เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 2
excerpt
เหตุใดประเทศไทยที่มีพัฒนาการของสินค้าก้าวหน้าอย่างชัดเจนแต่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจกลับไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น บทความในตอนที่ 2 นี้ได้นำกรอบแนวคิดเรื่อง complexity ของสินค้า มาใช้วิเคราะห์ลักษณะและกระบวนการเกิด product innovation ในระดับบริษัท ผลการศึกษาชี้ว่า product innovation เป็นกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในวงกว้าง อีกทั้งยังมีลักษณะ path dependence อย่างเห็นได้ชัด โดยโครงสร้างสินค้าในปัจจุบันของแต่ละบริษัทมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำหนดนวัตกรรมสินค้าของบริษัทนั้นในอนาคต ทั้งนี้ ภาคการผลิตของไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในเชิง know how ค่อนข้างมาก บริษัทจำนวนมากขาดการเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการก้าวกระโดดของผู้ประกอบการและสร้างการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม
บทความ aBRIDGEd ตอนที่แล้ว ผู้เขียนนำเสนอการประยุกต์ใช้ข้อมูลสินค้าส่งออกของประเทศต่าง ๆ มาสร้างเป็นดัชนีวัดระดับความซับซ้อนทั้งในมิติของสินค้าและในมิติของประเทศ หลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการในด้านระดับความซับซ้อนอย่างชัดเจน โดยมีสัดส่วนสินค้าที่ซับซ้อนในโครงสร้างการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเกิดขึ้นของสินค้าใหม่ ๆ เหล่านี้ สะท้อน know how ของผู้ประกอบการที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งเบื้องหลังคือการผลัดเปลี่ยนสินค้าของผู้ประกอบการหรือ product innovation ดังนั้น การศึกษาในระดับจุลภาค จะช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับประเทศได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการไขปริศนาในบทความก่อนหน้าที่ว่า เหตุใดประเทศไทยจึงมีความซับซ้อนสูงแต่รายได้เฉลี่ยต่อประชากรกลับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับความซับซ้อนเดียวกัน
Apaitan และคณะ (2017) ได้ทำการศึกษาโครงสร้างสินค้าและกระบวนการเกิด product innovation ในระดับบริษัท โดยใช้ข้อมูลการส่งออกของผู้ส่งออกไทยจากกรมศุลกากรและข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์มาทำการวิเคราะห์บริษัทส่งออกที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตและมีการส่งออกระหว่างปี 2010 และ 2015 จำนวน 7,543 บริษัท ซึ่งกลุ่มตัวอย่างนี้ครอบคลุมมูลค่าส่งออกถึงกว่า 80% ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างสินค้าระดับบริษัทที่น่าสนใจหลายประการ
ประการแรก บริษัทส่งออกที่อยู่ในอุตสาหกรรม การผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีสินค้าหลากหลาย ตารางที่ 1 แสดงสัดส่วนของบริษัทมีลักษณะ multiple-product หรือ ส่งออกสินค้ามากกว่า 1 ชนิด (วัดจาก HS code ระดับ 6 หลัก) จะเห็นได้ว่า บริษัทกว่า 70% มีลักษณะ multiple-product โดยมีจำนวนสินค้าเฉลี่ยประมาณ 12 สินค้า และถึงแม้จะวัดในระดับ industry (HS code ระดับ 2 หลัก) หรือ sector (จัดกลุ่มโดยการแบ่ง HS code ทั้งหมดออกเป็น 10 กลุ่มอุตสาหกรรม) ข้อมูลยังคงชี้ว่า บริษัทกว่าครึ่งมีลักษณะ multiple-industry หรือ multiple-sector ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายด้านสินค้าและ know how ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีสินค้าหลายชนิด แต่ข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทมักให้ความสำคัญกับสินค้าหลักเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น ตารางที่ 2 แสดงโครงสร้างสินค้าของบริษัทในปี 2015 ที่มีจำนวนสินค้าตั้งแต่ 1 ถึง 50 ชนิด โดยวัดจากสัดส่วนมูลค่าสินค้าสะสมโดยเฉลี่ยเมื่อนับจากสินค้าที่มีมูลค่าสูงสุดในลำดับ 1 ถึง 50 จะเห็นได้ว่า โดยทั่วไปสินค้าในลำดับที่ 1 จะมีสัดส่วนมูลค่าไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ในขณะที่มูลค่ารวมของสินค้าจากลำดับที่ 1 ถึง 3 โดยเฉลี่ยแล้วจะมีสัดส่วนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 80% สินค้าในลำดับถัด ๆ ไปจึงมีส่วนแบ่งน้อยมาก การกระจายตัวเช่นนี้สะท้อนว่า แม้บริษัทจะมีการขยายจำนวนสินค้า แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ยังคงกระจุกอยู่ในสินค้าหลักไม่กี่ประเภท
คำถามสำคัญที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์เกี่ยวกับ product innovation ของผู้ประกอบการไทยคือ product innovation นั้นเกิดขึ้นแพร่หลายเพียงใด ตารางที่ 3 แสดงจำนวนบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าระหว่างปี 2010 และ 2015 จะเห็นได้ว่า บริษัทส่วนใหญ่มักจะมีการเพิ่มและลดสินค้าในปี 2015 จากรายการที่มีอยู่เดิมในปี 2010 โดยจะมีบริษัทเพียง 12% เท่านั้นที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับรายการสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในมุมของผู้ประกอบการ การผลัดเปลี่ยนของสินค้าเกิดขึ้นในวงกว้าง และพัฒนาการของสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ ข้อมูลในตารางที่ 4 ซึ่งเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างสินค้าเก่าและสินค้าใหม่ของแต่ละบริษัท พบว่าในปี 2015 โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละบริษัทจะมีจำนวนสินค้าใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในรายการถึงกว่า 49% โดยที่สินค้าใหม่เหล่านั้นมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยราว 25% ข้อเท็จจริงนี้ยิ่ง ตอกย้ำความสำคัญของ product innovation ในบริบทของผู้ผลิตไทย
แล้วนวัตกรรมสินค้าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวของบริษัท Apaitan และคณะ (2017) ได้สร้างตัวชี้วัดที่เรียกว่า ความเกี่ยวเนื่อง (relatedness) ระหว่างสินค้ากับโครงสร้างการผลิตของบริษัท ซึ่งเป็นการวัดว่า สินค้าชนิดหนึ่งจะมีความสัมพันธ์กับองค์ความรู้ที่บริษัทมีอยู่อย่างไร กล่าวคือ หากในปัจจุบัน บริษัทมีการผลิตสินค้าที่อาศัย know how ที่ใกล้เคียงกับสินค้าที่กำลังพิจารณา ระดับความเกี่ยวเนื่องจะมีค่าสูง โดยความเกี่ยวเนื่องนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ความเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างการผลิตในระดับประเทศ (country relatedness)
- ความเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างการผลิตในระดับภูมิภาค (region relatedness) และ
- ความเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างการผลิตในระดับบริษัท (firm relatedness) โดยได้ใช้แบบจำลอง logit เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความน่าจะเป็นที่บริษัทจะเพิ่มหรือลดสินค้าใด ๆ รวมถึงผลต่อโอกาสอยู่รอดของสินค้าที่บริษัทได้เพิ่มเข้ามาใหม่ ซึ่งเน้นผลที่เกิดจากปัจจัยความเกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ
รูปที่ 1 แสดงผลลัพธ์จากแบบจำลอง ในกรอบที่ 1 จะเห็นได้ว่า ความเกี่ยวเนื่องในทุกระดับจะเพิ่มโอกาสที่สินค้าใหม่จะถูกเพิ่มเข้ามาในรายการสินค้าของบริษัท กล่าวคือ บริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสินค้าที่มีความสอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตหรือองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสอดคล้องในระดับภูมิภาค ซึ่งสะท้อนว่า know how ในการผลิตนั้นมักมีการแพร่กระจายหรือมีการต่อยอดกันในระดับภูมิภาค สำหรับในกรอบที่ 2 แสดงให้เห็นว่า สินค้าที่มีความสอดคล้องกับ know how ในระดับภูมิภาคและระดับบริษัทมีแนวโน้มที่จะอยู่รอดมากที่สุด
ในกรอบที่ 3 ผลจากปัจจัยความเกี่ยวเนื่องมีค่าเป็นลบต่อความน่าจะเป็นในการลดสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบริษัท กล่าวคือ บริษัทมีแนวโน้มที่จะเลิกผลิตสินค้าที่ไม่ตรงกับความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มากที่สุดออกไปก่อน สำหรับในกรอบที่ 4 จะแสดงผลที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยความเกี่ยวเนื่องและระดับความซับซ้อนของสินค้า (PCI) ซึ่งผลชี้ให้เห็นว่า สำหรับสินค้าที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัจจัยความเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ จะยิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มสินค้าที่ซับซ้อน จะต้องอาศัยความพร้อมในระดับ ประเทศและระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ผลจากแบบจำลองทั้งหมดช่วยให้เราเข้าใจลักษณะการเกิด product innovation ในระดับบริษัท และช่วยยืนยันว่า พัฒนาการของสินค้าที่อิงกับโครงสร้างเดิม (path dependence) นั้น เกิดขึ้นแม้กระทั่งในระดับบริษัท
หากองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันส่งผลต่อพัฒนาการในระยะข้างหน้า การแพร่กระจายขององค์ความรู้ในระดับผู้ประกอบการถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงระดับศักยภาพที่ประเทศจะสามารถก้าวไปได้ การที่ผู้ผลิตในวงกว้างสามารถเข้าถึง know how ที่ซับซ้อนและหลากหลาย ย่อมช่วยให้เกิดการพัฒนาสินค้า ซึ่งจะส่งผลต่อระดับความซับซ้อนของประเทศและระดับรายได้ในที่สุด ในการศึกษาของ Apaitan และคณะ (2017) ได้คำนวณค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ PCI ของแต่ละบริษัท แล้วแบ่งออกเป็นกลุ่มตาม quartile ของ PCI ดังที่แสดงในรูปที่ 2
บริษัทจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแทนด้วยสีต่าง ๆ ได้แก่
- บริษัทที่มี know how ในระดับซับซ้อนสูง (สีส้ม) หมายถึงบริษัทที่มีค่าเฉลี่ยของ PCI ใน quartile ที่ 4
- บริษัทที่มี know how ในระดับซับซ้อนปานกลาง (สีน้ำเงิน) ซึ่งหมายถึงบริษัทที่มีค่าเฉลี่ยของ PCI อยู่ใน quartile ที่ 3 และ
- บริษัทที่มี know how ในระดับซับซ้อนต่ำ (สีฟ้า) ซึ่งหมายถึงบริษัทที่มีค่าเฉลี่ยของ PCI อยู่ใน quartile ที่ 1 และ 2
จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่า บริษัทมีความก้าวหน้าในด้าน know how ของไทยนั้น ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย โดยบริษัทที่มีความซับซ้อนสูง (สีส้ม) จะมีจำนวนไม่ถึง 20% ของบริษัททั้งหมด คำถามที่ตามมาก็คือ บริษัทอีกกว่า 80% ที่เหลือ มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่จะยกระดับตัวเองจากการเข้าถึง know how ที่ซับซ้อนที่มีอยู่ในประเทศ “ความเชื่อมโยง” จึงเป็นคำตอบสำคัญที่จะชี้ว่า แต่ละบริษัทเข้าใกล้หรือห่างไกลจากองค์ความรู้เหล่านั้นอย่างไร
คณะผู้วิจัยได้จัดทำแผนภาพ firm space ซึ่งแสดงให้เห็น network ของผู้ประกอบการ (แทนด้วยจุดวงกลม โดยขนาดวงกลมแสดงถึงมูลค่าการส่งออก) ที่เชื่อมโยงกันตามระดับความใกล้เคียงของโครงสร้างการผลิตหรือ know how ของบริษัท บริษัทจะถูกจัดอยู่ใกล้กันในแผนภาพ เมื่อบริษัทมีความเชี่ยวชาญใกล้เคียงกัน หรือสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในระดับเดียวกันได้ รูปที่ 3 ได้แสดงให้เห็น firm space ของบริษัทส่งออกที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2015 โดยยังคงแบ่งเป็น 3 กลุ่มเช่นเดียวกับรูปที่ 2
จากแผนภาพจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการที่มีความซับซ้อนสูงส่วนใหญ่ กระจุกตัวอยู่บริเวณมุมด้านขวาล่างของภาพ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเชื่อมโยงค่อนข้างสูง (สังเกตได้จากเส้นเชื่อมโยงมีจำนวนมากและหนาแน่น) ในขณะเดียวกันจะมีบริษัทที่มีความซับซ้อนต่ำอีกเป็นจำนวนมากอยู่ทางด้านซ้าย โดยอยู่อย่างกระจัดกระจายและมีความเชื่อมโยงกันไม่มาก ลักษณะเช่นนี้สะท้อนว่า องค์ความรู้ที่มีความซับซ้อนสูงในประเทศไทย แพร่กระจายอยู่ในวงแคบ ๆ โอกาสที่จะเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้จึงจำกัดอยู่ในกลุ่มบริษัทที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน มากกว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ห่างไกลออกไป ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในระดับซับซ้อนที่ประเทศมีอยู่ได้หรือเข้าถึงได้ยาก ความเชื่อมโยงที่ต่ำยังสะท้อนอีกว่าบริษัทเหล่านี้ครอบครอง know how เพียงไม่กี่ประเภท ทำให้ขาดความหลากหลาย และเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะ path dependence ของการพัฒนาสินค้า ยิ่งทำให้เห็นว่า โอกาสที่บริษัทเหล่านี้จะก้าวหน้าในเชิงนวัตกรรมหรือผลิตภาพ ย่อมเป็นไปได้ยาก
นอกเหนือจากมิติเรื่อง know how และความเชื่อมโยงแล้ว ภาคการผลิตของไทยยังมีการกระจุกตัวสูงในแง่ของมูลค่าการส่งออก รูปที่ 4 แสดงการกระจายตัวของมูลค่าส่งออกของบริษัทในแต่กลุ่ม จะเห็นได้ว่า มูลค่าการส่งออกโดยบริษัทที่มีความซับซ้อนสูง มีสัดส่วนเพียง 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รายได้ส่วนใหญ่จึงมาจากบริษัทที่มีความซับซ้อนต่ำถึงปานกลาง นอกจากนี้ หากเจาะลึกลงไปในแต่ละกลุ่ม จะพบว่า มูลค่าที่เกิดจากบริษัทขนาดใหญ่เพียง 5% แรก (แถบสีทึบ) จะมีสัดส่วนที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มซับซ้อนสูง มูลค่าส่วนนี้จะมีสัดส่วนถึงกว่า 85% การที่มูลค่าส่งออกส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในผู้เล่นจำนวนไม่กี่ราย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความซับซ้อนสูง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของผลลัพธ์ที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ประเทศไทยได้รับจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
นวัตกรรมสินค้าและศักยภาพการผลิตที่มีการกระจุกตัวสูงในระดับผู้ประกอบการ ยังมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำ ของรายได้ในระดับจังหวัดและภูมิภาคอีกด้วย หากคำนวณค่าความซับซ้อนของสินค้าโดยเฉลี่ยรายจังหวัดโดยใช้ข้อมูลจังหวัดที่ตั้งและความซับซ้อนของผู้ประกอบการแต่ละราย และนำมาเปรียบเทียบกับระดับรายได้ที่แท้จริงต่อหัวโดยเฉลี่ยของแต่ละจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีความซับซ้อนของสินค้าสูงมักมีระดับรายได้สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ (รูปที่ 5 ภาพซ้าย) นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวยังมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับความซับซ้อนของแต่ละจังหวัด กล่าวคือ จังหวัดที่มีความซับซ้อนสูงกว่าโดยเฉลี่ยแล้วจะรวยขึ้นเร็วกว่าจังหวัดที่มีความซับซ้อนของสินค้าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวรายจังหวัดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 5 ภาพขวา)
ความเหลื่อมล้ำในระดับผู้ประกอบการและในเชิงพื้นที่นี้ สะท้อนถึงการกระจุกตัวของ know how ซึ่งจะทำให้การต่อยอดองค์ความรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นในวงกว้าง สุดท้ายแล้วจะกลายมาเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป การวางแนวนโยบายที่เหมาะสมไม่เพียงต้องทำความเข้าใจถึงโครงสร้างการผลิตของประเทศในปัจจุบัน แต่ต้องคำนึงถึงการกระจายตัวของระดับศักยภาพในระดับผู้ประกอบการและเชิงพื้นที่อีกด้วย
หลายทศวรรษที่ผ่านมา เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าทัดเทียมประเทศชั้นนำหลาย ๆ ประเทศ เมื่อวัดจากความหลากหลายและความซับซ้อนของสินค้า ทว่าปลายทางที่เรามาถึงนั้น องค์ความรู้และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้แพร่กระจายโดยทั่วถึง เปรียบได้กับการมี Two Thailands ที่อยู่ภายในประเทศไทยเดียวกัน ในภาพรวม ถึงแม้เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างชัดเจน แต่เมื่อมองลึกลงไป ด้านหนึ่งเราจะเห็น Thailand ที่ซับซ้อนและก้าวหน้า และในอีกด้านหนึ่งเราก็จะเห็น Thailand ที่ตามหลังอยู่ค่อนข้างมาก ลักษณะเช่นนี้จะกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาวในที่สุด บทความนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (structural transformation) ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะนำไปสู่การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจโดยรวมจาก (1) การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้นที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า และ (2) การเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมที่มีระดับผลิตภาพต่ำหรือมีความซับซ้อนต่ำไปยังภาคเศรษฐกิจใหม่ที่มีผลิตภาพสูงกว่า ซึ่งจะช่วยขยายผลของศักยภาพที่สูงขึ้นในบางภาคส่วนไปยังภาคเศรษฐกิจโดยรวม
หนทางสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว มิใช่เพียงมุ่งที่จะเติบโตแบบเดิม ๆ ด้วยการผลิตสินค้าเดิม ๆ ให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ควรมุ่งที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศที่สะท้อนอยู่ในความหลากหลายและระดับความซับซ้อนของสินค้าที่ผลิต ควรเน้นที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณ โดยคำนึงถึงศักยภาพและทักษะความชำนาญที่มีอยู่ในปัจจุบันในการต่อยอดและขยายขอบเขตความสามารถ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบเศรษฐกิจและบรรยากาศการแข่งขันที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสินค้าให้เกิดขึ้นและถ่ายทอดได้อย่างทั่วถึง
Apaitan, T., N. Ananchotikul and P. Disyatat (2017): “Structural Transformation in Thailand: A Perspective Through Product Innovation,” PIER Discussion Paper, No. 72.
Hausmann, R and C Hidalgo (2011): “The Network Structure of Economic Output,” Journal of Economic Growth 16(4), pp. 309–342.
Hidalgo, C and R Hausmann (2009): “The Building Blocks of Economic Complexity,” Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 106(26), pp. 10570–10575.