Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/5c22ab8ab9a10d6c607420261a4d283a/e9a79/cover.png
23 มีนาคม 2561
20181521763200000

เข้าใจโครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยและพฤติกรรมของสถาบันการเงิน จาก Big Data ของเครดิตบูโร

ตลาด segment ไหนมีการแข่งขันสูง และการแข่งขันส่งผลอย่างไรต่อการเข้าถึงและคุณภาพของสินเชื่อ
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์อัจจนา ล่ำซำภูมิใจ ตั้งสวัสดิรัตน์กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
เข้าใจโครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยและพฤติกรรมของสถาบันการเงิน จาก Big Data ของเครดิตบูโร
excerpt

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับการแข่งขันในการนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคในตลาด บทความนี้ใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาจากเครดิตบูโรเพื่อศึกษาโครงสร้างและการแข่งขันของสถาบันการเงินในตลาดสินเชื่อรายย่อยไทย และความเชื่อมโยงของโครงสร้างตลาดกับการเข้าถึงสินเชื่อและคุณภาพของสินเชื่อของผู้กู้ ตลอดถึงกับพฤติกรรม risk taking ของสถาบันการเงินในแต่ละ segment ของตลาด ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษานี้สามารถสะท้อนนัยเชิงนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อและเสถียรภาพของระบบการเงินไทย

โครงสร้างตลาดและการแข่งขันในตลาดสินเชื่อย่อยย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของผู้เล่นในตลาด และอาจส่งผลกระทบถึงผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในมิติหนึ่ง ระดับการแข่งขันของสถาบันการเงินที่สูงขึ้นอาจทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภคลดลง แต่ในทางกลับกัน การแข่งขันของสถาบันการเงินที่มากเกินไปก็อาจนำมาซึ่งการแย่งชิงฐานลูกค้า ทำให้สถาบันการเงินอาจลดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ หรือรวมถึงสร้างแรงดึงดูดที่ผิดทำให้ผู้กู้ที่อาจจะยังไม่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดสินเชื่อก่อนเวลาอันควร และก่อหนี้เกินตัวได้ และพฤติกรรม risk taking ของสถาบันการเงินดังกล่าวก็อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบได้

โครงสร้างของตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยเป็นอย่างไร? การแข่งขันของสถาบันการเงินในตลาดมีความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงสินเชื่อและคุณภาพของสินเชื่อของคนไทยแค่ไหน? มีความเชื่อมโยงอย่างไรกับพฤติกรรม risk taking และคุณภาพพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงิน? และความเชื่อมโยงข้างต้นมีความแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละ segment ของตลาด และประเภทของสถาบันการเงิน? และจะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงเชิงระบบหรือไม่?

บทความนี้ศึกษาโครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยไทย และความเชื่อมโยงของการแข่งขันของสถาบันการเงินในตลาดกับการเข้าถึงสินเชื่อและคุณภาพของสินเชื่อของผู้กู้รายย่อย ตลอดถึงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงินประเภทต่าง ๆ ในแต่ละ segment ของตลาด โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อขนาดใหญ่จากเครดิตบูโรซึ่งเป็นข้อมูลรายสัญญา จึงสามารถศึกษาส่วนแบ่งตลาดและพฤติกรรมรายสถาบันการเงิน แยกย่อยในแต่ละ segment ของตลาดซึ่งสามารถแบ่งได้ตามประเภทของสินเชื่อ และคุณลักษณะของผู้กู้ คือ อายุและที่อยู่/ภูมิภาค

โครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยไทย: ผู้เล่นเยอะขนาดไหน และใครครองตลาดใน segment ไหนบ้าง?

โดยรวมส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยมีความกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยหากเรามองโครงสร้างตลาดสินเชื่อจากการกระจายตัวของส่วนแบ่งตลาด (หรือ market share) ของแต่ละสถาบันการเงินในตลาด รูปที่ 1 แสดงให้เห็นจากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2559 ว่า สถาบันการเงินที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 6 อันดับแรก (ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFI อีก 3 แห่ง) จากจำนวนสถาบันการเงินทั้งหมดกว่า 90 แห่ง ได้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดไปถึงกว่า 60%

รูปที่ 1 ส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยรายสถาบันการเงิน ณ กรกฎาคม 2559

ส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยรายสถาบันการเงิน ณ กรกฎาคม 2559

ที่มา: Chantarat et al. (2018)

โครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยมีความแตกต่างกันในแต่ละ segment ของตลาดอย่างชัดเจน โดยจากรูปที่ 2 เมื่อ segment ตลาดตามประเภทของสินเชื่อ เราพบว่าในตลาดสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งมีจำนวนผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก (โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์) และหลากหลายประเภท มีส่วนแบ่งตลาดรายสถาบันการเงินในลักษณะกระจายตัว ไม่กระจุกอยู่กับสถาบันการเงินไม่กี่แห่ง ผิดกับตลาดสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบ้าน ที่ตลาดมีความกระจุกตัวสูง โดยมักกระจุกอยู่กับ SFI ส่วนตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) เราพบว่ามีผู้เล่นในตลาดเป็นจำนวนมากซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ non-bank และส่วนแบ่งตลาดก็มีลักษณะกระจุกอยู่กับไม่กี่สถาบันการเงินเช่นกัน

รูปที่ 2 ส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยรายสถาบันการเงิน แยกตาม segment ของตลาด ณ กรกฎาคม 2559

ส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยรายสถาบันการเงิน แยกตาม segment ของตลาด ณ กรกฎาคม 2559

ที่มา: Chantarat et al. (2018)

เมื่อ segment ตลาดตามอายุของผู้กู้ เราพบว่า segment ของผู้กู้อายุน้อย​โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี จะมีสถาบันการเงินจำนวนมากและหลากหลายประเภทเข้ามาปล่อยกู้ให้กับกลุ่มนี้ ส่วนแบ่งตลาดมีการกระจายตัว ผิดกับ segment ของผู้กู้อายุมากที่ส่วนแบ่งตลาดมักกระจุกตัวอยู่กับ SFI และเมื่อ segment ตลาดตามที่อยู่ของผู้กู้ เราพบว่า segment ของผู้กู้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและในชุมชนเมืองจะมีสถาบันการเงินในตลาดจำนวนมาก หลากหลายประเภทมาให้บริการ และส่วนแบ่งตลาดมีการกระจายตัว ผิดกับตลาดผู้กู้ในภูมิภาคอื่น ๆ และในชนบท ซึ่งกระจุกตัวอยู่กับผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่ราย

สะท้อนการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยด้วย Herfindahl Index

Herfindahl Index (หรือ HI) มักถูกใช้เป็นมาตรวัดระดับการแข่งขันในตลาดซึ่งคำนวณจากการกระจายตัวของส่วนแบ่งตลาดของผู้เล่นในตลาดทั้งหมด ตามสมการ (1) ซึ่งค่า HI ที่สูงก็หมายถึงโครงสร้างตลาดที่ส่วนแบ่งตลาดถูกครอบครองโดยผู้เล่นไม่กี่ราย และสะท้อนถึงสภาพตลาดที่มีการแข่งขันต่ำ ส่วนค่า HI ที่ต่ำก็หมายถึงโครงสร้างตลาดที่มีผู้เล่นหลายรายและแต่ละรายก็มีส่วนแบ่งตลาดพอ ๆ กัน ซึ่งก็สะท้อนถึงสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง

HI=s12+s22+s32+…(1)\text{HI} = \sqrt{s_1^2 + s_2^2 + s_3^2 + \ldots} \qquad(1)HI=s12​+s22​+s32​+…​(1)

(โดย sis_isi​ คือส่วนแบ่งตลาดของสถาบันการเงิน iii) และเมื่อเราใช้ HI สะท้อนระดับการแข่งขันของสถาบันการเงินในตลาดในรูปที่ 3 จะพบระดับการแข่งขันสูงในตลาดสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบัตรเครดิตและตลาดสินเชื่อใน segment ของผู้กู้อายุน้อยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี และผู้กู้ที่อยู่ในชุมชนเมือง ซึ่งเราก็ได้เห็นไปแล้วว่าตลาด segment เหล่านี้มักมีจำนวนสถาบันการเงินมากและหลากหลาย นอกจากนี้ ยังพบระดับการแข่งขันที่ต่ำในตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล ตลาดสินเชื่อใน segment ของผู้กู้อายุมากกว่า 60 ปี และผู้กู้ที่อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ใน segment เหล่านี้ มักจะตกอยู่กับ SFI

และเมื่อพิจารณาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบว่า ระดับการแข่งขันมีการปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุก segment ยกเว้นตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถจักรยานยนต์ และใน segment ของผู้กู้วัยหลังเกษียณ

รูปที่ 3 Herfindahl Index ราย segment ของตลาด

Herfindahl Index ราย segment ของตลาด

ที่มา: Chantarat et al. (2018)

หากเรา segment ตลาดในแต่ละประเภทสินเชื่อให้ย่อยลงไปอีกตามคุณลักษณะของผู้กู้ จากรูปที่ 4 จะพบว่า สินเชื่อรถยนต์ก็ยังคงมีระดับการแข่งขันที่สูงในทุก ๆ กลุ่มอายุของผู้กู้ และถึงแม้ว่าโดยรวมสินเชื่อส่วนบุคคลจะมีระดับการแข่งขันที่ค่อนข้างต่ำ แต่กลับมีการแข่งขันสูงในกลุ่มผู้กู้อายุน้อยกว่า 25 ปี และผู้กู้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และชุมชนเมือง นอกจากนี้ เรายังพบระดับการแข่งขันที่ต่ำมากในสินเชื่อธุรกิจใน segment ของผู้กู้อายุมากกว่า 45 ปี และในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อเพื่อการเกษตร

รูปที่ 4 Herfindahl Index ราย sub-segment ณ กรกฎาคม 2559

Herfindahl Index ราย sub-segment ณ กรกฎาคม 2559

ที่มา: Chantarat et al. (2018)

และเมื่อเปรียบเทียบระดับการแข่งขันในตลาดสินเชื่อในระดับรหัสไปรษณีย์ในรูปที่ 5 เราพบว่า การแข่งขันในตลาดสินเชื่อส่วนใหญ่ไม่ได้มีความแตกต่างในเชิงพื้นที่มากนัก ยกเว้นในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบ้าน ที่มักจะมีระดับการแข่งขันสูงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและชุมชนเมือง

รูปที่ 5 Herfindahl Index รายรหัสไปรษณีย์ ณ กรกฎาคม 2559

Herfindahl Index รายรหัสไปรษณีย์ ณ กรกฎาคม 2559

ที่มา: Chantarat et al. (2018)

การแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยมีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงและคุณภาพสินเชื่อของผู้กู้อย่างไร

ในรูปที่ 6 เรา segment ตลาดสินเชื่อตามประเภทสินเชื่อ อายุ และที่อยู่ของผู้กู้ เพื่อทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของระดับการแข่งขันใน segment กับการเข้าถึงสินเชื่อของผู้กู้ใน segment ซึ่งวัดจากสัดส่วนของประชากรใน segment นั้น ๆ ที่มีสินเชื่อ (หรือ debt headcount) และคุณภาพของสินเชื่อของผู้กู้ใน segment ซึ่งวัดจากสัดส่วนของผู้กู้ใน segment นั้น ๆ ที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน (หรือ delinquency headcount)

รูปที่ 6 การแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย การเข้าถึงและคุณภาพสินเชื่อของผู้กู้ (2554–2559)

การแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย การเข้าถึงและคุณภาพสินเชื่อของผู้กู้ (2554–2559)

ที่มา: Chantarat et al. (2018)

ระดับการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยอาจมีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพสินเชื่อของผู้กู้ที่ด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยรูปซ้ายแสดงความสัมพันธ์ของระดับการแข่งขันในปี 2554 กับการเข้าถึงสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อในปี 2559 เราพบว่า segment ที่มีระดับการแข่งขันสูงมักจะเป็น segment ที่มีการเข้าถึงสินเชื่อสูง และมีคุณภาพของสินเชื่อของผู้กู้อยู่ในระดับต่ำ แต่ทั้งนี้ เรายังสังเกตุเห็นผลจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเภทสินเชื่อ หรือกลุ่มผู้กู้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการตีความของสัมพันธ์ข้างต้นได้ ในรูปทางขวา เราจึงใช้ข้อมูลระดับ segment ในการ run regression เพื่อหาความสัมพันธ์ดังกล่าว โดย control ผลจากประเภทสินเชื่อ กลุ่มอายุ และพื้นที่ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวก็ยังยืนยันถึงความสัมพันธ์ข้างต้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

กลยุทธ์และพฤติกรรม risk taking ของสถาบันการเงิน

หากเรามองกลยุทธ์ของสถาบันการเงินใน 2 มิติ คือ มิติของปริมาณสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยในตลาด ซึ่งอาจวัดจากขนาดส่วนแบ่งตลาด และมิติของคุณภาพของสินเชื่อ ซึ่งวัดจากสัดส่วนของลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้น ๆ ที่มีหนี้ค้างชำระ ซึ่งก็อาจสะท้อนถึงพฤติกรรม risk taking ของแต่ละสถาบันการเงินและนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบได้ รูปที่ 7 แสดงให้เห็นถึงรูปแบบและความแตกต่างของกลยุทธ์ของสถาบันการเงินในแต่ละ segment ของตลาด

รูปที่ 7 กลยุทธ์ของสถาบันการเงินในมิติเชิงปริมาณและคุณภาพของสินเชื่อ

กลยุทธ์ของสถาบันการเงินในมิติเชิงปริมาณและคุณภาพของสินเชื่อ

ที่มา: Chantarat et al. (2018)

ความแตกต่างของกลยุทธ์และพฤติกรรมของสถาบันการเงินในแต่ละ segment ของตลาด อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตลาดสินเชื่อ/ระดับการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่อาจขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อ และประเภทของสถาบันการเงินในตลาดนั้น ๆ ด้วย โดยในภาพรวมพบว่าสถาบันการเงินที่มุ่งเน้นปริมาณสินเชื่อ (ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือ SFI บางแห่ง) จะมีคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่ดีกว่าคุณภาพพอร์ตสินเชื่อเฉลี่ยของระบบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือการบริหารความเสี่ยงที่ดีของสถาบันการเงิน ซึ่งอาจยังไม่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบอย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายประเภทสินเชื่อ เราพบความแตกต่างของกลยุทธ์แม้แต่ระหว่างตลาดสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งตลาดมีระดับการแข่งขันที่สูงพอ ๆ กัน โดยในตลาดสินเชื่อรถยนต์ สถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นปริมาณสินเชื่อก็ยังมีความระมัดระวังในการเลือกลูกค้า และไม่แลกมาซึ่งคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อย ขณะที่สถาบันการเงินที่มักมีคุณภาพสินเชื่อต่ำก็มักเป็น non-bank และสถาบันการเงินขนาดเล็ก ผิดกับในตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต ที่ non-bank และสถาบันการเงินขนาดใหญ่บางแห่งที่มุ่งเน้นปริมาณสินเชื่อ กลับเป็นสถาบันการเงินที่มีคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยกว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์หนี้เสียในตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตจะอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดสินเชื่อประเภทอื่นก็ตาม

ระหว่างตลาดสินเชื่อประเภทที่มีระดับการแข่งขันต่ำกว่า เราก็ยังพบความแตกต่างในกลยุทธ์ของสถาบันการเงินในตลาด โดยเฉพาะในตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็น non-bank เราพบว่าสถาบันการเงินที่มุ่งเน้นปริมาณสินเชื่อมักจะมีคุณภาพของสินเชื่อที่ต่ำกว่า

และหาก segment ตลาดตามอายุของผู้กู้ เราพบว่ากลยุทธ์ของสถาบันการเงินในตลาดไม่ได้มีความแตกต่างกันระหว่าง segment มากนัก โดยกลยุทธ์เชิงปริมาณไม่ได้ถูกแลกมาด้วยคุณภาพของสินเชื่อที่ต่ำลง ยกเว้นใน segment ของผู้กู้อายุน้อยกว่า 25 ปี ซึ่งเราพบว่า มีสถาบันการเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น non-bank ที่พยายามเน้นปริมาณสินเชื่อโดยแลกมาซึ่งคุณภาพของสินเชื่อที่ต่ำลงเช่นกัน

ทั้งนั้น การสะท้อนถึงพฤติกรรม risk taking ของสถาบันการเงินจากคุณภาพของสินเชื่อในปีเดียวก็อาจจะยังไม่ถูกต้องนัก เพราะคุณภาพของสินเชื่อที่เราเห็นของแต่ละสถาบันการเงินไม่ได้สะท้อนเพียงแค่พฤติกรรมของสถาบันการเงินเท่านั้น แต่หากยังรวมถึงความแตกต่างของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงิน และผลกระทบของ shock ต่าง ๆ ในปี 2559 ซึ่งอาจส่งผลต่อสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่เท่ากัน

ในรูปที่ 8 เรานำข้อมูลสินเชื่อทั้งหมดตั้งแต่ปี 2552–2559 ของสถาบันการเงินที่เป็นผู้เล่นหลัก1 ในแต่ละ segment ของตลาดมาเปรียบเทียบคุณภาพของสินเชื่อ โดยในแต่ละประเภทสินเชื่อ เราจะเปรียบเทียบคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อที่ปล่อยในปีเดียวกัน (หรือ loan cohort เดียวกัน) และเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่เริ่มปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการเปรียบเทียบในลักษณะนี้ทำให้เราสามารถแยกแยะปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน ออกเป็น (1) ปัจจัยจากบาง loan cohort เช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย หรือเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่อาจส่งผลให้สถาบันการเงินนั้น ๆ ปล่อยสินเชื่อคุณภาพด้อยกว่าปกติเฉพาะในปีนั้น ๆ (cohort effect) ซึ่งในกรณีนี้ เราจะเห็นคุณภาพของสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น ๆ ต่ำเฉพาะในบาง cohort นั้น หรือ (2) ปัจจัยจากผลของระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปล่อยสินเชื่อ เช่น ในสินเชื่อที่มีหลักประกัน คุณภาพของสินเชื่ออาจด้อยลงตามระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปล่อย และจะแตกต่างกันไปตามอายุของสินเชื่อด้วย (time since origination effect) หรือ (3) ปัจจัยที่มาจากพฤติกรรม risk taking ของสถาบันการเงินเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการเข้าใจ โดยหากคุณภาพของสินเชื่อเกิดจากพฤติกรรมของเฉพาะสถาบันการเงิน เราควรจะเห็นคุณภาพของสินเชื่อในเกือบทุก ๆ loan cohort หรือโดยเฉลี่ยจากทุก ๆ loan cohort ของสถาบันการเงินที่มีพฤติกรรม risk taking นั้น ๆ ด้อยกว่าคุณภาพของสินเชื่อของสถาบันการเงินอื่น และในเกือบทุกช่วงเวลาตั้งแต่ปล่อยสินเชื่อ

รูปที่ 8 คุณภาพของสินเชื่อรายสถาบันการเงิน loan cohort และระยะเวลาตั้งแต่ปล่อยสินเชื่อ

คุณภาพของสินเชื่อรายสถาบันการเงิน loan cohort และระยะเวลาตั้งแต่ปล่อยสินเชื่อ

ที่มา: Chantarat et al. (2018)

แต่ละกราฟในรูปที่ 8 แสดงถึงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อที่ปล่อยในปีเดียวกันของแต่ละสถาบันการเงิน โดยวัดคุณภาพของสินเชื่อจากสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน (ในแกน Y) และแต่ละแท่งกราฟแสดงถึงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มปล่อย (แกน X) ของแต่ละสถาบันการเงินหลักในตลาด (แกน Z) โดยจากข้อมูลที่มี ทำให้เราสามารถพิจารณา loan cohort ที่ปล่อยในปี 2551–2554

ซึ่งจากรูปที่ 8 หากเราเปรียบเทียบคุณภาพของสินเชื่อเฉลี่ยจากทุก ๆ loan cohort ระหว่างสถาบันการเงิน (ในคอลัมน์ซ้ายสุด) ซึ่งอาจสะท้อนถึงพฤติกรรม risk taking ของแต่ละสถาบันการเงิน เราพบว่า ในตลาดสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล คุณภาพของสินเชื่อเฉลี่ยจากทุก ๆ loan cohort มีความแตกต่างกันระหว่างสถาบันการเงินค่อนข้างมาก และมีสถาบันการเงินจำนวนมาก ที่มีคุณภาพของสินเชื่อโดยเฉลี่ยที่ต่ำ ซึ่งก็เป็นธนาคารขนาดเล็ก SFI และ non-bank เป็นหลัก ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างของพฤติกรรมของสถาบันการเงินใน segment เหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ผิดกับตลาดสินเชื่อบ้านที่สถาบันการเงินในตลาดส่วนใหญ่มีคุณภาพสินเชื่อเฉลี่ยที่ดี และมีแค่ไม่กี่รายที่มีคุณภาพสินเชื่อเฉลี่ยที่ต่ำอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ สถาบันการเงินในตลาดเกือบทุกรายมีคุณภาพสินเชื่อเฉลี่ยที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจสะท้อนถึงผลของปัจจัยเฉพาะตลาดนี้ ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

ผลของการศึกษาในรูปที่ 8 แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างของพฤติกรรม risk taking ที่สะท้อนได้จากคุณภาพสินเชื่อเฉลี่ยข้างต้น ไม่เพียงแต่เกิดจากปัจจัยทางด้านการแข่งขัน หรือโครงสร้างตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยทางด้านประเภทของสินเชื่อ ประเภทของสถาบันการเงิน และสำคัญที่สุดปัจจัยเฉพาะของสถาบันการเงินนั้น ๆ เป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ของสถาบันการเงินที่เลือกกลุ่มลูกค้าไม่เหมือนกัน โดยบางแห่งอาจะเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพดี ขณะที่บางกลุ่มเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง อันเป็นผลมาจากกลยุทธ์ของธนาคาร หรือ อาจเป็นเพราะไม่มีทางเลือก

ข้อสรุปและนัยเชิงนโยบาย

จากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาของเครดิตบูโร บทความนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและพลวัตของโครงสร้างและระดับการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยในแต่ละ segment ของตลาดซึ่งแบ่งได้ตามประเภทของสินเชื่อ อายุ และที่อยู่ของผู้กู้

เราพบระดับการแข่งขันที่สูงในตลาดสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และใน segment ของผู้กู้อายุน้อย ผู้กู้ที่อยู่ในชุมชนเมือง และในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะใน segment ของผู้กู้อายุน้อย ตลอดถึงผู้กู้ที่อยู่ในชุมชนเมือง เรายังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของระดับการแข่งขันที่สูงกับการเข้าถึงสินเชื่อที่มากขึ้น ซึ่งการแข่งขันอาจเป็นผลทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ในการเข้าถึงสินเชื่อลดลง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็พบว่าระดับการแข่งขันที่สูง ก็มีความสัมพันธ์กับคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลงด้วย ซึ่งก็อาจจะเกิดมาจากการพยายามแย่งลูกค้าระหว่างสถาบันการเงินด้วยวิธีต่าง ๆ จนอาจทำให้ผู้กู้บางรายเข้ามาในตลาดสินเชื่อทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อม หรืออาจเป็นผลจากการปรับลดมาตรฐานการให้สินเชื่อ ข้อเท็จจริงข้างต้นสะท้อนถึงความสำคัญของนโยบายที่ส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในตลาด ที่ต้องทำควบคู่ไปกับนโยบายกำกับดูแลอย่างมุ่งเป้า

เราพบอีกว่ากลยุทธ์หรือพฤติกรรม risk taking ของสถาบันการเงินมีความหลากหลาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางโครงสร้างตลาดเพียงอย่างเดียว แต่หากจะขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อ ประเภทของสถาบันการเงิน และที่สำคัญคือปัจจัยเฉพาะของแต่ละสถาบันการเงินเอง ดังนั้น การออกแบบนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงินจึงไม่ควรหว่านแห และควรให้ความสำคัญกับสถานการณ์รายสถาบันการเงินเป็นสำคัญด้วย

ท้ายสุด หลักฐานเชิงประจักษ์ข้างต้นของโครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยและพฤติกรรมของสถาบันการเงินไม่ได้ชี้บ่งถึงความเสี่ยงเชิงระบบในตลาดสินเชื่อรายย่อยไทย เนื่องจากสถาบันการเงินที่มีพฤติกรรม risk taking มักมีขนาดไม่ใหญ่ และ/หรืออยู่ใน segment ของตลาดที่ไม่ได้ใหญ่ เช่น segment ของผู้กู้อายุน้อย และ/หรืออยู่ใน segment ที่ไม่ได้มีหนี้เสียในสัดส่วนที่สูง เช่น ตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต หรือตลาดสินเชื่อบ้าน เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Chantarat, S., A. Lamsam, K. Samphantharak and B.Tangsawasdirat (2018). Thailand’s Household Debt through the Lens of Credit Bureau Data: Behavior of borrowers and Lenders. Forthcoming PIER Discussion Paper.


  1. ผู้เล่นหลักในตลาดสินเชื่อแต่ละประเภท คือ สถาบันการเงินที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ใน 90 percentile แรก↩
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
อัจจนา ล่ำซำ
อัจจนา ล่ำซำ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภูมิใจ ตั้งสวัสดิรัตน์
ภูมิใจ ตั้งสวัสดิรัตน์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
University of California San Diego
Topics: Development EconomicsFinancial Markets and Asset Pricing
Tags: credit bureau datahousehold debtmarket competitionmarket concentrationrisk taking behavior
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email