มองโครงสร้างประชากรของครัวเรือนไทยในชนบทผ่านข้อมูล Townsend Thai Monthly Survey
excerpt
บทความนี้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของครัวเรือนไทยในชนบทจากข้อมูล Townsend Thai Monthly Survey โดยข้อมูลสะท้อนความแตกต่างที่น่าสนใจหลายประการที่ไม่อาจเห็นได้จากข้อมูลระดับมหภาคหรือข้อมูลรายปี อาทิ รูปแบบการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกครัวเรือนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัดและไม่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกช่วงเวลาเหมือนที่พบจากข้อมูลรวมของทุกจังหวัด รูปแบบการเคลื่อนไหวประชากรในแต่ละช่วงปีที่มาจากวัยทำงาน ความแตกต่างขององค์ประกอบครัวเรือนแยกตามวัยและการกระจายตัวของระดับการศึกษาในแต่ละจังหวัด เป็นต้น
หากพิจารณาโครงสร้างประชากรไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยมีแนวโน้มของอัตราการเกิดที่ลดลงและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเพิ่มของประชากรไทยค่อนข้างต่ำ ดังข้อมูลทางสถิติจากสำนักการบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่แสดงไว้ในรูปที่ 1 ในบทความนี้ เราจะนำเสนอรูปแบบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของครัวเรือนไทยในชนบท จากฐานข้อมูลบัญชีครัวเรือนเพื่อการวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นข้อมูลแบบซ้ำรายเดือนระดับครัวเรือนที่สร้างมาจากข้อมูล Townsend Thai Monthly Survey (TTMS) โดย TTMS เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Townsend Thai Project ที่ทำการเก็บข้อมูลครัวเรือนในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 25401
เนื่องจาก TTMS เป็นการสำรวจซ้ำครัวเรือนเดิม เราจึงไม่อาจนำมาศึกษาเปรียบเทียบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงประชากรในภาพรวมได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ข้อมูล TTMS ชี้ว่า ครัวเรือนมีขนาดเล็กลงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยของขนาดครัวเรือนลดลงจากประมาณ 4.1 คนในปี พ.ศ. 2542 เป็นประมาณ 3.5 คน ณ สิ้นปี พ.ศ. 2555 ซึ่งแนวโน้มการลดลงนี้สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งทำการสำรวจทุกสิบปีและพบว่าครัวเรือนไทยมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 4.4, 3.8, และ 3.2 คน ในปี พ.ศ. 2533, 2543, และ 2553 ตามลำดับ แต่หากเปรียบเทียบตัวเลขจำนวนสมาชิกในครัวเรือนจะพบว่าข้อมูลจาก TTMS มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะความแตกต่างของประชากร โดย TTMS เป็นการสำรวจครัวเรือนเฉพาะในพื้นที่ชนบทซึ่งต่างจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่รวมทั้งพื้นที่ชนบทและในตัวเมืองที่มักอาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว
นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูล TTMS เป็นรายเดือน ดังแสดงในรูปที่ 2 จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงขนาดของครัวเรือนในแต่ละช่วงของปี โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของการสำรวจข้อมูล ที่ขนาดครัวเรือนมักเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปลายปี และเนื่องจาก TTMS ไม่ได้นับจำนวนสมาชิกตามทะเบียนบ้านแต่นับจากจำนวนสมาชิกที่อาศัยอยู่จริงมากกว่า 15 วันในแต่ละเดือน ข้อมูลนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการย้ายถิ่นฐานของประชากรไทยในชนบทได้ดี อนึ่งหากพิจารณาจำนวนสมาชิกของครัวเรือนโดยแยกตามช่วงวัย ดังแสดงในรูปที่ 3 จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงขนาดของครัวเรือนในแต่ละช่วงของปีมาจากประชากรในวัยทำงานเป็นหลัก ส่วนประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุที่เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นขั้นบันไดเนื่องจากข้อมูล TTMS ไม่ได้ถามวันเกิด แต่ถามเพียงอายุของสมาชิกแต่ละคนตอนเริ่มต้นสัมภาษณ์หรือตอนเข้ามาเป็นสมาชิกครัวเรือนครั้งแรก ดังนั้นฐานข้อมูลบัญชีครัวเรือนเพื่อการวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมจึงทำการปรับอายุของสมาชิกครัวเรือนแต่ละคนตอนเริ่มต้นปีปฏิทินใหม่ ซึ่งทำให้มีการปรับจำนวนสมาชิกครัวเรือนวัยเด็กเป็นวัยทำงานและวัยทำงานเป็นวัยสูงอายุเฉพาะตอนเริ่มต้นปีปฏิทิน อย่างไรก็ตาม รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการลดลงของประชากรวัยเด็กและแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักการบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดังแสดงในรูปที่ 1 ข้างต้น ที่พบว่าอัตราการเกิดลดลง และสอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่คาดการณ์การเพิ่มขึ้นของดัชนีผู้สูงอายุของประชากรไทย2 และสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
เมื่อพิจารณาข้อมูล TTMS โดยแยกรายจังหวัด (รูปที่ 4) จะพบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกครัวเรือนที่ค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างไปจากรูปแบบที่เห็นในภาพรวม ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยครัวเรือนที่ TTMS ทำการสำรวจในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่มีอาชีพเพาะปลูก และมีการย้ายถิ่นของสมาชิกวัยแรงงานไปทำงานในเมืองช่วงนอกฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว จึงสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกครัวเรือนในลักษณะตามฤดูกาล (seasonal) ได้ค่อนข้างชัดกว่าครัวเรือนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งหลายครัวเรือนมีรายได้หลักจากการเลี้ยงกุ้งและปลา นอกจากนั้น ยังพบว่าแนวโน้มการลดลงของขนาดครัวเรือนในแต่ละจังหวัดยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
จำนวนสมาชิกครัวเรือนในจังหวัดฉะเชิงเทราลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลามีการย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพอื่นทดแทนรายได้ที่ลดลงจากเหตุการณ์ที่สหภาพยุโรปห้ามการนำเข้ากุ้งกุลาดำจากประเทศไทยตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2545 และเหตุการณ์แม่น้ำบางปะกงเน่าเสียในปีถัด ๆ มา อย่างไรก็ดี ขนาดครัวเรือนในจังหวัดฉะเชิงเทรากลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2551–2552 เนื่องจากการทำประมงในจังหวัดฉะเชิงเทราได้กลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงหลังเมื่อเกษตรกรมีการปรับตัวโดยเปลี่ยนชนิดพันธุ์สัตว์น้ำและจากการขยายธุรกิจประมงเชิงรุกของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในลักษณะเกษตรพันธสัญญา (contract farming) นอกจากนี้ ขนาดครัวเรือนในปีหลัง ๆ เริ่มมีแนวโน้มที่คงที่ และเมื่อเปรียบเทียบขนาดครัวเรือนเฉลี่ยของทั้งสี่จังหวัดยังพบว่าฉะเชิงเทรามีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยที่ใหญ่กว่าอีกสามจังหวัด ถึงแม้ว่าจังหวัดฉะเชิงเทราจะอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ใกล้เขตพื้นที่อุตสาหกรรมและมีความเป็นเมืองมากกว่าอีกสามจังหวัดที่เหลือ
จากรูปที่ 4 เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงขนาดครัวเรือนของทั้งสี่จังหวัดยังพบความแตกต่างที่น่าสนใจอีกหลายประการ เช่น ความผันผวนของขนาดครัวเรือนในจังหวัดบุรีรัมย์ที่สูงกว่าจังหวัดอื่นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของการสำรวจข้อมูล การขยายขนาดครัวเรือนในจังหวัดบุรีรัมย์ในระยะสั้น (ช่วงปี พ.ศ. 2549–2551) การที่ครัวเรือนในจังหวัดลพบุรีที่มีขนาดครัวเรือนค่อนข้างคงที่ในช่วงแรกของการสำรวจข้อมูลและมีแนวโน้มลดลงที่ช้ากว่าจังหวัดอื่น ๆ และการเพิ่มขึ้นชั่วคราวของจำนวนสมาชิกครัวเรือนในจังหวัดศรีสะเกษอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 และ 2551 เป็นต้น อนึ่ง หากพิจารณาการเปรียบเทียบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงขนาดครัวเรือนของทั้งสี่จังหวัดแยกตามช่วงอายุดังรูปที่ 5 ยังสามารถสรุปได้เหมือนในภาพรวมของข้อมูลรวมสี่จังหวัดว่า การเคลื่อนไหวของประชากรในแต่ละช่วงของปีมาจากประชากรในวัยทำงานเป็นหลัก แต่ประเด็นน่าสนใจที่เพิ่มเติมคือจำนวนสมาชิกในวัยเด็กโดยเฉลี่ยของจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสองจังหวัดมีค่ามากกว่าในจังหวัดฉะเชิงเทราและลพบุรี นอกจากนั้นยังพบว่าจำนวนสมาชิกวัยสูงอายุโดยเฉลี่ยของจังหวัดฉะเชิงเทราเริ่มมากกว่าจำนวนสมาชิกวัยเด็กมาเป็นระยะเวลาเกินสิบปี ในขณะที่รูปแบบดังกล่าวเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาในสามจังหวัดที่เหลือ ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ หรือเป็นผลกระทบมาจากเหตุการณ์หรือนโยบายของภาครัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยข้อค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของข้อมูลระดับจุลภาคที่สะท้อนถึงความแตกต่างที่น่าสนใจที่ไม่อาจเห็นได้จากข้อมูลระดับมหภาคหรือข้อมูลรายปี
หัวหน้าครัวเรือนในข้อมูล TTMS มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในทั้งสี่จังหวัดที่ทำการสำรวจ ดังแสดงในรูปที่ 6 โดยแนวโน้มดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการที่ครัวเรือนในฐานข้อมูลมีการเปลี่ยนหัวหน้าครัวเรือนไม่บ่อยครั้งในช่วงที่ทำการสำรวจ นอกจากนั้น ยังพบว่าหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และเมื่อพิจารณาโดยแยกรายจังหวัด ดังแสดงในรูปที่ 7 จะพบว่าจังหวัดฉะเชิงเทรามีอัตราส่วนหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นเพศชายน้อยที่สุดในสี่จังหวัด โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการสำรวจข้อมูล จังหวัดฉะเชิงเทรามีหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นเพศชายประมาณร้อยละ 60 ในขณะที่จังหวัดบุรีรัมย์และศรีสะเกษมีหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นเพศชายเกือบร้อยละ 80 และจังหวัดลพบุรีมีอัตราส่วนดังกล่าวเกินร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นเพศชายต่อครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นเพศหญิงลดลงเรื่อย ๆ ในทุกจังหวัด เนื่องจากสาเหตุของการเปลี่ยนหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นเพราะหัวหน้าครัวเรือนเดิมที่เป็นเพศชายเสียชีวิตหรือย้ายไปทำงานต่างพื้นที่และภรรยาของหัวหน้าครัวเรือนเดิมรับภาระการเป็นหัวหน้าครัวเรือนต่อจากสามี
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับครัวเรือนในข้อมูล TTMS คือระดับการศึกษา โดยวัดจากจำนวนปีการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่หนึ่ง ส่วนการศึกษาในระดับอนุบาล 1, อนุบาล 2, และอนุบาล 3 จะนับเป็น 0.1, 0.2, และ 0.3 ปีตามลำดับ โดยหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนแล้วจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ทำการสำรวจ เนื่องจากครัวเรือนที่มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าครัวเรือนมีจำนวนไม่มากนัก และหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่หยุดการศึกษาและเข้าสู่วัยทำงานแล้วตั้งแต่เดือนแรกที่เริ่มทำการสำรวจข้อมูล ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่พบจากข้อมูล TTMS นี้ คือ หัวหน้าครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจหลักในการบริหารจัดการภายในครัวเรือนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาน้อย โดยมากกว่าสองในสามของครัวเรือนทั้งหมดในฐานข้อมูลนี้ได้รับการศึกษาเพียงประถมศึกษาปีที่ 4 และมีหลายครัวเรือนโดยเฉพาะในจังหวัดบุรีรัมย์ที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้รับการศึกษาเลย ดังแสดงในรูปที่ 8
อย่างไรก็ตาม หลายครัวเรือนในชนบทไทยเคารพความอาวุโส ดังนั้นหัวหน้าครัวเรือนมักเป็นผู้ที่อาวุโสในบ้านที่ยังแข็งแรง ทำงานได้ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เกิดและเติบโตในช่วงเวลาที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่พัฒนาอย่างในปัจจุบัน ประชาชนส่วนมากโดยเฉพาะในชนบทไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการได้ง่ายนักและประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการศึกษาขั้นต่ำของประชาชน เพราะฉะนั้น การพิจารณาจำนวนปีการศึกษาสูงสุดของสมาชิกในครัวเรือนอาจจะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงระดับการศึกษาที่ประชาชนไทยได้รับได้ดีกว่าระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน
รูปที่ 9 แสดงจำนวนปีการศึกษาสูงสุดของสมาชิกครัวเรือน ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2542 เทียบกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 โดยจะพบว่า จำนวนปีการศึกษาสูงสุดของสมาชิกครัวเรือนในจังหวัดลพบุรี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษส่วนมากกระจายตัวอยู่ในช่วง 4–12 ปี ซึ่งเป็นการศึกษาในระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในขณะที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีจำนวนครัวเรือนที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่าอีกสามจังหวัดอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่พบจากรูปที่ 9 คือ มีหลายครัวเรือนในจังหวัดลพบุรี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ที่มีการศึกษาสูงสุด 7, 8, 10, และ 11 ปี ซึ่งหมายถึงการยุติการศึกษาในระหว่างทาง ไม่จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (9 ปี) หรือหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (12 ปี) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบปี พ.ศ. 2542 กับปี พ.ศ. 2555 ยังพบการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือนที่มีการศึกษาสูงสุดเพียงประถมศึกษาปีที่ 4 ในจังหวัดลพบุรี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ซึ่งอาจเป็นเพราะการย้ายถิ่น (migration) ของสมาชิกวัยทำงานที่มีการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษาปีที่ 4 ไปทำงานในพื้นที่อื่น เหลือเพียงสมาชิกวัยสูงอายุหรือเด็กอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดิม
บทความนี้นำเสนอข้อเท็จจริงและประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของครัวเรือนในชนบทไทยที่ได้จากข้อมูล TTMS เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโจทย์วิจัยหรือแนวนโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลระดับจุลภาค ดังเช่นข้อมูล TTMS เนื่องจากครัวเรือนไทยมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา ซึ่งไม่สามารถเห็นได้จากข้อมูลระดับมหภาคหรือข้อมูลรายปี ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของครัวเรือนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและนโยบายหรือข้อสรุปหนึ่ง ๆ อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกกลุ่มครัวเรือน
note
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัย (สกว.) ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลเพื่อการวิจัยสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ วีระชาติ กิเลนทอง (2558) “ฐานข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและสังคม: Townsend Thai Data” PIER aBRIDGEd Issue 14/2015.
นราพงศ์ ศรีวิศาล, อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ, อาชว์ ปวีณวัฒน์ และ สุธีรา พงศ์เทพูปถัมภ์. 2559. ฐานข้อมูลบัญชีครัวเรือนเพื่อการวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย RDG5940003.