มาตรการ CBAM กระทบการส่งออกไทยแค่ไหน อย่างไร
excerpt
มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นมาตรการซึ่งทางสหภาพยุโรปสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรปมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและป้องกันปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน (carbon leakages) โดยกำหนดราคาคาร์บอนผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง ดังนั้น ผู้ผลิตในประเทศคู่ค้าจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตรวจวัด ทวนสอบ และจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอน รวมถึงดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ปล่อยคาร์บอนลดลงเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน บทความนี้ต้องการฉายภาพให้เห็นว่าสินค้าส่งออกของไทยมีความเสี่ยง (exposure) ต่อ CBAM มากน้อยเพียงใด และผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมตัวอย่างไรเพื่อลดผลกระทบของ CBAM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามามีบทบาทอย่างไรในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทย
CBAM เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญภายใต้นโยบาย European Green Deal ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในสหภาพยุโรปและประเทศคู่ค้า และบรรเทาปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกชุดข้อเสนอนโยบายและกฎหมายด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศ “Fit for 55” โดยเป้าหมายของร่างกฎหมายดังกล่าวคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 55 (จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 1990) ภายในปี 2030 (European Commission, 2021) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางต้นทุนราคาคาร์บอนของสินค้าที่ผลิตภายในและภายนอกสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ CBAM ยังต้องการป้องกันปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน (carbon leakages) ซึ่งเกิดจากการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจากในสหภาพยุโรปซึ่งมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นไปยังกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว (Aichele & Felbermayr, 2015)
CBAM มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 โดยในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition period) เน้นการรายงานข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกและผู้นำเข้าสินค้าต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM ในต้นปี 2026 รัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย CBAM เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2023 และอยู่ระหว่างออกกฎหมายลำดับรอง โดยระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2023 – 31 ธันวาคม 2025 ผู้นำเข้าสินค้าไปในสหภาพยุโรปมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า (embedded emissions) แต่ทางสหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องซื้อ CBAM certificate ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2026 เป็นต้นไป โดยในช่วงแรกสินค้าที่เข้าข่าย CBAM ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็ก/เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า และ ไฮโดรเจน (European Commission, 2021)
สินค้าที่มี embedded emissions สูงในกระบวนการผลิตเมื่อเทียบกับค่ากลางความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (benchmark value) ที่กำหนดโดยสหภาพยุโรปจะต้องเสียค่าธรรมเนียม CBAM โดยผู้นำเข้าสินค้าไปในสหภาพยุโรปจำเป็นต้องซื้อเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียม (CBAM certificate) ตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกินกว่า benchmark value โดยราคาของ CBAM certificate อ้างอิงจากราคาประมูลใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU ETS allowances) เฉลี่ยรายสัปดาห์ย้อนหลังใน EU Emissions Trading System (EU ETS) (รูปที่ 1) โดย allowance 1 หน่วย ให้สิทธิผู้ประกอบการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยหากพิจารณาค่าเฉลี่ยรายวันของราคา allowance ใน EU ETS ตั้งแต่ต้นปี 2013 อยู่ที่ต่ำกว่า 20 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในขณะที่ราคาประมูลเฉลี่ยรายวันในช่วงปี 2021–2023 อยู่ที่ 60–80 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่าราคา allowance ใน EU ETS มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ที่มา: European Energy Exchange
หลักการการดำเนินงานของ EU ETS คือระบบ Cap-and-Trade ซึ่งเป็นการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม แล้วจึงจัดสรรสิทธิในรูปของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ (allowance) ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าสิทธิที่ได้รับ ก็สามารถนำสิทธิส่วนเกินไปขายใน EU ETS ให้แก่ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินสิทธิที่ได้รับ ในทางกลับกัน ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรรก็จะต้องซื้อสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้ยังดำเนินการผลิตต่อไปได้1 ทางสหภาพยุโรปมีการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้เพดานที่กำหนดให้กับผู้ผลิตในรูปแบบของใบอนุญาต โดยมีทั้งผ่านระบบการประมูลและผ่านการให้เปล่า (free allowances) เพื่อให้ผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยากยังคงมีความสามารถในการแข่งขันได้ โดยเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (cap) นั้นจะลดลงในทุกปีซึ่งส่งผลให้จำนวนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมีน้อยลงและเพิ่มต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิต ซึ่งสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องหาวิธีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า ทางสหภาพยุโรปได้มีแผนในการลดการให้ free allowances แก่ผู้ประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยกเลิกการให้ free allowances ในปี 2034 (รูปที่ 2) ซึ่งการที่ free allowances และ cap ลดลงนั้น จะส่งผลทำให้ราคาประมูล allowance ใน EU ETS มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ
ที่มา: ICAP
มาตรการปรับค่าคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Border Carbon Adjustment: BCA) ไม่ได้จำกัดแค่เพียง CBAM ในสหภาพยุโรปเท่านั้น ประเทศคู่ค้าหลักของไทยหลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาออก BCA ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ CBAM โดยคาดว่าจะครอบคลุมสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทย ตัวอย่างประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณาออก BCA เช่น
- สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) โดยคาดว่าจะครอบคลุมสินค้า 10 ประเภทตามระบบการจัดกลุ่มทางด้านอุตสาหกรรมของอเมริกาเหนือ (North American Industrial Classification System: NAICS) ได้แก่ การผลิตปิโตรเลียมและโรงกลั่น ปิโตรเคมี แก้ว เยื่อกระดาษ เอทานอล กรดอะดิปิก ปูนขาว (lime) หรือยิปซัม ปุ๋ย ซีเมนต์ เหล็ก/เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม
- สหราชอาณาจักร มีการพิจารณาออก BCA เช่นกัน ภายใต้ชื่อ UK CBAM โดยคาดว่าจะครอบคลุมสินค้า ได้แก่ อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เซรามิก ปุ๋ย แก้ว ไฮโดรเจน และเหล็ก/เหล็กกล้า
- ออสเตรเลีย คาดว่า BCA อาจครอบคลุมสินค้า 2 ประเภทหลัก ได้แก่ เหล็ก/เหล็กกล้า และซีเมนต์ ในช่วงแรก
- แคนาดา ยังไม่มีความชัดเจนว่า BCA จะครอบคลุมสินค้าอะไรบ้าง แต่คาดว่ากลุ่มสินค้ามีแนวโน้มที่จะใกล้เคียงกับสินค้าที่ครอบคลุมของประเทศที่ทยอยออกมาตรการมาก่อนหน้า
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องติดตามผลกระทบของ BCA ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ของไทยต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมูลค่าสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะครอบคลุมภายใต้ CBAM ของสหภาพยุโรปและ BCA ของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ มีสัดส่วนประมาณ 1.2% ของมูลค่าสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมด ดังนั้น ภาคส่งออกจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงต่อ CBAM ของสหภาพยุโรป และ BCA ของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ในระยะข้างหน้า
ในการวิเคราะห์ผลกระทบของ CBAM ต่อการส่งออกของไทยในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ผลกระทบขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่ การเปิดรับความเสี่ยง (exposure) และระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (emission intensity) ของสินค้าส่งออกนั้น ๆ โดย exposure ต่อ CBAM นั้น อาจพิจารณาจากปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าที่อยู่ในขอบเขตของ CBAM ไปยังประเทศที่มีการใช้ CBAM หรือ BCA ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ การวิเคราะห์ผลกระทบจำเป็นต้องคำนึงถึง emission intensity ของสินค้าที่อยู่ในขอบเขต CBAM หรือ BCA ด้วย ดังนั้น สินค้าที่ส่งออกที่มีปริมาณ มูลค่า และ emission intensity สูง ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจาก CBAM สูงด้วยเช่นกัน
การเปิดรับความเสี่ยง (exposure) ของสินค้าส่งออกของไทยต่อ CBAM ของสหภาพยุโรปและ BCA ของประเทศคู่ค้าอื่น
หากพิจารณาจากมูลค่าสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สหภาพยุโรปถือเป็นประเทศคู่ค้าที่มีการซื้อสินค้าจากประเทศไทยเป็นอันดับที่ 4 โดย 1.4% ของมูลค่าสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเข้าข่าย CBAM ระยะแรก หากพิจารณาตามมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปเฉพาะสินค้าที่ครอบคลุมภายใต้ CBAM สินค้าในกลุ่มเหล็ก/เหล็กกล้า คาดว่าน่าจะมี exposure ต่อ CBAM มากที่สุด รองลงมาคืออะลูมิเนียม และซีเมนต์และปุ๋ย ตามลำดับ (รูปที่ 3) สำหรับสินค้าในกลุ่มไฮโดรเจนและไฟฟ้า ประเทศไทยมี exposure น้อยเพราะไม่ค่อยมีการส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปยังสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ในระยะยาวทางสหภาพยุโรปมีแผนที่จะขยายขอบเขตสินค้าที่ครอบคลุมภายใต้ CBAM อีก โดยคาดว่าอาจครอบคลุมสินค้า เช่น ปิโตรเลียม พลาสติก เซรามิก แก้ว เป็นต้น
ที่มา: วิเคราะห์โดยคณะผู้วิจัยโดยใช้ข้อมูลของ UN Comtrade
เราสามารถพิจารณา exposure ของสินค้าส่งออกของไทยต่อ CBAM และ BCA โดยพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะเข้าข่ายจากประเทศไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก2 (Lim & Cheong, 2021; Marcu & Cosbey, 2021; Simola, 2021; World Bank, 2023) รูปที่ 4 มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าทั่วโลกระหว่างปี 2013–2023 หรือในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาสำหรับสินค้ากลุ่มต่าง ๆ โดยเฉดสีบนแผนที่โลก (global heatmap) แสดงมูลค่าของสินค้าส่งออกจากประเทศไทย ความเข้มของสีแสดงมูลค่าการส่งออกของสินค้าประเภทนั้น ๆ บทความนี้จำแนกสินค้าออกเป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่ 1 เป็นสินค้าที่ครอบคลุมใน CBAM และ BCA ระยะแรก (สินค้าที่คาดว่าจะครอบคลุมภายใต้มาตรการในหลายประเทศ)3 ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็ก/เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม
- กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าที่คาดว่าจะครอบคลุมหากมีการขยายขอบเขตของ CBAM และ BCA4 ได้แก่ ปิโตรเคมี ปิโตรเลียม แก้ว และเซรามิก
Exposure ต่อ CBAM และ BCA สำหรับสินค้าส่งออกของประเทศไทยแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทนั้น ๆ จากประเทศไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงขึ้นอยู่กับว่าประเทศที่ซื้อสินค้าจากไทยมีแนวโน้มที่จะดำเนิน BCA หรือไม่
สินค้ากลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นสินค้าที่ครอบคลุมใน CBAM ระยะแรก ประกอบด้วย
- ซีเมนต์ ประเทศไทยส่งออกซีเมนต์ไปยังประเทศออสเตรเลีย 4.9% ของปริมาณการส่งออกซีเมนต์จากไทยทั้งหมด ซึ่งหากประเทศออสเตรเลียบังคับใช้ BCA ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการส่งออกซีเมนต์ของไทย
- เหล็ก/เหล็กกล้า ประเทศไทยส่งออกสินค้าในกลุ่มเหล็ก/เหล็กกล้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียคิดเป็นมูลค่าสูง โดยอยู่ที่ 12.7% และ 5.1% ของการส่งออกเหล็ก/เหล็กกล้ารวมตามลำดับ หากทั้งสองประเทศบังคับใช้ BCA ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จะส่งผลให้ไทยมี exposure ต่อ BCA ในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ค่อนข้างสูง
- อะลูมิเนียม ประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 20.5% ของการส่งออกอะลูมิเนียมของไทยทั้งหมด ซึ่งจะมี exposure ที่สูงเช่นกัน
สินค้ากลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นสินค้าที่อาจอยู่ในขอบเขตของ CBAM และ BCA ระยะที่สอง ประกอบด้วย ปิโตรเคมี ปิโตรเลียม แก้ว และเซรามิก พบว่าการส่งออกเซรามิกของไทยมี exposure มากที่สุด รองลงมาคือแก้วและปิโตรเคมี
- เซรามิก ประเทศไทยส่งออกเซรามิกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 21.2% ของการส่งออกเซรามิกจากไทยทั้งหมด มีมูลค่า 774 ล้านเหรียญสหรัฐ
- แก้ว ประเทศไทยมีการส่งออกไปประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 5.1% ของการส่งออกแก้วจากไทยทั้งหมด มีมูลค่า 205 ล้านเหรียญสหรัฐ
ดังนั้น หากในอนาคตประเทศคู่ค้าเหล่านี้มีการใช้ CBAM หรือมาตรการที่มีลักษณะใกล้เคียง (ซึ่งกำลังพิจารณาในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย) การส่งออกของประเทศไทยก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงตามไปด้วย
ในการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบของ CBAM และ BCA ต่อการส่งออกของประเทศไทย นอกจากจะพิจารณาจากมูลค่าและปริมาณสินค้าที่ส่งออกแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า โดยรูปที่ 5 แสดงขอบเขตของการคำนวณ embedded emissions ภายใต้ CBAM โดยสามารถแบ่งการคำนวณได้เป็น 2 กรณี
สำหรับสินค้าทั่วไป (simple goods) ซึ่งอยู่ในขอบเขตของ CBAM การคำนวณ embedded emissions จะครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (direct emissions) ในกระบวนการผลิตสินค้า (scope 1) ยกเว้นสินค้าในกลุ่มซีเมนต์และปุ๋ย จะรวมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) จากไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า (scope 2) ด้วย
สำหรับสินค้าที่มีความซับซ้อน (complex goods) การคำนวณ embedded emissions ครอบคลุมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงในกระบวนการผลิตสินค้า (scope 1) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากวัตถุดิบตั้งต้นที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าบางส่วนที่อยู่ในขอบเขต CBAM ด้วย (scope 3)
ยกตัวอย่างเช่น สำหรับท่อเหล็กซึ่งถือว่าเป็น complex good นอกจากจะคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงที่เกิดจากกระบวนการผลิตท่อเหล็กแล้ว ยังต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากวัตถุดิบตั้งต้นที่เป็น simple good และอยู่ในขอบเขตของ CBAM อย่างแผ่นเหล็กด้วย ทั้งนี้ จากรูปที่ 5 จะเห็นว่าในการคำนวณ embedded emissions ไม่รวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ใน scope 3 อื่น ๆ เช่น วัตถุดิบอื่นที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของ CBAM การขนส่ง (ต้นน้ำ) และการขนส่ง การจัดจำหน่าย และการบริโภค (ปลายน้ำ)
เพื่อพิจารณาว่า embedded emissions ของสินค้าที่นำเข้าไปในสหภาพยุโรปสอดคล้องกับระดับที่ทางสหภาพยุโรปยอมรับหรือไม่นั้น ต้องเปรียบเทียบ embedded emissions กับค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (benchmark value) ที่ใช้อ้างอิงใน EU ETS โดยค่ากลางดังกล่าววัดจากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีที่สุด 10% ของผู้ประกอบการในสหภาพยุโรป (10% most efficient installations) ผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องจักรที่มีการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกสูงกว่าระดับค่ากลางจะต้องซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติม (additional allowances) ใน EU ETS โดยในปี 2011 สหภาพยุโรปได้มีการกำหนด benchmark curve จากความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อ installation (GHG intensity per installation) ของสินค้ารวมทั้งสิ้น 54 ประเภท โดยค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าจำนวน 43 ประเภทเกิดจากการเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเครื่องจักรในปี 2007/08 ในเวลาต่อมา ทางสหภาพยุโรปได้มีการปรับปรุงค่ากลางในปี 2016/17 โดยได้มีการกำหนดอัตราการปรับลดค่ากลาง (annual reduction rates) ตาม Article 10a(2) ภายใต้ Directive 2003/87/EC5 โดยกำหนดเกณฑ์อัตราการปรับลดค่ากลางในช่วงระยะเวลา 15 ปีตั้งแต่ 2007/08 จนถึง 2022/23 อยู่ระหว่าง 3–24%
จากการทบทวนค่ากลางความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (benchmark values) ของสหภาพยุโรปที่บังคับใช้ในระหว่างปี 2021–2025 (EU ETS: Phase 4) ทำให้ทราบระดับที่ผู้ส่งออกสามารถอ้างอิงได้เบื้องต้น คำถามที่เกิดขึ้นคือสินค้าประเภทเหล็ก/เหล็กกล้า อะลูมิเนียม และซีเมนต์ของประเทศไทยมีค่าความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่เท่าไร งานศึกษาของ ERCST (2021) ได้มีการวิเคราะห์ค่าความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าทั้ง 3 ประเภทในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยสินค้าประเภทอะลูมิเนียมและซีเมนต์ของไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 1.90 และ 1.67 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตันสินค้าตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่ากลางของสหภาพยุโรป ในขณะที่ค่าความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับสินค้าประเภทเหล็ก/เหล็กกล้าซึ่งมีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.04 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อตันสินค้าต่ำกว่าค่ากลางของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี บทความนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่าค่าความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอะลูมิเนียม ซีเมนต์ รวมถึงเหล็ก/เหล็กกล้าจากการศึกษาของ ERCST (2021) นั้นไม่ได้ทำการแยกประเภทของสินค้าอย่างละเอียดตามหมายเลขพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าในสหภาพยุโรป (Combined Nomenclature: CN Code) ดังนั้น อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ซึ่งในอนาคตหากประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลและออกตัวเลขค่ากลางของประเทศ ก็จะทำให้สามารถเปรียบเทียบค่าความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้ากับค่ากลางของสหภาพยุโรปได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
CBAM เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ผู้ประกอบการไทยที่สามารถปรับตัวโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้าได้ก่อน จะทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการส่งออกสินค้า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ถึงแม้ว่าในภาพรวมการส่งออกไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากผลกระทบของการบังคับใช้ CBAM ในระยะแรก แต่จะได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากมีหลายประเทศที่คาดว่าจะบังคับใช้ BCA เช่นกัน ซึ่งบางประเทศเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยสำหรับสินค้าบางรายการ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับสินค้าประเภทเหล็ก/เหล็กกล้า และเซรามิก เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยที่สามารถปรับตัวได้ก่อนอาจได้ประโยชน์จากการเป็น preferred supplier ในมุมมองของผู้ที่ต้องการนำเข้าสินค้าในประเทศที่ดำเนินการใช้ CBAM หรือ BCA ตัวอย่างสิ่งที่ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าของไทยสามารถดำเนินการมีดังนี้
การเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์ผลิตภัณฑ์ (carbon footprint) และค่าความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า โดยวิธีตรวจวัด เก็บข้อมูล และทวนสอบต้องเป็นที่ยอมรับโดยสหภาพยุโรปและสากล แล้วจึงดำเนินการจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลังจากนั้น ควรเริ่มศึกษาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง
การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้วัตถุดิบคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิตสินค้า โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มจากการมองหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับการเลือกเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำนั้น ผู้ประกอบการอาจพิจารณาความเหมาะสมของเทคโนโลยีทั้งแง่ของศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal abatement cost) โดยอาจพิจารณาจาก Marginal Abatement Cost Curve (MACC) ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและเลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม
หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการเจรจากับประเทศผู้ออก CBAM หรือ BCA เพื่อให้การปรับตัวของผู้ประกอบการเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ รวมไปถึงการมีบทบาทของภาครัฐในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้าผ่านกลไกมาตรการกำหนดราคาคาร์บอน เช่น ภาษีคาร์บอน หรือระบบซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) โดยหากมาตรการกำหนดราคาคาร์บอนออกแบบมาอย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้าที่ส่งออกแล้ว ยังจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำต้นทุนด้านภาษีคาร์บอนหรือ ETS ที่จ่ายไปแล้วที่ประเทศไทยไปหักลดกับค่าธรรมเนียมในการซื้อ CBAM certificates (Lim & Cheong, 2021)
นอกจากมาตรการกำหนดราคาคาร์บอนแล้ว สิ่งสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือการช่วยปลดล็อคกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น ปัจจุบัน โครงสร้างตลาดซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังคงเป็นระบบ enhanced single buyer ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อและขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังไม่สามารถดำเนินการซื้อขายกันเองแบบ peer-to-peer ได้ รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เหมาะสมและเพียงพอ นอกจากนี้ ประเทศไทยควรเร่งพัฒนาผู้ทวนสอบที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า เพื่อรองรับความต้องการในการทวนสอบจากผู้ประกอบการในประเทศไทยที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงบริการทวนสอบที่ได้มาตรฐานในราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น
เมื่อหลายประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มที่จะนำมาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนมาใช้มากขึ้น หากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ถึงแม้ว่าในระยะสั้นผู้ประกอบการไทยอาจจะสามารถหลีกเลี่ยงการส่งออกสินค้าไปยังประเทศปลายทางที่มีการใช้มาตรการดังกล่าวหรือปรับเปลี่ยนมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาว การปรับตัวไปสู่กระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากมาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้าแล้ว อาจช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย โดยหน่วยงานภาครัฐอาจเข้ามาช่วยสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านนี้ ผ่านการสนับสนุนด้านการเข้าถึงเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
เอกสารอ้างอิง
- EU Action↩
- เหตุผลที่บทความนี้แสดง exposure ต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกโดยครอบคลุมทั้งประเทศที่ออก CBAM หรือกำลังพิจารณามาตรการ BCA และประเทศที่ยังไม่มีมาตรการเหล่านี้ เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะใช้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น ดังนั้น การแสดง exposure ในลักษณะแบบนี้ ช่วยให้ไทยทราบว่า หากในอนาคตประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าที่อยู่ในขอบเขต CBAM มากได้ออก CBAM หรือ BCA แล้วนั้น การส่งออกของไทยน่าจะได้รับผลกระทบสูง↩
- สำหรับสินค้าที่ครอบคลุมใน CBAM และ BCA ระยะแรก Global Heatmap แสดง exposure ต่อมาตรการเฉพาะสำหรับสินค้าเพียง 3 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็ก/เหล็กกล้า และอะลูมีเนียม เนื่องจากมีปริมาณการส่งออกจากไทยไปทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ↩
- สินค้าที่คาดว่าจะครอบคลุมในระยะที่สองนั้นอ้างอิงมาจากสินค้าที่ประเทศคู่ค้ามีการออก CN Code และขอบเขตของสินค้านั้นๆ โดยคณะผู้วิจัยอ้างอิงมาจาก CN Code ของสินค้าที่ออกโดยประเทศสหราชอาณาจักร↩
- Directive 2003/87/EC of the European Parliament and of the Council of 13 October 2003 establishing a scheme for greenhouse gas emission allowance trading within the Community and amending Council Directive 96/61/EC. OJ L 275, 25.10.2003, p. 32↩