและชุมชนเมืองจะมีสินเชื่อหลายประเภท ตรงกันข้ามกับผู้กู้ในภูมิภาคอื่น ๆ ที่น้อยกว่า 40% ของผู้กู้จะมีสินเชื่อหลายประเภท
ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าสัดส่วนของสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการรถคันแรกของรัฐบาลที่เริ่มในปี พ.ศ. 2554
หากพิจารณาถึงประเภทสถาบันการเงินที่ผู้กู้ใช้ รูปที่ 2b แสดงให้เห็นว่าประเภทของสถาบันการเงินที่ผู้กู้ในแต่ละช่วงอายุใช้มีลักษณะเป็น segmentation อย่างชัดเจน โดยกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยวัยเริ่มทำงานจะมีหนี้ส่วนใหญ่อยู่กับ non-banks และสัดส่วนของหนี้ที่อยู่กับ non-banks จะน้อยลงในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มผู้กู้อายุมากโดยเฉพาะผู้กู้ในวัยหลังเกษียณจะมีหนี้ส่วนใหญ่อยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
นอกจากนี้ประเภทของสถาบันการเงินที่ผู้กู้ในแต่ละพื้นที่ใช้ก็มีลักษณะเป็น segmentation อย่างชัดเจน โดยผู้กู้ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคใต้และชุมชนเมืองจะมีสัดส่วนของหนี้อยู่กับธนาคารพาณิชย์และ non-banks มาก ผิดกับผู้กู้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และในชนบทที่จะมีสัดส่วนของหนี้อยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมาก ความแตกต่างของการใช้สถาบันการเงินของผู้กู้ในแต่ละช่วงอายุและพื้นที่ข้างต้นอาจสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเงินแต่ละประเภทมี segmentation ของกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน นอกจากนี้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ สัดส่วนของหนี้ที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ และ non-banks ต่อหนี้ทั้งหมดของผู้กู้แต่ละรายจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันโดยเฉพาะผู้กู้ในวัยทำงาน (35–60 ปี) และผู้กู้ในทุกภูมิภาค ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า ส่วนหนึ่งของ non-banks เป็น subsidiary ของธนาคารพาณิชย์ และ/หรือ ธนาคารพาณิชย์ และ non-banks อาจจะมุ่งเน้นลูกค้าใน segment เดียวกันโดยเฉพาะในมิติเชิงพื้นที่
หากมองตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสัดส่วนของหนี้ของผู้กู้ที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นจาก 32% เป็น 38% โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายจำนวนสาขา ความหลากหลายของสินเชื่อ และการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ สวนทางกับสัดส่วนของหนี้ที่อยู่กับ non-banks ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
รูปที่ 3 จำแนกพฤติกรรมการกู้ตาม combination ของประเภทสินเชื่อที่ผู้กู้แต่ละคนมี โดยแสดงสัดส่วนของผู้กู้และปริมาณหนี้ในระบบ และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียในแต่ละลักษณะพฤติกรรมการกู้ เราพบว่า 58% ของผู้กู้มีสินเชื่อเพียง 1 ประเภท โดย 18% ของผู้กู้ทั้งหมดมีสินเชื่อรถยนต์/จักรยานยนต์เพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้กู้ในกลุ่มนี้มีหนี้ขนาดเล็ก แต่มีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียอยู่สูงที่สุดถึง 24% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงผลของมาตรการรถคันแรกที่กระตุ้นให้ผู้กู้ที่ยังไม่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดสินเชื่อ
นอกจากนี้ ผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคลมีมากถึง 70% ของผู้กู้ทั้งหมด โดย 44% มีสินเชื่อบัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว ซึ่งคิดเป็น 21% ของหนี้ในระบบ และมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียอยู่สูงถึง 15% สินเชื่อสองประเภทนี้จึงเป็นที่น่าจับตา สำหรับผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านเพียงอย่างเดียว ซึ่งคิดเป็นเพียง 2% ของผู้กู้ทั้งหมด มีคุณภาพสินเชื่อที่ดี โดยมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียในกลุ่มนี้อยู่เพียง 7% เท่านั้น
รูปที่ 4 จำแนกพฤติกรรมการกู้ตาม combination ของประเภทสถาบันการเงินที่ผู้กู้แต่ละคนใช้ เราพบว่า 67% ของผู้กู้ทั้งหมดใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพียง 1 ประเภท โดยผู้กู้กลุ่มใหญ่ที่สุดถึง 29% ของผู้กู้ทั้งหมดมีสินเชื่ออยู่กับ non-banks เท่านั้น และประมาณ 1 ใน 4 ของผู้กู้ในกลุ่มนี้จะมีหนี้เสีย และหากมองผู้กู้ที่มีสินเชื่อกับ non-banks ทั้งหมดจะมีถึง 59% และมีคุณภาพที่หลากหลายมาก สินเชื่อของ non-banks จึงเป็นที่น่าจับตามอง นอกจากนี้ 23% ของผู้กู้ทั้งหมดมีสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเท่านั้น และ 1 ใน 7 ของผู้กู้ในกลุ่มนี้จะมีหนี้เสีย ขณะที่ผู้กู้ที่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งคิดเป็น 15% ของผู้กู้ทั้งหมด มีสัดส่วนหนี้เสียต่ำที่สุด ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของผู้กู้ที่ดีกว่าของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เราพบว่าสัดส่วนผู้กู้ที่เป็นหนี้เสียลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มผู้กู้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่ออยู่กับ non-banks อย่างเดียว ซึ่งลดลงจากประมาณ 30% ในปี 2552 เป็นน้อยกว่า 20% ในปี 2559
รูปที่ 3 และ 4 ยังสะท้อนให้เห็นมิติของการกระจุกตัวของหนี้ครัวเรือนไทยตามที่ Chantarat et al. (2017a) ได้ศึกษาไว้ โดยเราพบว่าหนี้มีการกระจุกตัวอยู่ในสินเชื่อบ้าน โดยผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านมีเพียง 13% ของผู้กู้ทั้งหมด แต่มีปริมาณหนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 47% ของปริมาณหนี้ในระบบทั้งหมด แต่ผู้กู้กลุ่มนี้อาจไม่ได้น่าเป็นห่วงมากนักเพราะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียเพียง 7–14% เท่านั้น หนี้ครัวเรือนยังไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อทุกประเภท โดยในกลุ่มนี้มีเพียง 3% ของผู้กู้ทั้งหมด แต่มีปริมาณหนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 19% ของปริมาณหนี้ในระบบทั้งหมด ผู้กู้ที่มีพฤติกรรมการใช้สินเชื่อทุกประเภทนี้ก็อาจเป็นที่จับตามอง เพราะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียค่อนข้างสูงถึง 14%
ที่น่าสนใจก็คือ หนี้ครัวเรือนยังไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อกับทุกประเภทสถาบันการเงิน ซึ่งมีเพียง 7% ของผู้กู้ทั้งหมด แต่กลับมียอดหนี้รวมกันถึง 21% ของหนี้ทั้งหมดในระบบ และสัดส่วนของผู้กู้ในกลุ่มนี้ที่มีหนี้เสียก็มีสูงถึง 18% ดังนั้นผู้กู้ที่มีพฤติกรรมการใช้สถาบันการเงินทุกประเภทจึงเป็นอีกพฤติกรรมที่น่าจับตามอง
เนื่องจากสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่คนเข้าถึงได้ง่าย เป็นสินเชื่อที่ผู้กู้ส่วนใหญ่กว่า 70% มี และมีสัดส่วนหนี้ในระบบที่สูง ขณะเดียวกันกลุ่มผู้กู้ที่มี สินเชื่อดังกล่าวก็มีสัดส่วนที่มีหนี้เสียสูง บทความนี้จึงมุ่งเจาะลึกถึงพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้ที่มีสินเชื่อ 2 ประเภทนี้เพื่อตอบคำถามเชิงนโยบาย เช่น พฤติกรรมการกู้ลักษณะไหนที่น่ากังวล ผู้กู้กลุ่มไหนที่อาจเปราะบาง หรือสถาบันการเงินประเภทไหนที่น่าเป็นห่วง
โดยเฉลี่ยผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตจะมีจำนวนบัตรเครดิต 3 ใบ และมีบัตรเครดิตจาก 2 สถาบันการเงิน รูปที่ 5 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีบัตรเครดิต สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสีย และสัดส่วนการใช้วงเงิน (หรือ Utilization rate) แยกตามจำนวนบัตรและจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ โดยเราพบว่า 36% ของผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตจะมีบัตรเครดิตเพียง 1 ใบ และประมาณ 15% จะมีมากกว่า 5 ใบ ซึ่งก็ถือว่ายังค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น มากกว่า 50% ของคนอเมริกันมีบัตรเครดิตหลายใบและโดยเฉลี่ยมีบัตรเครดิต 4 ใบต่อคน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีบัตรเครดิตจะใช้บัตรเครดิตที่ออกโดย 1 สถาบันเท่านั้น โดยอีก 20% จะใช้บัตรเครดิตจากสถาบันการเงิน 2 แห่ง และน้อยกว่า 10% ที่ใช้บัตรเครดิตจากสถาบันการเงินเกิน 5 แห่ง
พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตแบบไหนที่น่ากังวล? พบว่า กลุ่มคนที่มีบัตรเครดิตหลายใบหรือถือบัตรเครดิตของหลายสถาบันการเงินจะมี Utilization rate ที่ต่ำและมี สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียต่ำกว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีจำนวนบัตรเครดิตน้อยใบ หรือจำนวนสถาบันการเงินน้อยแห่ง กลุ่มผู้กู้ที่มีหลายบัตร หรือมีบัตรเครดิตจากหลายสถาบันการเงินจึงน่าเป็นห่วงน้อยกว่ากลุ่มอื่น ข้อเท็จจริงเหล่านี้ต่างกับเหตุการณ์วิกฤตหนี้บัตรเครดิตในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มคนที่มีบัตรเครดิตหลายใบกลายเป็นหนี้เสีย
นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่า กลุ่มผู้กู้ที่มีหลายบัตรและใช้บัตรของหลายสถาบันการเงินจะมีวงเงินสินเชื่อต่อบัตรที่สูงกว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีน้อยบัตร ซึ่งอาจมองได้ว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้สูง หรือมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีจึงได้รับวงเงินเพิ่ม แต่อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล เราไม่สามารถแยกประเภทของผู้กู้เหล่านี้ออกเป็น transactor (หรือกลุ่มผู้กู้ที่จ่ายเงินคืนเต็มจำนวนทุกเดือนแบบไม่เสียดอกเบี้ย) กับ revolver (หรือกลุ่มผู้กู้ที่จ่ายเงินคืนแบบจ่ายขั้นต่ำ) ได้ ทำให้ไม่สามารถเจาะลึกถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มดังกล่าวได้มากไปกว่านี้ รูปที่ 5 ยังแสดงให้เห็นว่าสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์และ non-banks มีคุณภาพที่ไล่เลี่ยกันในทุกกลุ่มผู้กู้ ซึ่งแบ่งตามจำนวนบัตร และจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้
กลุ่มช่วงอายุไหนที่มีพฤติกรรมน่าเป็นห่วงหรือไม่? รูปที่ 6 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตแยกตามจำนวนบัตร และจำแนกผู้กู้ออกเป็น 6 กลุ่มตามจำนวนบัตรที่มี พร้อมทั้งแสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสีย วงเงินต่อบัตร และ Utilization rate ของแต่ละกลุ่ม เราพบว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมากส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิตเพียง 1 ใบ ในขณะที่กลุ่มผู้กู้วัยทำงานจะมีบัตรเครดิตหลายใบ โดยในกลุ่มผู้กู้วัย 40–60 ปีจะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีบัตรมากกว่า 5 ใบสูงที่สุดถึง 18% ทั้งนี้ เราพบว่ากลุ่มผู้กู้วัยหลังเกษียณน่าเป็นห่วงน้อยที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียต่ำกว่ากลุ่มอื่น และยังเป็นกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อต่อบัตรสูง และมี Utilization rate ต่ำ แตกต่างจากผู้กู้กลุ่มวัยทำงาน (25–45 ปี) ที่มีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ และนอกจากนี้ กลุ่มผู้กู้ที่มีหลายบัตรจะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียต่ำกว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีบัตรเครดิตน้อยบัตรในทุกกลุ่มอายุอีกด้วย ดังนั้นในกรณีของสินเชื่อบัตรเครดิต การที่มีจำนวนบัตรมากหรือมีบัตรจากหลายสถาบันการเงิน อาจสะท้อนถึงคุณภาพที่ดีของผู้กู้ในทุกกลุ่มอายุ การจำกัดจำนวนบัตรหรือจำนวนสถาบันการเงินจึงไม่มีนัยสำคัญสำหรับการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต
โดยเฉลี่ยคนไทยมีสินเชื่อส่วนบุคคล 2 สัญญา และจาก 2 สถาบันการเงิน รูปที่ 7 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลจำแนกตามจำนวนสัญญาและสถาบันการเงินที่ใช้และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียในแต่ละกลุ่ม เราพบว่า ผู้กู้มากกว่าครึ่งมีสินเชื่อส่วนบุคคล 1 สัญญาและมากกว่า 60% มีสินเชื่อส่วนบุคคลกับ 1 สถาบันการเงิน
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ เราพบว่าความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการใช้และคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคลที่แตกต่างจากสินเชื่อบัตรเครดิตอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ กลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญาหรือมีสินเชื่อส่วนบุคคลกับหลายสถาบันการเงินจะมีคุณภาพที่ด้อยกว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลน้อยสัญญา หรือมีสินเชื่อส่วนบุคคลกับน้อยสถาบันการเงิน การจำกัดจำนวนสัญญาและ/หรือจำนวนสถาบันการเงินจึงมีนัยสำคัญสำหรับการดูแลสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังพบว่า non-banks มีคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคลโดยรวมที่ด้อยกว่าสถาบันการเงินประเภทอื่นในเกือบทุกกลุ่มผู้กู้ จึงควรให้ความสำคัญและควบคุมดูแล สินเชื่อกลุ่มนี้ของ non-banks ด้วย
ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้กู้ที่ควรจับตามองก็เป็นคนละกลุ่มกันกับกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิต รูปที่ 8 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่ว นบุคคลแยกตามจำนวนสัญญา และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียของผู้กู้ในแต่ละกลุ่ม โดยพบว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อย (< 25 ปี) และวัยหลังเกษียณเป็นกลุ่มที่ควรให้ความสนใจ เนื่องจากมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงกว่าช่วงอายุอื่นและสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียจะยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญา โดยในผู้กู้กลุ่มที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 5 สัญญา มากกว่า 30% ของกลุ่มที่มีอายุน้อย และเกือบ 35% ของกลุ่มวัยหลังเกษียณจะมีหนี้เสีย นอกจากนั้น ผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญาจะมีหนี้เสียสูงกว่ากลุ่มที่มีน้อยสัญญาในทุกช่วงอายุด้วย ข้อเท็จจริงเหล่านี้เน้นย้ำความสำคัญของการติดตามจำนวนสัญญา/สถาบันการเงินในการกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคล
บทความนี้สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมการกู้ของคนไทยมีความหลากหลาย โดยผู้กู้ส่วนใหญ่จะมีสินเชื่อ 1 สัญญาและใช้ 1 สถาบันการเงิน แต่ก็มีผู้กว่า 1 ใน 6 ที่มีสินเชื่อมากกว่า 5 สัญญา และกว่า 1 ใน 10 ที่ใช้สถาบันการเงินมากกว่า 5 สถาบัน ความหลากหลายดังกล่าวซึ่งก็แตกต่างกันไปในมิติของอายุ พื้นที่ ประเภทสินเชื่อ และประเภทสถาบันการเงินอาจสะท้อนถึงความแตกต่างใน availability ความยากง่ายของการเข้าถึง ความจำเป็น หรือสิ่งกระตุ้นให้ก่อหนี้ในบริบทต่าง ๆ ซึ่งล้วนจะมีนัยสำคัญเชิงนโยบายที่แตกต่างกันไป บทความนี้ได้สะท้อนนัยเชิงนโยบายใน 2 มิติ ดังนี้
ในมิติของการเข้าถึงบริการสินเชื่อของคนไทย เราพบว่าส่วนใหญ่ของผู้กู้กลุ่มอายุน้อยและอายุมาก และผู้กู้ในชนบทจะมีสินเชื่อ 1 สัญญาและใช้ 1 สถาบันการเงิน ในขณะที่ส่วนใหญ่ของผู้กู้กลุ่มวัยทำงาน ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และชุมชนเมืองจะมีหลายสัญญาและใช้หลายสถาบันการเงิน โดยผู้กู้กลุ่มอายุน้อยมักมีสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย คือ สินเชื่อส่วนบุคคล รถยนต์ และบัตรเครดิต และผู้กู้กลุ่มอายุมากมักมีสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตเป็นหลัก ซึ่งหากพิจารณาคุณภาพหนี้ของผู้กู้ทั้งสองกลุ่มนี้ พบว่า สินเชื่อส่วนบุคคลและรถยนต์ จะมีคุณภาพที่ไม่ดี ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตของสองกลุ่มนี้มีคุณภาพดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้ เรายังพบว่าการใช้สินเชื่อบ้านและบัตรเครดิตยังน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้ในชนบท ซึ่งในกรณีของสินเชื่อบ้าน ข้อเท็จจริงนี้อาจสะท้อนถึง ความไม่จำเป็นในการซื้อบ้านใหม่ในบริบทของครอบครัวขยายของสังคมไทยในชนบท และ/หรือข้อจำกัดในการเข้าถึง และในกรณีของสินเชื่อบัตรเครดิต ก็อาจสะท้อนถึงข้อจำกัดในการใช้และเข้าถึงเป็นสำคัญ ดังนั้นนโยบายที่เหมาะสมจึงควรส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต ซึ่งควรครอบคลุมการเข้าถึงของกลุ่มอายุน้อยและอายุมาก และในชนบท ซึ่งนโยบายดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มศักยภาพทางการลงทุน ทำธุรกิจ การบริโภค และการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งล้วนแล้วจะนำไปซึ่งโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในมิติของเสถียรภาพทางการเงินไทย เราพบว่าผู้กู้จำนวนมากจะใช้สินเชื่อส่วนบุคคล/บัตรเครดิต และ/หรือมีสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งกลุ่มผู้กู้ที่มีพฤติกรรมการกู้ดังกล่าวมักมีคุณภาพหนี้ที่ไม่ดี โดยเฉพาะ สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลในผู้กู้กลุ่มอายุน้อยและอายุมาก นอกจากนี้ผู้กู้จำนวนมากจะมีสินเชื่อกับ non-banks ซึ่งมักจะมีคุณภาพหนี้ที่ไม่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้กู้กลุ่มอายุน้อยและในสินเชื่อส่วนบุคคล และเนื่องจากพฤติกรรมการกู้และคุณภาพของหนี้ดังกล่าวส่งผลต่อผู้กู้จำนวนมากของประเทศ จึงอาจส่งผลถึงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมได้ ทั้งนี้เรายังพบอีกว่าผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญา หรือมีกับหลายสถาบันการเงินมักจะมีคุณภาพหนี้ที่ด้อยกว่ากลุ่มที่มีน้อยสัญญาหรือน้อยสถาบันการเงิน ตรงกันข้ามกับสินเชื่อบัตรเครดิต ดังนั้นนโยบายที่จะมากำกับดูแลหนี้ครัวเรือนไทยควรมุ่งเป้าไปที่สินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนสัญญาและ/หรือสถาบันการเงิน ควรมุ่งเน้นกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมาก และครอบคลุมถึง non-banks ด้วย
นอกจากนี้เรายังพบอีกว่าหนี้ครัวเรือนไทยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้าน ซึ่งมักมีคุณภาพดีแต่อาจมีแนวโน้มจะด้อยลงหากผู้กู้มีสินเชื่อรถยนต์ร่วมด้วย และที่สำคัญหนี้ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อทุกประเภท และ/หรือใช้สถาบันการเงินทุกประเภท ซึ่งผู้กู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมักมีคุณภาพหนี้ที่ไม่ดี ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงอาจส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงินไทยได้ ผู้ดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญ และติดตามดูแลกลุ่มผู้กู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ท้ายที่สุดบทความนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถเข้าใจสถานการณ์หนี้ครัวเรือนได้มากขึ้นผ่านพฤติกรรมการกู้รายคน ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบายมีความเข้าใจถึงสถานการณ์และสามารถออกแบบนโยบายที่ตรงจุดได้ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้กู้แต่ละรายยังมีความหลากหลายมาก และเนื่องจากไม่มีข้อมูลรายได้ซึ่งจะสามารถสะท้อนศักยภาพของผู้กู้แต่ละรายได้ จึงทำให้การมองเพียงแค่พฤติกรรมอาจมีข้อจำกัด ไม่สามารถระบุกลุ่มที่มีความเปราะบางได้อย่างชัดเจน นอกเหนือจาก อายุ และภูมิภาค ดังนั้น เพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและวางนโยบายได้อย่างเหมาะสม ตรงจุด ฐานข้อมูลที่ครอบคลุม มีการเชื่อมโยงกันได้ และเข้าถึงได้โดยผู้ดำเนินนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญ
Chantarat, S., Lamsam, A., Samphantharak, K. and Tangsawasdirat, B. (2017a). Thailand’s Household Debt through the Lens of Credit Bureau Data: Debt and Delinquency. PIER Discussion Paper No. 61.
Chantarat, S., Lamsam, A., Samphantharak, K. and Tangsawasdirat, B. (2017b). Thailand’s Household Debt through the Lens of Credit Bureau Data: Borrower’s Portfolio and Behavior. PIER Discussion Paper.
ข้อสงวน
บทความ บทวิเคราะห์ หรือบทวิจัยนี้ จัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้จัดทำโดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิติของข้อมูลเศรษฐกิจการเงินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดไม่ยืนยันและไม่รับรองถึงความครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูกต้องของข้อมูลจึงไม่รับผิดชอบต่อการนำเอาข้อมูล ข้อความ ความเห็น หรือบทสรุปที่กฎในรายงานฉบับนี้ไปใช้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์สินทางปัญญาของรายงานฉบับนี้ และขอสงวนลิขสิทธิ์ในข้อมูลที่กฎในเอกสารนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ทำซ้ำดัดแปลงนำออกแสดง ทำให้ปรากฏหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อมูลในเอกสารนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นการล่วงหน้า
นอกจากนี้ การกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าในบทความ บทวิเคราะห์ บทวิจัย ในเอกสารหรือการสื่อสารอื่นใด จะต้องกระทำโดยถูกต้องและไม่เป็นการก่อให้เกิดการเข้าใจผิด หรือความเสียหายแก่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด รวมทั้งต้องรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด และต้องอ้างอิงถึงฉบับที่และวันที่ในเอกสารฉบับนี้ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด โดยชัดแจ้ง