Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/1d0ce92bdf2d32ccf22018104f87b923/41624/cover.jpg
12 พฤษภาคม 2566
20231683849600000

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คืออะไร ปรับตัวอย่างไร และใช้กลไกทางการเงินประเภทใดในการสนับสนุน
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์สวิสา พงษ์เพ็ชร
การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
excerpt

ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมามา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏเห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง IPCC (2021) พบว่าสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยหรือตามสภาวะโลกร้อน หากไม่ดำเนินการเพื่อรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทั้งในด้านความเสียหายในหลายมิติรวมถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรมคาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน (resilience) ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยควรดำเนินมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งมาตรการเชิงโครงสร้าง การลงทุนในเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เงินทุนในการสนับสนุน ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินหลากหลายรูปแบบที่สามารถนำมาสนับสนุนโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยใช้กลไกทางการเงินซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการลดการปล่อยก๊าซเรีอนกระจก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยในการการใช้กลไกทางการเงินในการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุผลที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏเห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในรูปแบบของพายุ น้ำท่วม หรือภัยแล้งที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายทั้งต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก (Grippa et al., 2019) สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน ซึ่ง IPCC (2021) พบว่าสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ ทั้งอุณหภูมิสุดขั้ว ภัยแล้งรุนแรง สภาวะฝนสุดขั้ว และพายุหมุนเขตร้อนรุนแรง มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยหรือตามสภาวะโลกร้อน (รูปที่ 1) และหากไม่ดำเนินการเพื่อรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ผู้คนทั่วโลกกว่า 216 ล้านคนอาจต้องโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดทั้งในพื้นที่รับและส่งผู้อพยพ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เคยประกอบอาชีพทางการเกษตรหรือประมงที่อาจย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้พื้นที่เมืองต้องรองรับประชากรมากเกินศักยภาพที่มี โดยมี 6 ภูมิภาคทั่วโลก1 ที่เป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มสูง (hotspot) ที่จะประสบปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Clement et al., 2021)

รูปที่ 1: การคาดการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบภูมิอากาศ

การคาดการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบภูมิอากาศ

ที่มา: IPCC (2021)

สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาจากดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และงานศึกษาของ Eckstein et al. (2021) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมูลค่า 7,719 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.82% ของ GDP ในช่วงปี ค.ศ. 2000–2019 โดยส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร จากงานศึกษาของ Thampanishvong et al. (2021) พบว่าภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน ดังนี้

  • ภาคท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำท่วมรุนแรง น้ำแล้ง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวและทำให้โครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็กระทบต่อภาคท่องเที่ยวเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้กำหนดแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยว
  • ภาคอุตสาหกรรม สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เช่น น้ำท่วมและน้ำแล้ง กระทบต่อกระบวนการผลิตและทำให้โรงงานหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย
  • ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางสูง ได้รับผลกระทบต่อผลิตผลของพืชและสัตว์ ตลอดจนพื้นที่ที่ใช้เพื่อทำการเกษตร โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะสร้างความเสียหายสะสมต่อภาคเกษตรของไทยในช่วงปี ค.ศ. 2021–2045 คิดเป็นมูลค่า 0.61–2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912–83,826 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง (Attavanich, 2017)

หากภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยภายในปี ค.ศ. 2050 อาจหดตัวถึง 4.9–43.6% (Swiss Re Institute, 2021) โดยจากการพิจารณาความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risks) ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ รวมถึงความแข็งแกร่งสามารถในการปรับตัว (adaptive capacity) ในด้านการบริหารจัดการ การเงิน การศึกษาเป็นต้น ประเทศไทยได้รับจัดอันดับเป็นลำดับที่ 44 จาก 48 ประเทศ ซึ่งหมายความว่าไทยมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจสูง

ถึงแม้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นพันธกิจที่สำคัญของนานาประเทศ เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญซึ่งช่วยชะลอไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และบรรเทาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ และทุกประเทศจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมในอดีต ประเทศต่าง ๆ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ด้วยเหตุนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร และภาคส่วนต่าง ๆ จะปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามความหมายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) หมายถึง “การปรับเปลี่ยนระบบธรรมชาติหรือระบบของมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตรวมถึงการตอบสนองต่อผลกระทบจากสิ่งเร้านั้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นการช่วยลดอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หรืออาจเป็นการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากสิ่งเร้าทางภูมิอากาศหรือผลกระทบของสิ่งเร้านั้น” ในขณะที่กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ให้ความหมายของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ว่า “เป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะลดความเปราะบางของระบบทางชีววิทยาและสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะฉับพลันและชดเชยกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน” (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2559)

อย่างไรก็ดี การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งการปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี การปรับรูปแบบการจัดการ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับโครงสร้างทางกายภาพ การจัดทำฐานข้อมูลและการแจ้งเตือนภัย การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ฯลฯ (Biagini et al., 2014) นอกจากนี้ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีลักษณะของการปรับตัว โดยทั่วไปซึ่งสามารถปรับใช้ได้ในหลายสาขา (cross cutting) หรือเป็นลักษณะของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละสาขา ตารางที่ 1 แสดงตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสองประเภท

ตารางที่ 1: ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  1. ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สามารถใช้ได้ในหลายสาขา
    • เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า
    • เทคโนโลยีและโครงสร้างทางกายภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ เช่น เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ ระบบกักเก็บน้ำ เป็นต้น
    • ระบบประกันภัยที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
  2. ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรายสาขา
    • ภาคการเกษตร
      • การพัฒนาและเลือกใช้พันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม
      • การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบชลประทาน
      • การทำการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศ (climate-smart agriculture)
      • การใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล (remote sensing)
    • ภาคท่องเที่ยว
      • เทคโนโลยีกักเก็บน้ำฝนและนำน้ำฝนกลับมาใช้ประโยชน์
      • เทคโนโลยีกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด
      • การท่องเที่ยวในรูปแบบของ virtual reality (VR), augmented reality (AR) หรือ metaverse
      • โครงสร้างทางกายภาพที่ช่วยป้องกันแหล่งท่องเที่ยวจากน้ำท่วมหรือลมพายุ
    • ภาคสาธารณสุข
      • สถานพยาบาลที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ห้องหรือตึกปลอดภัยสำหรับรองรับและให้บริการผู้ป่วยเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เป็นต้น
      • ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยการแพร่ระบาดของโรคที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • ภาคอุตสาหกรรม
      • โครงสร้างเชิงกายภาพที่ป้องกันโรงงานอุตสาหกรรมจากภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เช่น กำแพงป้องกันน้ำท่วมโรงงาน การออกแบบและก่อสร้างอาคารโรงงานให้สามารถต้านทานลมพายุรุนแรง
      • ระบบสำรองน้ำและระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมมีน้ำและไฟฟ้าใช้ขณะที่เกิดภัยพิบัติ
  3. ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (nature-related)
    • การฟื้นฟูพื้นที่ป่า
    • การป้องกันเขตชายฝั่งทะเล
    • การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • ระบบวนเกษตร
    • การพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองและการป้องกันดิน
ที่มา: รวบรวมโดยคณะผู้เขียน

ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สามารถปรับใช้ได้ในหลายสาขา (ตารางที่ 1) เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่ช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถป้องกันผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เทคโนโลยีและโครงสร้างทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนระบบประกันภัยด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบางประเภทมีบริบทที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับบางสาขา เช่น การพัฒนาและนำพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ที่สามารถต้านทานกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมมาใช้และการทำการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศเป็นตัวอย่างของแนวทางการปรับตัว ที่เฉพาะเจาะจงในสาขาการเกษตร สำหรับภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างแนวทางการปรับตัว ที่เฉพาะเจาะจง เช่น การก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรม ระบบสำรองน้ำในโรงงาน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

หากพิจารณาแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นว่าแต่ละแนวทางการปรับตัวมีความแตกต่างกันในหลากหลายมิติ ทั้งรูปแบบ ลักษณะ ขนาด (scale) เงินลงทุนที่ใช้ ฯลฯ ดังนั้น แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ละแนวทางอาจเหมาะสมกับกลไกการระดมทุนหรือเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป

กลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร และกระแสโลกเป็นอย่างไร

การดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากหลายแหล่ง ดังนั้น การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามนิยามของกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ กลไกการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกลไกการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างศักยภาพ (capacity building) การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อสนับสนุนประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การพัฒนาที่ยั่งยืน และมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วน UNFCCC นิยามการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าหมายถึง กลไกการจัดหาแหล่งเงินทุนในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระหว่างประเทศจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หากพิจารณาแนวโน้มการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก จากรายงาน Global Landscape of Climate Finance 2021 (Buchner et al., 2021) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 2) โดยในปี ค.ศ. 2019/20 การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 632 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาประเภทของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าส่วนใหญ่เป็นการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation finance) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่สะอาด อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มากกว่าการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) โดยในปี ค.ศ. 2019/20 การเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีมูลค่ารวม 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 7% ของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ซึ่งระดับการสนับสนุนดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการจัดการกับผลกระทบทั้งปัจจุบันและในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากการคาดการณ์โดย UNEP (2021) พบว่าประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องแบกรับต้นทุนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงถึง 155–330 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2030 และประมาณ 310–555 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2050

รูปที่ 2: กระแสการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกระหว่างปี ค.ศ. 2011–2020

กระแสการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกระหว่างปี ค.ศ. 2011–2020

ที่มา: Buchner et al. (2021)

หากพิจารณาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมทั้งในส่วนที่สนับสนุนการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าเงินทุนสนับสนุนมาจากภาครัฐมากกว่าภาคเอกชน โดยในปี 2019/20 มีเงินทุนฯ จากภาครัฐมูลค่ารวมประมาณ 321 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (51% ของเงินทุน) ส่วนเงินทุนจากภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 310 พันล้านเหรียญสหรัฐ (49% ของเงินทุน) (Buchner et al., 2021)

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) ซึ่งมีมูลค่ารวม 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากรูปที่ 3 พบว่าปัจจุบันแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นแหล่งเงินทุนจากภาครัฐ (เฉดสีเหลืองในรูปที่ 3) โดยมีมูลค่ารวม 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 98% ของเงินทุนเพื่อการปรับตัว ฯ ซึ่งประกอบด้วยแหล่งเงินทุนจาก สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาในประเทศ รัฐบาล สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแบบทวิภาคี กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสากล งบประมาณภาครัฐ และอื่น ๆ สำหรับแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวฯ จากภาคเอกชนนั้นมีมูลค่ารวม 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น (เฉดสีเขียวในรูปที่ 3) โดยมีแหล่งเงินทุนมาจาก บริษัทเอกชน และนักลงทุนสถาบัน

รูปที่ 3: แหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี ค.ศ. 2019/20

แหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี ค.ศ. 2019/20

ที่มา: Buchner et al. (2021)

จากรูปที่ 3 หากพิจารณาเฉพาะแหล่งเงินทุนจากภาครัฐ สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา (DFIs) ทั้งสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศและสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาภายในประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่สุด มีมูลค่ารวม 219 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือรัฐบาลของแต่ละประเทศ สำหรับแหล่งเงินทุนจากภาคเอกชน แหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดคือบริษัทต่าง ๆ และสถาบันการเงิน

แหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังที่แสดงในรูปที่ 3 สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Burmeister et al. (2019) ซึ่งพบว่าแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีค่อนข้างหลากหลาย (รูปที่ 4) อย่างไรก็ดี รูปที่ 4 นำเสนอข้อมูลในมิติที่เพิ่มเติมจากรูปที่ 3 โดยมีการนำเสนอการจัดประเภทแหล่งเงินทั้งในมิติแหล่งเงินทุนภาครัฐ-เอกชน และในมิติแหล่งเงินทุนในประเทศและแหล่งเงินทุนในต่างประเทศ โดยแหล่งเงินทุนที่มีบทบาทค่อนข้างเด่นชัด ได้แก่ รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของประเทศที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาซึ่งประกอบด้วยธนาคารเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคที่เป็นสมาชิกของ International Development Finance Club (IDFC) และสถาบันการเงินต่าง ๆ สำหรับภาคเอกชน ตัวอย่างแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ เช่น ผู้พัฒนาโครงการ (project developers) บริษัทต่าง ๆ ธนาคารพาณิชย์ ครัวเรือน ฯลฯ

รูปที่ 4: ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีบทบาทในการสนับสนุนเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีบทบาทในการสนับสนุนเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา: Burmeister et al. (2019)

เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีอะไรบ้าง

นอกจากทำความรู้จักกับแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ลำดับต่อไปเป็นการทำความรู้จักกับเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้ในการสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายที่สามารถนำมาใช้ในการระดมทุน แต่จากงานศึกษาของ (Burmeister et al., 2019) พบว่า เครื่องมือทางการเงินที่นิยมนำมาใช้เพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมี 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. สินเชื่อ/ตราสารหนี้ (debt) อาจเป็นรูปแบบของสินเชื่อธุรกิจ (corporate loan) หรือสินเชื่อโครงการ (project finance) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ ลีสซิ่งหรือสินเชื่อเช่าซื้อ (leasing) การเงินรายย่อยหรือไมโครไฟแนนซ์ (microfinance) พันธบัตรหรือหุ้นกู้
  2. ทุน (equity) อาจเป็นลักษณะของการระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนไม่กี่รายในรูปแบบของการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (private equity) ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) หรือการระดมทุนจากนักลงทุนมากรายในรูปแบบของหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (รูปที่ 5)
  3. เงินอุดหนุนแบบให้เปล่า (grant) ซึ่งเป็นการให้เงินสนับสนุนแก่โครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่ต้องจ่ายเงินคืน ตัวอย่างเช่น The Global Climate Change Alliance ซึ่งที่เป็นโปรแกรมที่บริหารโดยสหภาพยุโรปมีการให้เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าแก่โครงการเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (green climate fund) มีการให้เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณสุข เกษตร ขนส่ง การจัดการน้ำ ฯลฯ
รูปที่ 5: เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา: ดัดแปลงมาจาก UNEP (2016)
รูปที่ 6: เครื่องมือทางการเงินที่นิยมใช้เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เครื่องมือทางการเงินที่นิยมใช้เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา: Buchner et al. (2021)

รูปที่ 6 แสดงสัดส่วนเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยเครื่องมือทางการเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับใช้สนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสินเชื่อ/ตราสารหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยตามอัตราตลาด (project-level market rate debt) (47%) รองลงมาคือสินเชื่อ/ตราสารหนี้ดอกเบี้ยต่ำ (low-cost project debt) (25%) และเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า (grant) (21%) นอกจากนี้ งานศึกษาของ Burmeister et al. (2019) ยังพบว่ามีเครื่องมือทางการเงินข้างต้นกับเครื่องมืออื่น ๆ เช่น ประกัน (insurance) การรับประกัน (guarantee) เป็นต้น ซึ่งช่วยในการถ่ายโอนความเสี่ยงจากผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินไปยังบริษัทประกันหรือผู้ที่รับประกัน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้โครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนโดยเฉพาะจากภาคเอกชน

เนื่องจากเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีหลากหลายรูปแบบ แนวทางในการคัดเลือกเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร? ที่จริงแล้ว เกณฑ์ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น จำนวนเงินลงทุนที่ต้องการ ลักษณะของโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

เพื่อให้เห็นภาพของแนวทางในการเลือกเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนมากขึ้น รูปที่ 7 แสดงตัวอย่างกรณีของโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีลักษณะของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำ ทางระบายน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งโดยปกติมักต้องการเงินลงทุนที่สูงมาก กลุ่มที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนที่เป็นไปได้อาจเป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน ตลอดจนตลาดทุน ในกรณีนี้ เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมอาจเป็นลักษณะของพันธบัตรหรือหุ้นกู้ รวมถึงสินเชื่อโครงการ (project finance) ในลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ในทางตรงกันข้าม สำหรับโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขนาดเล็กหรือขนาดจิ๋ว ที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนไม่สูง เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการลักษณะดังกล่าวอาจเป็นรูปแบบของสินเชื่อเพื่อรายย่อย (micro loan) หรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจ เป็นต้น

รูปที่ 7: เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา: UNEP (2016)

ตัวอย่างการเลือกเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: บทเรียนจากต่างประเทศ

หลายประเทศเริ่มนำเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศข้างต้นมาใช้ระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ในส่วนนี้จึงนำเสนอตัวอย่างการนำเครื่องมือทางการเงินมาระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยถอดบทเรียนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภทเหมาะสมกับโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเภทใดและในสาขาใด จึงนำเสนอตัวอย่างการใช้เครื่องมือทางการเงินตามลักษณะและสาขาของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตารางที่ 2 สรุปผลการถอดบทเรียนจากต่างประเทศ

ตารางที่ 2: ผลการถอดบทเรียนการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในต่างประเทศ
ประเทศกรณีศึกษา/ลักษณะโครงการปรับตัวฯที่มาของโครงการรายละเอียดโครงการฯสินเชื่อ/ตราสารหนี้ทุน/ตราสารทุนเครื่องมือถ่ายโอน/ลดความเสี่ยงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)เงินสนับสนุนแบบให้เปล่า
บังคลาเทศ
การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ
บริษัทในเครือ DBL ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอรายใหญ่ในประเทศบังคลาเทศเผชิญความเสี่ยงจากภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำโครงการนี้เป็นการลงทุนในการยกระดับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ รวมถึงซ่อมแซมจุดรั่วซึม ซึ่งช่วยให้สามารถประหยัดน้ำได้ และช่วยให้ลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากภัยแล้ง✔✔✔✔
เซนต์ลูเซีย
การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ
พื้นที่ Vieux Fort ในประเทศเซนต์ลูเซีย ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้ง สร้างความไม่แน่นอนให้กับอุปทานน้ำในพื้นที่และกระทบต่อธุรกิจโครงการนี้ส่งเสริมการดำเนินมาตรการบริหารจัดการน้ำในธุรกิจรีสอร์ทเพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความผันผวนของปริมาณน้ำ นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีการก่อสร้างแทงค์กักเก็บน้ำฝน (rainwater harvesting tank) ความจุอย่างน้อย 3,000 ลูกบาศก์เมตร✔✔
รวันดา
การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะฤดูแล้งที่ยาวนานส่งผลกระทบต่อผลิตผลของเมล็ดกาแฟ ปริมาณฝนที่มากเกินไปกระทบต่อกระบวนการทำให้เมล็ดกาแฟแห้ง ภัยแล้งกระทบต่อคุณภาพของกาแฟโครงการนี้ดำเนินการปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงาในพื้นที่ไร่กาแฟ รวมถึงการนำระบบอบแห้งเมล็ดกาแฟโดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อคุณภาพของกาแฟ✔✔
โคลัมเบีย
โครงสร้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม
ท่าเรือ Terminal Maritimo Muelles El Bosque (MEB) ในประเทศโคลัมเบียมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าบริเวณท่าเรือได้รับความเสียหายโครงการนี้ยกระดับความสูงของทางเดินบริเวณท่าเรือ รวมถึงซื้อประกันภัยซึ่งคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วม เหตุการณ์ฝนตกหนัก ลมพายุ พายุหมุนเขตร้อน ฯลฯ✔✔
ไทย
โครงสร้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม
พื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 และสูญเสียงบประมาณสูงถึง 100 ล้านบาทในการฟื้นฟูหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมโครงการนี้เน้นการรับมือกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมในอนาคต โดยการก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมยาว 11 กิโลเมตรรอบนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา✔✔
อินโดนีเซีย
โครงสร้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม
พื้นที่บริเวณตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและจากปัญหาแผ่นดินทรุด นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้พื้นที่บริเวณทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาทรุดตัวกว่า 5 เมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายในปี ค.ศ. 2050โครงการนี้เป็นก่อสร้างกำแพงกันคลื่น (sea wall) เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล✔✔
ที่มา: ข้อมูลกรณีศึกษาจาก UNEP (2016) รวมรวมโดยผู้เขียน

เครื่องมือทางการเงินที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศในการใช้เพื่อระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ สินเชื่อจากสถาบันการเงิน/ตราสารหนี้ ทุน/ตราสารทุน การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า (ข้อมูลจากตารางที่ 2) การศึกษาของ UNEP (2016) ยังฉายภาพให้เห็นถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภทพร้อมยกตัวอย่างโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าวในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ ตารางที่ 3 สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภท

ตารางที่ 3: เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เครื่องมือทางการเงินรายละเอียดเครื่องมือแบบย่อองค์กรที่ให้การสนับสนุนทางการเงินตัวอย่างโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ (microfinance)มุ่งเน้นไปที่การจัดหาสินเชื่อรายย่อยให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ผู้มีรายได้น้อยและครัวเรือนซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อให้ธุรกิจและครัวเรือนเหล่านี้สามารถเข้าถึงเงินทุนในอัตราที่สามารถแบกรับได้สถาบันการเงินเพื่อการเงินรายย่อย / ธนาคารพาณิชย์ที่มีแผนกการเงินรายย่อยการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยกระจายความเสี่ยงทางด้านการผลิตทางการเกษตร รวมถึงปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ (climate smart agriculture)
เงินกู้แบบผ่อนปรน (concessional loan)เงินกู้ที่มีระยะเวลาในการชำระเงินคืนยาวกว่าเงินกู้ทั่วไปและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (MDB) / หน่วยงานภาครัฐโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วม เช่น การก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านเงินกู้แบบผ่อนปรน
สินเชื่อเช่าซื้อหรือลีสซิ่งลีสซิ่งเป็นสัญญาระยะยาวซึ่งผู้ใช้สินทรัพย์ชำระเงินค่าเช่าเป็นงวดๆ ตามจำนวนเงินและเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าผู้ใช้สินทรัพย์สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อสัญญาเช่าต่อหรือส่งคืนทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่า ส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือทางการเงินนี้ในกรณีของตึก/อาคาร ยานพาหนะ และเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ / สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมยาในประเทศอินเดียใช้เครื่องมือสินเชื่อลีสซิ่งเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุปกรณ์หรือเครื่องจักรเฉพาะซึ่งใช้ในการตอบสนองต่อการระบาดของโรคที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สินเชื่อโครงการ (project finance)ส่วนใหญ่ใช้ในการระดมเงินทุนสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และมีระยะเวลานาน โดยที่เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจะถูกชำระผ่านกระแสเงินสดของโครงการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัวโครงการจะถูกบริหารจัดการโดย Special Purpose Vehicle (SPV) ที่ถูกจัดตั้งเพื่อดำเนินกิจการของสินทรัพย์ที่จะทำการระดมทุนเท่านั้นธนาคารพาณิชย์ / กองทุนโครงสร้างพื้นฐานบริษัท GE Healthcare ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของโลกลงทุนมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้นทุนต่ำ โครงสร้างพื้นฐาน และโซลูชั่นทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากโรคที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินทั้งในรูปแบบของสินเชื่อโครงการและการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
พันธบัตร/หุ้นกู้/ตราสารหนี้ (climate thematic bond)ตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีเจตนาระดมทุนเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจผ่านโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันบริษัท Unilever ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) เพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและพลังงาน
ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital)การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการที่เกิดใหม่และอยู่ในช่วงของการเติบโต การลงทุนในลักษณะที่เป็น Venture Capital มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกันนักลงทุนประเภท venture capitalบริษัท Farmerline ซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศกานา ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก Village Capital ในธุรกิจซึ่งใช้เทคโนโลยีในการให้ข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการพยากรณ์อากาศกับเกษตรกรในประเทศกานา
หุ้นหุ้นเป็นตราสารที่กิจการออกให้แก่ผู้ถือ (holder) เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ โดยผู้ถือตราสารทุนมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งจะมีส่วนได้ส่วนเสียและมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันบริษัท GlaxoSmithKline (GSK) เป็นบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีการออกหุ้นสามัญเพื่อระดมทุนไปลงทุนในกิจกรรมวิจัยและพัฒนา (R&D) เกี่ยวกับโรคที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น มาลาเรีย เป็นต้น
การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิแก่เอกชนดําเนินกิจการของรัฐทั้งในกิจการเชิงพาณิชย์และสังคมเอกชน / หน่วยงานภาครัฐบริษัท GE Healthcare ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของโลกลงทุนมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้นทุนต่ำ โครงสร้างพื้นฐาน และโซลูชั่นทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากโรคที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินทั้งในรูปแบบของสินเชื่อโครงการและการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
ที่มา: ข้อมูลกรณีศึกษาจาก UNEP (2016) รวมรวมโดยผู้เขียน

เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาเฉพาะมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุนประมาณ 0.4% ถึง 0.7% ของ GDP ต่อปี (International Monetary Fund, 2022) หรือ ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาข้อมูลตราสารหนี้ที่ออกในประเทศไทย พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการออกตราสารหนี้ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยอดคงค้างของตราสารหนี้ยั่งยืน ณ สิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 อยู่ที่ประมาณ 546,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากประมาณ 109,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) ที่เพิ่มขึ้น (รูปที่ 8) เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนจากการออกตราสารหนี้ (use of proceeds) (ตารางที่ 4) พบว่าส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่โครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตัวอย่างโครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ยั่งยืน เช่น โครงการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาคารสีเขียว ระบบขนส่งที่สะอาด การจัดการของเสียและน้ำเสีย และการสนับสนุนการปลูกป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอน

จากข้อมูลในตารางที่ 4 ที่ผ่านมามีการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพื่อสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบางประเภทเท่านั้น เช่น การปลูกหญ้าแฝกซึ่งช่วยในการป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน การจัดการน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทและโอกาสของภาคการเงินและตลาดทุนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น การสนับสนุนการทำการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศ (climate smart agriculture) การก่อสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบสุขาภิบาลให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม พายุรุนแรง ฯลฯ การลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า (early warning system) เป็นต้น

รูปที่ 8: ยอดคงค้างตราสารหนี้ยั่งยืนในประเทศไทย ณ สิ้นปีระหว่างปี 2020–2023

ยอดคงค้างตราสารหนี้ยั่งยืนในประเทศไทย ณ สิ้นปีระหว่างปี 2020–2023

ที่มา: จัดทำโดยคณะผู้เขียนโดยใช้ข้อมูล iBondหมายเหตุ: เป็นยอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023
ตารางที่ 4: ข้อมูลตราสารหนี้ยั่งยืนแบ่งตามผู้ออก และวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนโดยเฉพาะในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้ออกประเภทของตราสารหนี้วัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนมูลค่าตราสารหนี้ (พันล้านบาท)ปีที่ออก (ค.ศ.)
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตราสารหนี้สีเขียว (green bond)เพื่อปลูกป่า ส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าและสนับสนุนนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการบุกรุกป่า พร้อมพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืน62020
ธนาคารเพื่อการส่งออกตราสารหนี้สีเขียว (green bond)เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของเสียและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการขนส่งที่สะอาด / เพื่อสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ที่ดิน การจัดการน้ำ และการจัดการน้ำเสีย52022
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ตราสารหนี้สีเขียว (green bond)เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. การปลูกป่า ศูนย์นวัตกรรมด้านเกษตร การวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ป่าระยะยาว / การพัฒนาหญ้าแฝก การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และการพัฒนาเมืองสีเขียว22020
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)ตราสารหนี้สีเขียว (green bond)เพื่อสนับสนุนอาคารสีเขียว การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ การจัดการน้ำและน้ำเสีย การจัดการของเสียการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนระบบขนส่งที่สะอาด และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน12022
บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ตราสารหนี้สีเขียว (green bond)เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ การจัดการน้ำและบริหารน้ำเสีย และระบบขนส่งที่สะอาด1.52022
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)ตราสารหนี้สีเขียว (green bond)เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำและบริหารน้ำเสีย อาคารสีเขียว และระบบขนส่งที่สะอาด82023
กระทรวงการคลัง (ตัวแทนรัฐบาลไทย)ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond)เพื่อสนับสนุนระบบขนส่งที่สะอาด การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำและน้ำเสีย การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดินการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และอาคารสีเขียว3172020–2022
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond)เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการที่จำเป็น8.52022
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond)เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาคารสีเขียว ระบบขนส่งที่สะอาด การเข้าถึงที่อยู่อาศัย การสร้างงาน และการจัดการของเสีย18 พันล้านเยน (45 ล้านดอลลาร์ สรอ.)2022
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัดตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bond)เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ302022
ที่มา: รวบรวมโดยคณะผู้เขียนด้วยข้อมูลจาก ThaiBMA (สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย)หมายเหตุ: ตราสารหนี้สีเขียว (green bonds) คือตราสารหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bonds) คือตราสารหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป และ ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bonds) เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนโดยผู้ออกตราสาร และผลตอบแทนจะขึ้นกับผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือการบรรลุเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ข้อส่งท้าย

มองไปข้างหน้า ประเทศไทยคาดว่าจะเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ ส่งผลให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา กลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งทั่วโลกและในประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการเงินจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้โดยให้การสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยอาจใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เช่น สินเชื่อ ตราสารหนี้ หรือใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย ภาคส่วนต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบและความเสียหายสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กับภาคการเงินของไทย ทั้งสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เอกสารอ้างอิง

Attavanich, W. (2017). Effect of Climate Change on Thailand’s Agriculture: New Results (Techreport No. 25/2017). Department of Economics, Kasetsart University.
Biagini, B., Bierbaum, R., Stults, M., Dobardzic, S., & McNeeley, S. (2014). A typology of adaptation actions: A global look at climate adaptation actions financed through the Global Environment Facility. Global Environmental Change, 25, 97–108.
Buchner, B., Naran, ฺB., Fernandes, P. A., Padmanabhi, R., Rosane, P., Solomon, M., Stout, S., Wakaba, G., Zhu, Y., Meattle, C., Guzmán, S., & Strinati, C. (2021). Global Landscape of Climate Finance 2021. Climate Policy Initiative.
Burmeister, H., Cochu, A., Hausotter, T., & Stahr, C. (2019). Financing adaptation to climate change - an introduction [Adaptation Briefings]. adelphi.
Clement, V., Rigaud, K. K., de Sherbinin, A., Jones, B., Adamo, S., Schewe, J., Sadiq, N., & Shabahat, E. (2021). Groundswell Part 2: Acting on Internal Climate Migration. World Bank.
Eckstein, D., Künzel, V., & Schäfer, L. (2021). Global Climate Risk Index 2021. Who Suffers Most from Extreme Weather Events, 2000-2019?. German Watch.
Grippa, P., Schmittmann, J., & Suntheim, F. (2019). Climate change and financial risks. Finance and Development.
International Monetary Fund. (2022). IMF Staff Country Reports (Techreport No. 301).
IPCC. (2021). Climate Change 2021: The Physical Science Basis (V. Masson-Delmotte, P. Zhai, A. Pirani, S. L. Connors, C. Péan, S. Berger, N. Caud, Y. Chen, L. Goldfarb, M. I. Gomis, M. Huang, K. Leitzell, E. Lonnoy, J. B. R. Matthews, T. K. Maycock, T. Waterfield, O. Yelekçi, R. Yu, & B. Zhou, Eds.). Cambridge University Press.
Swiss Re Institute. (2021). Economics of climate change: no action not an option.
Thampanishvong, K., Attavanich, W., Limmeechokchai, B., & Limsakul, A. (2021). การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของไทย (aBRIDGEd No. 15/2021). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
UNEP. (2016). Demystifying Adaptation Finance for the Private Sector.
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ส. (2559). แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ Thailand’s National Adaptation Plan.

  1. 6 ภูมิภาคได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (86 ล้านคน) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (49 ล้านคน) ภูมิภาคเอเชียใต้ (40 ล้านคน) ภูมิภาคแอฟริกาเหนือ (19 ล้านคน) ภูมิภาคลาตินอเมริกา (17 ล้านคน) และภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (5 ล้านคน)↩
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สวิสา พงษ์เพ็ชร
สวิสา พงษ์เพ็ชร
University of Oxford
Topics: International Finance
Tags: adaptation financeclimate changeclimate financesustainable finance
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email