มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา ตอนที่ 2
excerpt
ในบทความชิ้นแรก เรานำเสนอภาพตลาดสินเชื่อของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในมิติต่าง ๆ ภาพหนึ่งที่เห็นคือ มูลค่าสินเชื่อมีความกระจุกตัวอยู่ในบริษัทที่เป็นนิติบุคคล ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา บทความตอนที่ 2 นี้จึงขอเจาะลึกสินเชื่อธุรกิจของบริษัทที่เป็นนิติบุคคล สินเชื่อธุรกิจนิติบุคคลทั้งหมดในประเทศไทยมีมูลค่ามากถึง 7 ล้านล้านบาท และเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับตลาดสินเชื่อธุรกิจที่ผ่านมาใช้ข้อมูลระดับมหภาคเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมที่หลากหลายและปัญหาอุปสรรคที่เฉพาะตัวของแต่ละบริษัทได้
บทความนี้เป็นบทความชิ้นที่สองของชุดบทความ “มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา” โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจรายสัญญาของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau หรือ NCB) ซึ่งรวบรวมบัญชีสินเชื่อของลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของ NCB ทั้งหมดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 การใช้ประโยชน์จากข้อมูลจุลภาคที่มีความละเอียดรายบัญชีสามารถแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตลาดสินเชื่อไทย ความหลากหลายทั้งในมิติของสถาบันการเงินและในมิติของบริษัทผู้ขอสินเชื่อแต่ละราย ตลอดจนความแตกต่างของธุรกิจที่มีและไม่มีสินเชื่อ
ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก NCB มีจำนวนทั้งหมด 68 ราย ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างชาติ บริษัทเช่าซื้อ บริษัทบัตรเครดิต สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทประกัน โดยผู้ให้สินเชื่อรายใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธนาคารพาณิชย์ไทย บริษัทเช่าซื้อ และบริษัทประกัน ทั้งในด้านจำนวนบัญชีสินเชื่อและมูลค่าสินเชื่อคงค้างรวม (ตารางที่ 1) มีบัญชีสินเชื่อรวมกันมากกว่า 1 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 7 ล้านล้านบาท ครอบคลุมประเภทสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ได้แก่
- เงินกู้ทั่วไป
- เงินกู้ระยะสั้น เช่น ตั๋วเงินในประเทศ
- สินเชื่อเช่าซื้อ
- เครดิตการค้า เช่น ตั๋วเงินส่งออกนำเข้า และ
- credit line เช่น เงินเบิกเกินบัญชี (overdraft หรือ O/D) และบัตรเครดิต
ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดสินเชื่อธุรกิจในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของจำนวนบริษัทที่ได้รับสินเชื่อ (extensive margin) และมูลค่าสินเชื่อที่แต่ละบริษัทได้รับ (intensive margin)
จำนวนบริษัทที่มีสินเชื่อในปี 2550 นั้นมีเพียงประมาณ 131,000 บริษัท และเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนกว่าบริษัทในปี 2559 (เส้นทึบในรูปที่ 1) แต่เนื่องจากจำนวนสถาบันการเงินที่ส่งข้อมูลให้ NCB เพิ่มขึ้นจาก 46 เป็น 68 แห่งในช่วงดังกล่าว เพื่อดูว่าการเพิ่มจำนวนของผู้ได้รับสินเชื่อไม่ได้มาจากการที่ NCB มีสมาชิกเพิ่มขึ้น รูปนี้จึงแสดงเส้นประที่นับเฉพาะบริษัทที่กู้จากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของ NCB ตั้งแต่ต้นจนถึงข้อมูลล่าสุดระหว่าง พ.ศ. 2550–2559 ซึ่งเส้นประและเส้นทึบก็ให้ภาพที่คล้ายกันมาก ซึ่งสะท้อนว่าสถาบันการเงินหลัก ๆ ที่ปล่อยสินเชื่อธุรกิจเป็นสมาชิกของ NCB มาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนบริษัทที่ได้รับสินเชื่อในปี พ.ศ. 2550 และปี พ.ศ. 2559 โดยแยกตามมูลค่าสินเชื่อคงค้าง พบว่ามีจำนวนบริษัทที่ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นในทุกช่วงมูลค่าของสินเชื่อ โดยกลุ่มที่มีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือกลุ่มที่มียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 1 ล้านบาท (รูปที่ 2)
เมื่อเรียงลำดับบริษัทตามมูลค่าสินเชื่อคงค้างจากน้อยสุดไปหามากสุด เช่น บริษัทลำดับที่ 10th percentile มียอดสินเชื่อคงค้างประมาณรายละสองแสนบาท ส่วนบริษัทลำดับที่ 90th percentile มียอดสินเชื่อคงค้างสูงถึงรายละ 35 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบยอดสินเชื่อคงค้างต่อบริษัทในปี พ.ศ. 2550 และปี พ.ศ. 2559 เฉพาะบริษัทที่มีสินเชื่อในทั้งสองปี (รูปที่ 2) พบว่า ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทลำดับที่ 10th percentile มีค่าใกล้เคียงกันในปี พ.ศ. 2550 และปี พ.ศ. 2559 แต่บริษัทที่มีสินเชื่อขนาดใหญ่มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 143 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9–15 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระดับการกระจุกตัวของสินเชื่อมีแนวโน้มที่สูงขึ้น
นอกจากสถาบันการเงินมีความหลากหลายทั้งในด้านขนาด (เล็ก กลาง ใหญ่) และประเภทของสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน บริษัทบัตรเครดิต เป็นต้น) แล้ว สถาบันการเงินต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างของกลยุทธ์ในการให้สินเชื่อด้วย ซึ่งข้อมูลจาก NCB แสดงให้เห็นว่าธนาคารมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแตกต่างกัน ยกตัวอย่างธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กจำนวน 2 รายที่มีส่วนแบ่งในตลาดสินเชื่อใกล้เคียงกัน (1.4% และ 1.1%) รายหนึ่งเน้นลูกค้ารายใหญ่ ส่วนอีกรายหนึ่งเน้นลูกค้ารายย่อย โดยลูกค้าสินเชื่อส่วนใหญ่ของธนาคารแห่งแรก (S1) มียอดสินเชื่อคงค้างรายละกว่า 24 ล้านบาท ในขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารอีกแห่งหนึ่ง (S2) มีสินเชื่อเพียงรายละ 4 แสนบาท (รูปที่ 4) ในทำนองเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แต่ละแห่งมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างเช่นกัน หากพิจารณาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จำนวน 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกัน (19.6% และ 19.9%) พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารแห่งแรก (L1) มีการกระจายตัวแบบระฆังคว่ำ และมีสินเชื่อรายละประมาณ 9 ล้านบาท ส่วนอีกแห่งหนึ่ง (L2) เน้นทั้งลูกค้ารายเล็กที่กู้เพียงรายละ 2 แสนบาท และลูกค้ารายใหญ่ที่กู้รายละกว่า 9 ล้านบาท เห็นได้จากลักษณะการกระจายตัวของบัญชีสินเชื่อแบบทวิฐานนิยม (bimodal) (รูปที่ 5)
โดยประเภทของสินเชื่อที่บริษัทใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เงินกู้ทั่วไป (ร้อยละ 34) สินเชื่อเช่าซื้อ (ร้อยละ 33) และเงินเบิกเกินบัญชี (ร้อยละ 25) และสำหรับบริษัทที่มีบัญชีสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชี ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่บริษัทกลุ่มนี้ใช้ ส่วนใหญ่ก็ประกอบด้วย เงินกู้ทั่วไป สินเชื่อเช่าซื้อ และเงินเบิกเกินบัญชีเช่นกัน โดยร้อยละ 14.3 มีบัญชีเงินกู้ทั่วไปร่วมกับเงินเบิกเกินบัญชี ร้อยละ 13.1 มีบัญชีเช่าซื้อเพียงอย่างเดียวแต่มีหลายบัญชี และร้อยละ 10.1 มีทั้งบัญชีเงินกู้ทั่วไป เงินเบิกเกินบัญชี และบัญชีเช่าซื้อ เป็นต้น (รูปที่ 6)
ร้อยละ 74 ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว โดยบริษัทที่มีบัญชีสินเชื่อเดียวกู้จากสถาบันการเงินแห่งเดียวโดยปริยายซึ่งคิดเป็นร้อยละ 46 ของบริษัทที่กู้ยืมทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 28 มีบัญชีสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชีแต่เป็นลูกค้าสินเชื่อของสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว หรือคิดเป็นกว่าครึ่งของบริษัทที่มีบัญชีสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชี (ตารางที่ 2) ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ สะท้อนว่าการให้สินเชื่อของไทยส่วนหนึ่งยังมีลักษณะเป็น relationship-based lending นั่นคือ ธนาคารก็มักจะให้สินเชื่อกับลูกค้าที่รู้จักกันอยู่แล้ว และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ หรือต้นทุนทางธุรกรรม (transaction costs) กับสถาบันทางการเงินเพียงแห่งเดียวต่ำกว่าต้นทุนทางธุรกรรมกับสถาบันทางการเงินหลายแห่งค่อนข้างมาก
จำนวนสถาบันการเงินที่ใช้บริการโดยบริษัทที่มีสินเชื่อหลายบัญชี ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (รูปที่ 7)
เช่น ร้อยละ 93 ของบริษัทที่มีบัญชีเงินกู้ทั่วไปหลายบัญชี และร้อยละ 75 ของบริษัทที่มีบัญชีเงินกู้ทั่วไปและเงินเบิกเกินบัญชี จะมีสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าบัญชีเงินกู้ทั่วไปมีความคลุมเครือสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ relationship-based lending จึงมีความสำคัญ ในทางกลับกัน มากกว่าร้อยละ 95 ของบริษัทที่มีบัญชีเช่าซื้อร่วมกับบัญชีสินเชื่อประเภทอื่น ๆ มีสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากกว่าหนึ่งแห่ง ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจ เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อส่วนใหญ่เป็นการเช่าซื้อรถยนต์และมีสถาบันการเงินหลากหลายจำนวนมากที่ให้สินเชื่อเช่าซื้อ โดยแต่ละแห่งมีความสัมพันธ์เฉพาะกับธุรกิจผู้ขายรถยนต์ต่าง ๆ กัน
เมื่อศึกษาฐานข้อมูล NCB ควบคู่กับฐานข้อมูล Corporate Profile and Financial Statement (CPFS) ของกระทรวงพาณิชย์ที่รวบรวมงบการเงินของนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทำให้สามารถวิเคราะห์การใช้บริการในตลาดสินเชื่อของภาคธุรกิจ (participation) และสามารถเปรียบเทียบลักษณะของบริษัทที่มีสินเชื่อและบริษัทที่ไม่มีสินเชื่อได้ โดยในปี พ.ศ. 2558 บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเพียงร้อยละ 31 เท่านั้นที่มีสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ในทางกลับกัน บริษัทมากกว่า 2 ใน 3 ไม่มีการกู้ยืมจากสถาบันการเงินเลย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ประกอบด้วยทั้งบริษัทที่ไม่ต้องการขอสินเชื่อและบริษัทที่ต้องการขอสินเชื่อแต่ไม่ได้รับอนุมัติด้วย
เมื่อจัดกลุ่มบริษัทตามรายรับโดยกลุ่มที่ 1 คือกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่สุด (1st revenue decile หรือมีรายรับประมาณ 1 แสนบาทต่อปี) ถึงกลุ่มที่ 10 คือกลุ่มบริษัทที่ขนาดใหญ่ที่สุด (10th revenue decile หรือมีรายรับ 200 ล้านบาทต่อปี) รูปที่ 8 แสดงให้เห็นว่ากว่าร้อยละ 83 ของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มรายรับสูงสุดมีสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวคิดเป็นเพียงร้อยละ 7 สำหรับบริษัทที่อยู่ในกลุ่มรายรับต่ำสุด
สินเชื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของบริษัทเล็ก ซึ่งต่างไปจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแหล่งเงินทุนอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินกู้จากสถาบันการเงินด้วย
รูปที่ 9 แสดงสัดส่วนของมูลค่าสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่อหนี้สินทั้งหมดจากงบการเงิน (total liabilities) โดยพิจารณาเฉพาะบริษัทที่มีหนี้สิน (liabilities) หากเรียงตามขนาดบริษัทจากเล็กไปใหญ่ พบว่าบริษัทใหญ่มีสัดส่วนของมูลค่าสินเชื่อต่อหนี้สินทั้งหมดน้อยกว่าบริษัทเล็ก โดยสำหรับบริษัทที่อยู่ในกลุ่มรายรับสูงที่สุด พบว่ามูลค่าสินเชื่อคิดเป็นเพียงร้อยละ 33 ของหนี้สินทั้งหมด ในทางกลับกัน สำหรับบริษัทที่อยู่ในกลุ่มช่วงรายรับต่ำที่สุด พบว่าหนี้สินทั้งหมดมาจากสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ดังนั้น ถึงแม้ว่าบริษัทขนาดเล็กบางแห่งสามารถเข้าถึงบริการในตลาดสินเชื่อได้ แต่บริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดทางการเงินสูงกว่าบริษัทใหญ่ ส่วนบริษัทขนาดเล็กที่ไม่สามารถสินเชื่อได้ก็มีแนวโน้มว่ามีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เช่นกัน
ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น การจะดูว่าบริษัทเผชิญกับข้อจำกัดในการลงทุน (financial constraint) หรือไม่ สามารถดูได้จากอัตราผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งอาจวัดได้จากสัดส่วนของกำไรต่อมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด(return on assets หรือ ROA) หากปราศจากข้อจำกัดด้านการลงทุนแล้ว ROA ของทุก ๆ บริษัทควรที่จะมีค่าเท่า ๆ กันโดยมีค่าใกล้เคียงกับต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากหากบริษัทใดมี ROA สูงกว่าต้นทุนทางการเงิน บริษัทนั้นสามารถได้รับกำไรเพิ่มขึ้นโดยการกู้เงินเพื่อมาลงทุนเพิ่มเติม แต่จากรูปที่ 10 พบว่า ROA ของบริษัทที่ไม่มีสินเชื่อมีค่าสูงกว่า ROA ของบริษัทที่ได้รับสินเชื่อในทุก ๆ ช่วงขนาดบริษัท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอาจช่วยลดข้อจำกัดในการลงทุนของบริษัทได้ (อย่างไรก็ตาม ROA ที่สูงของบางธุรกิจนั้น อาจสะท้อนถึงผลตอบแทนความเสี่ยง หรือ risk premium ที่สูงกว่าของธุรกิจนั้น ๆ ด้วย)
ขนาดบริษัทใหญ่เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่าบริษัทมีสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ในขณะที่อัตรากำไรสูงไม่ได้การันตีว่าบริษัทจะมีสินเชื่อเสมอไป
รูปที่ 11 แสดงสัดส่วนของบริษัทที่มีสินเชื่อและไม่มีสินเชื่อโดยเรียงลำดับตามรายรับและอัตรากำไร ซึ่งอัตรากำไรเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่สะท้อนผลิตภาพของบริษัทจากน้อยที่สุด (กลุ่มที่ 1) ถึงมากที่สุด (กลุ่มที่ 20) พบว่าบริษัทที่มีสินเชื่อในรูปด้านขวากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่แต่มีอัตรากำไรปานกลาง ในทางกลับกัน บริษัทที่ไม่มีสินเชื่อในรูปด้านซ้ายกระจุกตัวในกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก แต่แยกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกมีอัตรากำไรต่ำ ส่วนกลุ่มที่สองมีอัตรากำไรสูง เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าเพราะเหตุใดบริษัทในกลุ่มหลังซึ่งมีผลิตภาพดีและมีศักยภาพที่จะเป็นลูกค้าสินเชื่อที่ดีได้ จึงไม่เข้ามาใช้บริการในตลาดสินเชื่อ
หากเปรียบเทียบสัดส่วนของสินทรัพย์ถาวรต่อสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทที่มีสินเชื่อและไม่มีสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รูปที่ 12 แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่มีสินเชื่อน่าจะมีข้อจำกัดด้านการลงทุนน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีสินเชื่อ เพราะสามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ถาวร แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภาพนี้อาจจะแสดงว่าบริษัทที่มีสินทรัพย์ถาวรมากกว่าสามารถขอสินเชื่อได้มากกว่า เพราะสามารถนำสินทรัพย์ถาวรไปเป็นหลักประกันเงินกู้ได้
รูปที่ 13 แสดงจำนวนบริษัทในฐานข้อมูล CPFS และ NCB โดยแยกตามอายุ ในฐานข้อมูล CPFS บริษัทที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปีมีจำนวนมากที่สุด และจำนวนบริษัทลดลงในกลุ่มบริษัทที่มีอายุสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบริษัทที่มีสินเชื่อจากฐานข้อมูล NCB แล้ว พบว่ากลุ่มบริษัทที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปีกลับเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการมีสินเชื่อธุรกิจต่ำที่สุด โดยอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสาร (information asymmetry) กล่าวคือเนื่องจากบริษัทในกลุ่มนี้เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ทำให้สถาบันการเงินมีข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานหรือความน่าเชื่อถือทางการเงิน (credit worthiness) ไม่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงของบริษัทในกลุ่มนี้ ทั้ง ๆ ที่บริษัทที่เริ่มก่อตั้งมักต้องการเงินทุนในการขยายกิจการในช่วงปีแรก ๆ
นอกจากนี้ อายุของบริษัทมีความสัมพันธ์กับประเภทสินเชื่อที่บริษัทมี โดยบริษัทที่อายุน้อยมักมีสินเชื่อเช่าซื้อมากกว่าบริษัทที่อายุมาก แต่เมื่อบริษัทอายุมากขึ้นจะมีสัดส่วน credit line มากขึ้น
อาทิ เงินเบิกเกินบัญชีและบัตรเครดิต (รูปที่ 14) ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอาจสะท้อนทั้งอุปสงค์และอุปทานของตลาดสินเชื่อธุรกิจ กล่าวคือ ความต้องการใช้สินเชื่อประเภทต่าง ๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรชีวิต (life cycle) ของบริษัท โดยบริษัทในช่วงเริ่มต้นกิจการเน้นไปที่การลงทุนเพื่อขยายกิจการ จึงมีสินเชื่อเช่าซื้อมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ในขณะที่บริษัทที่อายุมากกว่าใช้สินเชื่อในการดำเนินกิจการของบริษัท จึงใช้เงินกู้ระยะสั้น หนี้การค้า และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น นอกจากความต้องการทางธุรกิจที่แตกต่างไปตามช่วงอายุของบริษัทแล้ว ประเภทสินเชื่อที่ต่างกันในแต่ละช่วงอายุบริษัทเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานของผู้ปล่อยสินเชื่อ ได้แก่ ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสาร โดยการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทที่มีอายุน้อย สถาบันการเงินอาจมองว่าการปล่อยสินเชื่อประเภทเช่าซื้อที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนและมีสินทรัพย์ค้ำประกันมีความเสี่ยงต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการมีสินเชื่อรายอุตสาหกรรม ภาคการผลิตมีสัดส่วนของบริษัทที่ได้รับสินเชื่อสูงที่สุด ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคบริการมีสัดส่วนต่ำที่สุด
โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนของบริษัทที่ได้รับสินเชื่อถึงร้อยละ 46 ของจำนวนบริษัทในภาคการผลิตทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่อยู่เพียงร้อยละ 31 ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคบริการมีสัดส่วนเพียงร้อยละร้อยละ 17 และ 18 ตามลำดับ (รูปที่ 15) สำหรับภาคการค้าซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีจำนวนบริษัทมากถึงร้อยละ 40 ของจำนวนบริษัทไทยทั้งหมด มีบริษัทราว 1 ใน 3 ที่มีสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
การศึกษาตลาดสินเชื่อธุรกิจไทยโดยใช้ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สินเชื่อธุรกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านจำนวนบริษัทที่มีสินเชื่อและมูลค่าสินเชื่อต่อบริษัท สถาบันการเงินมีการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งรายเล็กและรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม บริษัทที่กู้ยืมจากสถาบันการเงิน คิดเป็นเพียงร้อยละ 31 ของจำนวนบริษัทนิติบุคคลทั้งหมด
ข้อมูลรายสัญญาชุดนี้แสดงให้เห็นภาพอย่างชัดเจนอีกสองภาพ ภาพแรกคือ ตลาดสินเชื่อธุรกิจไทยน่าจะยังมีปัญหา asymmetric information ระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ เพราะเมื่อเปรียบเทียบบริษัทที่มีสินเชื่อและบริษัทที่ไม่มีสินเชื่อพบว่า กลุ่มบริษัทอายุน้อยกว่า 5 ปี มีสินทรัพย์ถาวรต่ำ มีรายรับต่ำ มีโอกาสที่จะมีสินเชื่อน้อยมาก แม้บางบริษัทจะมีอัตรากำไรที่ดี ซึ่งข้อเท็จจริงนี้อาจจะสะท้อนว่า สถาบันการเงินไม่สามารถประเมินความเสี่ยงของบริษัทบางกลุ่มได้ เช่น บริษัทตั้งใหม่ เมื่อผู้ประกอบการยังไม่มีประวัติทั้งทางการเงินและธุรกิจ และไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ทำให้สถาบันการเงินไม่อยากปล่อยกู้ หรืออาจเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่ประเมินไม่ได้ บริษัทจึงไม่สามารถกู้ได้
ภาพที่สองคือ สำหรับบริษัทที่มีสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง ทั้งขนาดของสินเชื่อ ประเภทของสินเชื่อที่ใช้ เกือบครึ่งของบริษัทกลุ่มนี้มีบัญชีสินเชื่อเพียงบัญชีเดียว ส่วนบริษัทที่มีสินเชื่อหลายบัญชี จำนวนสถาบันการเงินที่ใช้บริการมักจะขึ้นกับพอร์ตสินเชื่อที่บริษัทถือ บริษัทที่ต้องการมีเงินกู้ระยะยาวหลาย ๆ บัญชี มักจะกู้จากธนาคารแห่งเดียว แต่หากเป็นการถือเงินเบิกเกินบัญชีหลายบัญชี หรือถือร่วมกับสินเชื่อเช่าซื้อ มักจะใช้บริการจากสถาบันการเงินหลายแห่ง นอกจากนี้ เรายังพบว่าบริษัทใหญ่มีช่องทางระดมทุนหลายช่องทาง ขณะที่บริษัทเล็กไม่มีทางเลือกมากนัก โดยสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่มีหนี้สินนั้น สินเชื่อจากสถาบันการเงินแทบจะเป็นหนี้สินทั้งหมดที่บริษัทมี
ปัจจุบันภาครัฐได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่อง asymmetric information และพยายามช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน เช่น มีการตั้งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในปี พ.ศ. 2534 ตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2545 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2558 โดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs สามารถขอกู้เงินได้โดยไม่ต้องมอบทรัพย์สินไว้กับเจ้าหนี้ มีสินเชื่อประชารัฐ ซึ่งเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งหน่วยงานมาช่วยประเมินศักยภาพ อบรม และให้คำปรึกษาในการพัฒนาของธุรกิจและปัญหาทางการเงินของธุรกิจ เช่น สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และศูนย์ช่วยเหลือ SMEs
อย่างไรก็ตาม จากภาพที่เราเห็นชี้ว่าน่าจะยังมีบริษัทที่ประสบปัญหาในการพิสูจน์ความสามารถในการชำระหนี้ให้สถาบันการเงินเห็น สิ่งที่จะช่วยลดต้นทุนทั้งของสถาบันการเงินผู้ให้กู้และช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าถึงสินเชื่อ ก็คือ การหาวิธีที่ประเมินความเสี่ยงของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและส่งต่อข้อมูลให้สถาบันการเงินอย่างโปร่งใส ปัจจุบันรัฐบาลได้หวังว่าการผลักดันให้ธุรกิจใช้งบการเงินที่รายงานสรรพากรและยื่นขอสินเชื่อเป็นบัญชีเดียวกันจะช่วยบรรเทาปัญหาตรงนี้ได้ นโยบายบัญชีเดียวนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2562 อันที่จริง การแก้ปัญหาเรื่อง asymmetric information ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากภาครัฐอาจจะไม่เข้าใจธุรกิจเท่ากับผู้ให้กู้และผู้ขอกู้ ในอนาคตรัฐอาจจะมีการให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการเองมาร่วมเสนอแนวทางว่าอะไรจะเป็นตัวชี้วัดธุรกิจที่มีศักยภาพและความเสี่ยงต่ำได้โดยตัววัดนี้อาจจะต่างกันสำหรับภาคธุรกิจต่าง ๆ
นอกจากนี้ ภาพเรื่องความหลากหลายของบริษัทในการใช้บริการด้านสินเชื่อย้ำให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจจำเป็นต้องตระหนักถึงความแตกต่างดังกล่าวด้วย โดยนโยบายที่ได้ผลดีสำหรับบริษัทกลุ่มหนึ่งอาจไม่เหมาะสมกับบริษัทอีกกลุ่มหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การสร้างและใช้ credit scoring มาประเมินความเสี่ยง ซึ่งจากบทเรียนในประเทศอื่น ๆ การมีความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินหลายแห่ง utilization rate ที่สูง และการมีสินเชื่อขนาดใหญ่และชำระหนี้ที่ตรงเวลามักจะช่วยเพิ่มคะแนน หากเรานำปัจจัย 3 ปัจจัยนี้มาพิจารณา บริษัทเล็กแม้จะมีประวัติชำระหนี้ที่ดีก็จะไม่สามารถสู้คะแนนของบริษัทใหญ่ได้ เพราะบริษัทส่วนมากก็มีบัญชีเพียงบัญชีเดียว ใช้บริการจากสถาบันการเงินแห่งเดียว และมียอดสินเชื่อคงค้างไม่สูงเท่าบริษัทใหญ่ รัฐอาจจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นเพิ่มเติมในการสร้าง credit score สำหรับบริษัทเล็ก เช่น การชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคที่ตรงเวลา
ทั้งนี้ ภาพของตลาดสินเชื่อธุรกิจที่ข้อมูลเครดิตบูโรไม่สามารถตอบได้ ก็คือ ความแตกต่างระหว่างผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการสินเชื่อและผู้ที่โดนปฏิเสธสินเชื่อ หรือสินเชื่อที่ผู้ประกอบการได้รับในข้อมูลนั้นต่ำกว่าสินเชื่อที่ผู้ประกอบการต้องการหรือไม่ และต้นทุนทั้งหมดของการขอสินเชื่อเป็นอย่างไร ในบทความชิ้นต่อไปในชุดบทความนี้ เราจะศึกษาเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพลวัตของหนี้ภาคธุรกิจของประเทศไทย
Paweenawat, A., J. Pinthong, K. Samphantharak, and N. Wasi. (2018): “Corporate Debt in Thailand: What We Learn from the National Credit Bureau Data” Discussion Paper, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, forthcoming.