มองวิถีเมืองและชนบท กับบทบาทหญิงชายต่อหนี้ครัวเรือนไทย ผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร
excerpt
ความเข้าใจถึงสถานการณ์หนี้และหนี้เสียของครัวเรือนแต่ละกลุ่มของประเทศในบริบทที่แตกต่างกันมีความสำคัญต่อการออกแบบและมุ่งเป้านโยบายระบบการเงินไทย บทความนี้มุ่งศึกษาความแตกต่างของปริมาณและคุณภาพของหนี้ครัวเรือนไทย ตลอดถึงพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้ในชุมชนเมืองและชนบท หญิงและชาย โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาจากเครดิตบูโร ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษานี้จะเริ่มฉายภาพถึงบทบาทของการขยายตัวของสังคมเมือง (urbanization) บทบาทของวิถีชีวิตชนบท และความแตกต่างของ life style และพฤติกรรมของหญิงและชายต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย
สังคมเมืองในปัจจุบันได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งก็มาพร้อมกับโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการย้ายถิ่นฐานของคนหลากหลายกลุ่ม รวมถึงคนอายุน้อยที่ย้ายเข้ามาในเมืองเพื่อการศึกษาและประกอบอาชีพมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการสินเชื่อที่จำเป็นต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัย ในขณะเดียวกันค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่านิยมในสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดถึงสิ่งกระตุ้นในด้านต่าง ๆ ก็อาจส่งผลต่อความต้องการของคนเมืองในการจับจ่ายใช้สอยและการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการให้บริการทางการเงินและสินเชื่อที่มีมากขึ้นในชุมชนเมืองทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินสะดวกและง่ายขึ้น การแข่งขันของสถาบันการเงินที่สูงขึ้น ก็อาจเป็นตัวเร่งการก่อหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มในสังคมเมืองอีกต่อหนึ่ง คำถามวิจัยเชิงนโยบายที่น่าสนใจซึ่งกำลังถูกศึกษาในหลายประเทศก็คือ การขยายตัวของสังคมเมืองมีผลต่อพฤติกรรมการกู้ ปริมาณและคุณภาพหนี้ครัวเรือนประเภทต่าง ๆ อย่างไร ในผู้กู้กลุ่มใดบ้าง และเป็นผลมาจากปัจจัยทางอุปสงค์หรืออุปทานของตลาดสินเชื่อประเภทใดบ้าง?
บริบทของวิถีชีวิตของครัวเรือนในชนบทก็มีนัยสำคัญต่อการเข้าถึงสินเชื่อ ปริมาณ และคุณภาพของหนี้ครัวเรือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในด้านอุปสงค์ ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ในชนบทอาจไม่มากนักเนื่องจากสังคมชนบทมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ในทางกลับกัน มักจะมีความต้องการสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจสูงเนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ในชนบทอาจเป็นธุรกิจในครัวเรือนที่มีขนาดเล็กและไม่ได้จดทะเบียน ครัวเรือนส่วนใหญ่อาจจำเป็นต้องกู้เพื่อทำการเกษตร ในด้านอุปทาน บริบทต่าง ๆ ของครัวเรือนในชนบทก็อาจส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินในระบบ และลดแรงจูงใจในการแข่งขันกับสถาบันการเงินกึ่งใน/นอกระบบ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFI) ในการให้สินเชื่อในชนบท เช่น สินทรัพย์ของครัวเรือนชนบทส่วนใหญ่อาจไม่สามารถนำมาค้ำประกันเงินกู้ได้ หรือปัญหา information asymmetry เพราะไม่มีข้อมูลประวัติการกู้เนื่องจากคนชนบทส่วนใหญ่กู้จากสถาบันการเงินนอกระบบ เป็นต้น ตลอดถึงนโยบายความช่วยเหลือของภาครัฐผ่าน SFI ซึ่งอาจส่งผลให้ครัวเรือนบางกลุ่มมีการสะสมหนี้ในปริมาณที่สูงได้ ดังนั้น ความเข้าใจถึงบทบาทของวิถีชนบทต่อพฤติกรรมการกู้ ปริมาณและคุณภาพหนี้ครัวเรือนประเภทต่าง ๆ ตลอดถึงข้อจำกัดทางอุปสงค์หรืออุปทานของตลาดสินเชื่อในชนบทก็จะช่วยให้การออกแบบนโยบายการเข้าถึงสินเชื่อและแก้หนี้ครัวเรือนไทยได้ตรงจุดมากขึ้น
นอกจากมิติของสังคมเมืองและชนบทแล้ว ความแตกต่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายก็อาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของหนี้ครัวเรือนไทย งานศึกษาของต่างประเทศหลายชิ้นพบว่าผู้หญิงมีวินัยทางการเงินที่ดีกว่า มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าผู้ชาย แต่กลับยังพบความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสินเชื่อที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแอฟริกา เป็นต้น นอกจากนี้ life style ที่แตกต่างกันของผู้หญิงและผู้ชายก็อาจส่งผลให้พฤติกรรมการกู้ ปริมาณและคุณภาพหนี้แตกต่างกันอีกด้วย
บทความนี้สรุปผลการศึกษาของ Chantarat et al. (2019) ซึ่งใช้ข้อมูลเชิงสถิติของเครดิตบูโรที่ครอบคลุมสินเชื่อบุคคลธรรมดาทุกสัญญาและกับทุกสถาบันการเงินในระบบของผู้กู้ โดย ณ ธันวาคม 2017 มีข้อมูลสินเชื่อถึง 64.5 ล้านบัญชี ของผู้กู้ 20.2 ล้านรายทั่วประเทศ และมียอดหนี้รวมถึง 10.5 ล้านล้านบาท1 จากสถาบันการเงิน 94 แห่ง มาสะท้อนความแตกต่างของปริมาณและคุณภาพของหนี้ครัวเรือนไทย ตลอดถึงพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้ในชุมชนเมือง (พื้นที่ในเขตเทศบาล) และชนบท (พื้นที่นอกเขตเทศบาล)2 และความแตกต่างของผู้กู้หญิงและชาย ในมิติของอายุ ประเภทสินเชื่อและประเภทสถาบันการเงิน
โดยรวมหนี้ครัวเรือนไทยในระบบมาจากผู้กู้ในเมืองมากกว่าในชนบท และมาจากผู้กู้หญิงและชายในสัดส่วนที่พอ ๆ กัน จากข้อมูลสินเชื่อ ณ เดือนธันวาคม 2017 พบว่า 51% ของผู้กู้มาจากชุมชนเมือง และมีปริมาณหนี้เกือบ 60% ของยอดหนี้ทั้งหมดที่มีการรายงานมายังเครดิตบูโร และหากแยกตามเพศของผู้กู้ พบว่า 48% เป็นผู้หญิง และมีปริมาณหนี้ 49% ของปริมาณหนี้ทั้งหมด ดังนั้นสถานการณ์หนี้และหนี้เสียของผู้กู้ในแต่ละกลุ่มที่ศึกษาจึงล้วนมีนัยสำคัญต่อหนี้ครัวเรือนไทยทั้งสิ้น
สัดส่วนของประชากรในชุมชนเมืองที่มีหนี้ในระบบสูงกว่าในชนบทถึงเกือบสามเท่า แต่มียอดหนี้ต่อผู้กู้น้อยกว่าผู้กู้ในชนบท และคุณภาพโดยรวมของสินเชื่อที่ดีกว่าเล็กน้อย รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนของประชากรในเมือง ชนบท ผู้หญิงและผู้ชายที่มีหนี้ในระบบ (debt headcount) และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน (delinquency headcount) ของแต่ละกลุ่ม โดย ณ สิ้นปี 2017 พบว่า 34% ของประชากรในชุมชนเมืองมีหนี้ในระบบ เทียบกับ 13% ของประชากรในชนบท แต่ผู้กู้ในชนบทมีค่ากลางของยอดหนี้ต่อผู้กู้ที่ 152,969 บาท ซึ่งสูงกว่าผู้กู้ในเขตเมืองที่ 118,295 บาท ขณะที่สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 15% ในชุมชนเมืองและ 17% ในชนบท
อัตราการขยายตัวของการมีหนี้ของทั้งในเมืองและชนบทในช่วง 9 ปีที่ผ่านมามีความคล้ายคลึงกันคือมีการเร่งตัวในช่วงปี 2009–2013 เมื่อเปรียบเทียบกับปีหลัง ๆ และที่น่าสนใจก็คือสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียของผู้กู้ในเมืองกลับลดต่ำลงกว่าผู้กู้ในชนบทตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา จุดประกายคำถามวิจัยต่อว่าการเข้าถึงสินเชื่อในชนบทที่ยังน้อยอยู่ในปัจจุบันเกิดจากปัจจัยทางอุปสงค์ เช่น ความต้องการสินเชื่อของคนชนบทที่ต่ำ คุณภาพของผู้กู้ในชนบทที่ด้อยลง (เช่น เนื่องจากภาระหนี้ของครัวเรือนที่สูงอยู่แล้ว) หรือข้อจำกัดทางอุปทานด้านอื่น ๆ
โดยรวมสัดส่วนประชากรที่มีหนี้และผู้กู้ที่มีหนี้เสียของผู้หญิงและผู้ชายมีอัตราส่วนพอ ๆ กัน โดย ณ สิ้นปี 2017 พบว่า 23% ของประชากรหญิงจะมีหนี้ในระบบ เปรียบเทียบกับ 22% ของประชากรชาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัตราการขยายตัวจากปี 2009 ที่สูงกว่าของประชากรหญิง หากพิจารณาปริมาณหนี้ต่อผู้กู้จะเห็นว่าผู้ชายมียอดหนี้ต่อผู้กู้ที่ 195,745 บาท ซึ่งสูงกว่าผู้กู้หญิงที่ 151,563 บาท และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียของผู้ชายที่เคยสูงกว่าก็ลดลงจนมีระดับพอ ๆ กับผู้หญิงที่ประมาณ 16%
หากเปรียบเทียบสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในแต่ละช่วงอายุ โดยรูปที่ 2 แสดงสัดส่วนของประชากรที่มีหนี้ ค่ากลางของยอดหนี้ต่อผู้กู้ และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสีย ตามช่วงอายุของคนเมืองและชนบท เราพบว่า
คนในเมืองมีสัดส่วนการเป็นหนี้มากกว่าคนชนบทในทุกช่วงอายุ ดังนั้นการมีหนี้เร็วตั้งแต่เด็กของคนไทยจึงสะท้อนสถานการณ์ในบริบทของคนในสังคมเมือง โดยคนอายุน้อย (25–35 ปี) มีสัดส่วนของการมีหนี้ในระบบสูงที่สุดและสูงถึง 78% ในชุมชนเมือง (ซึ่งอาจสะท้อนถึงปัจจัยเร่งทั้งทางด้านอุปสงค์ของความต้องการของคนในสังคมเมือง และอุปทานจากบริการทางการเงินอย่างแพร่หลายและการแข่งขันที่สูงของสถาบันการเงินในเมือง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการก่อหนี้ของคนอายุน้อยและเพิ่งเริ่มทำงาน) เทียบกับ 29% ในชนบทซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามช่วงอายุ ซึ่งอาจไม่มีปัจจัยเร่งต่าง ๆ ข้างต้นเหมือนในบริบทของสังคมเมือง
ยอดหนี้ต่อผู้กู้ของผู้กู้ในชนบทกลับสูงกว่าผู้กู้ในเมืองโดยเฉพาะผู้กู้สูงอายุ ดังนั้น การมีหนี้ในปริมาณมากจนแก่ (หรือการไม่ deleverage) ของคนไทยจึงสะท้อนสถานการณ์ในบริบทของคนในชนบท รูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่าผู้กู้ในวัยเกษียณ หรือ 60 ปีเป็นต้นไปในชนบทยังคงมีค่ากลางยอดหนี้อยู่สูงถึง 70,000–170,000 บาท ซึ่งมากกว่าผู้กู้ในวัยเดียวกันในเมืองถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างเพื่อทำการเกษตร
คุณภาพสินเชื่อของผู้กู้ทั้งสองกลุ่มไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงในผู้กู้อายุน้อย (25–35 ปี) เป็นปัญหาทั้งผู้กู้ในเมืองและชนบท โดยสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงสุดอยู่ที่อายุประมาณ 30–32 ปีทั้งในเมืองและชนบท และอยู่ที่ประมาณ 20% โดยสัดส่วนจะสูงกว่าสำหรับผู้กู้ในชนบทโดยเฉพาะในผู้กู้สูงอายุ
หากเปรียบเทียบในแต่ละประเภทสินเชื่อ พบว่าส่วนใหญ่คนในเมืองมีสัดส่วนการมีสินเชื่อเกือบทุกประเภทที่สูงกว่าคนในชนบท โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน เว้นแต่สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่คนสูงอายุในชนบทจะมีสัดส่วนการมีหนี้ที่มากกว่า โดยรูปที่ 3 ฉายภาพให้เห็นถึงความแตกต่างของคนในเมืองและคนในชนบทในการใช้สินเชื่อและคุณภาพของสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของคนอายุน้อยในเมืองที่มีสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal loan: P-loan) มีสูงถึง 45% ซึ่งมากกว่าในชนบทถึงสามเท่าตัว เช่นเดียวกับการมีสินเชื่อรถยนต์ แต่หากมองสินเชื่อบัตรเครดิตจะพบว่าสัดส่วนของคนในชนบทที่มีบัตรเครดิตมีต่ำกว่าในเมืองถึงกว่าหกเท่า และมีคุณภาพหนี้ด้อยกว่า ซึ่งความแตกต่างข้างต้นอาจสะท้อนทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์และข้อจำกัดของอุปทานในตลาดสินเชื่อ เช่น ในกรณีบัตรเครดิต คนในชนบทส่วนใหญ่อาจไม่มีรายได้ประจำ เป็นต้น รูปที่ 3 ยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ต่ำในชนบทซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการมีครอบครัวขยาย รวมถึงการใช้สินเชื่อธุรกิจในสัดส่วนที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการเกษตร และอาจสะท้อนถึงสถานการณ์ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้สูงวัย และอาจมีการสะสมหนี้จนแก่
อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ทั้งคนเมืองและคนในชนบทเข้าถึงได้มากที่สุดยังคงเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหนี้เสียสูงสูดด้วย โดย 20% ของผู้กู้อายุน้อยในเมืองและชนบทจะมีหนี้เสีย เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตในชุมชนเมือง และสินเชื่อรถยนต์ในชนบท
หากศึกษาพฤติกรรมการกู้ของครัวเรือนจากจำนวนและประเภทของสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ โดยรูปที่ 4 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ตามจำนวนบัญชีและสถาบันการเงินที่ใช้ในแต่ละช่วงอายุ และรูปที่ 5 แสดงพอร์ตการกู้ของคนเมืองและคนในชนบท โดยการหาสัดส่วนของหนี้ตามประเภทสินเชื่อและประเภทสถาบันการเงินที่ผู้กู้แต่ละคนกู้ แล้วมาหาค่าเฉลี่ยของพอร์ตตามช่วงอายุ เราพบว่า
ผู้กู้ในเมืองมักจะมีหลายบัญชีและหลายสถาบันการเงินโดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน ผิดกับผู้กู้ในชนบทที่จะมีหลายบัญชี แต่มักจะกู้จากสถาบันการเงินเดียว ซึ่งโดยเฉลี่ย 75% ของผู้กู้วัยทำงานในเมืองจะมีหลายบัญชีโดยเกือบ 20% ที่มีมากกว่า 5 บัญชี และประมาณ 60% จะใช้สถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง แตกต่างจากผู้กู้ในชนบทที่มีประมาณ 60% ที่มีหลายบัญชี ซึ่งสัดส่วนสูงขึ้นเล็กน้อยในผู้กู้สูงอายุ แต่โดยเฉลี่ย 72% ของผู้กู้วัยทำงาน และ 90% ของผู้กู้สูงอายุในชนบทยังคงกู้หนี้กับเพียงสถาบันการเงินเดียว
และเมื่อพิจารณาพอร์ตสินเชื่อ พบว่าพอร์ตสินเชื่อของผู้กู้ในเมืองมักจะมีหนี้ที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่ได้สร้างรายได้/เพิ่มมูลค่า คือบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดในทุกช่วงอายุ โดยในช่วงอายุน้อย พอร์ตสินเชื่อของคนกลุ่มนี้จะมีหลายประเภทสินเชื่อและใช้กับหลายสถาบันการเงิน และเมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น
ผิดกับผู้กู้ในชนบทที่มี segmentation ของประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงินตามอายุที่ชัดเจน โดยพอร์ตของคนในช่วงอายุน้อย จะเริ่มจากมีหลายประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงิน โดยจะใช้ non-bank เป็นสัดส่วนสูงเนื่องจากเข้าถึงได้ง่าย และเมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีเพียงสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจและสินเชื่อส่วนบุคคล และใช้เพียง SFI เป็นหลักเท่านั้น ซึ่งการใช้จำนวนสถาบันการเงินเดียว โดยเฉพาะ SFI ของคนในชนบทอาจสะท้อนถึงอุปสรรคที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ และ non-bank ไม่สามารถและ/หรือไม่มีแรงจูงใจที่จะแข่งขันกับสถาบันการเงินนอกระบบ หรือ SFI ได้
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์หนี้และหนี้เสียรายคน พบว่าผู้หญิงจะมีหนี้เร็วกว่าผู้ชาย แต่มียอดหนี้ต่อผู้กู้น้อยกว่า และคุณภาพหนี้ของผู้กู้หญิงและชายไม่ต่างกัน โดยจะมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงในวัยเริ่มทำงาน โดยรูปที่ 6 แสดงความแตกต่างของสถานการณ์หนี้และหนี้เสียรายคนของผู้กู้หญิงและชายตามอายุ ซึ่งพบว่า ณ สิ้นปี 2017 50% ของผู้หญิงวัย 25–35 ปีจะมีหนี้ ซึ่งเทียบกับ 42% ของผู้ชายในช่วงอายุเดียวกัน และจะ deleverage เร็วกว่าผู้ชายเล็กน้อยเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ หากพิจารณาปริมาณหนี้ต่อผู้กู้จะเห็นว่าผู้ชายมีค่ากลางของมูลหนี้ 195,745 บาท ซึ่งสูงกว่าของผู้หญิงที่ 151,563 บาท นอกจากนี้กลุ่มวัยเริ่มทำงาน (25–35 ปี) ยังคงน่าเป็นห่วง โดย 20% ของทั้งผู้กู้หญิงและชายในวัยดังกล่าวจะมีหนี้เสีย
ในช่วงระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าสัดส่วนของประชากรชายและหญิงที่มีสินเชื่อมีการขยายตัวมากขึ้น (extensive margin) และมีการขยายตัวในอัตราสูงในกลุ่มผู้หญิงวัยเริ่มทำงาน (25–40 ปี) ซึ่งในกลุ่มนี้ก็มีมูลหนี้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นสูงด้วย (intensive margin) ขณะเดียวกันก็พบว่าสัดส่วนของผู้กู้หญิงในวัยเริ่มทำงานที่มีหนี้เสียก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เมื่อเปรียบเทียบตามประเภทสินเชื่อพบว่า ผู้หญิงในวัยเริ่มทำงานจะมีสินเชื่อเกือบทุกชนิดมากกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต โดยรูปที่ 7 ฉายภาพสถานการณ์หนี้และหนี้เสียรายคนของผู้กู้หญิงและชาย ตามช่วงอายุและประเภทสินเชื่อ และแสดงให้เห็นว่า 38% ของผู้หญิงวัยทำงานจะมีสินเชื่อส่วนบุคคล (เทียบกับ 28% ของผู้ชายในวัยเดียวกัน) 23% จะมีบัตรเครดิต (เทียบกับ 15% ของผู้ชายในวัยเดียวกัน) และ 9% จะมีสินเชื่อที่อยู่อาศัย (เทียบกับ 7% ของผู้ชายในวัยเดียวกัน) และหากพิจารณาถึงสถานการณ์หนี้เสียพบว่า ผู้ชายและผู้หญิงมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียใกล้เคียงกันในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ โดยผู้กู้หญิงจะมีสัดส่วนการมีหนี้เสียต่ำกว่าผู้กู้ชายเล็กน้อย และสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงของทั้งสองกลุ่มจะอยู่ในช่วงอายุน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตและรถยนต์
ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาก็พบว่าสัดส่วนของชายและหญิงที่มีหนี้ในวัยเริ่มทำงานเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกประเภท และเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นมากกว่าในผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนี้ที่ไม่มีประโยชน์/ไม่ได้สร้างรายได้ เช่น รถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต ซึ่งข้อเท็จจริงนี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะนิสัยและ life style ที่อาจจะแตกต่างกันของผู้หญิงและผู้ชายแล้ว คำถามเชิงนโยบายที่น่าสนใจก็คือ การขยายตัวของการเป็นหนี้และหนี้ต่อผู้กู้ที่รวดเร็วในสินเชื่อประเภทที่ไม่ได้สร้างรายได้ข้างต้นของผู้หญิงวัยเริ่มทำงาน และการที่สัดส่วนของผู้กู้ในกลุ่มนี้มีหนี้เสียในระดับสูงด้วย เกิดจากปัจจัยทางด้านอุปสงค์หรืออุปทานของตลาดสินเชื่อใดบ้าง และส่งผลให้เกิดความเปราะบางทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้หรือไม่
หากพิจารณาในเชิงพื้นที่ พบว่าปัจจุบันสัดส่วนของผู้หญิงที่มีหนี้มีสัดส่วนมากกว่าผู้ชายในเกือบทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดในเขตอุตสาหกรรม จังหวัดติดชายแดน และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรูปที่ 8 แสดงส่วนต่างของสัดส่วนประชากรที่มีหนี้และสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียของผู้หญิงและผู้ชายรายจังหวัด ซึ่งโดยรวมสัดส่วนของผู้กู้ผู้ชายที่มีหนี้เสียมีมากกว่าสัดส่วนของผู้กู้หญิงในเกือบทุกภาค ยกเว้นบางจังหวัดในภาคใต้ และในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา การมีสินเชื่อของผู้หญิงก็เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ สะท้อนถึงความต้องการและโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้หญิงที่มีมากขึ้น ซึ่งก็อาจเป็นผลมาจากการแข่งขันในภาคการเงิน และการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อระหว่างธนาคารและ non-bank แต่ที่น่าสังเกตก็คือในบางจังหวัดในเขตอุตสาหกรรม จังหวัดติดชายแดน และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีสัดส่วนของผู้หญิงที่มีสินเชื่อในระดับต่ำอยู่ในปัจจุบันอาจเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ต่ำอยู่หรือไม่ หรือเป็นเพียงการสะท้อนอีกบริบทหนึ่งของประเทศที่ความต้องการสินเชื่อของผู้หญิงที่มีไม่มากนัก
และหากพิจารณาเปรียบเทียบสถานการณ์หนี้และหนี้เสียของหญิงชายในเมืองและชนบท ตามประเภทสินเชื่อในรูปที่ 9 เราพบว่าผู้หญิงจะมีสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และที่อยู่อาศัยสูงกว่าผู้ชายทั้งในเมืองและชนบท และจะมีเป็นสัดส่วนสูงมากในเมือง
ผู้หญิงโดยเฉพาะในวัยทำงานมักมีการกู้หลายบัญชีและจากหลายสถาบันการเงินในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ชาย แต่พฤติกรรมการกู้ในภาพรวมของหญิงและชายอาจไม่แตกต่างกันมากนัก รูปที่ 10 แสดงพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้หญิงและผู้กู้ชายในมิติของจำนวนสินเชื่อและจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ โดยเกือบ 40% ของผู้กู้หญิงและชายจะมีสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชี และเกือบครึ่งหนึ่งจะใช้เพียง 1 สถาบันการเงิน แต่สัดส่วนของผู้กู้หญิงที่มีหลายบัญชีและใช้หลายสถาบันการเงินจะมากกว่าผู้กู้ชายในเกือบทุกช่วงอายุ
หากพิจารณาถึงพอร์ตสินเชื่อพบว่าผู้หญิงจะมีสัดส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่สูงกว่าผู้ชายในเกือบทุกช่วงอายุ ส่วนผู้ชายจะมีสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจมากกว่าผู้หญิงในทุกช่วงอายุ โดยจากรูปที่ 11 จะเห็นว่า กว่า 80 % ของพอร์ตสินเชื่อรายคนของทั้งผู้หญิงและผู้ชายยังคงอยู่ที่สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิตในวัยทำงาน และอยู่ที่สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตในวัยสูงอายุ
และในมิติของประเภทสถาบันการเงินที่ใช้ พบว่าพอร์ตสินเชื่อของผู้ชายมีสัดส่วนของหนี้ที่ได้จากธนาคารพาณิชย์มากกว่าผู้หญิงในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในวัยหลังเกษียณ ในทางกลับกัน พอร์ตของผู้หญิงจะมีสัดส่วนหนี้ที่ได้จาก SFI มากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมการกู้ที่แตกต่างกัน โดยจากข้อมูลพบว่าผู้ชายสูงอายุมักกู้สินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผู้หญิงวัยสูงอายุมักจะกู้สินเชื่อส่วนบุคคลกับ SFI ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าการใช้สินเชื่อกับ SFI ของผู้หญิงที่มากกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญนั้นเกิดจากความต้องการของผู้กู้เอง หรือจากข้อจำกัดทางด้านอุปทานของตลาดสินเชื่อในการปล่อยสินเชื่อบางประเภทแก่ผู้หญิง
ผลการศึกษาข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของการเข้าถึงสินเชื่อในระบบทั้ง extensive margin และ intensive margin ทั้งในชุมชนเมือง ชนบท ผู้หญิงและผู้ชายของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน และในขณะเดียวกัน ก็ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของการขยายตัวของชุมชนเมือง บริบทของวิถีชีวิตชนบท และความแตกต่างของลักษณะและ life style ของผู้หญิงและผู้ชายต่อหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งมีนัยเชิงนโยบายใน 3 มิติ คือ
ในมิติของการเข้าถึงสินเชื่อของครัวเรือนไทย เราพบว่าครัวเรือนในชนบทไทยยังอาจเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราที่ยังไม่สูงนัก (13% เทียบกับ 34% ของครัวเรือนในเมือง) ตลอดถึงผู้หญิงในบางพื้นที่ เช่น บางจังหวัดในเขตอุตสาหกรรม จังหวัดติดชายแดน และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการมีหนี้สินนอกระบบ งานวิจัยที่ต้องทำต่อไปคือการเข้าใจให้ได้ว่าการเข้าถึงสินเชื่อในระบบในระดับตํ่าของกลุ่มข้างต้น เกิดจากปัจจัยทางด้านอุปสงค์ เช่น ความไม่ต้องการสินเชื่อของครัวเรือนเอง หรือมีข้อจำกัดทางด้านอุปทานของตลาดสินเชื่อจนทำให้สถาบันการเงินในระบบปล่อยสินเชื่อให้ จนครัวเรือนต้องหันไปใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งในปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีก็อาจสามารถช่วยให้ธนาคารพาณิชย์และธุรกิจ FinTech ต่าง ๆ ลดต้นทุนและได้ข้อมูลที่สำคัญในการปล่อยกู้ได้มากขึ้น
ในมิติของเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนไทย เราพบว่าคนในชนบทยังมีหนี้ในปริมาณที่สูงจนแก่ (โดยไม่ได้ deleverage) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เกษตรและสะท้อนถึงการสะสมหนี้ของเกษตรกรไทย ซึ่งส่งผลให้ครัวเรือนมีความเปราะบางและเกิดการส่งต่อหนี้สินไปให้คนรุ่นหลังแบบไม่สิ้นสุด งานวิจัยที่สำคัญต่อไปจึงต้องพยายามเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากฝั่งอุปสงค์ เช่นตัวเกษตรกรเองอาจไม่ได้สนใจที่จะพยายามปลดภาระหนี้ หรือเกิดจากฝั่งอุปทาน เช่น การให้สินเชื่อที่มากเกินไปของ หรือการให้สินเชื่อที่เปิดโอกาสให้เกิดการหมุนหนี้ของ SFI หรือนโยบายภาครัฐต่าง ๆ ที่ทำให้เกษตรกรต้องมีการก่อหนี้มากขึ้น ซึ่งนโยบายที่มุ่งปลดหนี้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ ประกอบกับการกำกับดูแล SFI และการส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงินให้ครัวเรือนเกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ในมิติของผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค เราพบอีกว่าคนในเมืองมีสัดส่วนการมีหนี้สูงโดยเฉพาะกลุ่มอายุน้อยในวัยเริ่มทำงาน โดยในปี 2017 มีถึง 78% และผู้หญิงก็มีหนี้เร็วและมีสัดส่วนที่สูงในกลุ่มอายุน้อย โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ ตลอดถึงการมีหนี้เสียสูงในผู้กู้อายุน้อยในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะจากสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตของคนกลุ่มนี้เพื่อการลงทุนและการใช้จ่าย และอาจส่งผลต่อระบบและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่และมักจะมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ผลการศึกษาดังกล่าวเน้นยํ้าถึงความสำคัญของนโยบายทั้งฝั่งอุปสงค์ นั่นก็คือการปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงินซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญและมุ่งส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเป้าไปสู่ครัวเรือนในเมือง ผู้หญิงและคนอายุน้อย และการออกแบบนโยบายโดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เช่น การกระทุ้ง หรือ nudge มาช่วยลดปัญหาการใช้จ่ายและเป็นหนี้เกินตัวของคนกลุ่มข้างต้น ตลอดถึงนโยบายทางฝั่งอุปทาน นั่นก็คือการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างรัดกุมขึ้นและการส่งเสริมการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ หรือ responsible lending
Chantarat, S., Lamsam, A., Samphantharak, K. and Tangsawasdirat, B. (2017a). Thailand’s Household Debt through the Lens of Credit Bureau Data: Debt and Delinquency. PIER Discussion Paper No. 61.
Chantarat, S., Lamsam, A., Samphantharak, K. and Tangsawasdirat, B. (2019). Thailand’s Household Debt through the Lens of Credit Bureau Data: Borrower’s Portfolio and Behavior. PIER Discussion Paper (forthcoming).
Chantarat, S., Lamsam, A., Samphantharak, K. and Tangsawasdirat, B. (2018). Household Debt and Delinquency over the Life Cycle. PIER Discussion Paper No. 94.
Chantarat, S., A. Lamsam and C. Rittinon (2019). Landscape of Financial Services in Thailand: Availability and Efficiency. PIER Discussion Paper (forthcoming).
ข้อสงวน
บทความ บทวิเคราะห์ หรือบทวิจัยนี้ จัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้จัดทำโดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิติของข้อมูลเศรษฐกิจการเงินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดไม่ยืนยันและไม่รับรองถึงความครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูกต้องของข้อมูลจึงไม่รับผิดชอบต่อการนำเอาข้อมูล ข้อความ ความเห็น หรือบทสรุปที่กฎในรายงานฉบับนี้ไปใช้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์สินทางปัญญาของรายงานฉบับนี้ และขอสงวนลิขสิทธิ์ในข้อมูลที่กฎในเอกสารนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ทำซ้ำดัดแปลงนำออกแสดง ทำให้ปรากฏหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อมูลในเอกสารนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นการล่วงหน้า
นอกจากนี้ การกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าในบทความ บทวิเคราะห์ บทวิจัย ในเอกสารหรือการสื่อสารอื่นใด จะต้องกระทำโดยถูกต้องและไม่เป็นการก่อให้เกิดการเข้าใจผิด หรือความเสียหายแก่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด รวมทั้งต้องรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด และต้องอ้างอิงถึงฉบับที่และวันที่ในเอกสารฉบับนี้ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด โดยชัดแจ้ง