Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/c79196df0a86adb5d9fce8933332477b/41624/cover.jpg
7 ธันวาคม 2566
20231701907200000

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างไร
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์อิสรีย์ ชวนะพาณิชย์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย
excerpt

บทความนี้ต้องการฉายภาพผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและระดับน้ำทะเล การเปลี่ยนแปลงความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุรุนแรง ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งสิ้น บทความนี้ยกตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเสนอแนะแนวทางที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถนำมาใช้ในการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ทั้งนี้ เป้าประสงค์หลักของการปรับตัวคือการสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว (long-term resilience) ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนากิจกรรมหรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ไม่พึ่งพาสภาพอากาศ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแจ้งเตือนภัยด้านสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยว และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บทความนี้ได้ยกกรณีศึกษาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย โดยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาหนาวน้อยและหนาวสั้นในอนาคต อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิอากาศและการท่องเที่ยว

ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNEP, 2008) เนื่องมาจากภูมิอากาศ

  • เป็นปัจจัยที่กำหนดระยะเวลาและคุณภาพของฤดูกาลท่องเที่ยว เช่น สำหรับแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะหรือแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง หากปีใดอากาศดี ไม่เจอฝนตกหนักหรือลมพายุรุนแรง ฤดูกาลท่องเที่ยวในปีดังกล่าวก็จะมีคุณภาพดี
  • เป็นปัจจัยที่นักท่องเที่ยวใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกสถานที่ท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยวในหลายจังหวัดในภาคเหนือชูจุดขายด้านอากาศที่หนาวเย็น ดังนั้น หากปีใดช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิต่ำ อากาศหนาวเย็น และมีระยะเวลายาวนาน แหล่งท่องเที่ยวเป็นที่นิยมในหมู่ของนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวภาคเหนือมากขึ้น
  • ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ อันเป็นปัจจัยดึงดูดที่สำคัญให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยว เช่น สภาพของหิมะ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระดับน้ำและคุณภาพน้ำ เป็นต้น และ
  • อาจมีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อม เช่น การเกิดโรคติดต่อ ไฟป่า การแพร่กระจายของแมลง เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในมุมของนักท่องเที่ยว ดังนั้น เมื่อสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ภาคการท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบ

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการท่องเที่ยว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการท่องเที่ยว ตัวอย่างผลกระทบทางตรง เช่น สภาพอากาศสุดขั้วทั้งน้ำท่วมหรือลมพายุรุนแรงอาจสร้างความเสียหายให้แก่แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงสร้างผลกระทบต่อกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมยังมีผลทำให้ต้นทุนในการดำเนินการของผู้ประกอบการท่องเที่ยวสูงขึ้น ทั้งต้นทุนในการทำความร้อน/ความเย็น ต้นทุนการจัดหาน้ำสำหรับไว้บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนกระทบต่อระยะเวลาและคุณภาพของฤดูกาลท่องเที่ยว โดยปกติ นักท่องเที่ยวมักจะแสวงหาจุดหมายในการเดินทางมาท่องเที่ยวโดยพิจารณาปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลควบคู่ไปด้วย เช่น นักท่องเที่ยวอาจจะนิยมเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวประเภททะเลและชายฝั่งในช่วงฤดูร้อนหรือช่วงที่ไม่มีฝนตก เลือกแหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้เกิดการขยับเลื่อนของฤดูกาล ทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการท่องเที่ยวและคุณภาพของฤดูกาลท่องเที่ยว ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ตัวอย่างผลกระทบทางอ้อมต่อการท่องเที่ยว เช่น ปริมาณหรืออุปทานน้ำที่ใช้บริการนักท่องเที่ยวหรือสำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยว การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สุนทรียภาพบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ผลผลิตทางการเกษตรและอาหารที่ไว้บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภค และการเดินทางของนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รูปที่ 1 สรุปผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการท่องเที่ยวในรูปแบบของห่วงโซ่ผลกระทบ (impact chain)

รูปที่ 1: ห่วงโซ่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการท่องเที่ยว

ห่วงโซ่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการท่องเที่ยว

ที่มา: ONEP-GIZ

จากรูปที่ 1 พบว่าภัยคุกคามด้านภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เช่น ภัยแล้ง/น้ำแล้ง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตกของฝน น้ำท่วม/น้ำท่วมฉับพลัน การแปรปรวนของฤดูฝน การเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำทะเล คลื่นซัดฝั่งหรือน้ำท่วมชายฝั่ง ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในหลายรูปแบบ ทั้งผลกระทบต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวกลางแจ้ง ผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งและการเดินทางของนักท่องเที่ยว ผลกระทบต่อสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภค ทั้งการใช้พลังงานและน้ำ

งานศึกษาของ UNEP (2008) จัดกลุ่มภัยคุกคามทางด้านภูมิอากาศ (climate hazards) ที่เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. ภัยคุกคามประเภทธรณีวิทยา (geological hazards) เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ดินโคลนถล่ม แผ่นดินทรุด ภูเขาไฟระเบิด
  2. ภัยคุกคามประเภทอุทกวิทยา/อุตุนิยมวิทยา (hydro-meteorological hazards) เช่น พายุหมุนเขตร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมชายฝั่ง น้ำท่วมฉับพลัน คลื่นซัดฝั่งวาตภัย

อย่างไรก็ดี แหล่งท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภัยคุกคามที่แตกต่างกัน จากงานศึกษาของ Schneider & Yamin (2007) พบว่า ในภาพรวมแหล่งท่องเที่ยวในแถบแอฟริกามีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามประเภทภัยแล้ง (drought) และการขาดแคลนน้ำ (water stress) แหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและสภาพอากาศสุดขั้ว ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวแถบลาตินอเมริกามีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามประเภทการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การขาดแคลนน้ำ และพายุ

หากพิจารณาในบริบทของประเทศไทย พบว่า ภัยคุกคามจากภูมิอากาศที่สำคัญ ประกอบด้วย อุณหภูมิสูง น้ำท่วม (ทั้งน้ำท่วมชายฝั่งและน้ำท่วมฉับพลัน) ภัยแล้ง และพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภัยคุกคามประเภทอุทุกวิทยา/อุตุนิยมวิทยา ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยแหล่งท่องเที่ยวแต่ละประเภทได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามจากภูมิอากาศที่แตกต่างกัน (UNEP, 2008, UNEP, 2008) เช่น แหล่งท่องเที่ยวประเภทภูเขาได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิสูงและน้ำท่วมฉับพลัน แหล่งท่องเที่ยวประเภททะเลและชายฝั่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมชายฝั่ง คลื่นซัดฝั่ง และพายุ แหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตกได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและภัยแล้ง ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่น วัด แหล่งโบราณสถาน อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ทั้งนี้ Manopimoke et al. (2022) ได้ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ (climate Shocks) ต่อเศรษฐกิจไทย โดยพบผลกระทบเชิงลบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตอกย้ำว่า ประเทศไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศพึ่งพาการขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

นอกจากความแตกต่างในแง่ความเสี่ยงต่อภัยคุกคามและลักษณะของผลกระทบแล้ว ยังมีความแตกต่างในแง่ความรุนแรงของระดับความเสี่ยงอีกด้วย หากพิจารณาแผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาท่องเที่ยวที่จัดทำขึ้น ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ : การพัฒนาระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ONEP และ RU-CORE, 2021) (รูปที่ 2) พบว่า ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมในสาขาท่องเที่ยวมีความแตกต่างในเชิงพื้นที่ โดยหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในช่วงอนาคตระยะใกล้ (2016–2035) อนาคตระยะกลาง (2046–2065) และอนาคตระยะไกล (2081–2099) และทั้งภาพฉายที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง (Representative Concentration Pathway 4.5: RCP4.5) และภาพฉายที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง (RCP8.5) ทั้งนี้ จังหวัดในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด 10 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี ตราด ขอนแก่น ภูเก็ต นครราชสีมา ชลบุรี เชียงใหม่ มุกดาหาร และอุบลราชธานี ตามลำดับ

รูปที่ 2: แผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาท่องเที่ยว

แผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาท่องเที่ยว

ที่มา: ONEP และ RU-CORE (2021)

ตัวอย่างผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วโลก

แหล่งท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรม ตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น

  • เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) หรือแนวปะการังนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในทะเลคอรัล บริเวณนอกชายฝั่งของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย โดยแนวปะการังมีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ แนวปะการังเหนือ หมู่เกาะวิตซันเดย์ และแนวปะการังใต้ แนวปะการังทั้ง 3 บริเวณนี้มีสิ่งมีชีวิตมากมาย ทั้งปะการังชนิดอ่อนและชนิดแข็ง สีสันสวยงามกว่า 350 ชนิด รวมถึงปลาและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาว (coral bleaching) หรือกระบวนการที่ปะการังมีสีซีดจางลง หลังจากที่สูญเสียสาหร่ายขนาดเล็กซึ่งดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันภายในเนื้อเยื่อของปะการัง นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปี 2016–2017 ส่งผลให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาวเป็นบริเวณกว้าง

  • เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังของโลกก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน โดยในปี 2019 พื้นที่ของเมืองเวนิสกว่าร้อยละ 70 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หลังจากที่น้ำทะเลเพิ่มสูงประมาณ 1.50 เมตร

ในปี 2005 World Heritage Centre ภายใต้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ส่งแบบสำรวจไปยังประเทศภาคีสมาชิกเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งมรดกโลก (world heritage) รวมถึงการดำเนินงานในการรับมือกับความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNESCO, 2007) โดย UNESCO ได้รับการตอบกลับจากประเทศภาคีสมาชิกจำนวน 83 ประเทศ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 72 ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทั้งแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติได้รับผลกระทบสูงกว่าแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี ภัยคุกคามทางด้านภูมิอากาศส่งผลต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแตกต่างจากแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยภัยคุกคามทางด้านภูมิอากาศที่สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตกของฝน ภัยแล้ง การกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาปะการังฟอกขาว น้ำท่วม ลมพายุรุนแรง ฯลฯ ขณะที่ภัยคุกคามทางด้านภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ได้แก่ พายุรุนแรง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง น้ำท่วม ฯลฯ (รูปที่ 3) จากการสำรวจของ UNESCO พบว่า มีประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกจำนวน 46 ประเทศ เริ่มดำเนินการในการจัดการกับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อจำกัดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก

รูปที่ 3: ภัยคุกคามด้านภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม

ภัยคุกคามด้านภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม

ที่มา: UNESCO (2007)

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว : ตัวอย่างภาคท่องเที่ยวในต่างประเทศ

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามความหมายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) หมายถึง “การปรับเปลี่ยนระบบธรรมชาติหรือระบบของมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตรวมถึงการตอบสนองต่อผลกระทบจากสิ่งเร้านั้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นการช่วยลดอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หรืออาจเป็นการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากสิ่งเร้าทางภูมิอากาศหรือผลกระทบของสิ่งเร้านั้น” (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2016)

แม้การปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในข้อเท็จจริง ผู้มีส่วนได้เสียในภาคท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มมีความสามารถในการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptive capacity) ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวสูงที่สุด เมื่อเทียบกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถเลือกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการปรับตัวของนักท่องเที่ยว ได้แก่ เงิน ความรู้และเวลา

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เช่น บริษัทนำเที่ยว มีความสามารถในการปรับตัวรองลงมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยมีความสามารถในการปรับตัวในระดับปานกลาง โดยบริษัทนำเที่ยวขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสามารถปรับเปลี่ยนโปรแกรมการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศโดยหลีกเลี่ยงเส้นทางหรือสถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการที่พัก เช่น โรงแรม รีสอร์ท รวมถึงบริษัทนำเที่ยวในท้องถิ่น เป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวต่ำที่สุด เนื่องจากมีการลงทุนจำนวนมากในสินทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น โรงแรม รีสอร์ท

ทั้งนี้ พบว่า การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยวทำได้หลากหลายรูปแบบหรือแนวทาง เช่น การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ การปรับเปลี่ยนนโยบาย การวิจัย การศึกษา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตารางที่ 1 แสดงตัวอย่างความหลากหลายในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคท่องเที่ยว

ตารางที่ 1: ตัวอย่างการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว
แนวทางหรือรูปแบบการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยวตัวอย่างการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว
การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวและบริษัทนำเที่ยวสามารถเข้าถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้า (early warning system) การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ การก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ระบบพยากรณ์อากาศ การออกแบบตึกและอาคารให้โครงสร้างสามารถต้านทานพายุ รวมถึงระบบกักเก็บและรีไซเคิลน้ำฝน
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการการวางแผนอนุรักษ์น้ำ การปิดสถานที่ท่องเที่ยวช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสูง การใช้ผลการพยากรณ์อากาศเพื่อวางแผนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว การซื้อประกันภัย
การปรับเปลี่ยนนโยบายการออกข้อบังคับอาคาร (building code) การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง การการันตีผลกระทบที่เกิดจากเฮอริเคน (hurricane interruption guarantees)
การวิจัยการวิจัยและติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) คุณภาพน้ำทะเล รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่ม
การศึกษาการรณรงค์และให้ความรู้กับพนักงานโรงแรมและแขกที่เข้าพักที่โรงแรมเกี่ยวกับการประหยัดน้ำ โครงการรณรงค์และสื่อสารสาธารณะ (public education campaign)
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโครงการประหยัดน้ำ
ที่มา: UNEP (2008), World Tourism Organization (2008)

ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายเมือง/ประเทศทั่วโลกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่

  • ประเทศโมแซมบิค : มีความเสี่ยงต่อพายุไซโคลนและปัญหาคลื่นซัดฝั่ง ที่ผ่านมาจึงมีการใช้วิธีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากทางธนาคารโลก ควบคู่กับแนวทางการใช้เนินทรายประเภท vegetated sand dunes ในการป้องกันชายฝั่งแทนที่จะอาศัยโครงสร้างป้องกันเชิงวิศวกรรม
  • ประเทศฟิจิ : มีความเสี่ยงต่อพายุไซโคลนและปัญหาคลื่นซัดฝั่งเช่นกัน จึงมีการกำหนดหรือออกกฎหมายควบคุมอาคาร (building code) ซึ่งกำหนดให้อาคารที่ก่อสร้างใหม่จะต้องสามารถต้านทานแรงลมอย่างน้อย 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ นอกจากนี้ โรงแรมและรีสอร์ทที่ก่อสร้างใหม่จะต้องมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางอย่างน้อย 2.60 เมตร นอกจากกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศฟิจิ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทขนาดใหญ่มีการจัดเตรียมแผนในการอพยพและมีการซื้อประกันภัยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) ประเทศออสเตรเลีย : มีความเสี่ยงต่อปัญหาปะการังฟอกขาวอันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล จึงมีการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับปัญหาปะการังฟอกขาว การประเมินผลกระทบเชิงระบบนิเวศจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว รวมถึงการเสริมสร้างความตระหนักรู้ของชุมชนท้องถิ่นเกี่ยวกับปัญหาปะการังฟอกขาว
  • เกาะมาร์จอกา ประเทศสเปน : มีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำแล้งและการขาดแคลนน้ำ โดยมีการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยแนวทางการรับมือกับปัญหาน้ำแล้งและการขาดแคลนน้ำในระยะสั้น เช่น การขนน้ำจืดจากบนบกมายังเกาะมาร์จอกาโดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ในขณะที่แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว เช่น การก่อสร้างโรงกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด (desalination plants) การดำเนินโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดน้ำ ซึ่งใช้ทั้งมาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ควบคู่กับการใช้มาตรการทางราคาในการส่งเสริมให้มีการปรับพฤติกรรมในการใช้น้ำ

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย : กรณีศึกษาการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคการท่องเที่ยวในบริบทของไทยนั้น อ้างอิงจากงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในปี 2019 (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), 2021) ซึ่งศึกษาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย สาเหตุที่คัดเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากจังหวัดเชียงรายได้รับการพิจารณาให้เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับภาคการท่องเที่ยว ภายใต้แผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติในมิติการจัดการความเสี่ยง จังหวัดเชียงรายมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความอ่อนไหวสูงต่อสภาพภูมิอากาศ รูปแบบของการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายมีความหลากหลาย การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายมีความเป็นฤดูกาล (seasonality) สูง โดยนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ดังนั้น การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายจึงมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปัจจัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายคืออุณหภูมิที่สูงและฤดูหนาวที่สั้น

อย่างไรก็ดี แหล่งท่องเที่ยวแต่ละประเภทของจังหวัดเชียงรายมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน ในการศึกษาดังกล่าวมีการจัดกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดในลักษณะของภาคส่วนย่อย โดยพิจารณาจาก 2 มิติ คือ ประเภทของแหล่งท่องเที่ยวและช่วงเวลาที่สามารถท่องเที่ยวได้ พบว่า สามารถแบ่งภาคการท่องเที่ยวของเชียงรายออกได้เป็น 4 ภาคส่วนย่อย (รูปที่ 4) โดยแต่ละภาคส่วนย่อยเผชิญความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เที่ยวได้บางฤดูกาลได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะรายได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในช่วงฤดูหนาว ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นที่สามารถเที่ยวได้ทั้งปีได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะมีการกระจายรายได้ตลอดทั้งปี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาพอากาศ รูปที่ 5 สรุประดับความเสี่ยงของแต่ละภาคส่วนย่อยของภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายในห้วงเวลาอดีตถึงปัจจุบัน

รูปที่ 4: ภาคส่วนย่อยด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย

ภาคส่วนย่อยด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย

ที่มา: GIZ (2021)
รูปที่ 5: ความเสี่ยงของแต่ละภาคส่วนย่อยด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายต่อปัจจัยด้านภูมิอากาศ

ความเสี่ยงของแต่ละภาคส่วนย่อยด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายต่อปัจจัยด้านภูมิอากาศ

ที่มา: GIZ (2021)

หากพิจารณาในห้วงเวลาอนาคต การศึกษาข้างต้นพบว่า การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะภาคส่วนย่อยประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เน้นการท่องเที่ยวในบางช่วงเวลาของปีหรือเป็นฤดูกาล เนื่องจากการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตโดยใช้แบบจำลองภูมิอากาศ (climate model) ทั้งหมด 3 แบบจำลอง ได้แก่ แบบจำลอง ECHAM5-A1B (IPCC AR4) แบบจำลอง MPI-ESM-MR (IPCC AR5): RCP 4.5 และแบบจำลอง MPI-ESM-MR (IPCC AR5): RCP 8.5 โดยผลการวิเคราะห์แบบจำลองภูมิอากาศข้างต้นชี้ให้เห็นว่าจังหวัดเชียงรายมีแนวโน้มที่ฤดูหนาวจะมีอากาศที่หนาวน้อยลง ซึ่งค่าเฉลี่ยรายเดือนของอุณหภูมิตํ่าสุด (T-min) ในช่วงกลางคืน และอุณหภูมิสูงสุด (T-max) ในช่วงกลางวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี นอกจากนี้ จังหวัดเชียงรายมีแนวโน้มที่ฤดูหนาวจะสั้นลง โดยจะมีจำนวนวันที่มีอากาศเย็น (< 20°C) และวันที่มีอากาศหนาว (< 15°C) ลดลง อีกทั้งปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีลดลงและเพิ่มสูงขึ้นในบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้พื้นที่นั้นเสี่ยงต่อปัญหาการเกิดน้ำท่วม (รูปที่ 6)

รูปที่ 6: แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัดเชียงรายในอนาคต

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัดเชียงรายในอนาคต

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) (2021)

นอกจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายในอนาคตยังมีโอกาสที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนักท่องเที่ยว (อายุและสัญชาติ) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยว การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของนักท่องเที่ยวและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ตลอดจนการพัฒนาระบบคมนาคมและการเข้าถึงจังหวัดเชียงราย

เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ GIZ (2021) ได้เสนอแนะแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ดังนี้

  • การกำหนดยุทธศาสตร์ของภาคส่วน โดยการวางตำแหน่งการตลาดใหม่ให้นักท่องเที่ยวตระหนักว่าสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายได้ตลอดทั้งปีนอกเหนือจากฤดูหนาว ทั้งนี้เพื่อกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยวให้ไม่กระจุกตัวเฉพาะในช่วง high season
  • การพัฒนาสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ โดยเน้นประเภทแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made attractions) ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม เช่น วัด สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การจัดประชุมและนิทรรศการ เป็นต้น
  • การพัฒนาแหล่งรายได้นอกภาคการท่องเที่ยวให้กับหน่วยธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ หัวใจสำคัญในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ของจังหวัดเชียงรายจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการไม่พึ่งพาสภาพอากาศและสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการรักษาอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงรายและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งศิลปินท้องถิ่น วัตถุดิบท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแนวทางหรือกลยุทธ์ในการปรับตัวจำเป็นจะต้องคำนึงถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารูปแบบการท่องเที่ยวที่เสนอสอดคล้องกับความต้องการและอยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงคำนึงถึงปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้เกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริงในทางปฏิบัติ ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ การมีกลยุทธ์ทางด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงการคำนึงคุณภาพและมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว

บทส่งท้าย

มองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยคาดว่าจะเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่พึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่เหมาะสมในการเป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ภูเขา น้ำตก ทะเลและเกาะ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงมีความจำเป็นและมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังขาดความตระหนักรู้ในผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงยังไม่ดำเนินการปรับตัวมากเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเท่านั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาจึงควรเร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทราบเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการปรับตัว ด้านโครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติทราบเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการปรับตัว เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่แม่นยำและเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง

เอกสารอ้างอิง

GIZ. (2021). การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย.
Manopimoke, P., Suwanik, S., & Jirophat, C. (2022). วิกฤตภูมิอากาศกับเศรษฐกิจไทย (aBRIDGEd No. 19/2022). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
ONEP และ RU-CORE. (2021). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ: การพัฒนาระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.
Schneider, & Yamin, F. (2007). Assessing key vulnerabilities and the risk from climate change. Cambridge University Press.
UNEP. (2008a). Climate Change Adaptation and Mitigation in the Tourism Sector: Frameworks, Tools and Practices.
UNEP. (2008b). Disaster Risk Management for Coastal Tourism Destinations Responding to Climate Change.
UNESCO. (2007). Climate Change and World Heritage: Report on predicting and managing the impacts of climate change on World Heritage and Strategy to assist States Parties to implement appropriate management responses.
World Tourism Organization. (2008). Climate Change and Tourism: Responding to Global Challenges.
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ส. (2016). แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ Thailand’s National Adaptation Plan.
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI). (2021). รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษาในพื้นที่นำร่องภาคการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย.
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
อิสรีย์ ชวนะพาณิชย์
อิสรีย์ ชวนะพาณิชย์
Topics: Tourism economicsEnvironmental and ecological economics
Tags: climate change impactstourismclimate change adaptation
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email