Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/dbfe9f99a632bf709aefa0c0e282463d/41624/cover.jpg
29 กันยายน 2566
20231695945600000

การพัฒนาทุนมนุษย์ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์

การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง
วีระชาติ กิเลนทอง
การพัฒนาทุนมนุษย์ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์
excerpt

การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง ซึ่งเป็นการอบรมครูที่เจาะจงแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะและมีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยได้จริง ในขณะเดียวกันการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านก็เป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเอาบทเรียนที่ได้จากงานวิจัยทั้งสองกลุ่มไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบายเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ

ทุนมนุษย์ในบริบทของเศรษฐศาสตร์ และปัจจัยในการพัฒนาทุนมนุษย์

ทุนมนุษย์มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล

งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคช่วยให้เข้าใจว่า ทุนมนุษย์ (human capital) เป็นปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ งานวิจัยของ Lucas Jr (1988) Romer (1990) และ Mankiw et al. (1992) นำเสนอกรอบแนวคิดที่ว่า ทุนมนุษย์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูง ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ที่สำคัญ บทบาทของทุนมนุษย์ยังสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของทุนทางกายภาพ (physical capital) ที่จะมีบทบาทน้อยลงเมื่อมีปริมาณมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

ในขณะเดียวกัน งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคชี้ให้เห็นว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล ในช่วงแรก งานวิจัยของ Becker (1964) และ Mincer (1974) ช่วยชี้ให้เห็นบทบาทของทุนมนุษย์ต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงาน โดยใช้การศึกษาและประสบการณ์ทำงานแทนทุนมนุษย์ งานวิจัยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนของการศึกษา (returns to schooling) ซึ่งช่วยบ่งชี้ว่า การศึกษาที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยให้ผู้เรียนได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกัน งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคชี้ให้เห็นว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ระดับการศึกษาและประสบการณ์ทำงานไม่ใช่ทุนมนุษย์โดยตรง แต่เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์

องค์ความรู้ของปัจจัยที่ส่งผลต่อทุนมนุษย์ยังมีไม่มากพอ

ในช่วงต่อมา งานวิจัยของ Heckman et al. (2006) ได้ศึกษาบทบาทของทักษะด้านสติปัญญา (cognitive skills) และทักษะด้านสังคมอารมณ์ (social-emotional skills) ต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงานและพฤติกรรมทางสังคม ผลการศึกษาพบว่า ทั้งทักษะด้านสติปัญญาและทักษะด้านสังคมอารมณ์ส่งผลต่อผลิตภาพ (productivity) ในการผลิตซึ่งส่งผลต่อค่าจ้าง ที่สำคัญ ทักษะด้านสังคมอารมณ์มีผลต่อการใช้สารเสพติด เช่น กัญชา มากกว่าทักษะด้านสติปัญญา นัยเชิงนโยบายที่สำคัญจากงานวิจัยกลุ่มนี้ คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพควรให้ความสำคัญทั้งทักษะด้านสติปัญญาและทักษะด้านสังคมอารมณ์ และควรจะต้องทำความเข้าใจกระบวนการผลิตทักษะแต่ละด้าน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ (human capital production function) เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้เกี่ยวกับฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์นั้นยังไม่มากพอที่จะช่วยให้สามารถออกแบบนโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพได้ จึงทำให้การพัฒนาทุนมนุษย์ไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร รวมไปถึงการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง การเลือกนโยบายตามความชอบส่วนบุคคลของผู้นำ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อยเกินไป

การลงทุนในทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัยมีความสำคัญมาก และช่วยให้การลงทุนในช่วงหลังมีประสิทธิภาพมากกว่า

งานวิจัยของ Cunha et al. (2010) เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่สามารถประมาณค่าฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ในรูปแบบที่สามารถตอบคำถามสำคัญหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในช่วงเริ่มต้นหรือช่วงปฐมวัยเหมาะสมกว่าการรอลงทุนในช่วงหลัง เนื่องจากทักษะในช่วงเริ่มต้นส่งผลต่อประสิทธิภาพของการลงทุนในช่วงหลัง ผ่านกระบวนการที่การเสริมกันเชิงพลวัต (dynamic complementarity) ซึ่งหมายความว่า การลงทุนในปัจจุบันช่วยเพิ่มผลตอบแทนของการลงทุนในอนาคต กล่าวคือ การลงทุนในเด็กปฐมวัยช่วยเพิ่มผลตอบแทนของการลงทุนในระดับประถมศึกษา ดังนั้น การพัฒนาเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นมีโอกาสช่วยลดช่องว่างของทุนมนุษย์ระหว่างเด็กด้อยโอกาสและเด็กกลุ่มอื่นได้มากกว่าการลงทุนในช่วงหลัง ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลงานวิจัยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา (อาทิ Knudsen, 2004 Knudsen et al., 2006 Heckman et al., 2010 Heckman et al., 2013 Currie & Almond, 2011 Heckman & Mosso, 2014 Attanasio et al., 2020) ที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างมาก

บทความนี้พิจารณาปัจจัยนำเข้าของฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ทั้งหมดสองรูปแบบ คือ คุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ในส่วนของคุณภาพการศึกษา ส่วนแรกจะนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสองปัจจัยผ่านปัญหาการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) ของเด็กปฐมวัย ส่วนที่สองนำเสนอผลการทดลองภาคสนามที่ชี้ให้เห็นว่า การอบรมครูที่เจาะจงกับแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะและมีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยได้จริง ในส่วนของคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง บทความจะนำเสนอบทเรียนจากงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่าการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านก็เป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากขึ้น

ทุนมนุษย์และคุณภาพการศึกษา

ภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กปฐมวัยในช่วงโควิด 19 สะท้อนถึงความสำคัญของโรงเรียนและความไม่พร้อมของผู้ปกครอง

การเปรียบเทียบผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness survey)1 ของเด็กปฐมวัยในปีการศึกษา 2562 (ก่อนการะบาดของโควิด 19) และในปีการศึกษา 2564 (หลังการะบาดของโควิด 19) ชี้ให้เห็นว่า ระดับความพร้อมฯ เฉลี่ยด้านวิชาการของเด็กปฐมวัยในปีการศึกษา 2562 มีค่าสูงกว่าในปีการศึกษา 2564 (รูปที่ 1 โดยเห็นได้จากรูปด้านขวามีแนวโน้มเป็นสีแดงมากกว่ารูปด้านซ้าย) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 มีความสัมพันธ์กับภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสำรวจสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยในปีการศึกษา 2562 และ 2564 ดำเนินการในจังหวัดที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่อาจที่จะสรุปได้ว่าการปิดสถานศึกษาในช่วงโควิด 19 ทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอยลง

รูปที่ 1: ระดับความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยรายจังหวัด
ที่มา: ข้อมูลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand School Readiness Survey: TSRS)

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อสรุปข้างต้นอาจประสบปัญหาการเบี่ยงเบนที่เกิดจากการมีตัวแปรไม่ครบ (omitted variable bias) ด้วย เนื่องจากการวิเคราะห์อย่างง่ายดังกล่าวไม่ได้นำเอาปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยมาร่วมพิจารณาด้วย เช่น เศรษฐฐานะของครอบครัว คุณภาพการใช้เวลาร่วมกับผู้ปกครอง ระยะเวลาที่สถานศึกษาปิดเรียน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันในเด็กปฐมวัยแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละรุ่น จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมโดยใช้เครื่องมือทางสถิติที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้

งานวิจัยของ Kilenthong et al. (2023) ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (TSRS) ที่สำรวจในปีการศึกษา 2563 และจัดการกับปัญหาข้างต้นด้วยการใช้เทคนิคตัวแปรเครื่องมือ (instrumental variable approach) ซึ่งช่วยให้ผลการประมาณค่ามีความน่าเชื่อถือ และผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยกับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคณิตศาสตร์และความจำใช้งาน (working memory) ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของ Ardington et al. (2021) Contini et al. (2021) Engzell et al. (2021) Halloran et al. (2021) Lewis et al. (2021) Maldonado & De Witte (2021) Schult & Lindner (2021) Tomasik et al. (2020) ที่พบว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการะบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้ล้วนประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในนักเรียนระดับประถมตอนปลายหรือมัธยมในประเทศแถบตะวันตกเท่านั้น ต่างจากงานวิจัยของ Kilenthong et al. (2023) ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่สามารถประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยได้ ทั้งนี้เนื่องจากการระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยมีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศแถบตะวันตก แต่ก็มีการระบาดมากพอที่ทำให้ต้องปิดสถานศึกษาบางส่วน ทำให้ทีมวิจัยสามารถดำเนินการสำรวจความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยในช่วงปี 2564 ได้

บทเรียนสำคัญจากข้อค้นพบนี้ คือ โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัย ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยเมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน คำถามที่ตามมาจากข้อค้นพบที่ว่าโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัย คือ จะยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยให้สามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร? คำตอบที่ได้เรียนรู้จากการประเมินผลด้วยการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial: RCT) คือ การพัฒนาครูปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) สามารถช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยได้จริง

การยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site teacher training)

โครงการไรซ์ไทยแลนด์เริ่มต้นจากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ James J. Heckman (Heckman et al., 2010; Heckman et al., 2013) ที่ชี้ให้เห็นว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit-to-cost ratio) ของโครงการ Perry Preschool มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 ถึง 12 ต่อ 1 กล่าวคือ การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ และสังคมโดยรวมประมาณ 7 ถึง 12 บาท ดังนั้น จึงเลือกนำเอาหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ Perry Preschool มาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย โดยเริ่มด้วยการนำไปทดลองใช้ที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ ด้วยการสุ่มเลือกศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) จำนวน 19 แห่ง (จากทั้งหมด 50 แห่ง) ให้มีครูปฐมวัยที่จัดหาโดยโครงการร่วมสอนด้วยกระบวนการไฮสโคปเป็นระยะเวลาหนึ่งปีการศึกษา

ผลการประเมินพบว่า เด็กปฐมวัยที่เรียนใน ศพด. ที่มีครูปฐมวัยของโครงการร่วมสอนมีพัฒนาการสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 0.4 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Chujan & Kilenthong, 2021 และ Kilenthong & Chujan, 2019) อย่างไรก็ตาม การจัดจ้างครูปฐมวัยเพิ่มเติมมีต้นทุนสูง ยากต่อการนำไปขยายผล และการร่วมสอนของครูโครงการยังไม่สามารถช่วยให้ครูที่สอนอยู่เดิมสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนได้มากเท่าที่ควร ทีมงานไรซ์ไทยแลนด์จึงได้พัฒนาการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) ขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นวิธีการอบรมครูปฐมวัยที่เข้มข้นและเน้นการปฏิบัติการสอนในห้องเรียนจริงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยของ Kilenthong et al. (2023) ดำเนินการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุมเพื่อประเมินประสิทธิภาพของพัฒนาการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง2ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างปีการศึกษา 2563 ก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด 19 โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) การทดลองนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อตอบคำถามว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงสามารถช่วยให้ครูปฐมวัยจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป (HighScope) ได้ดีเพียงใด และสามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีทักษะสูงกว่าการได้เรียนในรูปแบบปกติมากน้อยเพียงใด

ผลการประเมิน พบว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะคุณภาพของการจัดกิจกรรมวางแผน-ลงมือปฏิบัติ-ทบทวน (Plan-Do-Review หรือ PDR) ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของหลักสูตรไฮสโคปและคุณภาพโดยรวมของห้องเรียน แต่ไม่มีผลต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนและการบริหารของโรงเรียน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะการทดลองครั้งนี้ไม่มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานศึกษาแต่อย่างใด

ที่สำคัญ การวิจัยครั้งนี้ พบว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงสามารถช่วยให้ประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากการที่ทักษะส่วนเพิ่มของเด็กปฐมวัยเฉลี่ยต่อวันที่ไปโรงเรียน (daily learning gains) ในกลุ่มทดลองมีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุม ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และด้านวิชาการโดยรวม (รวมคณิตศาสตร์และภาษา) ประมาณ 0.0578 0.0795 และ 0.0664 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100) ดูรูปที่ 2 ประกอบ กล่าวคือ การเรียนหนึ่งวันในห้องเรียนกลุ่มทดลองช่วยให้เด็กมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และด้านวิชาการโดยรวมเพิ่มมากกว่าการเรียนในห้องเรียนกลุ่มควบคุมประมาณร้อยละ 39 69 และ 49 ของทักษะส่วนเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่มควบคุม ตามลำดับ

รูปที่ 2: ทักษะส่วนเพิ่มเฉลี่ยต่อวันด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และด้านวิชาการโดยรวมของเด็กปฐมวัยในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
ที่มา: Kilenthong et al. (2023)

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่า กระบวนการสร้างทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัยมีลักษณะเป็นแบบลู่ออก (divergent process) กล่าวคือ เด็กปฐมวัยที่มีทักษะเริ่มต้นดีกว่ามีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ได้เร็วกว่าหรือมีทักษะส่วนเพิ่มที่สูงกว่า ดังนั้น นโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์จึงควรเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ Cunha et al. (2010)

นัยที่ได้จากการศึกษาที่ควรส่งเสริมให้นำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบการอบรมครู 2 ข้อหลักคือ 1) การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงควรมีวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง และ 2) มีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วน อันดับแรก การอบรมนี้พยายามพัฒนาทักษะการสอนที่เจาะจงกับแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งในที่นี้หมายถึง การจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางของไรซ์ไทยแลนด์ คุณสมบัติข้อนี้ตรงกับข้อค้นพบในงานวิจัยของ Popova et al. (2022) ที่ระบุว่า การอบรมครูที่มีประสิทธิภาพมักจะมีวัตถุประสงค์ที่เจาะจง นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมจะได้รับแผนการสอนรายวันสำหรับทุกวันตลอดทั้งปีการศึกษา ซึ่งช่วยให้ครูปฐมวัยสามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยาก คุณสมบัติข้อนี้สอดคล้องกับข้อสรุปในงานวิจัยของ Andrew et al. (2022) และ Banerjee et al. (2007) ที่ระบุว่า รายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับทักษะของผู้เรียน

การพัฒนาครูปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า (cost-effective) โดยมีต้นทุนส่วนเพิ่มต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ต่อนักเรียนหนึ่งคน (ประมาณ 33 ดอลลาร์สหรัฐ) และมีขนาดของผลกระทบประมาณ 0.60 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน หากครูที่ได้รับการอบรมสามารถจัดการเรียนรู้แบบใหม่ได้ครบหนึ่งปีการศึกษา3 ซึ่งมีต้นทุนต่อหัวใกล้เคียงกับโครงการพัฒนาครูปฐมวัยในประเทศโคลอมเบีย (Andrew et al., 2022) ที่มีต้นทุนประมาณ 47 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ขนาดของผลกระทบของการพัฒนาครูปฐมวัยในประเทศโคลอมเบียมีค่าประมาณ 0.17 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ถึงแม้ว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ยังประสบปัญหาในการขยายผล ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะยังขาดแรงจูงใจ นับตั้งแต่เริ่มจัดการอบรมอย่างเป็นระบบในปีการศึกษา 2560 มีสถานศึกษาปฐมวัยเข้าร่วมอบรมเพียง 235 แห่ง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่สถานศึกษาปฐมวัยส่วนใหญ่ยังขาดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะมาพร้อมกับความพยายามที่มากขึ้น ทำให้ครูต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นแต่ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม ปัญหานี้เป็นเรื่องที่พบได้โดยทั่วไปเมื่อผู้ที่ต้องปฏิบัติไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (parenting home visiting program) ซึ่งเป็นวิธีการเตรียมความพร้อมของผู้ปกครองให้สามารถทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีประสิทธิภาพ เพราะผู้ปกครองน่าจะมีแรงจูงใจในการอยากเห็นบุตรหลานมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

ทุนมนุษย์และคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง

การเตรียมความพร้อมของผู้ปกครองด้วยการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน

ภาวะการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจากการปิดสถานศึกษาในช่วงโควิด 19 ยังสะท้อนปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ครอบครัวขาดความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยตนเอง ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับระดับพัฒนาการของเด็ก เพื่อทดแทนกิจกรรมที่โรงเรียนมีให้ได้ โดยจะเห็นได้จากข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data)4 ที่สะท้อนให้เห็นว่า ในระหว่างปีการศึกษา 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปิดสถานศึกษาเนื่องจากการระบาดของโควิด 19 อย่างยาวนาน แต่ผู้ปกครองกลับอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2563 และ 2565 (รูปที่ 3 ด้านซ้าย)

ภาวะการเรียนรู้ถดถอยในช่วงปิดสถานศึกษาส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะครัวเรือนยังการขาดความพร้อมทางวัตถุ และส่วนหนึ่งจากการขาดความรู้ความเข้าใจด้านพัฒนาการของเด็ก จากการศึกษาพบว่าการเรียนรู้ถดถอยนั้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ครัวเรือนกลุ่มตัวอย่างมีหนังสือน้อยมาก และโดยปกติจะอ่านหนังสือที่เด็กยืมมาจากโรงเรียนเป็นหลัก5 โดยผลการสำรวจสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย พบว่า ครัวเรือนไทยมีจำนวนหนังสือนิทานโดยเฉลี่ยเพียงแค่ครัวเรือนละ 4 เล่ม และกว่าร้อยละ 43 ของครัวเรือนไม่มีหนังสือนิทานที่บ้านเลย นอกจากนี้ ยังอาจเป็นผลมาจากความเชื่อเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัยที่คลาดเคลื่อน ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะอ่านหนังสือให้เด็กฟังหรือทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ดีแต่ต้องใช้เวลาและความพยายามสูง

นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กกลุ่มตัวอย่างใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้นในช่วงที่มีการปิดสถานศึกษา ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ยังชี้ให้เห็นว่า ในระหว่างปีการศึกษา 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปิดสถานศึกษาเนื่องจากการระบาดของโควิด 19 นั้น เด็กกลุ่มตัวอย่างใช้เวลากับหน้าจอ6เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน (รูปที่ 3 ด้านขวา) อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ การใช้เวลากับหน้าจอในปีการศึกษา 2565 กลับเข้าสู่ระดับปกติใกล้เคียงกับปีการศึกษา 2563

รูปที่ 3: รูปด้านซ้ายแสดงเวลาที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง (นาที/สัปดาห์) และรูปด้านขวาแสดงเวลาใช้หน้าจอของเด็ก (นาที/สัปดาห์)
ที่มา: ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) ที่สำรวจจากการสอบถามผู้ปกครองในปี 2563–2565

ถอดบทเรียนจากงานวิจัยต่างประเทศ

คำถามที่ตามมา คือ เราจะเตรียมความพร้อมให้กับผู้ปกครองอย่างไร จึงจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยในอนาคต งานวิจัยในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (parenting home visiting program) สามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ Grantham-McGregor et al. (1991) Gertler et al. (2014) Walker et al. (2022) Attanasio et al. (2020) และ Heckman et al. (2020)

หลักสูตรการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านที่ได้รับความสนใจและนำไปขยายผลทั่วโลกหลักสูตรหนึ่ง คือ หลักสูตร Reach Up ซึ่งเน้นการกระตุ้นพัฒนาการ (psychosocial stimulation) การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างแม่และเด็ก (positive mother-child interaction) การให้กำลังใจ (positive reinforcement) ทั้งเด็กและผู้ปกครอง และเน้นการสาธิตการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก (role modeling) โดยเจ้าหน้าที่เยี่ยมบ้าน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Kilenthong, 2023)

ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของกิจกรรมการเยี่ยมบ้านของหลักสูตร Reach Up สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเอาหลักสูตร Reach Up ไปทดลองใช้ใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ลพบุรี นครนายก สงขลา และพัทลุง ที่สำคัญ ได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมการเยี่ยมบ้านดังกล่าว โดยจะเก็บข้อมูลพัฒนาการเด็กเพื่อประเมินว่า กิจกรรมการเยี่ยมบ้านสามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งไปกว่านั้น จะเก็บข้อมูลการลงทุนของผู้ปกครอง (parental investment) ทั้งในรูปของเวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและการจัดหาสื่ออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าสำคัญของฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ โดยปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินกิจกรรมการเยี่ยมบ้านเพื่อพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง คาดว่าจะเก็บข้อมูลหลังการทดลองในช่วงปลายปี 2566 และน่าจะทราบผลการทดลองเบื้องต้นในช่วงกลางปี 2567

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Attanasio et al. (2019) ได้พยายามประเมินว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านสามารถปรับเปลี่ยนความเชื่อของผู้ปกครองเกี่ยวกับบทบาทของการลงทุนต่อพัฒนาการเด็กมากน้อยเพียงใด ผลการวิจัยพบว่า กิจกรรมการเยี่ยมบ้านยังไม่สามารถส่งผลต่อความเชื่อของผู้ปกครองได้ และผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อว่า ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนทำกิจกรรมร่วมกับเด็กมีค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกๆ ที่พยายามตอบคำถามที่สำคัญนี้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยเพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า ผู้ปกครองไทยเชื่อว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนทำกิจกรรมร่วมกับเด็กแตกต่างจากค่าที่ควรจะเป็นอย่างไร และกิจกรรมการเยี่ยมบ้านที่ดำเนินการในประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนความเชื่อของผู้ปกครองเกี่ยวกับผลตอบแทนของการลงทุนในเด็กปฐมวัยได้หรือไม่

ข้อสรุปและนัยสำคัญเชิงนโยบาย

การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง ซึ่งเป็นการอบรมครูที่เจาะจงแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะและมีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยได้จริง ในขณะเดียวกัน งานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยตนเองมากขึ้น ดังนั้น กิจกรรมทั้งสองรูปแบบอาจเป็นนโยบายที่สามารถพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องค้นหาคำตอบเพิ่มเติมอีกว่า กิจกรรมทั้งสองรูปแบบสามารถใช้ทดแทนกันได้ (substitute) หรือเป็นแบบเสริมกัน (complement) ซึ่งหากเป็นไปได้ควรจัดให้มีการทดลองที่มีทั้งกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งและกลุ่มที่ได้รับทั้งสองกิจกรรม ซึ่งจะช่วยตอบคำถามได้ว่า ควรออกแบบนโยบายโดยใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือจำเป็นต้องดำเนินการทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไป

เอกสารอ้างอิง

Andrew, A., Attanasio, O., Bernal, R., Sosa, L. C., Krutikova, S., & Rubio-Codina, M. (2022). Preschool Quality and Child Development. National Bureau of Economic Research.
Ardington, C., Wills, G., & Kotze, J. (2021). COVID-19 learning losses: Early grade reading in South Africa. International Journal of Educational Development, 86, 102480.
Attanasio, O., Cattan, S., Fitzsimons, E., Meghir, C., & Rubio-Codina, M. (2020). Estimating the production function for human capital: results from a randomized controlled trial in Colombia. American Economic Review, 110(1), 48–85.
Attanasio, O., Cunha, F., & Jervis, P. (2019). Subjective parental beliefs. their measurement and role. National Bureau of Economic Research.
Banerjee, A. V., Cole, S., Duflo, E., & Linden, L. (2007). Remedying education: Evidence from two randomized experiments in India. The Quarterly Journal of Economics, 122(3), 1235–1264.
Becker, G. (1964). Human Capital: A Theoretical and Empirical Analysis with Special Reference to Education. National Bureau of Economic Research, Inc.
Chujan, W., & Kilenthong, W. T. (2021). Short-Term Impact of an Early Childhood Education Intervention in Rural Thailand. Journal of Human Capital, 15(2), 269–290.
Contini, D., Di Tommaso, M. L., Muratori, C., Piazzalunga, D., & Schiavon, L. (2021). The COVID-19 pandemic and school closure: learning loss in mathematics in primary education.
Cunha, F., Heckman, J. J., & Schennach, S. M. (2010). Estimating the technology of cognitive and noncognitive skill formation. Econometrica, 78(3), 883–931.
Currie, J., & Almond, D. (2011). Human capital development before age five. In Handbook of labor economics (Vol. 4, pp. 1315–1486). Elsevier.
Engzell, P., Frey, A., & Verhagen, M. D. (2021). Learning loss due to school closures during the COVID-19 pandemic. Proceedings of the National Academy of Sciences, 118(17), e2022376118.
Gertler, P., Heckman, J., Pinto, R., Zanolini, A., Vermeersch, C., Walker, S., Chang, S. M., & Grantham-McGregor, S. (2014). Labor market returns to an early childhood stimulation intervention in Jamaica. Science, 344(6187), 998–1001.
Grantham-McGregor, S. M., Powell, C. A., Walker, S. P., & Himes, J. H. (1991). Nutritional supplementation, psychosocial stimulation, and mental development of stunted children: the Jamaican Study. The Lancet, 338(8758), 1–5.
Halloran, C., Jack, R., Okun, J., & Oster, E. (2021). Pandemic Schooling Mode and Student Test Scores: Evidence from US States. Working Paper.
Heckman, J. J., Liu, B., Lu, M., & Zhou, J. (2020). The impacts of a prototypical home visiting program on child skills. National Bureau of Economic Research.
Heckman, J. J., Moon, S. H., Pinto, R., Savelyev, P. A., & Yavitz, A. (2010). The rate of return to the HighScope Perry Preschool Program. Journal of Public Economics, 94(1–2), 114–128.
Heckman, J. J., & Mosso, S. (2014). The economics of human development and social mobility. Annu. Rev. Econ., 6(1), 689–733.
Heckman, J. J., Stixrud, J., & Urzua, S. (2006). The effects of cognitive and noncognitive abilities on labor market outcomes and social behavior. Journal of Labor Economics, 24(3), 411–482.
Heckman, J., Pinto, R., & Savelyev, P. (2013). Understanding the mechanisms through which an influential early childhood program boosted adult outcomes. American Economic Review, 103(6), 2052–2086.
Kilenthong, W. (2023). การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง (parenting): บทเรียนจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) (aBRIDGEd No. 4/2023). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Kilenthong, W., & Chujan, W. (2019). ผลของหลักสูตรปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์ต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย (aBRIDGEd No. 16/2019). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Kilenthong, W. T., Boonsanong, K., Duangchaiyoosook, S., Jantorn, W., & Khruapradit, V. (2023a). A Randomized Evaluation of an On-Site Training for Kindergarten Teachers in Rural Thailand. Working Paper.
Kilenthong, W. T., Boonsanong, K., Duangchaiyoosook, S., Jantorn, W., & Khruapradit, V. (2023b). Learning Losses from School Closure due to the COVID-19 Pandemic for Thai Kindergartners. Economics of Education Reviews, Forthcoming.
Knudsen, E. I. (2004). Sensitive periods in the development of the brain and behavior. Journal of Cognitive Neuroscience, 16(8), 1412–1425.
Knudsen, E. I., Heckman, J. J., Cameron, J. L., & Shonkoff, J. P. (2006). Economic, neurobiological, and behavioral perspectives on building America’s future workforce. Proceedings of the National Academy of Sciences, 103(27), 10155–10162.
Lewis, K., Kuhfeld, M., Ruzek, E., & McEachin, A. (2021). Learning during COVID-19: Reading and math achievement in the 2020–21 school year. Working Paper.
Lucas Jr, R. E. (1988). On the mechanics of economic development. Journal of Monetary Economics, 22(1), 3–42.
Maldonado, J. E., & De Witte, K. (2021). The effect of school closures on standardised student test outcomes. British Educational Research Journal.
Mankiw, N. G., Romer, D., & Weil, D. N. (1992). A contribution to the empirics of economic growth. The Quarterly Journal of Economics, 107(2), 407–437.
Mincer, J. A. (1974). Schooling, Experience, and Earnings. National Bureau of Economic Research.
Popova, A., Evans, D. K., Breeding, M. E., & Arancibia, V. (2022). Teacher professional development around the world: The gap between evidence and practice. The World Bank Research Observer, 37(1), 107–136.
Romer, P. M. (1990). Endogenous technological change. Journal of Political Economy, 98(5, Part 2), S71–S102.
Schult, J., & Lindner, M. A. (2021). Did students learn less during the COVID-19 pandemic? Reading and mathematics competencies before and after the first pandemic wave. Working Paper.
Tomasik, M. J., Helbling, L. A., & Moser, U. (2020). Educational gains of in-person vs. distance learning in primary and secondary schools: A natural experiment during the COVID-19 pandemic school closures in Switzerland. International Journal of Psychology.
Walker, S. P., Chang, S. M., Wright, A. S., Pinto, R., Heckman, J. J., & Grantham-McGregor, S. M. (2022). Cognitive, psychosocial, and behaviour gains at age 31 years from the Jamaica early childhood stimulation trial. Journal of Child Psychology and Psychiatry, 63(6), 626–635.

  1. การสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand School Readiness Survey: TSRS) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีจำนวนเด็กกลุ่มตัวอย่างในปีการศึกษา 2562 2563 2564 2565 จำนวน 9,526 12,345 11,674 10,141 คน ตามลำดับ↩
  2. การทดลองดังกล่าวแบ่งโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 19 โรงเรียน และกลุ่มควบคุมจำนวน 38 โรงเรียน ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ครูปฐมวัยจากทุกโรงเรียนได้รับเชิญเข้าร่วมอบรมในชั้นเรียน (in-class training) เป็นเวลาสองวัน แต่เฉพาะครูปฐมวัยในกลุ่มทดลองจะได้รับเชิญเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) เป็นเวลา 11 วัน การทดลองนี้ประเมินคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูด้วยการสังเกตห้องเรียนโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นเวลา 1 วัน(โดยหลักการควรจะเป็นการสังเกตห้องเรียนโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดในการจัดการทำให้ต้องแจ้งครูผู้สอนล่วงหน้าหนึ่ง)และประเมินทักษะของเด็กปฐมวัย โดยใช้เครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness) ซึ่งเป็นการประเมินด้วยการทดสอบเด็กโดยตรง ช่วยให้ผลที่ได้มีความน่าเชื่อถือ↩
  3. 3 เริ่มด้วยการแปลงทักษะส่วนเพิ่มต่อวันด้านวิชาการโดยรวมจากหน่วยคะแนนเป็นหน่วยความเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากผลการประมาณค่าที่พบว่า ส่วนเพิ่มต่อวันเท่ากับ 0.0664 คะแนน และความเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มควบคุมมีค่าเท่ากับ 21.325 คะแนน ดังนั้น ทักษะส่วนเพิ่มต่อวันด้านวิชาการโดยรวมมีค่าเท่ากับ 0.00302 เท่า ของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน หากสมมุติเพิ่มเติมว่าหนึ่งปีการศึกษามีเวลาเรียนทั้งหมด 200 วัน จะสามารถคำนวณขนาดของผลกระทบของการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงได้เท่ากับ 0.60 เท่า ของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (0.00302 x 200)↩
  4. ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) เริ่มต้นสำรวจข้อมูลครั้งแรกในปี 2558 ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ และติดตามเด็กกลุ่มตัวอย่างคนเดิมต่อเนื่องมาทุกปี ปีละหนึ่งรอบ และวางแผนจะเก็บต่อเนื่องไปทุกปี โดยในปี 2565 มีเด็กกลุ่มตัวอย่างที่อายุระหว่าง 7 ถึง 11 ปีจำนวน 1,261 คน↩
  5. เด็กกลุ่มตัวอย่างของไรซ์ไทยแลนด์จะได้เข้าร่วมกิจกรรมพานิทานกลับบ้านที่สถานศึกษาจัดขึ้น โดยเด็กจะยืมหนังสือนิทานจากสถานศึกษากลับมาให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟัง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มเวลาคุณภาพระหว่างเด็กและผู้ปกครอง↩
  6. หมายความถึงหน้าจอทุกชนิด เช่น หน้าจอโทรศัพท์ หน้าจอแท็บเล็ต และหน้าจอคอมพิวเตอร์↩
วีระชาติ กิเลนทอง
วีระชาติ กิเลนทอง
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
Topics: Education economicsDevelopment
Tags: human capitaleducationparenting
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email