ธุรกิจกับ “หนี้” ด้านสิ่งแวดล้อม
excerpt
ธุรกิจต้องบริหารจัดการทรัพยากรข้ามช่วงเวลาภายใต้ข้อจำกัด การนำทรัพยากรในอนาคตมาใช้ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยให้ธุรกิจดีทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธุรกิจนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างผลกำไรในปัจจุบันมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในอนาคตจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ นำไปสู่ปัญหา “หนี้” ด้านสิ่งแวดล้อม บทความนี้พยายามทำความเข้าใจต้นตอของปัญหา “หนี้” ด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาการมองสั้นด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ รวมถึงนำเสนอกลไกที่จะช่วยให้ธุรกิจมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม
ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีการตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากรข้ามช่วงเวลา (intertemporal choices) และการตัดสินใจที่คำนึงถึงประโยชน์ในปัจจุบันและผลกระทบต่ออนาคตอย่างสมดุลจะทำให้ธุรกิจมีผลกำไรที่สมเหตุสมผลในระยะสั้นและมีความยั่งยืนในอนาคต ตัวอย่างการตัดสินใจข้ามช่วงเวลาของธุรกิจ ได้แก่ การตัดสินใจลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การนำทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ เชื้อเพลิงฟอสซิล มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ การลงทุนในการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ การตัดสินใจของธุรกิจในวันนี้มีนัยและผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคต (Chabris & Schuldt, n.d.) การนำทรัพยากรมาใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจในปัจจุบันในระดับที่เหมาะสมโดยใช้ “หนี้” เป็นกลไกในการช่วยเคลื่อนย้ายทรัพยากรข้ามช่วงเวลา จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถสร้างมูลค่าสูงสุดและมอบเงินปันผลที่สมเหตุสมผลให้กับผู้ถือหุ้น และธุรกิจสามารถมีความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เช่น ธุรกิจที่ลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ การลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสินค้าและบริการคาร์บอนต่ำ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน (competitive edge) เป็นธุรกิจที่โดดเด่นทั้งในมุมมองของลูกค้า ธุรกิจคู่ค้า ตลอดจนนักลงทุน ดังนั้น การตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรข้ามช่วงเวลาของธุรกิจที่เหมาะสมนั้นจะส่งผลดีกับธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอย่างยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการบริหารจัดการทรัพยากรของธุรกิจไทยในปัจจุบัน พบว่าในภาพรวมธุรกิจไทยยังลงทุนต่ำและมีแรงจูงใจในการลงทุนน้อยลง สิ่งนี้วัดได้จากค่า Tobin’s q (Tobin, 1969; Hayashi, 1982) ซึ่งเป็นอัตราส่วนมูลค่าตลาดของธุรกิจเปรียบเทียบกับต้นทุนทดแทนของสินทรัพย์ ค่านี้สะท้อนมุมมองของตลาดที่เห็นว่าธุรกิจมีมูลค่ามากกว่าหรือน้อยกว่าต้นทุนในการทดแทนสินทรัพย์ (เช่น อาคาร เครื่องจักร) หาก q > 1 หมายความว่าธุรกิจมีมูลค่าในตลาดมากกว่าต้นทุนในการทดแทนสินทรัพย์ ซึ่งบ่งชี้ว่าธุรกิจถูกคาดหวังว่าจะเติบโต สร้างนวัตกรรม หรือทำกำไรได้มากขึ้น ธุรกิจที่มีค่า Tobin’s q สูงอาจได้รับการสนับสนุนให้ลงทุนในธุรกิจมากขึ้น เพราะตลาดเชื่อว่าผลตอบแทนในอนาคตจะสูงกว่าต้นทุนการลงทุนใหม่ ค่านี้จึงเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการตัดสินใจลงทุน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ค่า Tobin’s q ของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทรงตัว (รูปที่ 1) และลดลงอย่างต่อเนื่องหลังการระบาดของโควิด 19 สะท้อนแรงจูงใจในการลงทุนที่ลดลง
ในขณะเดียวกัน การใช้พลังงานในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางธุรกิจทั้งการผลิตสินค้าและบริการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น (รูปที่ 2) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกมีความรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนที่สูงขึ้นและสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลง (Thampanishvong et al., 2021; EPA, 2024) รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก (รูปที่ 3a) และประเทศไทย (รูปที่ 3b) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือปี ค.ศ. 1890 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าสภาพภูมิอากาศโลกและของไทยร้อนขึ้น
การที่ธุรกิจนำเชื้อเพลิงฟอสซิลและทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิด “หนี้ด้านสิ่งแวดล้อม” โดยแนวคิดของหนี้ด้านสิ่งแวดล้อมไม่แตกต่างจากหนี้ประเภทอื่น กล่าวคือหนี้ไม่ใช่ของฟรี แต่มาพร้อมกับดอกเบี้ยเสมอ หนี้ด้านสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน ต้องชดใช้ดอกเบี้ยในรูปแบบของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว โดยธุรกิจและประชาชนในยุคนี้แบกรับผลกระทบบางส่วน แต่ธุรกิจในอนาคตและคนรุ่นหลังต้องแบกรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงกว่า ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน (RU-CORE) ได้คาดการณ์แนวโน้มสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคตและชี้ให้เห็นว่าภายใต้ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูง (RCP8.5) อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 3–4 องศาเซลเซียสในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 ดังแสดงในรูปที่ 4 ซึ่งผลที่ตามมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยคือการเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และร้อนสุดขั้วบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น โดยหลายพื้นที่ของประเทศไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วดังกล่าว
สำหรับธุรกิจ หากธุรกิจไม่ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง นอกจากธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ธุรกิจยังมีความเสี่ยงรูปแบบอื่นอีกโดยเฉพาะการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและไม่สามารถดึงดูดนักลงทุน ปัจจุบันธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปเผชิญมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการทางการค้าที่ทางสหภาพยุโรปนำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าในสหภาพยุโรปต้องซื้อ CBAM Certificates ตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เกินจากค่า Benchmark ที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ ก็กำลังพิจารณาหรือคาดว่าจะใช้นโยบายที่คล้ายคลึงกับ CBAM เช่นกัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ประเทศเหล่านี้กำลังศึกษาและพัฒนานโยบายการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของตนเองเพื่อลดความเสี่ยงจากการนำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เนื่องจากสินค้าที่ธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ผลิตและส่งออกอาจมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกของสินค้า (embedded emissions) ที่สูงเมื่อเทียบค่า Benchmark ของสหภาพยุโรป ดังนั้น มาตรการ CBAM จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (decarbonization) ในกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ไปยังสหภาพยุโรป (Louise van Schaik, 2022) นอกจากนี้ ปัจจุบันมีธุรกิจทั่วโลกจำนวนกว่า 1,128 แห่ง1 ที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) หรือเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) การที่ธุรกิจเหล่านี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก2 โดยเฉพาะในส่วนของ Scope 3 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานได้นั้น ธุรกิจที่ป้อนวัตถุดิบหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย การดึงดูดนักลงทุนเป็นอีกแรงกดดันให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากพิจารณาเม็ดเงินลงทุนทั่วโลก พบว่าตลาดการลงทุนสีเขียวทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเติบโต จากระดับ 4.18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 เป็น 28.71 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2033 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 21.25% (รูปที่ 5) จากทั้ง 3 แรงกดดันข้างต้น ธุรกิจที่ไม่เร่งดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เสียลูกค้า และไม่สามารถดึงดูดนักลงทุน
หากพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจไม่มองยาวด้านสิ่งแวดล้อม สามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยภายในของธุรกิจและปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อม
ความคาดหวังและแรงกดดันให้ธุรกิจสร้างผลลัพธ์ทางการเงินระยะสั้น การสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับองค์กรและมอบเงินปันผลสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผู้บริหารธุรกิจให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้นมากกว่าการดำเนินการที่ให้ประโยชน์ในระยะยาว (Tim Koller, 2017; Tang & Greenwald, 2016; Bartosz Olesinski, 2014) นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังเพิ่มความยาวของห่วงโซ่มูลค่า ความห่างระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและนักลงทุนทำให้มองธุรกิจผ่านตัวเลข เกิดค่านิยมสร้างการเติบโตของกำไรโดยไม่มีข้อแม้
โครงสร้างการบริหาร (governance structure) แนวโน้มการที่องค์กรจ้างประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ที่เป็นคนนอกมาบริหารมากขึ้นโดย CEO คนนอกเหล่านี้มีวาระการดำรงตำแหน่งสั้น (short tenure) อีกทั้งโครงสร้างผลตอบแทนของ CEO ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของธุรกิจในระยะสั้น ส่งผลทำให้ธุรกิจมีแนวโน้มที่ไม่ดำเนินการอะไรที่เห็นผลในระยะยาว (Martin, 2015; Bair, 2011) เช่น การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D investment) การดำเนินการด้านความยั่งยืน
การขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความจำเป็นในการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ธุรกิจขาดความสนใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Lauren Rickards, 2014) อย่างไรก็ดี หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการขาดข้อมูลหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อธุรกิจ เช่น ไม่ทราบว่าธุรกิจของตนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ฯลฯ
การที่ธุรกิจขาดความรู้เกี่ยวกับการประเมินปริมาณคาร์บอนหรือคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint Organization: CFO) ธุรกิจอาจไม่ทราบเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ถูกต้องและแม่นยำ การที่ธุรกิจไม่มีข้อมูล CFO ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจส่งผลทำให้ยากสำหรับธุรกิจในการระบุจุดที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับธุรกิจในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Eleftheriadis & Anagnostopoulou, 2024)
ปัญหาผลกระทบภายนอก (externality) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันยังไม่มีราคาที่ต้องจ่าย (Gillingham & Sweeney, 2010) ทั้ง ๆ ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การที่ธุรกิจไม่ถูกกำหนดให้ internalize ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการใช้มาตรการการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) อาจทำให้ธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากจนเกินไป มีผลทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายมากขึ้น (S. & Asakawa, 2016; Le & Azhgaliyeva, 2023; Luc Eyraud, 2013)
ปัญหาความล้มเหลวในการร่วมมือกัน (coordination failure) ถึงแม้ว่าธุรกิจจะตระหนักถึงประโยชน์ร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่บ่อยครั้งที่ธุรกิจไม่สามารถร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งอาจเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจว่าธุรกิจอื่นจะร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การที่ธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุน ทั้งการตรวจวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การสอบทาน ตลอดจนการลงทุนในเทคโนโลยี ฯลฯ ดังนั้น ธุรกิจที่เผชิญข้อจำกัดทางการเงิน (financial constraint) อาจเลือกที่จะไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Costa, 2024)
การที่ขาดแรงกดดันจากตลาดและคู่ค้าให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แรงกดดันจากตลาด คู่ค้า และนักลงทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ ในอดีต ผู้บริโภคอาจให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ผู้บริโภคอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมากนัก อีกทั้ง ไม่มีประเทศที่ใช้มาตรการทางการค้าซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเงื่อนไขสำคัญ เช่น มาตรการ CBAM นอกจากนี้ ในอดีต ธุรกิจไม่ได้รับแรงกดดันจากคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจำนวนองค์กรที่ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาว เช่น เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ฯลฯ ยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาวเหล่านี้มักกำหนดให้ธุรกิจต้องลดก๊าซเรือนกระจก Scope 3 หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานด้วย
การ “มองยาวด้านสิ่งแวดล้อม” ของธุรกิจในบริบทของบทความนี้ หมายถึง การที่ธุรกิจคำนึงถึงเป้าหมายในระยะยาว และตระหนักถึงผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น การมีแผน นโยบาย หรือมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการของธุรกิจ การตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ การกำหนดเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยการมองยาวนั้นสามารถนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลง (transformative and substantive change) เพื่อให้ธุรกิจมั่นใจได้ว่าระยะเวลาในการตอบแทนของการลงทุนในระยะยาวคุ้มค่ากับการลงทุน
จากการศึกษาธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 718 แห่ง พบว่าเพียงร้อยละ 31 มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยธุรกิจที่จดทะเบียนใน SET ที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีสัดส่วนสูงกว่าธุรกิจที่จดทะเบียนใน mai (รูปที่ 7)
แรงกดดันจากตลาด ข้อจำกัดทางการเงิน (financial constraint) และสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ (financial health) มีอิทธิพลต่อการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างข้อจำกัดทางการเงิน (วัดจาก log ของสินทรัพย์) และแรงกดดันจากตลาด (วัดจากสัดส่วนของรายได้จากสหภาพยุโรป3) (รูปที่ 8) พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีข้อจำกัดทางการเงินต่ำและมีรายได้จากสหภาพยุโรปสูง มีแนวโน้มมีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า สังเกตได้จากจุดสีฟ้า (ธุรกิจที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เทียบกับจุดสีเทา (ธุรกิจที่ไม่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างข้อจำกัดทางการเงินและสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ (วัดจาก Altman Z-Score4) (Altman, 2024) (รูปที่ 9) พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีข้อจำกัดทางการเงินต่ำและมีสุขภาพทางการเงินดี มีแนวโน้มมีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า สังเกตได้จากจุดสีเขียว (ธุรกิจที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เทียบกับจุดสีเทา (ธุรกิจที่ไม่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ทั้งนี้ จำนวนร้อยละในแต่ละ quadrant ที่แบ่งจากค่าเฉลี่ยของแกน X และแกน Y แสดงสัดส่วนธุรกิจใน quadrant นั้นที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น quadrant ขวาบนของรูปที่ 9 แสดงว่า 50.6% ของธุรกิจที่สุขภาพทางการเงินดีและมีข้อจำกัดทางการเงินต่ำ มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ และการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ โดยใช้แบบจำลอง Probit พบว่า (1) ข้อจำกัดทางการเงินมีผลมากที่สุด (2) รองมาคือการได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM (3) อันดับสุดท้ายคือสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มีข้อจำกัดทางการเงินต่ำ เมื่อพิจารณาจากค่า marginal effects พบว่าธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหนึ่งเท่า มีแนวโน้มที่จะมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 10.23% สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Costa (2024) ส่วนธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากมาตรการ CBAM มีแนวโน้มที่จะมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 9.73% เทียบกับธุรกิจที่ไม่ได้รับแรงกดดัน และธุรกิจที่มีสุขภาพทางการเงินดีขึ้น 1 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 1.73 คะแนน และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.50 คะแนน) มีแนวโน้มที่จะมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 2.91% (ตารางที่ 1) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา สุขภาพทางการเงินของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มอ่อนแอลง (รูปที่ 10(a)) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจเหล่านี้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโควิด 19 (รูปที่ 10(b)) เมื่อพิจารณาร่วมกับค่า Tobin’s q ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังการระบาดของโควิด 19 (รูปที่ 1) ก็สะท้อนถึงข้อจำกัดของธุรกิจจดทะเบียนในการปรับตัว
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ก็เผชิญอุปสรรคในการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดย SME ที่ไม่มองยาวด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากขาดเงินทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขาดความรู้ในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์และการลดก๊าซเรือนกระจก และขาดความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อธุรกิจ (รูปที่ 11)
การช่วยให้ธุรกิจมองยาวด้านสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการหลายกลไกพร้อมกัน ทั้งกลไกที่ช่วยจัดการกับปัจจัยภายในของธุรกิจและกลไกที่จัดการกับปัจจัยภายนอก ซึ่งกลไกต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนโดยหลายภาคส่วน รูปที่ 12 แสดงกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม โดยภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อธุรกิจและสังคม
ในส่วนของการจัดการกับปัญหาการขาดความรู้ด้านคาร์บอนฟุตพรินต์ของธุรกิจ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนให้ธุรกิจสามารถประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งทำให้การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ เช่น SET Carbon หรือการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO Platform) รวมถึงการสนับสนุนการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate literacy)
สำหรับปัญหาผลกระทบภายนอก (externality) การมีและบังคับใช้มาตรการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) จะช่วยให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงต้นทุนและผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจใช้มาตรการภาษีคาร์บอน (carbon tax) หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS)
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เสนอให้จัดเก็บราคาคาร์บอนที่ 25 เหรียญสหรัฐต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน สำหรับประเทศในกลุ่มรายได้น้อย และเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันสำหรับกลุ่มประเทศรายได้สูง (high-income countries) ภายในปี 2030 (Chateau, 2022; Parry, 2021) โดยในระยะเริ่มแรกการเก็บภาษีคาร์บอนนั้นสามารถเริ่มจากอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ได้แก่ กระบวนการผลิตสินค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนัก โดยการพิจารณาเลือกระหว่างระบบภาษีคาร์บอนหรือระบบ ETS นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละระบบ ภายใต้ระบบ ETS มีความผันผวนและไม่แน่นอนในแง่ของราคาเนื่องจากราคาถูกกำหนดจากปริมาณการประมูลการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้เงื่อนไขการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรัฐบาล (emission quota) ในขณะที่ภายใต้ระบบภาษีคาร์บอน มีความไม่แน่นอนในแง่ของราคาน้อยกว่า แต่มีข้อเสียในแง่ของความไม่แน่นอนด้านปริมาณคาร์บอนที่สามารถลดได้
การแก้ปัญหาการที่ธุรกิจเผชิญข้อจำกัดทางการเงินและไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรสนับสนุนให้ธุรกิจเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินโดยเฉพาะการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) ตัวอย่างเช่น สินเชื่อสีเขียว ตราสารหนี้สีเขียว/ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability-linked bond) กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change fund) รวมถึง supply chain finance ที่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ธุรกิจขนาดใหญ่ใช้สนับสนุนคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยช่วยให้คู่ค้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าปกติ ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นเงื่อนไขให้คู่ค้าปฏิบัติตามเพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินนี้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินการในหลายส่วนที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมองยาวด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการกำหนดนิยามและหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำภายใต้ Thailand Taxonomy การสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวโดยสถาบันการเงินและตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในตลาดทุน การพัฒนากลไกภาษีคาร์บอนที่เก็บบนน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยธุรกิจในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร อย่างไรก็ดี การดำเนินงานบางส่วนยังประสบกับข้อจำกัด เช่น อัตราภาษีคาร์บอนซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างต่ำและอาจไม่จูงใจให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ SME ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ SME ยังขาดความรู้ (know-how) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องการที่ปรึกษาหรือ technical advisor หรือพี่เลี้ยง
ถึงแม้ว่าการบูรณาการหลายกลไกไปพร้อมกันเพื่อช่วยให้ธุรกิจมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและมีความท้าทายสูง แต่ธุรกิจเองสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยให้ตัวเองมองยาวขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม โดยควรเริ่มดำเนินการจากการเข้าใจสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ ทราบคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร และดำเนินการผ่านแนวทาง 4P ได้แก่
- การกำหนดเป้า (pledge) : ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
- การวางแผน (plan) : กำหนดแนวทาง/กลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจ
- การดำเนินการ (proceed) : ลงมือดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การรายงานผล (publish) : เปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมาย
การที่บรรเทาหรือป้องกัน “ปัญหาหนี้ด้านสิ่งแวดล้อม” ของภาคธุรกิจ จำเป็นต้องอาศัยทั้งการระเบิดจากข้างในโดยเริ่มจากการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเอง ทั้งการเสริมสร้างความตระหนักให้กับทั้งผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรให้เห็นถึงความสำคัญของการมองยาวด้านสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างความรู้ภายในองค์กรในด้านต่าง ๆ ทั้งการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ การเก็บข้อมูล ตลอดจนแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงจากภายนอกก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยสามารถเริ่มจากการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่เอื้อต่อการปรับตัวของธุรกิจ เช่น การออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่ส่งเสริมให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการให้สิ่งจูงใจทางการเงิน เช่น เครดิตภาษีหรือการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจมีการลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเผชิญกับความท้าทายที่มาพร้อมกับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
- ข้อมูลจาก Net Zero Tracker ณ วันที่ 13 กันยายน 2567↩
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยธุรกิจสามารถจำแนกเป็น 3 Scopes ได้แก่ Scope 1 คือ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทางตรงจากกระบวนการผลิตหรือการดำ เนินงานโดยตรงขององค์กร ทั้งการเผาไหม้อยู่กับที่ (เช่น เครื่องจักรในการผลิต) การเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ (เช่น รถโดยสาร) และการรั่วไหลและช่องทางอื่นๆ Scope 2 คือ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนหรือไอน้ำ และ Scope 3 คือ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทางอ้อมด้านอื่นๆ เช่น การเดินทางของพนักงานหรือของหน่วยงานภายนอกที่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจ (Tungnirun, n.d.)↩
- รายได้จากต่างประเทศ มาจากฐานข้อมูล Economic Exposure Universe ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการการศึกษาของฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยรายได้จากต่างประเทศประกอบด้วยรายได้ที่เกิดขึ้นจากส่วนของธุรกิจที่ประกอบกิจการในต่างประเทศหรือรายได้จากการส่งออกจากฐานการผลิตในประเทศไทย↩
- สุขภาพทางการเงินในบทความนี้วัดจากค่า Altman Z-score (Altman, 2024) ซึ่งคำนวณจาก 5 ปัจจัย โดยใช้สูตรดังนี้ 1.2 x (สินทรัพย์หมุนเวียน – หนี้สินหมุนเวียน)/สินทรัพย์รวม + 1.4 x กำไรสะสม/สินทรัพย์รวม + 3.3 x กำไรจากการดำเนินงาน/สินทรัพย์รวม + 0.6 x มูลค่าตามราคาตลาด/หนี้สินรวม + 1.0 x รายได้/สินทรัพย์รวม↩