Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/b65370e5dad3f15dcd56e3d608b694a9/41624/cover.jpg
25 มีนาคม 2568
20251742860800000

ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย

การขึ้นค่าเล่าเรียนมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเรียนของนักศึกษามากน้อยแค่ไหน หากไม่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุน?
ดล ตะวันพิทักษ์
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
excerpt

บทความนี้สรุปผลจากงานวิจัยของ Tawanpitak (2025) ซึ่งศึกษาผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร (UK) ที่นักศึกษาแทบจะไม่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุน (credit constraints) เพราะรัฐบาล สหราชอาณาจักร การันตีเงินกู้ให้นักศึกษาทุกคน และยังกำหนดค่างวดรายปีให้ขึ้นกับรายได้หลังเรียนจบ (income-contingent) เพื่อไม่สร้างภาระทางการเงินให้กับบัณฑิตจนเกินไป ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ งานวิจัยนี้พบว่าการเพิ่มค่าเล่าเรียนขึ้นเกือบสามเท่าจาก 3,375 ปอนด์เป็น 9,000 ปอนด์ต่อปีนั้น แทบไม่มีผลกระทบกับอัตราการเข้าเรียน การเลือกสาขาวิชาเรียน และการลาออกของนักศึกษาเลย ต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และอิตาลี ที่นักศึกษายังคงมี credit constraints มากกว่า และการขึ้นค่าเล่าเรียนเพียงเล็กน้อยในประเทศเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเรียนของนักศึกษาอย่างมาก ผลลัพธ์นี้สื่อว่า ระบบเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ออกแบบมาดีจนนักศึกษาไม่มี credit constraints นั้น สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนได้อย่างมาก

ปัญหาค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันทั่วโลก แม้ทุกประเทศจะเล็งเห็นประโยชน์และให้การสนับสนุน (UNESCO, 2022) แต่เงินจากภาครัฐที่ต้องใช้สนับสนุนนั้นก็เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (Johnstone, 2009) รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงต้องหาทางลดภาระทางการคลังนี้ วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ การปรับขึ้นค่าเล่าเรียน พร้อมกับจัดสรรเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเอาไว้ เพื่อให้นักศึกษาที่มีฐานะทางบ้านไม่ดีสามารถกู้มาจ่ายค่าเล่าเรียนได้ (สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่ดูแลเงินกู้ยืมดังกล่าวคือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.)

อย่างไรก็ดี งานวิจัยในหลายประเทศเช่น อิตาลี (Garibaldi et al., 2012) สหรัฐฯ (Denning, 2017) และสวิตเซอร์แลนด์ (Fricke, 2018) พบว่า แม้จะมีกองทุนสนับสนุนดังกล่าวแล้ว การปรับขึ้นค่าเล่าเรียนเพียงเล็กน้อยก็ยังมีผลกระทบกับการตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนของนักศึกษาอย่างมากอยู่ดี

ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ว่า ปัญหาอาจไม่ได้จำกัดอยู่ที่ค่าเล่าเรียนที่สูงเกินไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงระบบกู้ยืมที่ยังกำจัด credit constraints ได้ไม่หมดด้วย เช่น ในประเทศสหรัฐ ฯ ที่ขั้นตอนการกู้มีความซับซ้อนและความไม่แน่นอนสูง ทำให้นักศึกษาจำนวนมากไม่กล้าที่จะกู้ยืม (Dynarski et al., 2021) หรือในประเทศไทยที่แม้ขั้นตอนการกู้จะไม่ซับซ้อนเท่า แต่ค่างวดรายปีจะเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดข้อจำกัดว่านักศึกษาที่กู้จะต้องมีรายได้หลังเรียนจบที่เพียงพอเพื่อจ่ายหนี้การกู้จาก กยศ. จึงยังเป็นภาระทางการเงินสำหรับบัณฑิตที่มีฐานะทางบ้านไม่ดีนัก (Chapman & Lounkaew, 2010)

ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงได้ตั้งคำถามว่า หากนักศึกษาไม่มี credit constraints แล้ว การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนของนักศึกษามากน้อยเพียงใด ผู้วิจัยได้เลือกใช้ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรในการตอบคำถามนี้ โดยใช้เทคนิค difference-in-differences (DID) ในการประเมินผลกระทบ และให้ความสนใจกับผลลัพธ์ทางการศึกษาสี่ด้าน ได้แก่ อัตราการเข้าศึกษา การเลือกแหล่งเงินทุน การเลือกสาขาวิชาที่เรียน และอัตราการลาออก

ทำไมถึงใช้สหราชอาณาจักรเป็นกรณีศึกษา?

โดยปกติแล้ว การขึ้นค่าเล่าเรียนสามารถส่งผลกระทบต่อนักศึกษาได้สองช่องทาง คือ

  1. ราคา ที่ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าค่าเล่าเรียนสูงเกินไปจนไม่คุ้มที่จะเรียน
  2. credit constraints ที่ทำให้นักศึกษาจ่ายไม่ไหว แม้จะยังเห็นว่าคุ้มที่จะเรียนก็ตาม ซึ่งการปรับขึ้นค่าเล่าเรียนสามารถส่งผลผ่านทั้งสองช่องทางดังกล่าวพร้อมกันได้

คำถามสำคัญเรื่องค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยคือ ค่าเล่าเรียนส่งผลผ่านช่องทางราคามากน้อยแค่ไหน เพราะจะเป็นตัวบ่งบอกว่าภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าเล่าเรียนได้สูงหรือต่ำเพียงใด อย่างไรก็ดี งานศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกผลที่เกิดขึ้นจากแต่ละช่องทางข้างต้นได้เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม credit constraints

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรถือเป็นกรณีที่พิเศษกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะนักศึกษาชาวสหราชอาณาจักรแทบจะไม่มี credit constraints เลย สาเหตุมาจาก

  1. รัฐบาลสหราชอาณาจักรการันตีเงินกู้เพื่อการศึกษาให้กับชาวสหราชอาณาจักรทุกคน โดยครอบคลุมค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน และครอบคลุมค่าครองชีพได้พอควร (Murphy et al., 2019)
  2. การผ่อนชำระหนี้ถูกออกแบบมาไม่ให้สร้างภาระทางการเงินให้แก่บัณฑิตจนเกินไป โดยอัตราค่างวดรายปีจะอยู่ที่ 9% ของรายได้ส่วนที่เกินกว่า 15,000 ปอนด์ต่อปี ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษามีรายได้ 20,000 ปอนด์ต่อปี ค่างวดก็จะอยู่ที่ (20,000 – 15,000) × 9% = 450 ปอนด์ต่อปี เงินกู้ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Income-Contingent Loan (ICL)1 นักศึกษาชาวสหราชอาณาจักร จึงสามารถกู้เงินมาใช้เล่าเรียนได้โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงในอนาคต เช่น หางานทำไม่ได้ รายได้ไม่สูงพอ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนจากสถิติที่แสดงว่านักศึกษาชาวอังกฤษกว่า 90% เลือกที่จะกู้เพื่อจ่ายค่าเล่าเรียน (Barr et al., 2019)

ในปลายปี 2010 รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศว่า นักศึกษาที่เริ่มเข้าเรียนตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นไปจะถูกคิดค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นจาก 3,375 ปอนด์ เป็น 9,000 ปอนด์ต่อปี (ผู้เขียนขอเรียกว่า 2012 reform) จากบริบทของสหราชอาณาจักรที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผลกระทบจากการขึ้นค่าเล่าเรียนใน สหราชอาณาจักรมาจากช่องทางราคาแทบจะทั้งหมด การประเมินผลกระทบจากช่องทางดังกล่าวจึงทำได้โดยง่าย นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังมีคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เหมาะสมสำหรับงานวิจัยนี้อีก ได้แก่

  1. ค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นโดยแทบไม่มีนโยบายช่วยเหลือใด ๆ2 ดังนั้น ผลกระทบจาก 2012 reform จึงแสดงถึงผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนจาก 3,375 ปอนด์เป็น 9,000 ปอนด์ต่อปีแทบจะโดยตรง
  1. มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรคิดค่าเล่าเรียนแทบจะเท่ากันหมด หากมีบางมหาวิทยาลัยที่ขึ้นค่าเล่าเรียนไม่เท่ากัน นักศึกษาก็อาจหันไปเลือกมหาวิทยาลัยที่ขึ้นค่าเล่าเรียนน้อยกว่า ทำให้องค์ประกอบของนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป (selection bias) และส่งผลกระทบกับการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม การที่มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรกำหนดค่าเล่าเรียนแทบจะเท่ากันหมดนั้นทำให้การขึ้นค่าเล่าเรียนแทบจะเท่ากันหมดตามไปด้วย (Sá, 2019) ปัญหานี้จึงถูกป้องกันไปโดยปริยาย

  2. 2012 reform ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาจากอังกฤษทั้งหมด แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาจากสกอตแลนด์ส่วนใหญ่ มหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์มีนโยบายไม่คิดค่าเล่าเรียนต่อนักศึกษาจากประเทศของตน ซึ่งกว่า 85% ของนักศึกษาจากสกอตแลนด์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ดังนั้น 2012 reform จึงมีสภาพเป็นการทดลองโดยธรรมชาติ (natural experiment) ที่นักศึกษาจากอังกฤษเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ (treatment group) และนักศึกษาจากสกอตแลนด์ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์เป็นกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ (control group)

DID คืออะไร?

งานวิจัยนี้ใช้เทคนิค DID ซึ่งเป็นเทคนิคทางเศรษฐมิติที่จำลองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมศาสตร์ให้เหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องมีสภาพเป็นการทดลองโดยธรรมชาติ (natural experiment) และตัวอย่างในกลุ่มทดลอง (treatment) และ กลุ่มควบคุม (control) จะต้องมีความคล้ายคลึงกันในระดับหนึ่ง

เงื่อนไขสำคัญของ DID ก็คือ parallel trends assumption ซึ่งกล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างตัวอย่างในกลุ่ม treatment กับ กลุ่ม control จะต้องคงที่เมื่อเวลาผ่านไป ยกตัวอย่างเช่น อัตราการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของประชากรอังกฤษต่ำกว่าประชากรสกอตแลนด์อยู่ 0.6 percentage points เมื่อเวลาผ่านไป อัตราการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของประชากรสองกลุ่มนี้อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ แต่อัตราดังกล่าวของประชากรอังกฤษจะต้องต่ำกว่าประชากรสกอตแลนด์อยู่ 0.6 percentage points เท่าเดิม

ภายใต้เงื่อนไขนี้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้น เช่น ประชากรอังกฤษถูกบังคับให้จ่ายค่าเล่าเรียนมากขึ้น แล้วความแตกต่าง -0.6 percentage points นี้เปลี่ยนไป ผู้วิจัยก็สามารถอนุมานได้ว่า ค่าเล่าเรียนที่มากขึ้นทำให้อัตราการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของประชากรอังกฤษเปลี่ยนไปเท่าใด

ผลการวิเคราะห์

จากการวิเคราะห์ผลลัพธ์ทางการศึกษาสี่ด้านคือ อัตราการเข้าศึกษา การเลือกแหล่งเงินทุน การเลือกสาขาวิชาที่เรียน และอัตราการลาออก งานวิจัยนี้พบว่าค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 3,375 ปอนด์เป็น 9,000 ปอนด์ต่อปี ไม่ได้ทำให้อัตราการเข้าศึกษาลดลง แต่ทำให้นักศึกษาหันไปพึ่งพาเงินกู้จากรัฐบาลมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น การเลือกสาขาวิชาที่เรียนและอัตราการลาออกก็แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด มีรายละเอียดดังนี้

อัตราการเข้าศึกษา

โดยปกติแล้วถ้าค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น อัตราการเข้าเรียนก็น่าจะลดลง แต่ในกรณีของสหราชอาณาจักรกลับไม่เป็นเช่นนั้น รูปที่ 1 แสดงถึงสัดส่วนของประชากรอังกฤษและสกอตแลนด์ในช่วงอายุเข้ามหาวิทยาลัยที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในแต่ละปีการศึกษา โดยประชากรอังกฤษส่วนใหญ่จะเข้าเรียนในช่วงอายุ 18–19 ปี ส่วนประชากรสกอตแลนด์จะเข้าเรียนในช่วงอายุ 17–18 ปี

รูปที่ 1: สัดส่วนของประชากรอังกฤษและสกอตแลนด์ในช่วงอายุเข้ามหาวิทยาลัยที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในแต่ละปีการศึกษา
ที่มา: Office for National Statistics and Scottish Funding Council

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนปีการศึกษา 2011 กับหลังปีการศึกษา 2012 แล้ว สัดส่วนของประชากรอังกฤษที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้ลดลง ทั้งในเชิงตัวเลขและในเชิงเปรียบเทียบกับสกอตแลนด์ ผลลัพธ์นี้สื่อได้สองอย่างคือ

  1. ประชากรอังกฤษเห็นว่าค่าเล่าเรียน 9,000 ปอนด์ต่อปีนั้นยังคงคุ้มค่าต่อการลงทุนเรียน ไม่อย่างนั้นแล้วอัตราการเข้าเรียนก็ควรจะต้องลดลง
  2. นักศึกษาอังกฤษไม่ได้มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่อย่างนั้นแล้วนักศึกษาบางส่วนที่มีฐานะทางบ้านไม่ดีจะไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ แล้วอัตราการเข้าเรียนก็จะลดลง

สาเหตุที่ต้องเปรียบเทียบระหว่างก่อนปีการศึกษา 2011 กับหลังปีการศึกษา 2012 ก็เพราะว่าสองปีดังกล่าวเป็นช่วงที่นักศึกษากำลังปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการที่ 2012 reform ถูกประกาศในเดือนพฤศจิกายนปี 2010 และจะมีผลในปี 2012 ประชากรอังกฤษบางส่วนจึงเลือกที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเร็วกว่าปกติเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในอัตราที่สูงขึ้น สัดส่วนการเข้ามหาวิทยาลัยของประชากรอังกฤษจึงพุ่งสูงกว่าปกติในปี 2011 แล้วลดต่ำกว่าปกติในปี 2012 (เพราะเข้าเรียนไปแล้วตั้งแต่ปี 2011)

การเลือกแหล่งเงินทุน

ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นทำให้นักศึกษาอังกฤษมีโอกาสใช้เงินส่วนตัวลดลง 17.2 percentage points และใช้เงินกู้รัฐบาลเพิ่มขึ้น 17.9 percentage points ซึ่งถือว่าไม่น่าแปลกใจนัก เพราะค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นย่อมเพิ่มโอกาสที่เงินตัวส่วนจะไม่เพียงพอสำหรับจ่ายค่าเล่าเรียน นักศึกษาจึงต้องหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนอื่น ๆ และแหล่งที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดก็คือเงินกู้จากรัฐบาล

แต่จุดที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือทั้งสองตัวเลขนี้ไม่มีความแตกต่างกันในเชิงสถิติ นั่นหมายความว่า สัดส่วนการใช้เงินส่วนตัวที่ลดลงนั้นเท่ากันกับสัดส่วนการใช้เงินกู้รัฐบาลที่เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาผลลัพธ์นี้ร่วมกับข้อมูลในรูปที่ 1 ที่แสดงให้เห็นว่าประชากรอังกฤษยังคงเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยตามปกติ จึงตีความได้ว่า ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ผลักดันให้นักศึกษาเปลี่ยนจากการใช้เงินส่วนตัวไปพึ่งพาเงินกู้รัฐบาล โดยไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจเข้าเรียนแต่อย่างใด ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจจะพออธิบายได้ด้วยเหตุผลที่ว่า โครงการ ICL ทำให้นักศึกษาไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงจากหนี้ จึงยินดีที่จะกู้ยืมเพื่อใช้เล่าเรียน

การเลือกสาขาวิชาเรียน

เนื่องจากการศึกษาถือเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง ถ้าหากค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ที่นักศึกษาจะหันไปเลือกเรียนสาขาวิชาที่มีอัตราการได้งานสูง หรือสาขาที่มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยสูง เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าของการลงทุนเรียน

งานวิจัยนี้พบว่า ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เพิ่มโอกาสที่จะเลือกสาขาที่มีอัตราการได้งานสูง แต่เพิ่มโอกาสที่นักศึกษาจะเลือกสาขาที่มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยสูงขึ้น 3.2 percentage points หรือประมาณ 0.6 percentage points ต่อ 1,000 ปอนด์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผลลัพธ์อื่น ๆ ในวรรณกรรม3 จึงพอจะพูดในภาพรวมได้ว่า ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นแทบไม่มีผลต่อการเลือกสาขาวิชาเรียนเลย คล้ายคลึงกับผลลัพธ์ที่งานวิจัยอื่น ๆ เคยพบ (Altonji et al., 2016)

อัตราการลาออก

สำหรับผลลัพธ์ทางการศึกษานี้ ผู้วิจัยจะให้ความสนใจเฉพาะการลาออกภายในชั้นปีที่หนึ่ง โดยอ้างอิงจาก Bradley & Migali (2019) ที่กล่าวว่า การลาออกส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในชั้นปีที่หนึ่ง และการลาออกในชั้นปีอื่น ๆ มักจะมีเหตุผลอื่น ๆ เข้ามาประกอบ

จากการวิเคราะห์พบว่า ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราการลาออกภายในชั้นปีที่หนึ่งลดลง 0.2 percentage points โดยคำอธิบายที่เป็นไปได้ก็คือค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนในการลาออกสูงขึ้น อัตราการลาออกจึงลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าตัวแล้ว อัตราการลาออกที่ลดลงเพียง 0.2 percentage points นั้นนับว่าน้อยมากจนกล่าวได้ว่าแทบไม่มีผลกระทบ

สรุปผลลัพธ์และนัยเชิงนโยบาย

งานวิจัยนี้สรุปผลลัพธ์ได้ว่า การที่นักศึกษาสหราชอาณาจักรแทบไม่มี credit constraints เลยนั้น ทำให้ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าแทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าเรียน การเลือกสาขาวิชา และการลาออก เรื่องเดียวที่มีผลกระทบคือ หนี้ของนักศึกษาเพิ่มขึ้นจากการที่พวกเขาหันไปใช้เงินกู้รัฐบาลมากขึ้น

ข้อสรุปเหล่านี้ช่วยให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ต้องกังวลกับผลกระทบจากการขึ้นค่าเล่าเรียนมากนัก รัฐบาลจึงมีอิสระในการกำหนดอัตราค่าเล่าเรียนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะกำหนดอัตราเล่าเรียนให้สูงเท่าไหร่ก็ได้ ข้อสรุปเหล่านี้เพียงช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องกดค่าเล่าเรียนให้ต่ำจนกระทั่งเป็นภาระทางการคลังเท่านั้น ส่วนเรื่องอัตราค่าเล่าเรียนที่เหมาะสมนั้นยังเป็นประเด็นที่ยังต้องศึกษากันต่อไปส่วนประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาทางการคลังจากการสนับสนุนค่าเล่าเรียน งานวิจัยนี้ช่วยชี้ให้เห็นว่า การจัดสรรเงินกู้ในลักษณะเดียวกับ ICL ที่คิดค่างวดรายปีเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนได้อย่างมาก

เอกสารอ้างอิง

Altonji, J. G., Arcidiacono, P., & Maurel, A. (2016). The Analysis of Field Choice in College and Graduate School: Determinants and Wage Effects (E. A. Hanushek, S. Machin, & L. Woessman, Eds.; Vol. 5, pp. 305–396). Elsevier.
Barr, N., Chapman, B., Dearden, L., & Dynarski, S. (2019). The US College Loans System: Lessons from Australia and England. Economics of Education Review, 71, 32–48.
Bradley, S., & Migali, G. (2019). The Effects of the 2006 Tuition Fee Reform and the Great Recession on University Student Dropout Behaviour in the UK. Journal of Economic Behavior and Organization, 164, 331–356.
Chapman, B., & Lounkaew, K. (2010). Income Contingent Student Loans for Thailand: Alternatives Compared. Economics of Education Review, 29(5), 695–709.
Denning, J. T. (2017). College on the Cheap: Consequences of Community College Tuition Reductions . American Economic Journal: Economic Policy, 9(2), 155–188.
Dynarski, S., Libassi, C., Michelmore, K., & Owen, S. (2021). Closing the Gap: The Effect of Reducing Complexity and Uncertainty in College Pricing on the Choices of Low-Income Students. American Economic Review, 111(6), 1721–1756.
Fricke, H. (2018). Tuition Fees, Student Finances, and Student Achievement: Evidence from a Differential Raise in Fees. Journal of Human Capital, 12(3), 504–541.
Garibaldi, P., Giavazzi, F., Ichino, A., & Rettore, E. (2012). College Cost and Time to Complete a Degree: Evidence from Tuition Discontinuities. The Review of Economics and Statistics, 94(3), 699–711.
Johnstone, D. B. (2009). An International Perspective on the Financial Fragility of Higher Education Institutions and Systems (J. Martin & James E. Samuels and Associates, Eds.; pp. 31–48). Johns Hopkins University Press.
Murphy, R., Scott-Clayton, J., & Wyness, G. (2019). The End of Free College in England: Implications for Enrolments, Equity, and Quality. Economics of Education Review, 71, 7–22.
Sá, F. (2019). The Effect of Tuition Fees on University Applications and Attendance: Evidence from the UK. Economica, 86(343), 607–634.
Tawanpitak, D. (2025). Paying Tuition under Few Credit Constraints: Debt, Field of Study, and Drop Out (Discussion Paper No. 226). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
UNESCO. (2022). Higher Education Global Data Report. The 3rd World Higher Education Conference.

  1. ICL คิดอัตราดอกเบี้ยตามเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็น 0% นอกจากนี้ หนี้คงค้างทั้งหมดจะถูกยกเลิกหลังจากผ่านไป 25 ปี↩
  2. 2012 reform เพิ่มค่าเล่าเรียนขึ้นจาก 3,375 ปอนด์เป็น 9,000 ปอนด์ต่อปี เพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และขยายเวลาก่อนยกหนี้จาก 25 ปี เป็น 30 ปี แต่เกณฑ์รายได้ขั้นต่ำก่อนชำระหนี้ก็ถูกปรับเพิ่มจาก 15,000 ปอนด์เป็น 21,000 ปอนด์ต่อปีด้วยเช่นกัน↩
  3. เช่น Garibaldi et al. (2012) พบว่า ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้น 1,000 EUR ลดโอกาสที่นักศึกษาจะจบช้ากว่ากำหนดลง 5.2 percentage points ส่วน Denning (2017) พบว่าค่าเล่าเรียนที่ลดลง 1,000 USD เพิ่มโอกาสที่นักเรียนที่จบ ม.6 จะเรียนต่อที่วิทยาลัยชุมชน (community college) ทันทีขึ้น 5.1 percentage points↩
ดล ตะวันพิทักษ์
ดล ตะวันพิทักษ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Education EconomicsPublic Economics
Tags: tuition feecredit constraintsstudent loan
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email