บัตรคนจน ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน?
![บัตรคนจน ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน?](/static/6da7f9339608c9cdf204c33f86b991eb/2a93e/cover.jpg)
note
บทความนี้อยู่ในชุดบทความ “บัตรคนจน” ซึ่งประกอบด้วย 2 บทความย่อย คือ ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน? และ ตอนที่ 2: เราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
excerpt
โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าโครงการ “บัตรคนจน” จัดเป็นนโยบายเงินให้เปล่า (cash transfers) ลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือกระจายรายได้จากคนรวยไปสู่คนจนเพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคม และมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะหน้า1 ในปี 2023 มีผู้ได้รับบัตรคนจนจำนวน 14.6 ล้านคน คิดเป็น 6 เท่าของคนไทยที่มีระดับการบริโภคอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนซึ่งมีจำนวน 2.39 ล้านคน ในปีเดียวกัน2 บทความนี้ประเมินประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนที่ผ่านมาโดยวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) และสร้างกรอบประเมินประสิทธิภาพและความคลาดเคลื่อนของโครงการบัตรคนจนใน 3 ขั้น คือ ขั้นออกแบบเกณฑ์คุณสมบัติ (design error) ขั้นคัดกรองคุณสมบัติของผู้เข้าร่วม (screening error) และขั้นให้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องหลังจากที่คัดกรองแล้ว (time-lag error)
โครงการบัตรคนจนของไทยมีการเปิดให้ลงทะเบียน 2 รอบ รอบแรกในปี 2017 และรอบที่สองในปี 2022 โดยสามารถลงทะเบียนได้ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง หรือผ่านหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น สำนักงานคลังจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ ทุกสาขา โดยในรอบปี 2017 ผู้ที่มีสิทธิได้รับบัตรต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ 5 ข้อ และในรอบปี 2022 มีการเพิ่มเกณฑ์คุณสมบัติอีก 3 ข้อ พร้อมปรับปรุงรายละเอียดของเกณฑ์คุณสมบัติเดิมบางประการ (รายละเอียดตามตารางที่ 1) ซึ่งภาครัฐมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐเพื่อระบุว่าผู้ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์หรือไม่
รอบลงทะเบียนปี 2017 | รอบลงทะเบียนปี 2022 |
---|---|
มีสัญชาติไทย | มีสัญชาติไทย |
อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป | อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป |
ว่างงานหรือมีรายได้ทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท/ปี* | ว่างงานหรือมีรายได้ทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท/ปี* |
มีสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท* | มีสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท* |
ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือหากเป็นต้องเป็นไปตามเงื่อนไข | ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือหากเป็นต้องเป็นไปตามเงื่อนไข |
ต้องไม่เป็นภิกษุ ผู้ต้องขัง ข้าราชการ ผู้รับบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น | |
ต้องไม่มีเงินกู้หรือมีเงินกู้ไม่เกินหลักเกณฑ์ | |
ไม่มีบัตรเครดิต |
โดยขั้นตอนตั้งแต่การเปิดลงทะเบียนจนถึงเริ่มใช้งานบัตรได้ใช้ระยะเวลา 7–8 เดือน (รายละเอียดตามตารางที่ 2) และผู้ที่ได้รับบัตรคนจนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 อย่าง ประกอบไปด้วย
- ได้รับวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตรจากธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้า) และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยมีวงเงิน 200–300 และ 300 บาทสำหรับโครงการรอบปี 2017 และ 2022 ตามลำดับ
- ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาท และ 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน สำหรับรอบปี 2017 และ 2022 ตามลำดับ
- ค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ โดยในรอบปี 2017 มีวงเงินสำหรับรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน แต่หากผู้ถือบัตรอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะได้ค่ารถ ขสมก. และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน สำหรับรอบปี 2022 มีวงเงินรวม 750 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับรถสาธารณะ
- เงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า 315 ต่อครัวเรือนต่อเดือน และค่าน้ำประปา 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
- เบี้ยผู้พิการเพิ่มเติม 200 บาทต่อเดือน3
ลำดับเวลา | รอบคัดกรอง 2017 | รอบคัดกรอง 2022 |
---|---|---|
เปิดลงทะเบียน | 3 เมษายน–15 พฤษภาคม 2017 (ผู้ลงทะเบียนรวม 14.2 ล้านคน) | 5 กันยายน–31 ตุลาคม 2022 (ผู้ลงทะเบียนรวม 20.7 ล้านคน) |
ตรวจสอบข้อมูล | พฤษภาคม–สิงหาคม 2017 | กันยายน 2022 |
ประกาศผลในภาพรวม | สิงหาคม–กันยายน 2017 (ผ่านเกณฑ์ 11.47 ล้านคน) | มีนาคม 2023 (ผ่านเกณฑ์ 14.6 ล้านคน) |
ตรวจสอบรายชื่อ | 15 กันยายน 2017 | 1 มีนาคม 2023 |
เริ่มใช้ | 1 ตุลาคม 2017 | 1 เมษายน 2023 |
บทความนี้วิเคราะห์ประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนบนฐานข้อมูล SES ซึ่งมีกลยุทธ์การสุ่มสำรวจ (sampling strategy) ที่สะท้อนภาพครัวเรือนทั้งหมดของไทย และมีข้อมูลที่จำเป็นในการวิเคราะห์โครงการบัตรคนจนสามส่วนสำคัญ คือ
- ข้อมูลคุณลักษณะหลายประการที่ตรงกับคุณลักษณะของเกณฑ์บัตรคนจนซึ่งช่วยให้ประเมินได้ว่าใครมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์และไม่เข้าเกณฑ์บ้าง
- ข้อมูลผลประโยชน์จริงที่ได้จากโครงการบัตรคนจน (เฉพาะรอบการสำรวจปี 2021 และ 2023) ที่สามารถนำมาประเมินว่าใครได้รับสิทธิจากบัตรคนจนบ้าง
- ข้อมูลการบริโภคซึ่งสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดระดับความยากจนได้
ซึ่งข้อมูลทั้งสามส่วนช่วยให้เราสามารถทำการวิเคราะห์โดยใช้วิธีทางสถิติเพื่อประเมินความคลาดเคลื่อนของโครงการบัตรคนจน
อย่างไรก็ดี รายละเอียดของโครงการบัตรคนจนและข้อมูลใน SES มีความแตกต่างกันบางประการ จึงจำเป็นต้องมีการใช้ข้อสมมติในการปรับข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ และเนื่องจาก SES มีการสำรวจในระดับครัวเรือน บทความนี้จึงแปลงข้อมูลระดับครัวเรือนเป็นระดับบุคคลให้สอดคล้องกับบางเกณฑ์ของโครงการ โดยคำนวนจำนวนบัตรคนจนต่อครัวเรือนจากผลประโยชน์รวมที่แต่ละครัวเรือนได้จากโครงการบัตรคนจน (รวมในรูปเงินและสิ่งของ) หารด้วยค่าเฉลี่ยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรแค่ละคนได้รับต่อปี4 นอกจากนี้ เรายังสมมติให้สมาชิกทุกคนในครัวเรือนเดียวกันมีค่าคุณสมบัติเท่ากัน โดยพิจารณาเฉพาะสมาชิกครัวเรือนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีตามเกณฑ์บัตรคนจนเท่านั้น ยกตัวอย่าง หากครัวเรือน A มีสมาชิก 4 คนที่อายุมากกว่า 18 ปี และได้รับบัตร 1 ใบ ในการวิเคราะห์จะแยกครัวเรือนนี้ออกเป็น 4 คนที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน5 โดยมี 1 คนได้รับบัตรและอีก 3 คนไม่ได้รับบัตร การแบ่งลักษณะนี้สอดคล้องกับเกณฑ์รายได้และสินทรัพย์ของรอบโครงการบัตรคนจนปี 2022 ที่ใช้เกณฑ์เป็นค่าเฉลี่ยต่อครัวเรือน (สมาชิกในครัวเรือนเดียวกันจึงมีค่ารายได้และสินทรัพย์ที่นำมาประเมินสิทธิการได้รับบัตรเหมือนกัน) ดังนั้น 1 คนจาก 4 คนที่ได้รับบัตรในตัวอย่างข้างต้นก็สะท้อนโอกาสที่ครัวเรือนที่มีคุณลักษณะดังกล่าวจะได้รับบัตรคนจน
เมื่อเทียบจำนวนบัตรคนจนจากข้อสมมติข้างต้น พบว่าผู้ถือบัตรคนจนที่คำนวนจาก SES ปี 2023 มีจำนวน 11.6 ล้านคน เทียบกับตัวเลขจริงที่ 13.2–14.6 ล้านคน6 ในขณะที่มูลค่าสิทธิประโยชน์รวมผ่านบัตรคนจนที่คำนวณจาก SES ปี 2023 มีมูลค่า 47.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับมูลค่าจริงที่ 35–65.4 หมื่นล้านบาท7 ซึ่งน่าจะพอให้เราสามารถใช้ข้อสมมติข้างต้นมาประเมินประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนได้ดีระดับหนึ่ง ทั้งนี้ จำเป็นต้องตีความผลการประเมินอย่างระมัดระวังเนื่องจากข้อสมมติต่าง ๆ ข้างต้นอาจทำให้การประเมินมีความคลาดเคลื่อน รวมถึง sampling strategy ของฐานข้อมูล SES ออกแบบให้สะท้อนประชากรไทยทั้งประเทศในระดับครัวเรือน ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนเมื่อเปรียบเทียบในระดับบุคคลบ้างอีกด้วย
บทความนี้สร้างกรอบการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนของไทย โดยประเมินสาเหตุหลัก 3 ประการที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน คือ
- การตั้งเกณฑ์คุณสมบัติที่ไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของคนจน (design error)
- การไม่สามารถคัดกรองคุณสมบัติได้อย่างแม่นยำ (screening error)
- การคัดกรองแล้วให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีการคัดกรองซ้ำ (time-lag error)
เห็นได้ว่า ทั้ง 3 สาเหตุของความคลาดเคลื่อนข้างต้นเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนหรือช่วงเวลาของโครงการ ได้แก่ ช่วงการออกแบบ ช่วงการคัดกรอง และช่วงที่ใช้บัตรไปแล้วระยะหนึ่ง ตามลำดับ (รูปที่ 1) โดยสาเหตุทั้งหมดร่วมกันกำหนดว่ามีคนจนที่ไม่ได้รับบัตรมากแค่ไหน และมีคนที่ไม่จนแต่ยังได้รับบัตรมากแค่ไหน8
World Bank (2001) ให้นิยาม “ความยากจน” ว่าเป็นการขาดแคลนความเป็นอยู่ที่ดี (pronounced deprivation in well-being) แต่เกณฑ์การวัดความยากจนในทางปฏิบัติทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การวัดในรูปตัวเงินที่สะท้อนผ่านระดับรายได้หรือการบริโภค ไปจนถึงการวัดด้วยเกณฑ์ที่กว้างขึ้นผ่านปัจจัยที่ไม่ใช้รูปของตัวเงิน เช่น สุขภาพ อายุขัย การศึกษา และเวลาว่างที่มีในแต่ละวัน
สำหรับงานศึกษานี้จะประเมินความยากจนโดยใช้เกณฑ์ระดับการบริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมใช้กัน เพราะมักมองว่าระดับการบริโภคสามารถสะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีได้ตรงกว่าระดับรายได้ และไม่ผันผวนเท่ารายได้ (Meyer & Sullivan, 2003) เช่น คนที่ทำงานตามฤดูกาลจะมีรายได้เพียงบางช่วงของปีแต่ยังสามารถเกลี่ยระดับการบริโภคได้ นอกจากนี้ การวัดความยากจนจากการบริโภคยังสอดคล้องกับวิธีการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่นิยามคนจนว่า คือ คนที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายอาหารและสินค้าบริการที่ปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566)
ทั้งนี้ การคัดกรองคนจนจากระดับการบริโภคไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะรัฐมักขาดข้อมูลว่าแต่ละคนมีระดับการบริโภคจริง ๆ เท่าไหร่ ดังนั้น วิธีที่นิยมใช้กันจึงเป็นการคาดการณ์ผ่านคุณลักษณะที่มองเห็นได้ (observable characteristics) และมีความสัมพันธ์กับการบริโภคแทน หรือที่เรียกว่า proxy means test (PMT) ซึ่งการคัดกรองคนจนเมื่อรัฐไม่มีข้อมูลการบริโภค แต่ต้องประมาณการณ์จากเกณฑ์คุณสมบัติที่รัฐมีข้อมูล ก็สามารถจัดเป็น PMT ได้ลักษณะหนึ่ง9
แล้วโครงการบัตรคนจนออกแบบเกณฑ์การคัดกรองที่สะท้อนคนจนจริง ๆ ได้ดีแค่ไหน?
การประเมินประสิทธิภาพของ PMT โดยทั่วไปทำได้โดยการทดสอบว่าเกณฑ์คุณสมบัติคัดกรองที่ใช้ (proxy) สามารถคาดการณ์ระดับการบริโภคจริงของครัวเรือนได้ดีแค่ไหน โดยทดสอบด้วยการสุ่มแบ่งครึ่งข้อมูลออกเป็นสองชุด ได้แก่
- ชุด training (sample size = 51,474)
- ชุด testing (sample size = 51,842)
แล้วใช้ข้อมูลชุด training ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการบริโภคหลังหักมูลค่าบัตรคนจน (ตัวแปรต้น) และคุณสมบัติที่ถูกใช้เพื่อคัดกรองในโครงการบัตรคนจน (ตัวแปรตาม)10 หลังจากนั้นจึงนำค่าสัมประสิทธิของความสัมพันธ์ที่ได้มาคาดการณ์ระดับการบริโภค (predicted consumption) ด้วยข้อมูลคุณสมบัติคัดกรองในชุด testing ซึ่งเมื่อเราเปรียบเทียบการบริโภคคาดการณ์และการบริโภคจริงในชุดข้อมูล testing ก็จะทำให้สามารถประเมินประสิทธิภาพของ PMT ได้
ตัวแปรต้นในแบบจำลองสามารถอธิบายความผันแปรของตัวแปรตาม (R2) ได้ประมาณ 68%11 โดยการที่แบบจำลองไม่สามารถคาดการณ์ระดับการบริโภคได้ถูกต้องทั้งหมด สะท้อนว่าการตัดสินให้บัตรคนจนบนตามระดับการบริโภคคาดการณ์จะเกิดความผิดพลาดได้ รูปที่ 2 แสดงการบริโภคคาดการณ์ในเกณฑ์นอน และการบริโภคที่แท้จริงในเกณฑ์ตั้งบนข้อมูลชุด testing โดยหากขีดเส้นความยากจน (เส้นสีเขียว) ลงบนทั้งสองแกนจะทำให้สามารถแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
- ด้านซ้ายล่าง คือ กลุ่มคนยากจนจริงที่ได้รับบัตรคนจน (correct inclusion)
- ด้านขวาบน คือ กลุ่มคนที่ไม่ยากจนและไม่ได้รับบัตรคนจน (correct exclusion)
- ด้านขวาล่าง คือ กลุ่มตกหล่น (exclusion error) หมายถึงกลุ่มที่ยากจน (ระดับการบริโภคจริงต่ำกว่าเส้นความยากจน) แต่ไม่ได้รับบัตรคนจนเพราะแบบจำลองประเมินว่าการบริโภคคาดการณ์สูงกว่าเส้นความยากจน
- ด้านซ้ายบน คือ กลุ่มรั่วไหล (inclusion error) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคจริงสูงกว่าเส้นความยากจน แต่วิธี PMT ประเมินว่าเป็นกลุ่มที่ยากจน เห็นได้ว่าความคลาดเคลื่อนลักษณะนี้ย่อมเกิดขึ้นใน PMT เพราะข้อจำกัดของข้อมูลที่ทำให้เราไม่สามารถระบุคนจนได้แม่นยำ
อย่างไรก็ดี นอกจากความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากข้อจำกัดทางข้อมูลที่เลี่ยงไม่ได้ ยังอาจมีความคลาดเคลื่อนที่มาจากการออกแบบเกณฑ์ที่อาจไม่ได้สอดคล้องกับคุณสมบัติของคนจน โดยหากใช้เกณฑ์การคัดกรองจริงของโครงการบัตรคนจนมาคาดการณ์ระดับการบริโภคจากความสัมพันธ์ดังกล่าว จะได้การบริโภคคาดการณ์ที่ 9,295 บาทต่อเดือน (เส้นสีน้ำเงินประในรูปที่ 3 แสดงค่า log) ซึ่งสูงกว่าระดับเส้นความยากจนถึง 3 เท่า ซึ่งการใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการคัดกรองสะท้อนว่าผู้ออกแบบให้ความสำคัญกับการลดปัญหาการตกหล่นน้อยโดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหารั่วไหลมากนักตั้งแต่ขั้นการออกแบบ (design error)
ความคลาดเคลื่อนในขั้นตอนนี้เกิดจากการที่รัฐอาจไม่สามารถคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติตรงกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการขาดข้อมูลที่ครบถ้วนในการคัดกรอง เช่น แม้รัฐจะกำหนดว่าผู้ได้รับสิทธิต้องมีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี แต่หากรัฐไม่รู้รายได้ที่แท้จริงของประชากรทุกคนก็อาจมีคนรายได้สูงบางคนที่ได้รับสิทธิ์
แล้วโครงการบัตรคนจนมี screening error มากแค่ไหน?
เราพอสามารถตอบคำถามนี้ได้โดยเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับบัตร (เรียกว่ากลุ่ม SWC) และผู้ที่ไม่ได้รับบัตร (เรียกว่ากลุ่ม Non-SWC) ในฐานข้อมูล SES ซึ่งได้มีการสอบถามการรับผลประโยชน์จากบัตรคนจนและมีข้อมูลรายได้และสินทรัพย์อย่างละเอียดในปี 2021 และ 2023 โดยในบทความนี้จะแสดงผลของข้อมูลปี 2023 (ท่านสามารถดูผลของปี 2021 ได้ที่ภาคผนวก)
บทความนี้จะประเมินความแม่นยำในการคัดกรองบนตัวอย่างคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ คือ รายได้และสินทรัพย์ รูปที่ 4 แสดงรายได้หลังหักมูลค่าบัตรคนจนในแกนนอน โดยรูปซ้ายมือแสดงจำนวนคนที่อยู่ในแต่ละระดับรายได้ และรูปทางขวามือแสดงค่าสัดส่วน (หารต่อจำนวนคนในกลุ่ม SWC และ Non-SWC) โดยมีการแปลงข้อมูลระดับครัวเรือนออกเป็นระดับบุคคลตามข้อสมมติข้างต้นและใช้น้ำหนักครัวเรือน12 จากข้อมูล SES มาประกอบการคำนวณ ในภาพรวมกลุ่ม SWC มีการกระจุกตัวในระดับรายได้ต่ำมากกว่ากลุ่ม Non-SWC ทั้งนี้ สัดส่วนของคนที่ผ่านเกณฑ์รายได้แต่ไม่ได้รับบัตรคนจนคิดเป็น 58.5% ของคนที่ผ่านเกณฑ์รายได้ทั้งหมด และมีสัดส่วนคนที่ได้รับบัตรแต่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้คิดเป็น 11.5% ของคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้ทั้งหมด
รูปที่ 5 แสดงข้อมูลในลักษณะเดียวกันในด้านของสินทรัพย์ทางการเงิน จากรูปเห็นได้ว่าการกระจายตัวของคุณลักษณะทางสินทรัพย์ทางการเงินของกลุ่ม SWC และ Non-SWC ค่อนข้างใกล้เคียงกัน หากพิจารณาเฉพาะบนคุณสมบัตินี้ มีสัดส่วนคนที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับบัตรคิดเป็น 74% ของคนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด และมีสัดส่วนคนที่ได้รับบัตรแต่ไม่ผ่านเกณฑ์คิดเป็น 8.2% ของคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด
ผู้ถือบัตรคนจนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ว่าจะเกณฑ์รายได้หรือเกณฑ์สินทรัพย์ทางการเงิน สะท้อนความคลาดเคลื่อนของการคัดกรอง ทั้งนี้ เมื่อประเมินแยกแต่ละเกณฑ์ เราอาจไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับบัตรในเกณฑ์หนึ่ง ๆ จะเป็นผู้ตกหล่น เพราะอาจเป็นคนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติในเกณฑ์อื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ สาเหตุที่คุณสมบัติของผู้ถือบัตรไม่ตรงกับเกณฑ์ส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากการที่ข้อมูล SES ไม่ได้แสดงข้อมูลในปีที่มีการคัดกรองโดยตรง ซึ่งการคัดกรองแล้วให้สิทธิต่อเนื่องในแต่ละปีก็ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนอีกลักษณะหนึ่งที่จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
3. ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการที่คัดกรองแล้วให้สิทธิประโยชน์บัตรคนจนเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีการคัดกรองซ้ำ (time-lag error)
คุณสมบัติของแต่ละคนมักมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป บางคนที่ยากจนในปีที่มีการคัดกรองอาจหลุดพ้นจากความยากจนในปีถัดมา หรือคนที่ไม่จนก็อาจกลายเป็นคนจนได้เช่นกัน
แล้วเกณฑ์การคัดกรองมี time-lag error มากแค่ไหน?
เพื่อประเมินรายได้ที่เปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป บทความนี้จำลองพลวัติรายได้ครัวเรือนไทยโดยใช้ค่าพารามิเตอร์ที่มาจากการประมาณค่าจากฐานข้อมูล Townsend ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ติดตามครัวเรือนไทยมากกว่า 10 ปี13 ซึ่งพลวัติรายได้นั้นมีส่วนสำคัญหลักสองส่วน ได้แก่ รายได้ที่เปลี่ยนไปตามช่วงอายุของครัวเรือน (age profile) และ รายได้ที่ไม่แน่นอน (income shock)14 ครัวเรือนถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ได้แก่ กลุ่มที่จบการศึกษาสูงสุดไม่เกินมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เนื่องจากสองกลุ่มนี้มีทั้งรายได้ตามช่วงอายุ และความไม่แน่นอนของรายได้ที่ต่างกันไป โดยครัวเรือนที่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษามักเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีความไม่แน่นอนของรายได้สูง หรือเป็นลูกจ้างแรงงานทักษะต่ำที่รายได้อาจไม่โตตามอายุมากนัก จึงมี age profile ของรายได้ที่ค่อนข้างแบนกว่า15
รูปที่ 6 แสดงพลวัติของการกระจายรายได้ของครัวเรือนจากการจำลองแยกตามระดับการศึกษา หากสมมติให้ครัวเรือนมีรายได้ในปีแรกเท่ากับเกณฑ์ที่ 100,000 บาท/ปี16 ซึ่งผ่านเกณฑ์พอดีและได้รับบัตรในปีแรก แต่ไม่มีการคัดกรองซ้ำในปีถัดมา ผลการจำลองพบว่า กลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำซึ่งเป็นกลุ่มที่รายได้โตน้อยและมีความไม่แน่นอนสูง มีสัดส่วนที่จะมีรายได้เกินเกณฑ์ประมาณ 52% ในปีแรก และเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 60–70% เมื่อผ่านไป 5 ปี (พื้นที่เหนือเส้นประสีแดง) ซึ่งสัดส่วนนี้สูงกว่าสำหรับกลุ่มครัวเรือนอายุน้อยเนื่องจากกลุ่มนี้มักมีรายได้ที่โตเร็วกว่า ส่วนกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงนั้นโดยเฉลี่ยมีอัตราการโตของรายได้ที่สูงกว่า มีโอกาสได้รายได้เกินเกณฑ์ 56% ในปีแรก และเพิ่มขึ้นถึงกว่า 70–89% เมื่อผ่านไป 5 ปี อย่างได้ก็ดี มีเพียง 3.7% ของครัวเรือนที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าอุดมศึกษาเท่านั้นที่ได้รับบัตรคนจน ทั้งนี้ 78.5% ของครัวเรือนไทยมีหัวหน้าครัวเรือนที่ได้รับการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา (ตารางที่ 3) และ 97% ครัวเรือนที่ได้รับบัตรคนจนมีหัวหน้าครัวเรือนที่ระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา
ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน | Share ต่อจำนวนครัวเรือนทั้งหมด | Share ต่อจำนวนครัวเรือนที่ได้รับบัตรคนจนทั้งหมด |
---|---|---|
ประถมหรือมัธยมศึกษา | 78.51% | 97.14% |
อุดมศึกษาขึ้นไป | 21.49% | 2.86% |
รวม | 100.00% | 100.00% |
แม้ว่าบทความนี้จะไม่ได้แยกว่าแต่ละสาเหตุข้างต้นส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนสุดท้ายมากน้อยแค่ไหน แต่คงพอกล่าวได้ว่าแต่ละสาเหตุร่วมกันส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับบัตรคนจนที่ไม่ได้ยากจนจริง ๆ โดยรูปที่ 7 แสดงระดับการบริโภคต่อหัวหลังหักมูลค่าบัตรคนจน (สำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรคนจน) ในแกนนอนและสัดส่วนคนที่อยู่ในแต่ละระดับการบริโภคในแกนตั้ง โดยแปลงข้อมูลระดับครัวเรือนจาก SES ปี 2023 เป็นระดับบุคคลตามข้อสมมติข้างต้นและคำนึงถึงน้ำหนักของครัวเรือนแล้ว ซึ่งหากสมมติให้คนยากจนคือคนที่มีระดับการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน (สีแดง) ด้วยข้อสมมติข้างต้น พบว่ามีสัดส่วนการรั่วไหลคิดเป็นประมาณ 20.7% (มีคนไม่จน 10.1 ล้านคน ที่ได้รับบัตรคนจน จากคนไม่จนทั้งหมด 49 ล้านคน) และมีสัดส่วนการตกหล่นคิดเป็นประมาณ 40.4% (มีคนจน 1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้รับบัตรคนจน จากคนจนทั้งหมด 3.5 ล้านคน)
บทความนี้สร้างกรอบเพื่อวิเคราะห์โครงการบัตรคนจนของไทย โดยประเมินด้วยข้อมูล SES และข้อสมมติบางประการเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูล SES กับเกณฑ์ของโครงการบัตรคนจน เพื่อตอบคำถามว่าผู้ถือบัตรคนจน “ยากจน” จริงหรือไม่
กรอบการวิเคราะห์ประเมินประสิทธิภาพของโครงการใน 3 ขั้น และพบว่า
- โครงการบัตรคนจนมีการตั้งเกณฑ์คุณสมบัติที่สัมพันธ์กับการบริโภคที่สูงกว่าเส้นความยากจนถึง 3 เท่า จึงอาจไม่ได้ออกแบบเพื่อให้เงินกลุ่มคนยากจนเท่านั้น (design error)
- เมื่อกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติแล้ว รัฐมีการคัดกรองที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ตั้งไว้อยู่บ้างในเกณฑ์ของรายได้และสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นต้น
- การที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องหลายปีโดยไม่ได้คัดกรองใหม่ ไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ถือบัตร เช่น ครัวเรือนที่ระดับรายได้เข้าเกณฑ์ในปีที่คัดกรอง ก็มีแนวโน้มที่มีรายได้เกินเกณฑ์เมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้เกิดปัญหารั่วไหลมากขึ้นหากไม่มีการคัดกรองซ้ำ
โดยความคลาดเคลื่อนทั้ง 3 ขั้น พอช่วยให้เราเข้าใจประสิทธิภาพของโครงการในภาพรวม ซึ่งด้วยข้อสมมติในบทความนี้ เราพอสามารถประเมินได้ว่า ปัญหารั่วไหลคิดเป็นประมาณ 20.7% (มีคนไม่จน 10.1 ล้านคน ที่ได้รับบัตรคนจน จากคนไม่จนทั้งหมด 49 ล้านคน) และมีสัดส่วนการตกหล่นคิดเป็นประมาณ 40.4% (มีคนจน 1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้รับบัตรคนจน จากคนจนทั้งหมด 3.5 ล้านคน)
ท่านสามารถอ่านบทความตอนที่ 2 ที่จะช่วยตอบว่าแล้วเราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
เอกสารอ้างอิง
- ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการการออกแบบนโยบายเงินให้เปล่าในบริบทประเทศกำลังพัฒนาได้ใน Poonpolkul (2023)↩
- ข้อมูลจากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย (Poverty and Inequality Report 2023) ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ↩
- ต้องเป็นผู้พิการที่มีบัตรคนพิการและเคยได้รับเบี้ยคนพิการอยู่แล้ว↩
- คำนวณจากข้อมูลงบประมาณรายจ่ายรวมและจำนวนผู้ได้รับสิทธิในโครงการบัตรคนจนของรัฐปี 2023↩
- การบริโภคเฉลี่ยต่อหัวของสมาชิกครัวเรือน รายรับ สินทรัพย์ทางการเงิน ต่อสมาชิกครัวเรือนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และสถาณะการมีวงเงินกู้ บัตรเครดิตและที่อยู่อาศัย↩
- SES ปี 2023 สอบถามมูลค่าบัตรคนจนที่ครัวเรือนได้รับในปีที่ผ่านมา จึงสะท้อนค่าระหว่างปี 2022–2023 ซึ่งจำนวนผู้รับบัตรคนจนจริงปี 2022–2023 อยู่ที่ 13.2 และ 14.6 ล้านคน ตามลำดับ↩
- SES ปี 2023 สอบถามมูลค่าบัตรคนจนที่ครัวเรือนได้รับในปีที่ผ่านมา จึงสะท้อนค่าระหว่างปี 2022–2023 โดยงบประมาณจริงปี 2022–2023 อยู่ที่ 34,986.4 และ 65,413.80 ล้านบาท ตามลำดับ↩
- ความคลาดเคลื่อนอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้เข้าเกณฑ์ไม่สมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่ได้ทำการวิเคราะห์ในบทความนี้↩
- PMT โดยทั่วไปมักพูดถึงการประมาณระดับรายได้ที่รัฐไม่ทราบ ด้วยคุณลักษณะของบุคคลซึ่งมักได้มาผ่านการทำการสำรวจ เช่น พื้นที่ของที่อยู่อาศัย ลักษณะของที่อยู่อาศัย สินทรัพย์ที่มี (เช่น บ้าน โทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ) ทั้งนี้ ในบริบทของงานศึกษานี้ เนื่องจากบัตรคนจนเป็นการประเมินความยากจนซึ่งบทความนี้ให้นิยามบนระดับการบริโภค ประกอบกับรัฐสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐเพื่อประเมินคุณสมบัติตามเกณฑ์ต่าง ๆ จึงมีลักษณะการประเมินที่สามาถนำกรอบ PMT มาปรับใช้ในการวิเคราะห์↩
- งานศึกษานี้แปลงค่าการบริโภคเป็นค่า log ต่อหัวของสมาชิกในครัวเรือน และแปลงค่ารายรับและสินทรัพย์ทางการเงินเป็นค่า log ต่อหัวของสมาชิกครัวเรือนที่อายุมากกว่า 18 ปี สำหรับเกณฑ์วงเงินกู้ บัตรเครดิตและที่อยู่อาศัยใช้ค่า dummy ในระดับครัวเรือน ทั้งนี้ ครัวเรือนในการสำรวจ SES ทั้งหมดมีสัญชาติไทยซึ่งเข้าเกณฑ์อยู่แล้ว โดย regression ใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักครัวเรือนจากฐานข้อมูล SES↩
- ใกล้เคียงกับงานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) ที่ได้ค่า R2 อยู่ระหว่าง 0.53 และ 0.66 ในกรณีของอินโดนีเซียและเปรู↩
- น้ำหนักครัวเรือนสะท้อนว่าแต่ละ sample การสำรวจครัวเรือนของ SES สะท้อนจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยจริงกี่ครัวเรือน↩
- การจะประมาณค่าพารามิเตอร์ income shock ของครัวเรือนได้นั้น ต้องมีข้อมูลติดตามรายได้ของครัวเรือนเดียวกันมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ด้วยข้อจำกัดทางข้อมูล ผู้วิจัยจึงได้ใช้ค่าพารามิเตอร์ที่ประมาณค่ามาจากฐานข้อมูล Townsend โดยหากเปรียบเทียบสถิติรายได้ครัวเรือนใน SES กับครัวเรือนตัวอย่างทั้งในชนบทและเมืองจากฐานข้อมูล Townsend นั้น มีค่าเฉลี่ยของรายได้ใกล้เคียงกัน (Tawichsri, 2018, p.12)↩
- Income shock ในการศึกษาพลวัติรายได้นั้นมักจำลองตาม AR(1) process โดยมีการประมาณทั้งค่าความ persistent และความผันผวน ของความไม่แน่นอนของรายได้ สามารถดูรายละเอียดการประมาณค่าและค่าพารามิเตอร์ได้ที่ (Tawichsri, 2018, p.17,28)↩
- ดูรูป age profile ของรายได้ครัวเรือนจากข้อมูล SES ได้ที่ภาคผนวก↩
- หมายเหตุ: ได้ปรับเกณฑ์รายได้จาก เกณฑ์ต่อคนในครัวเรือนให้สอดคล้องกับระดับครัวเรือน และทำการจำลองสำหรับครัวเรือนกลุ่มอายุ 25, 35, 45 และ 55 ปี ตามลำดับ↩