Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/f35ab28d15461c34b953a973d073cff2/41624/cover.jpg
10 ธันวาคม 2567
20241733788800000

บัตรคนจน ตอนที่ 2: เราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์เพื่อออกแบบและประเมินประสิทธิภาพโครงการเงินให้เปล่า
พิทวัส พูนผลกุลธนพล กองพาลีธนิสา ทวิชศรี
บัตรคนจน ตอนที่ 2: เราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
note

บทความนี้อยู่ในชุดบทความ “บัตรคนจน” ซึ่งประกอบด้วย 2 บทความย่อย คือ ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน? และ ตอนที่ 2: เราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

excerpt

บทความในตอนที่ 1 ประเมินประสิทธิภาพโครงการบัตรคนจนผ่านความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการออกแบบ การคัดกรอง และการให้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องหลายปีโดยไม่ได้คัดกรองใหม่ บทความตอนที่ 2 นี้จะถามต่อไปว่าแล้วเราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยใช้สวัสดิการทางสังคมเป็นตัวชี้วัด บทความนี้จะอธิบายถึงหลักคิดเกี่ยวกับ 1) การออกแบบตัวชี้วัดความยากจนด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ ที่มองเห็นได้หรือที่เรียกกันว่า Proxy Means Test (PMT) 2) การประเมิน tradeoffs ระหว่างปัญหาตกหล่น1และรั่วไหล2 รวมถึงมูลค่าสิทธิประโยชน์ต่อหัวเมื่อมีการปรับความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรอง และ 3) ผลต่อสวัสดิการทางสังคมในแต่ละระดับความเข้มงวดของเกณฑ์คัดกรองเมื่อคำนึงถึงการออกแบบ PMT และ tradeoffs ต่าง ๆ แล้ว โดยจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนของไทยกับสิ่งที่เป็นไปได้หากมีการปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น และเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ว่าจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไรบนงบประมาณที่รัฐตั้งไว้

ในบทความตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน? เราได้อธิบายรายละเอียดของโครงการบัตรคนจน นิยามปัญหาตกหล่นและรั่วไหล รวมถึงการใช้ข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) พร้อมสมมติฐานบางประการเพื่อนำมาประเมินประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจน โดยใช้กรอบวิเคราะห์ใน 3 ขั้น ซึ่งเราพบว่า

  1. โครงการบัตรคนจนมีการตั้งเกณฑ์คุณสมบัติที่สัมพันธ์กับระดับการบริโภคที่สูงกว่าเส้นความยากจนถึง 3 เท่า (design error)
  2. รัฐมีการคัดกรองคุณสมบัติไม่ตรงกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้อยู่บ้าง (screening error)
  3. รัฐมีการให้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องโดยไม่ได้คัดกรองใหม่เป็นเวลานานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ถือบัตร ซึ่งผู้ถือบัตรที่เคยจนมีโอกาสจนน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป (time-lag error)

ดังนั้น ความคลาดเคลื่อนในทั้ง 3 ขั้นจึงส่งผลให้เกิดปัญหาตกหล่นและรั่วไหลของโครงการ บทความนี้จะศึกษาว่าเราจะออกแบบและปรับปรุงโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล SES และสมมติฐานต่าง ๆ ที่อธิบายไว้ในบทความตอนที่ 1

การประเมินด้วยสวัสดิการทางสังคม (social welfare)

เราควรใช้คุณสมบัติอะไรในการคัดกรอง?
การตั้งเกณฑ์คัดกรองในแต่ละระดับจะนำไปสู่ปัญหาตกหล่นและรั่วไหลมากแค่ไหน?
มูลค่าบัตรคนจนแต่ละใบควรเป็นเท่าไหร่?
เราจะตั้งเกณฑ์คุณสมบัติให้เข้มงวดหรือผ่อนคลายมากแค่ไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ดีที่สุด?

ตัวอย่างคำถามข้างต้นล้วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงการบัตรคนจน เห็นได้ว่าการตอบคำถามให้ได้ครบถ้วนจำเป็นต้องมีกรอบคิดที่สามารถประเมินประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนในหลายมิติ รวมถึงต้องมีตัวชี้วัดว่าการออกแบบลักษณะไหนได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยในทางเศรษฐศาสตร์ การวัดด้วยการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการทางสังคมหรือความสุขโดยรวมของคนในสังคม (social welfare) เป็นแนวคิดที่ใช้กันค่อนข้างแพร่หลายเพราะสามารถคำนึงถึงผลในมิติต่าง ๆ ได้ค่อนข้างครบถ้วน

Social welfare คืออะไร?

นักเศรษฐศาสตร์มักแทนสวัสดิภาพหรือความสุข (welfare) ของคนด้วยค่าสมมติซึ่งช่วยสะท้อนความสุขของคนนั้น ๆ โดยค่าสมมติดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องมุมมองที่เรามีต่อความสุข เช่น เมื่อเราสามารถบริโภคมากขึ้น เราก็มักจะมีความสุขมากขึ้น แต่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงเมื่อเราบริโภคในระดับที่สูงขึ้น (diminishing marginal utility) หากอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย คือ เงิน 100 บาทมีค่าไม่เท่ากันสำหรับแต่ละคน สำหรับคนมีรายได้น้อย การได้รับเงิน 100 บาทอาจเพิ่มความสุขอย่างมาก เพราะอาจช่วยให้สามารถทานอาหารได้ครบ 3 มื้อ แต่สำหรับคนมีรายได้สูง การได้รับเงิน 100 บาทอาจเพิ่มความสุขเพียงเล็กน้อยเพราะมีกินมีใช้เพียงพออยู่แล้ว เป็นต้น โดย social welfare ก็คือตัวชี้วัดที่คำนึงถึงความสุขของทุกคนที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้น ๆ รวมกัน

เห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลง social welfare เกิดจากผลรวมของการเปลี่ยนแปลง welfare ของแต่ละคนที่อาศัยอยู่ในสังคม ขณะที่การเปลี่ยนแปลง welfare แต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้น เดิมทีแล้วเป็นคนรวยหรือจน มีกี่คนที่ได้รับบัตรคนจน และได้รับบัตรคนจนมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งมิติเหล่านี้ล้วนมีผลต่อค่าของ social welfare ทั้งสิ้น ดังนั้น เกณฑ์การออกแบบบัตรคนจนที่เป็นไปได้วิธีหนึ่งคือการออกแบบให้เกิด social welfare สูงที่สุด บนข้อจำกัดต่าง ๆ ของโครงการ เช่น ข้อมูลและงบประมาณที่รัฐมี

แล้วเราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

บทความนี้จะประเมินการปรับโครงการบัตรคนจนโดยใช้กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นการออกแบบโครงการเพื่อให้เกิดระดับ social welfare ที่สูงที่สุด ซึ่งจากงานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) เราสามารถแบ่งขั้นตอนการออกแบบได้เป็น 3 ขั้นตอน มีรายละเอียดดังนี้

1. การเลือกคุณลักษณะและรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อสะท้อนความยากจน

เนื่องจากรัฐอาจไม่มีข้อมูลที่จะระบุว่าใครเป็นคนจนได้อย่างแม่นยำ รัฐจึงจำเป็นต้องประเมินความยากจน3 โดยคาดการณ์ผ่านคุณลักษณะที่มองเห็นได้ (observable characteristics) หรือที่เรียกว่า proxy means test (PMT) ซึ่งหากรัฐสามารถระบุตัวคนจนได้แม่นยำมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการให้บัตรคนจนกับคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการออกแบบ PMT ที่ดีจะนำไปสู่ social welfare ที่สูงขึ้นด้วย

ขั้นตอนของการออกแบบ PMT เริ่มต้นจากการหาคุณสมบัติที่คาดว่าจะสามารถอธิบายความยากจนได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติเหล่านี้อาจมาจากการสำรวจหรือจากฐานข้อมูลที่รัฐมี เช่น คนที่มีรถขับอาจจะมีระดับการบริโภคสูงกว่าคนที่ไม่มีรถขับ หรืออนุมานได้ว่าคนที่มีรถขับจะมีโอกาสยากจนน้อยกว่า ดังนั้น การมีข้อมูลว่าใครมีรถยนต์ขับก็สามารถช่วยให้รัฐระบุว่าใครจนหรือไม่จนได้ดีขึ้น โดยยิ่งมีข้อมูลคุณสมบัติหรือ proxy ที่หลากหลายก็มีโอกาสที่จะช่วยอธิบายความยากจนได้แม่นยำ โดยเราสามารถนำ proxy ต่าง ๆ ที่มีมาหาความสัมพันธ์กับระดับการบริโภคหรือความยากจน โดยสามารถหาชุดตัวแปรและลักษณะความสัมพันธ์ที่สะท้อนความยากจนได้แม่นยำที่สุด แล้วจึงนำชุดตัวแปรและความสัมพันธ์เหล่านั้นมาใช้ในการออกแบบเกณฑ์การคัดกรอง4

การประเมินในขั้นตอนนี้สามารถทำได้บนชุดข้อมูลที่มีทั้งตัวแปร proxy และระดับความยากจนจริง โดยสุ่มแบ่งครึ่งข้อมูลออกเป็นสองชุด เป็นชุด training ที่ใช้ในการหาความสัมพันธ์ระหว่าง proxy และระดับการบริโภค กับชุด testing ที่นำความสัมพันธ์ที่ได้มาหาค่าการบริโภคคาดการณ์ (predicted consumption) ซึ่งสามารถทำให้เราเปรียบเทียบการบริโภคคาดการณ์และการบริโภคจริงเพื่อประเมินประสิทธิภาพของ PMT นั้น ๆ ได้

โดยรูปที่ 1 แสดงตัวอย่างการประเมิน PMT บนฐานข้อมูล SES โดยใช้คุณสมบัติตามเกณฑ์บัตรคนจนปัจจุบัน แกนนอนแสดงการบริโภคคาดการณ์ และแกนตั้งแสดงการบริโภคจริง โดยในตัวอย่างนี้ตัวแปรต้น (proxy) ในแบบจำลองสามารถอธิบายความผันแปรของตัวแปรตาม (R2) ได้ประมาณ 68% (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความตอนที่ 1) ซึ่งการประเมินในวิธีดังกล่าวด้วยหลาย ๆ ชุดคุณสมบัติก็จะช่วยให้สามารถทราบได้ว่าชุดคุณสมบัติใดและความสัมพันธ์แบบใดสามารถสะท้อนระดับการบริโภคได้ดีที่สุด

รูปที่ 1: เทียบการบริโภคคาดการณ์จากคุณสมบัติคัดกรอง การบริโภคจริง และเส้นความยากจน

เทียบการบริโภคคาดการณ์จากคุณสมบัติคัดกรอง การบริโภคจริง และเส้นความยากจน

2. ประเมินปัญหา “ตกหล่น” และ “รั่วไหล” ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนเกณฑ์บัตรคนจน

เมื่อเลือกชุดคุณสมบัติและรูปแบบความสัมพันธ์ที่สะท้อนความยากจนได้ดีที่สุดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการประเมินว่าจะตั้งเกณฑ์คุณสมบัติเข้มงวดในระดับไหน โดยการเปลี่ยนความเข้มงวดของเกณฑ์ที่จะส่งผลกับระดับการบริโภคคาดการณ์ของผู้ที่ได้รับบัตร ซึ่งเป็นตัวกำหนดระดับปัญหาตกหล่นและรั่วไหล จำนวนคนที่จะได้รับสิทธิ ตลอดจนมูลค่าสิทธิประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับ บนงบประมาณที่เท่ากัน

ทั้งนี้ เนื่องจากบทความนี้ไม่ได้เลือกชุดคุณสมบัติและความสัมพันธ์ในขั้นตอนแรก จึงจะยกตัวอย่างโดยใช้ประสิทธิภาพของ PMT ของโครงการในปัจจุบันตามที่ประเมินไว้ในบทความตอนที่ 1 โดยรูปที่ 2 ด้านบนเรียกว่ารูป Receiver Operating Characteristic (ROC)5 ที่คำนวณโครงการบัตรคนจน ซึ่งแสดง tradeoff ระหว่างปัญหาตกหล่นและรั่วไหลของโครงการบัตรคนจนเมื่อมีการเปลี่ยนความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรอง6 โดยแกนนอนแสดงปัญหารั่วไหลจากน้อยไปมาก และแกนตั้งแสดงค่าสัดส่วนคนที่ได้รับสิทธิอย่างถูกต้อง (มีค่าเท่ากับ 1-ปัญหาตกหล่น) ซึ่งยิ่งมีค่ามากยิ่งสะท้อนประสิทธิภาพของ PMT ที่ดี เช่น ในกรณีสุดขั้วที่ตั้งเกณฑ์การคัดกรองมีความเข้มงวดมาก จะทำให้ไม่มีใครได้รับบัตรคนจนเลย ซึ่งหมายถึงจะไม่มีปัญหารั่วไหลเลย แต่ก็จะมีปัญหาตกหล่นเต็มที่ (จุด (x=0,y=0)(x=0,y=0)(x=0,y=0) ซ้ายสุดในรูป) หรือในทางกลับกันหากตั้งเกณฑ์ที่หลวมมาก ก็จะทำให้ทุกคนได้รับบัตรคนจน (universal) คือไม่มีปัญหาตกหล่น แต่จะมีปัญหารั่วไหลเต็มที่ (จุด (x=1,y=1)(x=1,y=1)(x=1,y=1) ขวาสุดในรูป) การตั้งเกณฑ์ระหว่างสองกรณีสุดขั้วดังกล่าวก็จะทำให้มีระดับปัญหาตกหล่นและรั่วไหลที่แตกต่างกันไปดังแสดงในรูป โดยจุดที่สะท้อนประสิทธิภาพที่ดีที่สุดคือจุดซ้ายบน (x=0,y=1)(x=0,y=1)(x=0,y=1) ที่ไม่มีปัญหารั่วไหลและไม่มีปัญหาตกหล่นเลย แต่ไม่สามารถออกแบบนโยบายให้อยู่ที่จุดนี้ได้เนื่องจากยังมีความคลาดเคลื่อนจากคาดการณ์การบริโภคด้วย proxy อยู่

รูปที่ 2: ROC และสิทธิประโยชน์บัตรคนจนต่อหัวเทียบกับระดับปัญหาการตกหล่น

ROC และสิทธิประโยชน์บัตรคนจนต่อหัวเทียบกับระดับปัญหาการตกหล่น

นอกจากนี้ ด้วยงบประมาณที่เท่ากัน (งบประมาณจริงในปี 2023) การตั้งความเข้มงวดของเกณฑ์จะกำหนดจำนวนคนที่มีสิทธิได้รับบัตรคนจน รวมถึงกำหนดมูลค่าบัตรคนจนต่อหัวที่ผู้ถือบัตรจะได้รับ (รูปที่ 2 ด้านล่าง) การประเมินในลักษณะนี้ช่วยให้เห็น tradeoff ในมิติของจำนวนผู้ได้รับบัตร มูลค่าบัตรต่อหัว รวมถึงปัญหาตกหล่นและรั่วไหลเพื่อให้เข้าใจตัวเลือกของการออกแบบโครงการที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ จะเลือกการตั้งความเข้มงวดที่จุดไหนจำเป็นต้องมีเครื่องชี้วัดเพิ่มเติม ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป

โดยในกรณีของไทยนั้น เห็นได้ว่าการผสมผสานของปัญหาตกหล่นและรั่วไหล่ที่เกิดขึ้นจริงอยู่ต่ำกว่าเส้น ROC คือ มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่สามารถเป็นไปได้เมื่อประเมินจากความแม่นยำของ PMT ในปัจจุบัน ปัญหารั่วไหลที่ 20.7% ควรจะส่งผลให้มีคนได้รับสิทธิอย่างถูกต้องมากกว่า 80% แต่กลับมีผู้ได้รับสิทธิถูกต้องจริงเพียงประมาณ 60% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการคัดกรองและการให้สิทธิโดยขาดการทบทวนตามที่อธิบายไว้ในบทความตอนที่ 1

3. การเลือกเกณฑ์การคัดกรองเพื่อให้ได้สวัสดิการทางสังคมสูงที่สุด

การประเมินผลลัพธ์ของโครงการบัตรคนจนผ่านแนวคิดสวัสดิการทางสังคม7 ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรองโดยคำนึงถึงปัจจัยในแต่ละมิติที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งความแม่นยำของ PMT การ tradeoffs ระหว่างปัญหาตกหล่นและรั่วไหล สิทธิประโยชน์ที่ให้ต่อหัว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของ welfare รายบุคคลที่จนหรือรวยแตกต่างกัน

ลองพิจารณาจากตัวอย่างของการตั้งเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้น ในกรณีนี้จะทำให้เกิดปัญหารั่วไหลน้อยลงและปัญหาตกหล่นมากขึ้น และมีจำนวนผู้รับสิทธิโดยรวมน้อยลงด้วย แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิแต่ละคนจะได้บัตรคนจนในมูลค่าที่สูงขึ้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ในลักษณะนี้จะส่งผลต่อ social welfare ผ่านหลายช่องทางและมี tradeoffs ในหลายมิติ โดยสรุปคร่าว ๆ ได้ดังตารางที่ 1 ซึ่งเห็นได้ว่าผลต่อ social welfare จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่องทาง และขนาดของผลผ่านแต่ละช่องทางก็จะเปลี่ยนไปตามเกณฑ์ความเข้มงวดอีกด้วย ซึ่งการประเมินผลลัพธ์ผ่าน social welfare จะคำนึงถึงมิติต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมด

ตารางที่ 1: ตัวอย่างผลจากการปรับเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้นต่อ social welfare
ผลจากการปรับเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้นผลที่เกิดขึ้นกับ social welfare
ปัญหารั่วไหลน้อยลงผลดี: ด้วยงบประมาณที่เท่ากัน การลดการให้บัตรกับคนที่ไม่ยากจนทำให้รัฐสามารถนำเงินไปให้กับคนจนจริง ๆ ได้มากขึ้น
ปัญหาตกหล่นมากขึ้นผลเสีย: มีคนที่จนแต่ไม่ได้รับบัตรมากขึ้น
จำนวนผู้รับสิทธิโดยรวมน้อยลงผลเสีย: ด้วยมูลค่าเงินต่อหัวที่เท่ากัน จะมีจำนวนคนที่มี welfare ดีขึ้นน้อยลง
บัตรคนจนแต่ละใบให้สิทธิประโยชน์สูงขึ้นผลดี: เมื่อเทียบจำนวนผู้รับบัตรเท่ากัน หากแต่ละคนได้รับเงินมากขึ้นก็จะมี welfare สูงขึ้น แต่จะสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง

รูปที่ 3 แสดงระดับ social welfare บนเกณฑ์การคัดกรองที่มีความเข้มงวดต่างกันออกไป สะท้อนด้วยแกนนอนที่แสดงระดับปัญหารั่วไหล (รั่วไหลน้อยสะท้อนเกณฑ์คัดกรองที่เข้มงวดมาก) โดยเส้นสีดำแสดง social welfare ที่คำนวณบนความแม่นยำของ PMT โดยใช้ฐานข้อมูล SES ปี 2023 ซึ่งสะท้อน social welfare สูงสุดที่เป็นไปได้ในแต่ละระดับความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรองเมื่อคำนึงถึงประสิทธิภาพของ PMT ที่ใช้ (ขอเรียกว่า current efficient frontier) จากตัวอย่างการคำนวณข้างต้นเห็นได้ว่าระดับ social welfare จะสูงสุดเมื่อตั้งเกณฑ์การคัดกรองค่อนข้างเข้มงวด (ปัญหารั่วไหลต่ำ) ซึ่งหมายถึงว่าทรัพยากรที่มีจำกัดนั้นถูกจัดสรรให้กับกลุ่มคนที่ยากจนจริง ๆ และแต่ละคนได้ทรัพยากรค่อนข้างมาก ซึ่งจะช่วยให้ได้ social welfare ที่สูง ด้วยข้อสมมติในการประเมินนี้ พบว่า social welfare จะสูงที่สุดเมื่อมีการออกแบบให้มีปัญหารั่วไหลที่ประมาณ 7.5% (จุด B) ปัญหาตกหล่นที่ประมาณ 38% และให้สิทธิประโยชน์มูลค่าประมาณ 11,513 บาทต่อคนต่อปี โดยผลดังกล่าวสอดคล้องกับงานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) ที่พบว่าโครงการเงินให้เปล่าในอินโดนีเซียและเปรูจะได้ social welfare สูงสุดเมื่อมีการตั้งเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวดเช่นกัน

รูปที่ 3: สวัสดิการทางสังคมและความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรองแต่ละระดับ (สะท้อนด้วย inclusion error)

สวัสดิการทางสังคมและความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรองแต่ละระดับ (สะท้อนด้วย inclusion error)

หากมองกลับมาที่ไทย จุดสีแดงโปร่ง (จุด C) สะท้อนระดับ social welfare และปัญหารั่วไหลที่โครงการบัตรคนจนออกแบบให้เป็น เห็นได้ว่ามีการออกแบบเกณฑ์ที่ค่อนข้างหลวม โดยออกแบบให้เกิดปัญหารั่วไหลอยู่ที่ 64% ขณะที่จุดสีแดงทึบ (จุด D) คือสถาณการณ์ของบัตรคนจนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีปัญหารั่วไหลอยู่ที่ 20.7% และมี social welfare อยู่ต่ำกว่าระดับเส้น current efficient frontier มาก สะท้อนความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการคัดกรองและความคลาดเคลื่อนจากการให้สิทธิเป็นระยะเวลานานโดยที่ไม่มีการคัดกรองซ้ำ ซึ่งล้วนทำให้ประสิทธิภาพของโครงการจริงอยู่ต่ำกว่าระดับที่เป็นไปได้

แล้วจะปรับปรุงให้โครงการบัตรคนจนดีขึ้นได้อย่างไร?

จากรูปที่ 3 เราสามารถปรับปรุงโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้ด้วย 3 วิธี

  1. ลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการคัดกรองและจากการให้สิทธิโดยไม่มีการทบทวนคุณสมบัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม social welfare ให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่รัฐออกแบบไว้บน current efficient frontier (ขยับจากจุด D ไปจุด C หากไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์คัดกรอง)
  2. ปรับเกณฑ์การคัดกรองให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดปัญหารั่วไหลและลดจำนวนคนได้รับบัตรเพื่อให้ผู้ได้รับบัตรแต่ละคนได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น และทำให้เกิด social welfare ในระดับที่สูงที่สุดบน current efficient frontier (ขยับจากจุด C ไปจุด B)
  3. ใช้ข้อมูลคุณสมบัติที่ครอบคลุมมากขึ้นและประเมินรูปแบบความสัมพันธ์ที่สะท้อนความยากจนได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ proxy เพื่อสะท้อนความยากจน meให้ได้รับ welfare ที่สูงขึ้น เข้าใกล้กรณีที่รัฐมีข้อมูลการบริโภคที่แท้จริง (เส้นประสีน้ำเงิน) โดยทำควบคู่ไปกับการปรับความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรอง (ขยับจากจุด B ไปใกล้จุด A)

ซึ่งเราสามารถปรับทั้ง 3 วิธีไปพร้อมกันได้ ทั้งนี้ หากรัฐให้น้ำหนักกับคนบางกลุ่มมากขึ้น (นอกเหนือจากการที่คนจนมี welfare มากกว่าคนรวยจากการได้เงินจำนวนเท่ากัน) ก็จะเป็นการปรับสูตรการคำนวณ social welfare ของโครงการและทำให้ได้เกณฑ์ที่ต่างออกไป เช่น หากให้ความสำคัญกับคนจนมากขึ้นจะทำให้ social welfare สูงสุดสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ผ่อนคลายลง เป็นต้น

บทสรุป

โครงการ “บัตรคนจน” ของไทยมีลักษณะเป็นโครงการเงินให้เปล่าที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความคุ้มครองทางสังคมและแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะหน้า ทั้งนี้ การออกแบบโครงการอย่างรอบคอบจะช่วยให้รัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการข้างต้นได้อย่างเต็มที่บนงบประมาณที่จำกัด

บทความนี้เสนอแนวทางการปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นบนพื้นฐานหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยสรุปได้คร่าว ๆ 3 วิธี ที่ควรทำควบคู่กันไป คือ

  1. ลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการคัดกรองและจากการให้สิทธิโดยไม่มีการทบทวนคุณสมบัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม social welfare บนเกณฑ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  2. หากรัฐให้น้ำหนักแต่ละคนในสังคมเท่ากัน (utilitarian) ควรปรับเกณฑ์การคัดกรองให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะ social welfare จะสูงที่สุด เมื่อมีปัญหารั่วไหลน้อยลงและคนจนแต่ละคนได้รับประโยชน์มากขึ้นเมื่อเทียบกับเกณฑ์ในปัจจุบัน
  3. ควรมีการกำหนดคุณสมบัติที่ครอบคลุม และประเมินความสัมพันธ์ที่สะท้อนความยากจนมากขึ้น เพื่อพัฒนาความแม่นยำของโครงการในภาพรวม

ทั้งนี้ บทความข้างต้นมีข้อจำกัดบางประการที่ผู้อ่านควรคำนึงถึง คือ

  1. บทความประเมินโครงการบัตรคนจนบนงบที่ใช้จริงในปี 2023 ซึ่งการประเมินประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรของรัฐในภาพรวมจำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดสรรงบในโครงการอื่น ๆ ด้วย
  2. กรอบการวิเคราะห์ที่ใช้ในบทความนี้ไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรมตอบสนองของครัวเรือนต่อสิทธิประโยชน์ที่ได้รับผ่านบัตรคนจน
  3. การคัดกรองที่แม่นยำขึ้นอาจมาพร้อมกับต้นทุนการคัดกรองที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจทำให้งบประมาณที่นำไปให้สิทธิประโยชน์ลดลง เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Hanna, R., & Olken, B. A. (2018). Universal basic incomes versus targeted transfers: Anti-poverty programs in developing countries. Journal of Economic Perspectives, 32(4), 201–226.

  1. การบริโภคคาดการณ์สูงกว่าเส้นความยากจนแต่ระดับการบริโภคจริงต่ำกว่าเส้นความยากจน↩
  2. การบริโภคจริงสูงกว่าเส้นความยากจน แต่วิธี PMT ประเมินว่าเป็นกลุ่มที่ยากจน↩
  3. ความจนในที่นี้คือการมีระดับการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน↩
  4. รัฐมักไม่แจ้งเกณฑ์การคัดกรองกับประชาชนเพื่อเลี่ยงปัญหาของการที่ประชาชนจะบิดเบือนพฤติกรรมหรือคุณสมบัติตนเองเพื่อให้เข้าเกณฑ์↩
  5. Receiver Operating Characteristic (ROC) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการรั่วไหล (false positive) และ 1-ปัญหาการตกหล่น (true positive) โดยยิ่งเส้นที่แสดงมีค่ามาก ยิ่งสะท้อนการประสิทธิภาพของการ PMT ที่ดี↩
  6. ในแต่ละระดับของการบริโภคคาดการณ์จะเกิดปัญหาตกหล่นและปัญหารั่วไหลแตกต่างกันออกไป รูป ROC เกิดจากการประเมินปัญหาตกหล่นและรั่วไหลเมื่อขยับระดับของการบริโภคคาดการณ์จากน้อยไปมาก↩
  7. โดยทางเศรษฐศาสตร์มักเขียนแทนด้วยฟังก์ชัน social welfare โดยฟังก์ชัน social welfare ที่นิยมใช้กันอยู่ในรูปของ constant relative risk aversion (CRRA) ซึ่งสามารถเขียนได้ในรูป U=11−ρ⋅(∑(ci+bi)1−ρ)U = \frac{1}{1-\rho}\cdot\left(\sum (c_i + b_i)^{1-\rho}\right)U=1−ρ1​⋅(∑(ci​+bi​)1−ρ) โดยที่ cic_ici​ สะท้อนระดับการบริโภคของบุคคล iii, bib_ibi​ สะท้อนมูลค่าบัตรคนจนที่บุคคล iii ได้รับ และ ρ แสดง coefficient of relative risk-aversion ที่ยิ่งค่าสูงยิ่งหมายถึงว่า social welfare ให้น้ำหนักกับคนรายได้น้อยมาก↩
พิทวัส พูนผลกุล
พิทวัส พูนผลกุล
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ธนพล กองพาลี
ธนพล กองพาลี
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนิสา ทวิชศรี
ธนิสา ทวิชศรี
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Public EconomicsWelfare Economics
Tags: state welfare cardcash transferspolicy evaluation
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email