Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/cf8292e2e88ea83c21778ce257f4bb00/e9a79/cover.png
11 มีนาคม 2564
202116154208000001615420800000

จะทำอย่างไรกับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs เมื่อเราทั้งสามคาดหวังต่างกัน?

ศึกษาแนวทางการกำหนดเงื่อนไขโครงการค้ำประกันสินเชื่อด้วย computer simulation
จะทำอย่างไรกับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs เมื่อเราทั้งสามคาดหวังต่างกัน?
excerpt

โครงการค้ำประกันสินเชื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs แต่เมื่อความคาดหวังที่มีต่อโครงการของภาครัฐ ธนาคารพาณิชย์และ SMEs ต่างกัน การออกแบบโครงการที่สามารถสร้างสมดุลให้กับทั้ง 3 ฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ บทความนี้นำเสนอแนวทางการออกแบบโครงการค้ำประกันสินเชื่อผ่านแบบจำลองที่นำพฤติกรรมการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายเข้ามาพิจารณาและใช้วิธีทาง computer simulation ในการวิเคราะห์ผล ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการกำหนดระดับความคุ้มครองหรือค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการที่สูงหรือต่ำเกินไปอาจนำไปสู่ระดับการเข้าถึงสินเชื่อที่ต่ำได้ ในขณะที่การกำหนดระดับความคุ้มครอง ค่าธรรมเนียม และวงเงินโครงการที่สอดคล้องกันในช่วงเศรษฐกิจถดถอยสามารถเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อด้วยการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพได้

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี 2561 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SMEs คิดเป็นร้อยละ 43 ของประเทศ (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 2562) อย่างไรก็ตาม SMEs จำนวนมากยังประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับการประกอบธุรกิจและขยายกิจการ (วะสี และคณะ 2561) สาเหตุหลักของปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ประการหนึ่งคือการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน (สสว. 2555) แนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs คือการค้ำประกันสินเชื่อ ภาครัฐได้จัดให้มีการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือ บสย. ทำให้ SMEs ที่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันสามารถขอรับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้

หลักการของการค้ำประกันสินเชื่อคือการที่ภาครัฐจ่ายเงินชดเชยความสูญเสียทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับธนาคารผู้ให้สินเชื่อในกรณีที่สินเชื่อกลายเป็นหนี้เสีย ทำให้ความเสี่ยงของธนาคารลดลงจนธนาคารพร้อมที่จะให้สินเชื่อกับ SMEs กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตามช่องทางปกติเพราะมีความเสี่ยงที่สูงเกินไปหรือที่เรียกว่า unbankable SMEs โดยเมื่อความเสี่ยงที่ธนาคารต้องรับไว้ลดลง ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าระดับความเสี่ยงเดิมของ SMEs ได้ ต้นทุนของ SMEs จึงลดลง และเพื่อเป็นการลดภาระของภาครัฐ ภาครัฐสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการจาก SMEs เพื่อให้ SMEs ร่วมรับผิดชอบต่อความเสี่ยงของตนได้เช่นกัน

ความท้าทายของภาครัฐในการออกแบบโครงการค้ำประกันสินเชื่อมีอยู่หลายประการ ในมุมหนึ่งภาครัฐต้องให้ความคุ้มครองที่มากพอเพื่อให้ธนาคารพร้อมจะให้สินเชื่อกับกลุ่ม unbankable SMEs ในอีกมุมหนึ่งภาครัฐก็ไม่ต้องการให้ความช่วยเหลือที่สูงเกินไปจนสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ที่ไม่มีศักยภาพ หรือมากจนสร้างแรงจูงใจให้กลุ่ม SMEs ที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตามช่องทางปกติหรือ bankable SMEs สามารถแทรกเข้ามาใช้ผลประโยชน์จากความคุ้มครองนี้จนมากเกินไป นอกจากนี้ระดับความช่วยเหลือที่สูงจะตามมาด้วยต้นทุนของภาครัฐที่สูงเช่นกัน แม้การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจะช่วยลดภาระของภาครัฐได้ แต่การกำหนดค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปก็จะลดแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการของ SMEs การกำหนดระดับความคุ้มครองและค่าธรรมเนียมที่สร้างความสมดุลระหว่างความคาดหวังที่มีต่อโครงการที่ต่างกันของภาครัฐ ธนาคารพาณิชย์ และ SMEs จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ

งานวิจัยของ เวทไว (2563) ได้ศึกษาแนวทางการออกแบบโครงการค้ำประกันสินเชื่อประเภท Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ซึ่งเป็นการค้ำประกันรูปแบบหนึ่งที่ทาง บสย. ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานและได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก ภายใต้การค้ำประกันประเภท PGS ที่ผู้วิจัยศึกษา ธนาคารผู้ให้สินเชื่อจะได้รับความคุ้มครองจากผู้ค้ำประกันในระดับของ portfolio โดยความเสียหายที่เกิดจากหนี้เสียของสินเชื่อใน portfolio ในส่วนแรก (tier 1) ธนาคารจะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด และความสูญเสียในส่วนถัดมา (tier 2) ธนาคารจะได้รับความคุ้มครองเพียงครึ่งหนึ่ง ความสูญเสียที่เกินจาก tier 2 ธนาคารจะต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ที่มาของเงินชดเชยภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อมาจากค่าธรรมเนียมที่ SMEs จ่ายเข้ามาและเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ผู้วิจัยได้พัฒนาแบบจำลองประเภท agent-based model ที่เปิดมุมมองใหม่ให้กับการออกแบบโครงการค้ำประกันสินเชื่อประเภท PGS โดยการนำพฤติกรรมการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์และ SMEs มาเป็นกลไกที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ของโครงการ ผู้วิจัยได้จำลองระบบที่มี SMEs จำนวน 10,000 รายซึ่งแต่ละรายมีระดับความเสี่ยงที่ต่างกัน ในระบบนี้มีธนาคารจำนวน 2 แห่งโดยแบ่งเป็นธนาคารที่เชี่ยวชาญและไม่เชี่ยวชาญในการพิจารณาสินเชื่อ SMEs แบบจำลองได้ใช้ computer simulation ในการกำหนดให้ SME แต่ละรายสมัครขอสินเชื่อจากธนาคารทั้งสองแห่ง โดยธนาคารแต่ละแห่งจะประเมินความเสี่ยงของ SME ซึ่งความแม่นยำในการประเมินจะเป็นไปตามความเชี่ยวชาญ ธนาคารจะตัดสินใจให้สินเชื่อผ่านช่องทางปกติหากความเสี่ยงที่ประเมินได้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ หรือหากความเสี่ยงที่ประเมินได้สูงเกินเกณฑ์แต่ความคุ้มครองจากโครงการสามารถลดความเสี่ยงลงได้เพียงพอ ธนาคารจะให้สินเชื่อผ่านโครงการ และธนาคารจะปฏิเสธการให้สินเชื่อหากความเสี่ยงสูงเกินไปแม้จะได้รับความคุ้มครองแล้วหรือหากวงเงินของโครงการค้ำประกันเต็มแล้ว ธนาคารจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงที่ธนาคารต้องรับผิดชอบ ส่วน SMEs จะพิจารณาข้อเสนอจากทั้งสองธนาคารและเลือกข้อเสนอที่มีต้นทุน (อัตราดอกเบี้ย + ค่าธรรมเนียมถ้ามี) ที่ต่ำที่สุดหรือปฏิเสธข้อเสนอหากต้นทุนการเข้าถึงสินเชื่อมีค่าสูงเกินไป โดยต้นทุนที่ SME แต่ละรายยอมรับได้มีแนวโน้มที่แปรผันตามระดับความเสี่ยงของตน

จะเห็นได้ว่าแบบจำลองนี้ได้กำหนดกลไกให้การตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์และ SMEs แปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของโครงการค้ำประกันสินเชื่อทั้งในส่วนของระดับความคุ้มครองและค่าธรรมเนียมของโครงการ การออกแบบโครงการที่จะประสบความสำเร็จในมุมมองของภาครัฐจึงต้องสอดรับกับความคาดหวังของธนาคารพาณิชย์และ SMEs ไปพร้อม ๆ กัน บทความนี้จะนำผลการศึกษาภายใต้แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นมานี้มาช่วยตอบคำถามและเสนอแนะแนวทางการออกแบบโครงการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ

การปรับเพิ่มค่าระดับความคุ้มครองส่งผลต่อโครงการอย่างไร?

การเพิ่มค่าระดับความคุ้มครองในโครงการทำให้ความเสี่ยงของธนาคารลดลง ธนาคารจึงพร้อมที่จะเสนอสินเชื่อให้กับ SMEs กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ โดยหากโครงการค้ำประกันสินเชื่อยังมีวงเงินเพียงพอ การเพิ่มค่าความคุ้มครองจะทำให้ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อให้กับ SMEs ได้มากขึ้น แต่หากโครงการค้ำประกันสินเชื่อมีวงเงินไม่เพียงพอ แม้การเพิ่มค่าความคุ้มครองจะทำให้ธนาคารพร้อมที่จะให้สินเชื่อได้มากขึ้น แต่มูลค่าสินเชื่อที่ธนาคารสามารถให้ได้ถูกจำกัดด้วยวงเงินที่เท่าเดิม จากการจำลองสถานการณ์พบว่าการเพิ่มความคุ้มครองในกรณีที่วงเงินมีจำกัดสามารถนำไปสู่ระดับการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม unbankable SMEs ที่ลดลงได้ เนื่องจากกลุ่ม bankable SMEs ที่ได้รับข้อเสนอสินเชื่อทั้งแบบผ่านช่องทางปกติจากธนาคารหนึ่งและแบบผ่านโครงการค้ำประกันจากอีกธนาคารหนึ่งจะมีแรงจูงใจที่จะเลือกเข้าโครงการเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงจนทำให้ต้นทุนการได้รับสินเชื่อผ่านโครงการมีค่าต่ำกว่าต้นทุนการได้รับสินเชื่อตามช่องทางปกติ การเข้ามาของกลุ่ม bankable SMEs ที่เร็วกว่าจึงสามารถเบียดบังการใช้วงเงินของโครงการและลดการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม unbankable SMEs ได้ตามที่แสดงไว้ในภาพด้านซ้ายของรูปที่ 1 โดยการเพิ่มค่า ความคุ้มครองเมื่อโครงการใช้วงเงินเต็มแล้วจะไปลดการเข้าถึงสินเชื่อของ unbankable SMEs นอกจากนี้การเพิ่มค่าความคุ้มครองทำให้ธนาคารพร้อมที่จะเสนอสินเชื่อให้กับกลุ่ม SMEs ที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น ค่า NPL ratio ของกลุ่ม unbankable SMEs ในโครงการจึงปรับขึ้นตามที่แสดงไว้ในภาพตรงกลางของรูปที่ 1 ส่วนต้นทุนของภาครัฐจะปรับขึ้นจากจำนวน SMEs ในโครงการที่เพิ่มขึ้นและค่า NPL ratio ที่สูงขึ้นตามที่แสดงไว้ในภาพด้านขวาของรูปที่ 1

ดังนั้นการปรับเพิ่มค่าระดับความคุ้มครองจึงควรมีความสอดคล้องกับวงเงินของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ การกำหนดค่าความคุ้มครองที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับวงเงินของโครงการนอกจากจะทำให้ต้นทุนของภาครัฐเพิ่มขึ้น และคุณภาพโดยรวมของ SMEs ในโครงการลดลงแล้ว การเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม unbankable SMEs ก็จะปรับลดลงด้วย

รูปที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ของโครงการกับระดับความคุ้มครอง

ความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ของโครงการกับระดับความคุ้มครอง

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

การปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมมีผลต่อโครงการอย่างไร?

การปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ unbankable SMEs ที่ไม่สามารถรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะปฏิเสธข้อเสนอของธนาคาร ในขณะเดียวกัน bankable SMEs ที่เคยเลือกเข้าโครงการด้วยส่วนลดจากอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าค่าธรรมเนียมอาจจะเปลี่ยนไปรับสินเชื่อผ่านช่องทางปกติแทน จากการจำลองสถานการณ์พบว่าการเพิ่มค่าธรรมเนียมในกรณีที่วงเงินมีเพียงพอจะลดจำนวน SMEs ทั้งสองกลุ่มในโครงการ โดยจำนวนของ unbankable SMEs จะลดลงในอัตราที่ช้ากว่า bankable SMEs แต่ในกรณีที่วงเงินมีไม่เพียงพอ การปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมแม้จะทำให้ SMEs ที่เคยอยู่ในโครงการส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เข้าร่วมโครงการ แต่ก็จะมี SMEs อีกกลุ่มหนึ่งที่เดิมไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เนื่องจากวงเงินโครงการได้ใช้เต็มแล้วพร้อมที่จะเข้ามาทดแทน และเนื่องจาก unbankable SMEs ไม่มีช่องทางการเข้าถึงสินเชื่ออื่น unbankable SMEs จึงมีแนวโน้มที่จะทนต่อค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นได้มากกว่า รวมถึงพร้อมที่จะเข้ามารับค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นได้ดีกว่าเมื่อได้รับข้อเสนอจากธนาคาร จึงทำให้จำนวน unbankable SMEs ในโครงการปรับเพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวน bankable SMEs ในโครงการปรับลดลงตามที่แสดงในภาพด้านซ้ายของรูปที่ 2 และเนื่องจาก SMEs ที่มีความเสี่ยงสูงมีแนวโน้มที่จะยอมรับต้นทุนจากค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นได้ดีกว่า SMEs ที่มีความเสี่ยงต่ำ การเพิ่มค่าธรรมเนียมจึงนำไปสู่การเพิ่มค่า NPL ratio ของ unbankable SMEs ในโครงการตามที่แสดงในภาพตรงกลางของรูปที่ 2 อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของระดับ NPL ratio มีค่าไม่มากนัก ในด้านของต้นทุนของภาครัฐนั้นจะพบว่ามีการปรับลดลงตามค่าธรรมเนียมที่มากขึ้นอันเนื่องมาจากภาระของภาครัฐที่ลดลงตามที่แสดงในภาพด้านขวาของรูปที่ 2

ดังนั้น การปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมในกรณีที่วงเงินของโครงการมีจำกัดนอกจากจะช่วยลดต้นทุนของภาครัฐแล้วจะยังสามารถลดการแทรกเข้ามาของ bankable SMEs จึงเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม unbankable SMEs ได้อีกด้วย และในอีกด้านหนึ่งการลดค่าธรรมเนียมจะสามารถเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อได้ในกรณีที่ขนาดวงเงินของโครงการอยู่ในระดับที่สูงพอ

รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ของโครงการกับค่าธรรมเนียมรายปี

ความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ของโครงการกับค่าธรรมเนียมรายปี

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

โครงการสามารถเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อและลดค่า NPL ratio ไปพร้อมกันได้หรือ?

วัตถุประสงค์หลักของโครงการค้ำประกันสินเชื่อคือการเพิ่มระดับการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม unbankable SMEs ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องการควบคุมให้ระดับ NPL ratio อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป ผลการจำลองสถานการณ์พบว่าหากภาครัฐมีการกำหนดงบประมาณสำหรับการชดเชยความสูญเสียที่จำกัด การเพิ่มระดับการเข้าถึงย่อมนำไปสู่ระดับ NPL ratio ที่สูงขึ้นเสมอ เพราะการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้นคือการยอมรับ SMEs ที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นเข้าสู่โครงการ อย่างไรก็ตามโครงการสามารถเพิ่มระดับการเข้าถึงและควบคุมระดับ NPL ratio ให้คงที่หรือลดลงได้หากภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณที่มากขึ้นผ่านการปรับลดค่าธรรมเนียมและระดับความคุ้มครองลงในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยการใช้งบประมาณที่สูงขึ้นจะช่วยลดระดับ NPL ratio ได้เฉพาะในกรณีที่ระดับการเข้าถึงต่อวงเงินของโครงการมีค่าไม่สูงมากเท่านั้นตามที่แสดงไว้ในรูปที่ 3

ดังนั้น การปรับเงื่อนไขของโครงการจึงไม่สามารถที่จะนำไปสู่ระดับการเข้าถึง ระดับ NPL ratio และต้นทุนของภาครัฐที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กันได้เสมอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรหารือร่วมกันในการกำหนดวัตถุประสงค์และลำดับความสำคัญของผลลัพธ์แต่ละตัวและกำหนดเงื่อนไขโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์นั้น

รูปที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่าง NPL ratio ที่ต่ำที่สุดและการเข้าถึงขั้นต่ำที่ระดับเพดานต้นทุนต่าง ๆ

ความสัมพันธ์ระหว่าง NPL ratio ที่ต่ำที่สุดและการเข้าถึงขั้นต่ำที่ระดับเพดานต้นทุนต่าง ๆ

หมายเหตุ: ต้นทุนของภาครัฐมาจากเงินสนับสนุนของภาครัฐที่จ่ายชดเชยความสูญเสียตามเงื่อนไขของโครงการหลังจากที่นำค่าธรรมเนียมมาจ่ายชดเชยหมดแล้ว ในกรณีที่ต้นทุนของภาครัฐเป็นศูนย์แสดงว่ารายรับจากค่าธรรมเนียมมีมากพอที่จะจ่ายชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

การเพิ่มวงเงินค้ำประกันสามารถเพิ่มการเข้าถึงได้หรือไม่?

วงเงินค้ำประกันของโครงการเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อระดับการเข้าถึงสินเชื่อ ผู้วิจัยได้จำลองสถานการณ์โดยสมมติว่าโครงการที่ผ่านมามีการใช้วงเงินค้ำประกันที่ 1 แสนล้านบาทเต็ม 100% ภาครัฐจึงต้องการขยายวงเงินเพิ่มเป็น 2 เท่าเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ โดยภาครัฐต้องการคงค่าธรรมเนียมไว้ที่ระดับเดิมคือ 1.75% ต่อปี

รูปที่ 4 แสดงผลลัพธ์จากการเพิ่มวงเงินจาก 1 แสนล้านบาทเป็น 2 แสนล้านบาททั้งในกรณีที่คงสัดส่วนวงเงินคุ้มครองไว้ที่ 30% (ภาพตรงกลาง) และในกรณีที่มีการปรับระดับความคุ้มครองจาก 30% เป็น 40% (ภาพด้านขวา) โดยโครงการที่มีความคุ้มครองที่ 30% สามารถใช้วงเงิน 1 แสนล้านบาทได้เต็มจำนวน แต่เมื่อมีการขยายวงเงินเป็น 2 แสนล้านบาท โครงการจะใช้วงเงินเพียง 63% เท่านั้น โดยระดับการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ทั้งระบบจะเพิ่มจาก 34.8% มาเป็น 37.3% หรือเพิ่มขึ้นเพียง 2.5% เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากวงเงินได้ครอบคลุม SMEs ที่ต้องการสินเชื่อและมีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ธนาคารพร้อมจะให้สินเชื่อผ่านโครงการค้ำประกันได้ครบหมดแล้ว การเพิ่มวงเงินจะไม่ช่วยให้ธนาคารพยายามขยายสินเชื่อไปยัง SMEs กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นอีกหากระดับความคุ้มครองยังคงเดิม แต่เมื่อโครงการได้ปรับความคุ้มครองขึ้นเป็น 40% ควบคู่กับการขยายวงเงินเป็น 2 เท่า การใช้วงเงินจะปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 93% โดยสามารถเพิ่มการเข้าถึงจาก 34.8% มาเป็น 42.1% หรือเพิ่มขึ้นถึง 7.3% ซึ่งมีค่าเกือบ 3 เท่าของการเพิ่มขึ้นในกรณีที่ไม่มีการปรับระดับความคุ้มครองขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มการเข้าถึงทั้ง 2 กรณีนี้ย่อมตามมาด้วยต้นทุนของภาครัฐและระดับ NPL ratio ของระบบที่สูงขึ้น

ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณาการปรับเพิ่มความคุ้มครองให้สอดคล้องกับวงเงินที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถขยายการเข้าถึงสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย โดยควรคำนึงถึงความคุ้มค่าของการเข้าถึงสินเชื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนและระดับ NPL ratio ที่เพิ่มขึ้นด้วย

รูปที่ 4 ผลลัพธ์ของโครงการเมื่อมีการปรับเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ

ผลลัพธ์ของโครงการเมื่อมีการปรับเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ

หมายเหตุ: ภาพพีระมิดแสดงถึงประชากรของ SMEs ในระบบ (ไม่ได้วาดตามมาตราส่วน) โดยส่วนบนของพีระมิดคือ SMEs ที่มีความเสี่ยงต่ำในขณะที่ส่วนที่อยู่ถัดลงมาคือ SMEs ที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น พีระมิดส่วนสีเหลืองคือ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อผ่านช่องทางปกติ ส่วนสีเขียวคือ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อผ่านโครงการค้ำประกัน และส่วนสีขาวคือ SMEs ที่ไม่ได้รับสินเชื่อ กล่องเส้นประสีแดงแสดงขนาดของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ภาครัฐเป็นผู้กำหนดวงเงินค้ำประกัน วงเงินคุ้มครอง ระดับที่ได้รับความคุ้มครองเต็มวงเงิน และค่าธรรมเนียม ผลจากแบบจำลองคือระดับการเข้าถึงสินเชื่อทั้งแบบช่องทางปกติและแบบผ่านโครงการ ต้นทุนภาครัฐที่เกิดขึ้น และระดับ NPL ratio ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเช่นการระบาดของ COVID-19 ภาครัฐควรกำหนดเงื่อนไขโครงการอย่างไร?

ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ความเสี่ยงของ SMEs จะปรับสูงขึ้นและส่งผลให้ธนาคารลดการให้สินเชื่อกับ SMEs ลง โครงการค้ำประกันสินเชื่อจำเป็นต้องเพิ่มความช่วยเหลือทั้งในแง่ของวงเงินและความคุ้มครอง แต่ในขณะเดียวกันการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพก็เป็นสิ่งสำคัญต่อภาครัฐในยามที่สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ผู้วิจัยได้จำลองสถานการณ์โดยสมมติว่า SME แต่ละรายมีโอกาสที่จะเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าและนำเสนอแนวทางการปรับวงเงินและเงื่อนไขโครงการโดยให้สัดส่วนของต้นทุนสุทธิของโครงการต่อมูลค่าสินเชื่อค้ำประกันเฉลี่ยมีระดับที่เท่ากับค่าในภาวะปกติเพื่อให้งบประมาณได้ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับช่วงภาวะปกติ

รูปที่ 5 แสดงผลลัพธ์การจำลองสถานการณ์ที่โอกาสการผิดนัดชำระหนี้ของ SMEs หรือ Probability of Default (PD) เพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยหากภาครัฐไม่มีการปรับวงเงินและเงื่อนไขของโครงการในช่วงเศรษฐกิจถดถอย (ภาพที่ 2 จากซ้าย) ระดับการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ทั้งระบบจะลดลงจาก 34.8% มาเป็น 15.8% หรือปรับลดลงเหลือประมาณ 45% ของภาวะปกติ นอกจากนี้วงเงินของโครงการที่ 1 แสนล้านบาทที่เคยใช้เต็มจำนวนในภาวะปกติก็ถูกใช้ไปเพียง 71% ดังนั้นการปรับเพิ่มวงเงินในภาวะเช่นนี้โดยไม่ปรับเงื่อนไขของโครงการจึงไม่สามารถช่วยเพิ่มการเข้าถึงได้ ผู้วิจัยได้นำเสนอตัวอย่างทางเลือก 2 ตัวอย่าง

  • ตัวอย่างที่ 1 (ภาพที่ 3 จากซ้าย) สมมติว่าภาครัฐสามารถเพิ่มวงเงินค้ำประกันจาก 1 แสนล้านบาทมาเป็น 1.5 แสนล้านบาทและกำหนดเป้าหมายให้การเข้าถึงเพิ่มกลับมาที่ระดับประมาณ 65% ของภาวะปกติ พร้อมทั้งต้องการคงประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณไว้ให้เท่ากับช่วงภาวะปกติและพยายามควบคุมระดับ NPL ratio ให้ได้ต่ำที่สุด ผลการศึกษาแนะนำให้ปรับระดับความคุ้มครองจาก 30% ขึ้นมาที่ 55.25% พร้อมกับการปรับค่าธรรมเนียมรายปีจาก 1.75% เป็น 2.30% โดยจะมีการใช้วงเงินที่ระดับ 98%
  • ตัวอย่างที่ 2 (ภาพที่ 4 จากซ้าย) สมมติว่าภาครัฐสามารถปรับเพิ่มวงเงินเป็น 2 แสนล้านบาทและกำหนดเป้าหมายให้การเข้าถึงเพิ่มกลับมาที่ระดับประมาณ 75% ของภาวะปกติ โดยมีเงื่อนไขด้านประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณและการควบคุม NPL ratio ในทำนองเดียวกับตัวอย่างที่ 1 ผลการศึกษาแนะนำให้ปรับระดับความคุ้มครองเพิ่มเป็น 63% พร้อมกับการกำหนดค่าธรรมเนียมรายปีที่ 2.40% ในกรณีนี้จะมีการใช้วงเงินที่ระดับ 93% โดยข้อเสนอแนะให้เพิ่มความคุ้มครองในทั้งสองตัวอย่างจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ ในขณะที่การเพิ่มค่าธรรมเนียมจะช่วยรักษาประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของภาครัฐ

ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่ภาครัฐสามารถช่วยเหลือ SMEs ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยแต่ยังคงประสิทธิภาพการใช้งบประมาณไว้ได้คือการปรับเพิ่มวงเงินค้ำประกัน ระดับความคุ้มครอง และค่าธรรมเนียมในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน

รูปที่ 5 ผลลัพธ์ของโครงการเมื่อเศรษฐกิจมีภาวะถดถอย

ผลลัพธ์ของโครงการเมื่อเศรษฐกิจมีภาวะถดถอย

หมายเหตุ: ภาพพีระมิดแสดงถึงประชากรของ SMEs ในระบบ (ไม่ได้วาดตามมาตราส่วน) โดยส่วนบนของพีระมิดคือ SMEs ที่มีความเสี่ยงต่ำในขณะที่ส่วนที่อยู่ถัดลงมาคือ SMEs ที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น พีระมิดส่วนสีเหลืองคือ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อผ่านช่องทางปกติ ส่วนสีเขียวคือ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อผ่านโครงการค้ำประกัน และส่วนสีขาวคือ SMEs ที่ไม่ได้รับสินเชื่อ กล่องเส้นประสีแดงแสดงขนาดของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ภาครัฐเป็นผู้กำหนดวงเงินค้ำประกัน วงเงินคุ้มครอง ระดับที่ได้รับความคุ้มครองเต็มวงเงิน และค่าธรรมเนียม ผลจากแบบจำลองคือระดับการเข้าถึงสินเชื่อทั้งแบบช่องทางปกติและแบบผ่านโครงการ ต้นทุนภาครัฐที่เกิดขึ้น ระดับ NPL ratio และต้นทุนเฉลี่ยของ SME ในโครงการ ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

บทสรุป

บทความนี้นำเสนอมุมมองใหม่สำหรับการออกแบบโครงการค้ำประกันสินเชื่อประเภท Portfolio Guarantee Scheme ที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างความคาดหวังที่ต่างกันของภาครัฐ ธนาคารพาณิชย์ และ SMEs โดยการใช้แบบจำลองที่คำนึงถึงพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการที่ชัดเจนและเป็นไปได้ และควรสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของแต่ละเงื่อนไขของโครงการเพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการออกแบบโครงการที่สามารถให้ผลลัพธ์ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

เอกสารอ้างอิง

นฎา วะสี, ชมพูนุท มนต์ชัยตระกูล, มานิตา รัตนสัจธรรม, พรชนก บำรุงเรือน และ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธรักษ์ (2561), มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา ตอนที่ 1, aBRIDGEd ฉบับที่ 12.

ไทยศิริ เวทไว (2563), การวิจัยเพื่อหาแนวทางกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมของโครงการค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee, รายงานฉบับสมบูรณ์ สมาคมธนาคารไทย.

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (2555), ผลการสำรวจภาระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs.

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (2562), รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางเเละขนาดย่อม ปี 2562.

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Public EconomicsEconomic Theory
Tags: credit guarantee programfinancial inclusionoptimal contract design
ไทยศิริ เวทไว
ไทยศิริ เวทไว
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email