บัตรคนจน ตอนที่ 2: เราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
note
บทความนี้อยู่ในชุดบทความ “บัตรคนจน” ซึ่งประกอบด้วย 2 บทความย่อย คือ ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน? และ ตอนที่ 2: เราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
excerpt
บทความในตอนที่ 1 ประเมินประสิทธิภาพโครงการบัตรคนจนผ่านความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการออกแบบ การคัดกรอง และการให้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องหลายปีโดยไม่ได้คัดกรองใหม่ บทความตอนที่ 2 นี้จะถามต่อไปว่าแล้วเราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยใช้สวัสดิการทางสังคมเป็นตัวชี้วัด บทความนี้จะอธิบายถึงหลักคิดเกี่ยวกับ 1) การออกแบบตัวชี้วัดความยากจนด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ ที่มองเห็นได้หรือที่เรียกกันว่า Proxy Means Test (PMT) 2) การประเมิน tradeoffs ระหว่างปัญหาตกหล่น1และรั่วไหล2 รวมถึงมูลค่าสิทธิประโยชน์ต่อหัวเมื่อมีการปรับความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรอง และ 3) ผลต่อสวัสดิการทางสังคมในแต่ละระดับความเข้มงวดของเกณฑ์คัดกรองเมื่อคำนึงถึงการออกแบบ PMT และ tradeoffs ต่าง ๆ แล้ว โดยจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนของไทยกับสิ่งที่เป็นไปได้หากมีการปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น และเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ว่าจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไรบนงบประมาณที่รัฐตั้งไว้
ในบทความตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน? เราได้อธิบายรายละเอียดของโครงการบัตรคนจน นิยามปัญหาตกหล่นและรั่วไหล รวมถึงการใช้ข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) พร้อมสมมติฐานบางประการเพื่อนำมาประเมินประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจน โดยใช้กรอบวิเคราะห์ใน 3 ขั้น ซึ่งเราพบว่า
- โครงการบัตรคนจนมีการตั้งเกณฑ์คุณสมบัติที่สัมพันธ์กับระดับการบริโภคที่สูงกว่าเส้นความยากจนถึง 3 เท่า (design error)
- รัฐมีการคัดกรองคุณสมบัติไม่ตรงกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้อยู่บ้าง (screening error)
- รัฐมีการให้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องโดยไม่ได้คัดกรองใหม่เป็นเวลานานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ถือบัตร ซึ่งผู้ถือบัตรที่เคยจนมีโอกาสจนน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป (time-lag error)
ดังนั้น ความคลาดเคลื่อนในทั้ง 3 ขั้นจึงส่งผลให้เกิดปัญหาตกหล่นและรั่วไหลของโครงการ บทความนี้จะศึกษาว่าเราจะออกแบบและปรับปรุงโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล SES และสมมติฐานต่าง ๆ ที่อธิบายไว้ในบทความตอนที่ 1
เราควรใช้คุณสมบัติอะไรในการคัดกรอง?
การตั้งเกณฑ์คัดกรองในแต่ละระดับจะนำไปสู่ปัญหาตกหล่นและรั่วไหลมากแค่ไหน?
มูลค่าบัตรคนจนแต่ละใบควรเป็นเท่าไหร่?
เราจะตั้งเกณฑ์คุณสมบัติให้เข้มงวดหรือผ่อนคลายมากแค่ไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ดีที่สุด?
ตัวอย่างคำถามข้างต้นล้วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงการบัตรคนจน เห็นได้ว่าการตอบคำถามให้ได้ครบถ้วนจำเป็นต้องมีกรอบคิดที่สามารถประเมินประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนในหลายมิติ รวมถึงต้องมีตัวชี้วัดว่าการออกแบบลักษณะไหนได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยในทางเศรษฐศาสตร์ การวัดด้วยการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการทางสังคมหรือความสุขโดยรวมของคนในสังคม (social welfare) เป็นแนวคิดที่ใช้กันค่อนข้างแพร่หลายเพราะสามารถคำนึงถึงผลในมิติต่าง ๆ ได้ค่อนข้างครบถ้วน
Social welfare คืออะไร?
นักเศรษฐศาสตร์มักแทนสวัสดิภาพหรือความสุข (welfare) ของคนด้วยค่าสมมติซึ่งช่วยสะท้อนความสุขของคนนั้น ๆ โดยค่าสมมติดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องมุมมองที่เรามีต่อความสุข เช่น เมื่อเราสามารถบริโภคมากขึ้น เราก็มักจะมีความสุขมากขึ้น แต่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงเมื่อเราบริโภคในระดับที่สูงขึ้น (diminishing marginal utility) หากอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย คือ เงิน 100 บาทมีค่าไม่เท่ากันสำหรับแต่ละคน สำหรับคนมีรายได้น้อย การได้รับเงิน 100 บาทอาจเพิ่มความสุขอย่างมาก เพราะอาจช่วยให้สามารถทานอาหารได้ครบ 3 มื้อ แต่สำหรับคนมีรายได้สูง การได้รับเงิน 100 บาทอาจเพิ่มความสุขเพียงเล็กน้อยเพราะมีกินมีใช้เพียงพออยู่แล้ว เป็นต้น โดย social welfare ก็คือตัวชี้วัดที่คำนึงถึงความสุขของทุกคนที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้น ๆ รวมกัน
เห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลง social welfare เกิดจากผลรวมของการเปลี่ยนแปลง welfare ของแต่ละคนที่อาศัยอยู่ในสังคม ขณะที่การเปลี่ยนแปลง welfare แต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้น เดิมทีแล้วเป็นคนรวยหรือจน มีกี่คนที่ได้รับบัตรคนจน และได้รับบัตรคนจนมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งมิติเหล่านี้ล้วนมีผลต่อค่าของ social welfare ทั้งสิ้น ดังนั้น เกณฑ์การออกแบบบัตรคนจนที่เป็นไปได้วิธีหนึ่งคือการออกแบบให้เกิด social welfare สูงที่สุด บนข้อจำกัดต่าง ๆ ของโครงการ เช่น ข้อมูลและงบประมาณที่รัฐมี
บทความนี้จะประเมินการปรับโครงการบัตรคนจนโดยใช้กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นการออกแบบโครงการเพื่อให้เกิดระดับ social welfare ที่สูงที่สุด ซึ่งจากงานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) เราสามารถแบ่งขั้นตอนการออกแบบได้เป็น 3 ขั้นตอน มีรายละเอียดดังนี้
เนื่องจากรัฐอาจไม่มีข้อมูลที่จะระบุว่าใครเป็นคนจนได้อย่างแม่นยำ รัฐจึงจำเป็นต้องประเมินความยากจน3 โดยคาดการณ์ผ่านคุณลักษณะที่มองเห็นได้ (observable characteristics) หรือที่เรียกว่า proxy means test (PMT) ซึ่งหากรัฐสามารถระบุตัวคนจนได้แม่นยำมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการให้บัตรคนจนกับคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการออกแบบ PMT ที่ดีจะนำไปสู่ social welfare ที่สูงขึ้นด้วย
ขั้นตอนของการออกแบบ PMT เริ่มต้นจากการหาคุณสมบัติที่คาดว่าจะสามารถอธิบายความยากจนได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติเหล่านี้อาจมาจากการสำรวจหรือจากฐานข้อมูลที่รัฐมี เช่น คนที่มีรถขับอาจจะมีระดับการบริโภคสูงกว่าคนที่ไม่มีรถขับ หรืออนุมานได้ว่าคนที่มีรถขับจะมีโอกาสยากจนน้อยกว่า ดังนั้น การมีข้อมูลว่าใครมีรถยนต์ขับก็สามารถช่วยให้รัฐระบุว่าใครจนหรือไม่จนได้ดีขึ้น โดยยิ่งมีข้อมูลคุณสมบัติหรือ proxy ที่หลากหลายก็มีโอกาสที่จะช่วยอธิบายความยากจนได้แม่นยำ โดยเราสามารถนำ proxy ต่าง ๆ ที่มีมาหาความสัมพันธ์กับระดับการบริโภคหรือความยากจน โดยสามารถหาชุดตัวแปรและลักษณะความสัมพันธ์ที่สะท้อนความยากจนได้แม่นยำที่สุด แล้วจึงนำชุดตัวแปรและความสัมพันธ์เหล่านั้นมาใช้ในการออกแบบเกณฑ์การคัดกรอง4
การประเมินในขั้นตอนนี้สามารถทำได้บนชุดข้อมูลที่มีทั้งตัวแปร proxy และระดับความยากจนจริง โดยสุ่มแบ่งครึ่งข้อมูลออกเป็นสองชุด เป็นชุด training ที่ใช้ในการหาความสัมพันธ์ระหว่าง proxy และระดับการบริโภค กับชุด testing ที่นำความสัมพันธ์ที่ได้มาหาค่าการบริโภคคาดการณ์ (predicted consumption) ซึ่งสามารถทำให้เราเปรียบเทียบการบริโภคคาดการณ์และการบริโภคจริงเพื่อประเมินประสิทธิภาพของ PMT นั้น ๆ ได้
โดยรูปที่ 1 แสดงตัวอย่างการประเมิน PMT บนฐานข้อมูล SES โดยใช้คุณสมบัติตามเกณฑ์บัตรคนจนปัจจุบัน แกนนอนแสดงการบริโภคคาดการณ์ และแกนตั้งแสดงการบริโภคจริง โดยในตัวอย่างนี้ตัวแปรต้น (proxy) ในแบบจำลองสามารถอธิบายความผันแปรของตัวแปรตาม (R2) ได้ประมาณ 68% (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความตอนที่ 1) ซึ่งการประเมินในวิธีดังกล่าวด้วยหลาย ๆ ชุดคุณสมบัติก็จะช่วยให้สามารถทราบได้ว่าชุดคุณสมบัติใดและความสัมพันธ์แบบใดสามารถสะท้อนระดับการบริโภคได้ดีที่สุด
เมื่อเลือกชุดคุณสมบัติและรูปแบบความสัมพันธ์ที่สะท้อนความยากจนได้ดีที่สุดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการประเมินว่าจะตั้งเกณฑ์คุณสมบัติเข้มงวดในระดับไหน โดยการเปลี่ยนความเข้มงวดของเกณฑ์ที่จะส่งผลกับระดับการบริโภคคาดการณ์ของผู้ที่ได้รับบัตร ซึ่งเป็นตัวกำหนดระดับปัญหาตกหล่นและรั่วไหล จำนวนคนที่จะได้รับสิทธิ ตลอดจนมูลค่าสิทธิประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับ บนงบประมาณที่เท่ากัน
ทั้งนี้ เนื่องจากบทความนี้ไม่ได้เลือกชุดคุณสมบัติและความสัมพันธ์ในขั้นตอนแรก จึงจะยกตัวอย่างโดยใช้ประสิทธิภาพของ PMT ของโครงการในปัจจุบันตามที่ประเมินไว้ในบทความตอนที่ 1 โดยรูปที่ 2 ด้านบนเรียกว่ารูป Receiver Operating Characteristic (ROC)5 ที่คำนวณโครงการบัตรคนจน ซึ่งแสดง tradeoff ระหว่างปัญหาตกหล่นและรั่วไหลของโครงการบัตรคนจนเมื่อมีการเปลี่ยนความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรอง6 โดยแกนนอนแสดงปัญหารั่วไหลจากน้อยไปมาก และแกนตั้งแสดงค่าสัดส่วนคนที่ได้รับสิทธิอย่างถูกต้อง (มีค่าเท่ากับ 1-ปัญหาตกหล่น) ซึ่งยิ่งมีค่ามากยิ่งสะท้อนประสิทธิภาพของ PMT ที่ดี เช่น ในกรณีสุดขั้วที่ตั้งเกณฑ์การคัดกรองมีความเข้มงวดมาก จะทำให้ไม่มีใครได้รับบัตรคนจนเลย ซึ่งหมายถึงจะไม่มีปัญหารั่วไหลเลย แต่ก็จะมีปัญหาตกหล่นเต็มที่ (จุด ซ้ายสุดในรูป) หรือในทางกลับกันหากตั้งเกณฑ์ที่หลวมมาก ก็จะทำให้ทุกคนได้รับบัตรคนจน (universal) คือไม่มีปัญหาตกหล่น แต่จะมีปัญหารั่วไหลเต็มที่ (จุด ขวาสุดในรูป) การตั้งเกณฑ์ระหว่างสองกรณีสุดขั้วดังกล่าวก็จะทำให้มีระดับปัญหาตกหล่นและรั่วไหลที่แตกต่างกันไปดังแสดงในรูป โดยจุดที่สะท้อนประสิทธิภาพที่ดีที่สุดคือจุดซ้ายบน ที่ไม่มีปัญหารั่วไหลและไม่มีปัญหาตกหล่นเลย แต่ไม่สามารถออกแบบนโยบายให้อยู่ที่จุดนี้ได้เนื่องจากยังมีความคลาดเคลื่อนจากคาดการณ์การบริโภคด้วย proxy อยู่
นอกจากนี้ ด้วยงบประมาณที่เท่ากัน (งบประมาณจริงในปี 2023) การตั้งความเข้มงวดของเกณฑ์จะกำหนดจำนวนคนที่มีสิทธิได้รับบัตรคนจน รวมถึงกำหนดมูลค่าบัตรคนจนต่อหัวที่ผู้ถือบัตรจะได้รับ (รูปที่ 2 ด้านล่าง) การประเมินในลักษณะนี้ช่วยให้เห็น tradeoff ในมิติของจำนวนผู้ได้รับบัตร มูลค่าบัตรต่อหัว รวมถึงปัญหาตกหล่นและรั่วไหลเพื่อให้เข้าใจตัวเลือกของการออกแบบโครงการที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ จะเลือกการตั้งความเข้มงวดที่จุดไหนจำเป็นต้องมีเครื่องชี้วัดเพิ่มเติม ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป
โดยในกรณีของไทยนั้น เห็นได้ว่าการผสมผสานของปัญหาตกหล่นและรั่วไหล่ที่เกิดขึ้นจริงอยู่ต่ำกว่าเส้น ROC คือ มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่สามารถเป็นไปได้เมื่อประเมินจากความแม่นยำของ PMT ในปัจจุบัน ปัญหารั่วไหลที่ 20.7% ควรจะส่งผลให้มีคนได้รับสิทธิอย่างถูกต้องมากกว่า 80% แต่กลับมีผู้ได้รับสิทธิถูกต้องจริงเพียงประมาณ 60% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการคัดกรองและการให้สิทธิโดยขาดการทบทวนตามที่อธิบายไว้ในบทความตอนที่ 1
การประเมินผลลัพธ์ของโครงการบัตรคนจนผ่านแนวคิดสวัสดิการทางสังคม7 ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรองโดยคำนึงถึงปัจจัยในแต่ละมิติที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งความแม่นยำของ PMT การ tradeoffs ระหว่างปัญหาตกหล่นและรั่วไหล สิทธิประโยชน์ที่ให้ต่อหัว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของ welfare รายบุคคลที่จนหรือรวยแตกต่างกัน
ลองพิจารณาจากตัวอย่างของการตั้งเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้น ในกรณีนี้จะทำให้เกิดปัญหารั่วไหลน้อยลงและปัญหาตกหล่นมากขึ้น และมีจำนวนผู้รับสิทธิโดยรวมน้อยลงด้วย แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิแต่ละคนจะได้บัตรคนจนในมูลค่าที่สูงขึ้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ในลักษณะนี้จะส่งผลต่อ social welfare ผ่านหลายช่องทางและมี tradeoffs ในหลายมิติ โดยสรุปคร่าว ๆ ได้ดังตารางที่ 1 ซึ่งเห็นได้ว่าผลต่อ social welfare จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่องทาง และขนาดของผลผ่านแต่ละช่องทางก็จะเปลี่ยนไปตามเกณฑ์ความเข้มงวดอีกด้วย ซึ่งการประเมินผลลัพธ์ผ่าน social welfare จะคำนึงถึงมิติต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมด
ผลจากการปรับเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้น | ผลที่เกิดขึ้นกับ social welfare |
---|---|
ปัญหารั่วไหลน้อยลง | ผลดี: ด้วยงบประมาณที่เท่ากัน การลดการให้บัตรกับคนที่ไม่ยากจนทำให้รัฐสามารถนำเงินไปให้กับคนจนจริง ๆ ได้มากขึ้น |
ปัญหาตกหล่นมากขึ้น | ผลเสีย: มีคนที่จนแต่ไม่ได้รับบัตรมากขึ้น |
จำนวนผู้รับสิทธิโดยรวมน้อยลง | ผลเสีย: ด้วยมูลค่าเงินต่อหัวที่เท่ากัน จะมีจำนวนคนที่มี welfare ดีขึ้นน้อยลง |
บัตรคนจนแต่ละใบให้สิทธิประโยชน์สูงขึ้น | ผลดี: เมื่อเทียบจำนวนผู้รับบัตรเท่ากัน หากแต่ละคนได้รับเงินมากขึ้นก็จะมี welfare สูงขึ้น แต่จะสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง |
รูปที่ 3 แสดงระดับ social welfare บนเกณฑ์การคัดกรองที่มีความเข้มงวดต่างกันออกไป สะท้อนด้วยแกนนอนที่แสดงระดับปัญหารั่วไหล (รั่วไหลน้อยสะท้อนเกณฑ์คัดกรองที่เข้มงวดมาก) โดยเส้นสีดำแสดง social welfare ที่คำนวณบนความแม่นยำของ PMT โดยใช้ฐานข้อมูล SES ปี 2023 ซึ่งสะท้อน social welfare สูงสุดที่เป็นไปได้ในแต่ละระดับความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรองเมื่อคำนึงถึงประสิทธิภาพของ PMT ที่ใช้ (ขอเรียกว่า current efficient frontier) จากตัวอย่างการคำนวณข้างต้นเห็นได้ว่าระดับ social welfare จะสูงสุดเมื่อตั้งเกณฑ์การคัดกรองค่อนข้างเข้มงวด (ปัญหารั่วไหลต่ำ) ซึ่งหมายถึงว่าทรัพยากรที่มีจำกัดนั้นถูกจัดสรรให้กับกลุ่มคนที่ยากจนจริง ๆ และแต่ละคนได้ทรัพยากรค่อนข้างมาก ซึ่งจะช่วยให้ได้ social welfare ที่สูง ด้วยข้อสมมติในการประเมินนี้ พบว่า social welfare จะสูงที่สุดเมื่อมีการออกแบบให้มีปัญหารั่วไหลที่ประมาณ 7.5% (จุด B) ปัญหาตกหล่นที่ประมาณ 38% และให้สิทธิประโยชน์มูลค่าประมาณ 11,513 บาทต่อคนต่อปี โดยผลดังกล่าวสอดคล้องกับงานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) ที่พบว่าโครงการเงินให้เปล่าในอินโดนีเซียและเปรูจะได้ social welfare สูงสุดเมื่อมีการตั้งเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวดเช่นกัน
หากมองกลับมาที่ไทย จุดสีแดงโปร่ง (จุด C) สะท้อนระดับ social welfare และปัญหารั่วไหลที่โครงการบัตรคนจนออกแบบให้เป็น เห็นได้ว่ามีการออกแบบเกณฑ์ที่ค่อนข้างหลวม โดยออกแบบให้เกิดปัญหารั่วไหลอยู่ที่ 64% ขณะที่จุดสีแดงทึบ (จุด D) คือสถาณการณ์ของบัตรคนจนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีปัญหารั่วไหลอยู่ที่ 20.7% และมี social welfare อยู่ต่ำกว่าระดับเส้น current efficient frontier มาก สะท้อนความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการคัดกรองและความคลาดเคลื่อนจากการให้สิทธิเป็นระยะเวลานานโดยที่ไม่มีการคัดกรองซ้ำ ซึ่งล้วนทำให้ประสิทธิภาพของโครงการจริงอยู่ต่ำกว่าระดับที่เป็นไปได้
แล้วจะปรับปรุงให้โครงการบัตรคนจนดีขึ้นได้อย่างไร?
จากรูปที่ 3 เราสามารถปรับปรุงโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้ด้วย 3 วิธี
- ลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการคัดกรองและจากการให้สิทธิโดยไม่มีการทบทวนคุณสมบัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม social welfare ให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่รัฐออกแบบไว้บน current efficient frontier (ขยับจากจุด D ไปจุด C หากไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์คัดกรอง)
- ปรับเกณฑ์การคัดกรองให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดปัญหารั่วไหลและลดจำนวนคนได้รับบัตรเพื่อให้ผู้ได้รับบัตรแต่ละคนได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น และทำให้เกิด social welfare ในระดับที่สูงที่สุดบน current efficient frontier (ขยับจากจุด C ไปจุด B)
- ใช้ข้อมูลคุณสมบัติที่ครอบคลุมมากขึ้นและประเมินรูปแบบความสัมพันธ์ที่สะท้อนความยากจนได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ proxy เพื่อสะท้อนความยากจน meให้ได้รับ welfare ที่สูงขึ้น เข้าใกล้กรณีที่รัฐมีข้อมูลการบริโภคที่แท้จริง (เส้นประสีน้ำเงิน) โดยทำควบคู่ไปกับการปรับความเข้มงวดของเกณฑ์การคัดกรอง (ขยับจากจุด B ไปใกล้จุด A)
ซึ่งเราสามารถปรับทั้ง 3 วิธีไปพร้อมกันได้ ทั้งนี้ หากรัฐให้น้ำหนักกับคนบางกลุ่มมากขึ้น (นอกเหนือจากการที่คนจนมี welfare มากกว่าคนรวยจากการได้เงินจำนวนเท่ากัน) ก็จะเป็นการปรับสูตรการคำนวณ social welfare ของโครงการและทำให้ได้เกณฑ์ที่ต่างออกไป เช่น หากให้ความสำคัญกับคนจนมากขึ้นจะทำให้ social welfare สูงสุดสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ผ่อนคลายลง เป็นต้น
โครงการ “บัตรคนจน” ของไทยมีลักษณะเป็นโครงการเงินให้เปล่าที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความคุ้มครองทางสังคมและแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะหน้า ทั้งนี้ การออกแบบโครงการอย่างรอบคอบจะช่วยให้รัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการข้างต้นได้อย่างเต็มที่บนงบประมาณที่จำกัด
บทความนี้เสนอแนวทางการปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นบนพื้นฐานหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยสรุปได้คร่าว ๆ 3 วิธี ที่ควรทำควบคู่กันไป คือ
- ลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการคัดกรองและจากการให้สิทธิโดยไม่มีการทบทวนคุณสมบัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม social welfare บนเกณฑ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
- หากรัฐให้น้ำหนักแต่ละคนในสังคมเท่ากัน (utilitarian) ควรปรับเกณฑ์การคัดกรองให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะ social welfare จะสูงที่สุด เมื่อมีปัญหารั่วไหลน้อยลงและคนจนแต่ละคนได้รับประโยชน์มากขึ้นเมื่อเทียบกับเกณฑ์ในปัจจุบัน
- ควรมีการกำหนดคุณสมบัติที่ครอบคลุม และประเมินความสัมพันธ์ที่สะท้อนความยากจนมากขึ้น เพื่อพัฒนาความแม่นยำของโครงการในภาพรวม
ทั้งนี้ บทความข้างต้นมีข้อจำกัดบางประการที่ผู้อ่านควรคำนึงถึง คือ
- บทความประเมินโครงการบัตรคนจนบนงบที่ใช้จริงในปี 2023 ซึ่งการประเมินประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรของรัฐในภาพรวมจำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดสรรงบในโครงการอื่น ๆ ด้วย
- กรอบการวิเคราะห์ที่ใช้ในบทความนี้ไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรมตอบสนองของครัวเรือนต่อสิทธิประโยชน์ที่ได้รับผ่านบัตรคนจน
- การคัดกรองที่แม่นยำขึ้นอาจมาพร้อมกับต้นทุนการคัดกรองที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจทำให้งบประมาณที่นำไปให้สิทธิประโยชน์ลดลง เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- การบริโภคคาดการณ์สูงกว่าเส้นความยากจนแต่ระดับการบริโภคจริงต่ำกว่าเส้นความยากจน↩
- การบริโภคจริงสูงกว่าเส้นความยากจน แต่วิธี PMT ประเมินว่าเป็นกลุ่มที่ยากจน↩
- ความจนในที่นี้คือการมีระดับการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน↩
- รัฐมักไม่แจ้งเกณฑ์การคัดกรองกับประชาชนเพื่อเลี่ยงปัญหาของการที่ประชาชนจะบิดเบือนพฤติกรรมหรือคุณสมบัติตนเองเพื่อให้เข้าเกณฑ์↩
- Receiver Operating Characteristic (ROC) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการรั่วไหล (false positive) และ 1-ปัญหาการตกหล่น (true positive) โดยยิ่งเส้นที่แสดงมีค่ามาก ยิ่งสะท้อนการประสิทธิภาพของการ PMT ที่ดี↩
- ในแต่ละระดับของการบริโภคคาดการณ์จะเกิดปัญหาตกหล่นและปัญหารั่วไหลแตกต่างกันออกไป รูป ROC เกิดจากการประเมินปัญหาตกหล่นและรั่วไหลเมื่อขยับระดับของการบริโภคคาดการณ์จากน้อยไปมาก↩
- โดยทางเศรษฐศาสตร์มักเขียนแทนด้วยฟังก์ชัน social welfare โดยฟังก์ชัน social welfare ที่นิยมใช้กันอยู่ในรูปของ constant relative risk aversion (CRRA) ซึ่งสามารถเขียนได้ในรูป โดยที่ สะท้อนระดับการบริโภคของบุคคล , สะท้อนมูลค่าบัตรคนจนที่บุคคล ได้รับ และ ρ แสดง coefficient of relative risk-aversion ที่ยิ่งค่าสูงยิ่งหมายถึงว่า social welfare ให้น้ำหนักกับคนรายได้น้อยมาก↩