Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/88e7b12811e794b0f575048f1dd1c801/41624/cover.jpg
19 กันยายน 2567
20241726704000000

ธุรกิจกับ “หนี้” ด้านสิ่งแวดล้อม

ทำไมภาคธุรกิจไทยถึงไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากเท่าที่ควรและแนวทางแก้ไข
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์คณิสร์ แสงโชติถลัชนันท์ ตันติเวชวุฒิกุล
ธุรกิจกับ “หนี้” ด้านสิ่งแวดล้อม
excerpt

ธุรกิจต้องบริหารจัดการทรัพยากรข้ามช่วงเวลาภายใต้ข้อจำกัด การนำทรัพยากรในอนาคตมาใช้ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยให้ธุรกิจดีทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธุรกิจนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างผลกำไรในปัจจุบันมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในอนาคตจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ นำไปสู่ปัญหา “หนี้” ด้านสิ่งแวดล้อม บทความนี้พยายามทำความเข้าใจต้นตอของปัญหา “หนี้” ด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาการมองสั้นด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ รวมถึงนำเสนอกลไกที่จะช่วยให้ธุรกิจมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม

การตัดสินใจข้ามช่วงเวลาของธุรกิจและปัญหา “หนี้ด้านสิ่งแวดล้อม”

ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีการตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากรข้ามช่วงเวลา (intertemporal choices) และการตัดสินใจที่คำนึงถึงประโยชน์ในปัจจุบันและผลกระทบต่ออนาคตอย่างสมดุลจะทำให้ธุรกิจมีผลกำไรที่สมเหตุสมผลในระยะสั้นและมีความยั่งยืนในอนาคต ตัวอย่างการตัดสินใจข้ามช่วงเวลาของธุรกิจ ได้แก่ การตัดสินใจลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การนำทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ เชื้อเพลิงฟอสซิล มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ การลงทุนในการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ การตัดสินใจของธุรกิจในวันนี้มีนัยและผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคต (Chabris & Schuldt, n.d.) การนำทรัพยากรมาใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจในปัจจุบันในระดับที่เหมาะสมโดยใช้ “หนี้” เป็นกลไกในการช่วยเคลื่อนย้ายทรัพยากรข้ามช่วงเวลา จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถสร้างมูลค่าสูงสุดและมอบเงินปันผลที่สมเหตุสมผลให้กับผู้ถือหุ้น และธุรกิจสามารถมีความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เช่น ธุรกิจที่ลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ การลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสินค้าและบริการคาร์บอนต่ำ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน (competitive edge) เป็นธุรกิจที่โดดเด่นทั้งในมุมมองของลูกค้า ธุรกิจคู่ค้า ตลอดจนนักลงทุน ดังนั้น การตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรข้ามช่วงเวลาของธุรกิจที่เหมาะสมนั้นจะส่งผลดีกับธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอย่างยั่งยืนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการบริหารจัดการทรัพยากรของธุรกิจไทยในปัจจุบัน พบว่าในภาพรวมธุรกิจไทยยังลงทุนต่ำและมีแรงจูงใจในการลงทุนน้อยลง สิ่งนี้วัดได้จากค่า Tobin’s q (Tobin, 1969; Hayashi, 1982) ซึ่งเป็นอัตราส่วนมูลค่าตลาดของธุรกิจเปรียบเทียบกับต้นทุนทดแทนของสินทรัพย์ ค่านี้สะท้อนมุมมองของตลาดที่เห็นว่าธุรกิจมีมูลค่ามากกว่าหรือน้อยกว่าต้นทุนในการทดแทนสินทรัพย์ (เช่น อาคาร เครื่องจักร) หาก q > 1 หมายความว่าธุรกิจมีมูลค่าในตลาดมากกว่าต้นทุนในการทดแทนสินทรัพย์ ซึ่งบ่งชี้ว่าธุรกิจถูกคาดหวังว่าจะเติบโต สร้างนวัตกรรม หรือทำกำไรได้มากขึ้น ธุรกิจที่มีค่า Tobin’s q สูงอาจได้รับการสนับสนุนให้ลงทุนในธุรกิจมากขึ้น เพราะตลาดเชื่อว่าผลตอบแทนในอนาคตจะสูงกว่าต้นทุนการลงทุนใหม่ ค่านี้จึงเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการตัดสินใจลงทุน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ค่า Tobin’s q ของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทรงตัว (รูปที่ 1) และลดลงอย่างต่อเนื่องหลังการระบาดของโควิด 19 สะท้อนแรงจูงใจในการลงทุนที่ลดลง

รูปที่ 1: ค่า Tobin’s q เฉลี่ยของธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่มา: ข้อมูลจาก SETSMART

ในขณะเดียวกัน การใช้พลังงานในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางธุรกิจทั้งการผลิตสินค้าและบริการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น (รูปที่ 2) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกมีความรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนที่สูงขึ้นและสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลง (Thampanishvong et al., 2021; EPA, 2024) รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก (รูปที่ 3a) และประเทศไทย (รูปที่ 3b) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือปี ค.ศ. 1890 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าสภาพภูมิอากาศโลกและของไทยร้อนขึ้น

รูปที่ 2: ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่มา: World Bank Open Data และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
รูปที่ 3: (a) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกและ (b) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในประเทศไทย

(a) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกและ (b) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในประเทศไทย

ที่มา: ข้อมูลจาก Berkeley Earth & ERA5-Land, NOAA, UK Met Office, MeteoSwiss, DWD, SMHI, Our & ZAMG

การที่ธุรกิจนำเชื้อเพลิงฟอสซิลและทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิด “หนี้ด้านสิ่งแวดล้อม” โดยแนวคิดของหนี้ด้านสิ่งแวดล้อมไม่แตกต่างจากหนี้ประเภทอื่น กล่าวคือหนี้ไม่ใช่ของฟรี แต่มาพร้อมกับดอกเบี้ยเสมอ หนี้ด้านสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน ต้องชดใช้ดอกเบี้ยในรูปแบบของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว โดยธุรกิจและประชาชนในยุคนี้แบกรับผลกระทบบางส่วน แต่ธุรกิจในอนาคตและคนรุ่นหลังต้องแบกรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงกว่า ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน (RU-CORE) ได้คาดการณ์แนวโน้มสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคตและชี้ให้เห็นว่าภายใต้ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูง (RCP8.5) อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 3–4 องศาเซลเซียสในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 ดังแสดงในรูปที่ 4 ซึ่งผลที่ตามมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยคือการเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และร้อนสุดขั้วบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น โดยหลายพื้นที่ของประเทศไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วดังกล่าว

รูปที่ 4: ผลการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจากแบบจำลองภูมิอากาศ 3 แบบจำลองและค่าเฉลี่ยของแบบจำลองทั้ง 3 แบบ

ผลการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจากแบบจำลองภูมิอากาศ 3 แบบจำลองและค่าเฉลี่ยของแบบจำลองทั้ง 3 แบบ

ที่มา: ONEP & RU-CORE (2021)

สำหรับธุรกิจ หากธุรกิจไม่ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง นอกจากธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ธุรกิจยังมีความเสี่ยงรูปแบบอื่นอีกโดยเฉพาะการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและไม่สามารถดึงดูดนักลงทุน ปัจจุบันธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปเผชิญมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการทางการค้าที่ทางสหภาพยุโรปนำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าในสหภาพยุโรปต้องซื้อ CBAM Certificates ตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เกินจากค่า Benchmark ที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ ก็กำลังพิจารณาหรือคาดว่าจะใช้นโยบายที่คล้ายคลึงกับ CBAM เช่นกัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ประเทศเหล่านี้กำลังศึกษาและพัฒนานโยบายการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของตนเองเพื่อลดความเสี่ยงจากการนำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เนื่องจากสินค้าที่ธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ผลิตและส่งออกอาจมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกของสินค้า (embedded emissions) ที่สูงเมื่อเทียบค่า Benchmark ของสหภาพยุโรป ดังนั้น มาตรการ CBAM จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (decarbonization) ในกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ไปยังสหภาพยุโรป (Louise van Schaik, 2022) นอกจากนี้ ปัจจุบันมีธุรกิจทั่วโลกจำนวนกว่า 1,128 แห่ง1 ที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) หรือเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) การที่ธุรกิจเหล่านี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก2 โดยเฉพาะในส่วนของ Scope 3 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานได้นั้น ธุรกิจที่ป้อนวัตถุดิบหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย การดึงดูดนักลงทุนเป็นอีกแรงกดดันให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากพิจารณาเม็ดเงินลงทุนทั่วโลก พบว่าตลาดการลงทุนสีเขียวทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเติบโต จากระดับ 4.18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 เป็น 28.71 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2033 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 21.25% (รูปที่ 5) จากทั้ง 3 แรงกดดันข้างต้น ธุรกิจที่ไม่เร่งดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เสียลูกค้า และไม่สามารถดึงดูดนักลงทุน

รูปที่ 5: แนวโน้มของตลาดการลงทุนสีเขียวทั่วโลก

แนวโน้มของตลาดการลงทุนสีเขียวทั่วโลก

ที่มา: Spherical (2024)

ปัจจัยที่เป็นต้นตอของปัญหา “การไม่มองยาวด้านสิ่งแวดล้อม” ของธุรกิจ

หากพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจไม่มองยาวด้านสิ่งแวดล้อม สามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยภายในของธุรกิจและปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อม

ปัจจัยภายในของธุรกิจที่ทำให้ธุรกิจไม่มองยาว

  1. ความคาดหวังและแรงกดดันให้ธุรกิจสร้างผลลัพธ์ทางการเงินระยะสั้น การสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับองค์กรและมอบเงินปันผลสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผู้บริหารธุรกิจให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้นมากกว่าการดำเนินการที่ให้ประโยชน์ในระยะยาว (Tim Koller, 2017; Tang & Greenwald, 2016; Bartosz Olesinski, 2014) นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังเพิ่มความยาวของห่วงโซ่มูลค่า ความห่างระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและนักลงทุนทำให้มองธุรกิจผ่านตัวเลข เกิดค่านิยมสร้างการเติบโตของกำไรโดยไม่มีข้อแม้

  2. โครงสร้างการบริหาร (governance structure) แนวโน้มการที่องค์กรจ้างประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ที่เป็นคนนอกมาบริหารมากขึ้นโดย CEO คนนอกเหล่านี้มีวาระการดำรงตำแหน่งสั้น (short tenure) อีกทั้งโครงสร้างผลตอบแทนของ CEO ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของธุรกิจในระยะสั้น ส่งผลทำให้ธุรกิจมีแนวโน้มที่ไม่ดำเนินการอะไรที่เห็นผลในระยะยาว (Martin, 2015; Bair, 2011) เช่น การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D investment) การดำเนินการด้านความยั่งยืน

  3. การขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความจำเป็นในการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ธุรกิจขาดความสนใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Lauren Rickards, 2014) อย่างไรก็ดี หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการขาดข้อมูลหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อธุรกิจ เช่น ไม่ทราบว่าธุรกิจของตนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ฯลฯ

  4. การที่ธุรกิจขาดความรู้เกี่ยวกับการประเมินปริมาณคาร์บอนหรือคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint Organization: CFO) ธุรกิจอาจไม่ทราบเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ถูกต้องและแม่นยำ การที่ธุรกิจไม่มีข้อมูล CFO ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจส่งผลทำให้ยากสำหรับธุรกิจในการระบุจุดที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับธุรกิจในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Eleftheriadis & Anagnostopoulou, 2024)

รูปที่ 6: ปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจไม่มองยาวด้านสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจไม่มองยาวด้านสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อการไม่มองยาวด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ

  1. ปัญหาผลกระทบภายนอก (externality) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันยังไม่มีราคาที่ต้องจ่าย (Gillingham & Sweeney, 2010) ทั้ง ๆ ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การที่ธุรกิจไม่ถูกกำหนดให้ internalize ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการใช้มาตรการการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) อาจทำให้ธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากจนเกินไป มีผลทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายมากขึ้น (S. & Asakawa, 2016; Le & Azhgaliyeva, 2023; Luc Eyraud, 2013)

  2. ปัญหาความล้มเหลวในการร่วมมือกัน (coordination failure) ถึงแม้ว่าธุรกิจจะตระหนักถึงประโยชน์ร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่บ่อยครั้งที่ธุรกิจไม่สามารถร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งอาจเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจว่าธุรกิจอื่นจะร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

  3. การที่ธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุน ทั้งการตรวจวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การสอบทาน ตลอดจนการลงทุนในเทคโนโลยี ฯลฯ ดังนั้น ธุรกิจที่เผชิญข้อจำกัดทางการเงิน (financial constraint) อาจเลือกที่จะไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Costa, 2024)

  4. การที่ขาดแรงกดดันจากตลาดและคู่ค้าให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แรงกดดันจากตลาด คู่ค้า และนักลงทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ ในอดีต ผู้บริโภคอาจให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ผู้บริโภคอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมากนัก อีกทั้ง ไม่มีประเทศที่ใช้มาตรการทางการค้าซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเงื่อนไขสำคัญ เช่น มาตรการ CBAM นอกจากนี้ ในอดีต ธุรกิจไม่ได้รับแรงกดดันจากคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจำนวนองค์กรที่ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาว เช่น เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ฯลฯ ยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาวเหล่านี้มักกำหนดให้ธุรกิจต้องลดก๊าซเรือนกระจก Scope 3 หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานด้วย

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย

การ “มองยาวด้านสิ่งแวดล้อม” ของธุรกิจในบริบทของบทความนี้ หมายถึง การที่ธุรกิจคำนึงถึงเป้าหมายในระยะยาว และตระหนักถึงผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น การมีแผน นโยบาย หรือมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการของธุรกิจ การตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ การกำหนดเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยการมองยาวนั้นสามารถนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลง (transformative and substantive change) เพื่อให้ธุรกิจมั่นใจได้ว่าระยะเวลาในการตอบแทนของการลงทุนในระยะยาวคุ้มค่ากับการลงทุน

จากการศึกษาธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 718 แห่ง พบว่าเพียงร้อยละ 31 มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยธุรกิจที่จดทะเบียนใน SET ที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีสัดส่วนสูงกว่าธุรกิจที่จดทะเบียนใน mai (รูปที่ 7)

รูปที่ 7: สัดส่วนธุรกิจจดทะเบียนใน SET และ mai ที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่มา: SETSMART; วิเคราะห์โดยคณะผู้วิจัย

แรงกดดันจากตลาด ข้อจำกัดทางการเงิน (financial constraint) และสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ (financial health) มีอิทธิพลต่อการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างข้อจำกัดทางการเงิน (วัดจาก log ของสินทรัพย์) และแรงกดดันจากตลาด (วัดจากสัดส่วนของรายได้จากสหภาพยุโรป3) (รูปที่ 8) พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีข้อจำกัดทางการเงินต่ำและมีรายได้จากสหภาพยุโรปสูง มีแนวโน้มมีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า สังเกตได้จากจุดสีฟ้า (ธุรกิจที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เทียบกับจุดสีเทา (ธุรกิจที่ไม่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างข้อจำกัดทางการเงินและสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ (วัดจาก Altman Z-Score4) (Altman, 2024) (รูปที่ 9) พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีข้อจำกัดทางการเงินต่ำและมีสุขภาพทางการเงินดี มีแนวโน้มมีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า สังเกตได้จากจุดสีเขียว (ธุรกิจที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เทียบกับจุดสีเทา (ธุรกิจที่ไม่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ทั้งนี้ จำนวนร้อยละในแต่ละ quadrant ที่แบ่งจากค่าเฉลี่ยของแกน X และแกน Y แสดงสัดส่วนธุรกิจใน quadrant นั้นที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น quadrant ขวาบนของรูปที่ 9 แสดงว่า 50.6% ของธุรกิจที่สุขภาพทางการเงินดีและมีข้อจำกัดทางการเงินต่ำ มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รูปที่ 8: ความสัมพันธ์ระหว่างข้อจำกัดทางการเงินและสัดส่วนรายได้ของธุรกิจจากสหภาพยุโรป

ความสัมพันธ์ระหว่างข้อจำกัดทางการเงินและสัดส่วนรายได้ของธุรกิจจากสหภาพยุโรป

ที่มา: SETSMART และ SET Economic Exposure Universe; วิเคราะห์โดยคณะผู้วิจัย
รูปที่ 9: ความสัมพันธ์ระหว่างข้อจำกัดทางการเงินและสุขภาพทางการเงิน

ความสัมพันธ์ระหว่างข้อจำกัดทางการเงินและสุขภาพทางการเงิน

ที่มา: SETSMART; วิเคราะห์โดยคณะผู้วิจัย

ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ และการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ โดยใช้แบบจำลอง Probit พบว่า (1) ข้อจำกัดทางการเงินมีผลมากที่สุด (2) รองมาคือการได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM (3) อันดับสุดท้ายคือสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มีข้อจำกัดทางการเงินต่ำ เมื่อพิจารณาจากค่า marginal effects พบว่าธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหนึ่งเท่า มีแนวโน้มที่จะมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 10.23% สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Costa (2024) ส่วนธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากมาตรการ CBAM มีแนวโน้มที่จะมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 9.73% เทียบกับธุรกิจที่ไม่ได้รับแรงกดดัน และธุรกิจที่มีสุขภาพทางการเงินดีขึ้น 1 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 1.73 คะแนน และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.50 คะแนน) มีแนวโน้มที่จะมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 2.91% (ตารางที่ 1) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา สุขภาพทางการเงินของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มอ่อนแอลง (รูปที่ 10(a)) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจเหล่านี้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโควิด 19 (รูปที่ 10(b)) เมื่อพิจารณาร่วมกับค่า Tobin’s q ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังการระบาดของโควิด 19 (รูปที่ 1) ก็สะท้อนถึงข้อจำกัดของธุรกิจจดทะเบียนในการปรับตัว

ตารางที่ 1: ผลการประมาณค่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจโดยแบบจำลอง Probit
มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(1)(2)
Marginal effects
ข้อจำกัดทางการเงิน (log assets)0.3466***
(0.040)
0.1023***
(0.009)
สุขภาพทางการเงิน (Z-Score)0.0985**
(0.042)
0.0291**
(0.012)
ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM0.3298**
(0.154)
0.0973**
(0.045)
ค่าคงที่-6.2225***
(0.660)
จำนวนตัวอย่าง545545
Pseudo R-squared0.153
หมายเหตุ: *, **, *** มีนัยสำคัญที่ 10%, 5%, 1% ตามลำดับ และไม่รวมกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงินและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากไม่สามารถคำนวณค่า Altman Z-Score ได้ที่มา: SETSMART (ปี 2023) และ SET Economic Exposure Universe (ปี 2022); วิเคราะห์โดยคณะผู้วิจัย
รูปที่ 10: แนวโน้มสุขภาพการเงินของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ไทย และการก่อหนี้ของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ไทย
หมายเหตุ: สุขภาพทางการเงินวัดจาก Altman Z-Score และไม่รวมธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงินและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากไม่สามารถคำนวณค่า Altman Z-Score ได้ ส่วนการก่อหนี้วัดจากหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยส่วนสินทรัพย์รวม

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ก็เผชิญอุปสรรคในการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดย SME ที่ไม่มองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากขาดเงินทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขาดความรู้ในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์และการลดก๊าซเรือนกระจก และขาดความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อธุรกิจ (รูปที่ 11)

รูปที่ 11: ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำหรับ SME ในการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อม
ที่มา: ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็น SME โดยคณะผู้วิจัยโดยได้รับความอนุเคราะห์จาก สสว.

กลไกที่ช่วยให้ธุรกิจมองยาวด้านสิ่งแวดล้อม

การช่วยให้ธุรกิจมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการหลายกลไกพร้อมกัน ทั้งกลไกที่ช่วยจัดการกับปัจจัยภายในของธุรกิจและกลไกที่จัดการกับปัจจัยภายนอก ซึ่งกลไกต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนโดยหลายภาคส่วน รูปที่ 12 แสดงกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม โดยภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อธุรกิจและสังคม

ในส่วนของการจัดการกับปัญหาการขาดความรู้ด้านคาร์บอนฟุตพรินต์ของธุรกิจ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนให้ธุรกิจสามารถประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งทำให้การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ เช่น SET Carbon หรือการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO Platform) รวมถึงการสนับสนุนการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate literacy)

สำหรับปัญหาผลกระทบภายนอก (externality) การมีและบังคับใช้มาตรการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) จะช่วยให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงต้นทุนและผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจใช้มาตรการภาษีคาร์บอน (carbon tax) หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เสนอให้จัดเก็บราคาคาร์บอนที่ 25 เหรียญสหรัฐต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน สำหรับประเทศในกลุ่มรายได้น้อย และเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันสำหรับกลุ่มประเทศรายได้สูง (high-income countries) ภายในปี 2030 (Chateau, 2022; Parry, 2021) โดยในระยะเริ่มแรกการเก็บภาษีคาร์บอนนั้นสามารถเริ่มจากอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ได้แก่ กระบวนการผลิตสินค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนัก โดยการพิจารณาเลือกระหว่างระบบภาษีคาร์บอนหรือระบบ ETS นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละระบบ ภายใต้ระบบ ETS มีความผันผวนและไม่แน่นอนในแง่ของราคาเนื่องจากราคาถูกกำหนดจากปริมาณการประมูลการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้เงื่อนไขการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรัฐบาล (emission quota) ในขณะที่ภายใต้ระบบภาษีคาร์บอน มีความไม่แน่นอนในแง่ของราคาน้อยกว่า แต่มีข้อเสียในแง่ของความไม่แน่นอนด้านปริมาณคาร์บอนที่สามารถลดได้

การแก้ปัญหาการที่ธุรกิจเผชิญข้อจำกัดทางการเงินและไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรสนับสนุนให้ธุรกิจเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินโดยเฉพาะการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) ตัวอย่างเช่น สินเชื่อสีเขียว ตราสารหนี้สีเขียว/ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability-linked bond) กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change fund) รวมถึง supply chain finance ที่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ธุรกิจขนาดใหญ่ใช้สนับสนุนคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยช่วยให้คู่ค้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าปกติ ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นเงื่อนไขให้คู่ค้าปฏิบัติตามเพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินนี้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

รูปที่ 12: กลไกที่ช่วยให้ธุรกิจมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม

(กลไกที่ช่วยให้ธุรกิจมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินการในหลายส่วนที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมองยาวด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการกำหนดนิยามและหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำภายใต้ Thailand Taxonomy การสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวโดยสถาบันการเงินและตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในตลาดทุน การพัฒนากลไกภาษีคาร์บอนที่เก็บบนน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยธุรกิจในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร อย่างไรก็ดี การดำเนินงานบางส่วนยังประสบกับข้อจำกัด เช่น อัตราภาษีคาร์บอนซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างต่ำและอาจไม่จูงใจให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ SME ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ SME ยังขาดความรู้ (know-how) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องการที่ปรึกษาหรือ technical advisor หรือพี่เลี้ยง

ถึงแม้ว่าการบูรณาการหลายกลไกไปพร้อมกันเพื่อช่วยให้ธุรกิจมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและมีความท้าทายสูง แต่ธุรกิจเองสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยให้ตัวเองมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม โดยควรเริ่มดำเนินการจากการเข้าใจสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ ทราบคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร และดำเนินการผ่านแนวทาง 4P ได้แก่

  • การกำหนดเป้า (pledge) : ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
  • การวางแผน (plan) : กำหนดแนวทาง/กลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจ
  • การดำเนินการ (proceed) : ลงมือดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • การรายงานผล (publish) : เปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมาย

บทส่งท้าย

การที่บรรเทาหรือป้องกัน “ปัญหาหนี้ด้านสิ่งแวดล้อม” ของภาคธุรกิจ จำเป็นต้องอาศัยทั้งการระเบิดจากข้างในโดยเริ่มจากการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเอง ทั้งการเสริมสร้างความตระหนักให้กับทั้งผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรให้เห็นถึงความสำคัญของการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างความรู้ภายในองค์กรในด้านต่าง ๆ ทั้งการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ การเก็บข้อมูล ตลอดจนแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงจากภายนอกก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยสามารถเริ่มจากการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่เอื้อต่อการปรับตัวของธุรกิจ เช่น การออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่ส่งเสริมให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการให้สิ่งจูงใจทางการเงิน เช่น เครดิตภาษีหรือการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจมีการลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเผชิญกับความท้าทายที่มาพร้อมกับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

Altman, E. I. (2024). Financial ratios, discriminant analysis and the prediction of corporate bankruptcy. The Journal of Finance, 23(4), 589–609.
Bair, S. (2011). Lessons of the Financial Crisis: The Dangers of Short-Termism.
Bartosz Olesinski. (2014). Short-termism in business: causes, mechanisms and consequences.
Chabris, D. I. L., C. F., & Schuldt, J. P. (n.d.). Intertemporal Choice.
Chateau. (2022). Why countries must cooperate on carbon prices.
Costa. (2024). The role of financing constraints and environmental policy on green investment. Economics Letters, 239(111741).
Eleftheriadis, I., & Anagnostopoulou, E. (2024). Developing a Tool for Calculating the Carbon Footprint in SMEs. Sustainability, 16(5).
EPA, U. (2024). Climate Change Indicators: Greenhouse Gases.
Gillingham, K., & Sweeney, J. (2010). Market Failure and the Structure of Externalities.
Hayashi, F. (1982). Tobin’s marginal q and average q: A neoclassical interpretation. Econometrica, 50(1), 213–224.
Lauren Rickards, Y. K., John Wiseman. (2014). Barriers to effective climate change mitigation: the case of senior government and business decision makers. WIREs Climate Change, 5(6).
Le, H., & Azhgaliyeva, D. (2023). Carbon pricing and firms’ GHG emissions: Firm-level empirical evidence from East Asia. Journal of Cleaner Production, 429(139504).
Louise van Schaik, P. P., Giulia Cretti. (2022). The CBAM Effect: how the world is responding to the EU’s new climate stick.
Luc Eyraud, A. W., Benedict Clements. (2013). Green investment: Trends and determinants. Energy Policy, 60, 852–865.
Martin, R. L. (2015). Yes, Short-Termism Really Is a Problem.
ONEP, & RU-CORE. (2021). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ: การพัฒนาระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.
Parry. (2021). Proposal for an international carbon price floor among large emitters.
S., K., & Asakawa, K. (2016). Carbon Pricing: A Key Instrument to Facilitate Low Carbon Transition.
Spherical. (2024). Global Green Finance Market Report.
Tang, K., & Greenwald, C. (2016). Long-termism Versus Short-termism: Time for the Pendulum to Shift?
Thampanishvong, K., Attavanich, W., Limmeechokchai, B., & Limsakul, A. (2021). การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของไทย.
Tim Koller, S. R., James Manyika. (2017). The case against corporate short termism.
Tobin, J. (1969). A general equilibrium approach to monetary theory. Journal of Money, Credit and Banking, 1(1), 15–29.
Tungnirun, M. (n.d.). การรายงานก๊าซเรือนกระจกเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน.

  1. ข้อมูลจาก Net Zero Tracker ณ วันที่ 13 กันยายน 2567↩
  2. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยธุรกิจสามารถจำแนกเป็น 3 Scopes ได้แก่ Scope 1 คือ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทางตรงจากกระบวนการผลิตหรือการดำ เนินงานโดยตรงขององค์กร ทั้งการเผาไหม้อยู่กับที่ (เช่น เครื่องจักรในการผลิต) การเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ (เช่น รถโดยสาร) และการรั่วไหลและช่องทางอื่นๆ Scope 2 คือ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนหรือไอน้ำ และ Scope 3 คือ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทางอ้อมด้านอื่นๆ เช่น การเดินทางของพนักงานหรือของหน่วยงานภายนอกที่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจ (Tungnirun, n.d.)↩
  3. รายได้จากต่างประเทศ มาจากฐานข้อมูล Economic Exposure Universe ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการการศึกษาของฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยรายได้จากต่างประเทศประกอบด้วยรายได้ที่เกิดขึ้นจากส่วนของธุรกิจที่ประกอบกิจการในต่างประเทศหรือรายได้จากการส่งออกจากฐานการผลิตในประเทศไทย↩
  4. สุขภาพทางการเงินในบทความนี้วัดจากค่า Altman Z-score (Altman, 2024) ซึ่งคำนวณจาก 5 ปัจจัย โดยใช้สูตรดังนี้ 1.2 x (สินทรัพย์หมุนเวียน – หนี้สินหมุนเวียน)/สินทรัพย์รวม + 1.4 x กำไรสะสม/สินทรัพย์รวม + 3.3 x กำไรจากการดำเนินงาน/สินทรัพย์รวม + 0.6 x มูลค่าตามราคาตลาด/หนี้สินรวม + 1.0 x รายได้/สินทรัพย์รวม↩
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
คณิสร์ แสงโชติ
คณิสร์ แสงโชติ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถลัชนันท์ ตันติเวชวุฒิกุล
ถลัชนันท์ ตันติเวชวุฒิกุล
นักวิจัยอิสระ
Topics: Environmental and Ecological EconomicsCorporate Finance
Tags: environmental debtsbusinessshort-termism
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email