ความเหมือนภายใต้ความแตกต่าง: ทัศนคติและค่านิยมกับการเลือกพรรคการเมือง
ท่ามกลางความร้อนระอุของการเมือง เราอาจจะรู้สึกถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจากการคิดต่างในสังคม คนที่เลือกพรรคการเมืองที่ต่างกันจะมีทัศนคติและค่านิยมต่างกันสุดขั้วจริงหรือไม่? หรือแท้จริงแล้วคนในสังคมอาจมีทัศนคติและค่านิยมบางอย่างร่วมกันมากกว่าที่เราคิด
โครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ได้พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสมานฉันท์และความคิดต่างในสังคมไทย ผ่านการสำรวจข้อมูลกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 2,016 รายบนช่องทางออนไลน์ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 โดยส่วนหนึ่งของงานวิจัยได้สำรวจระดับความแตกต่างทางทัศนคติและค่านิยมของกลุ่มตัวอย่างภายใต้นิยามของเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมที่กำหนด ดังนี้
- เสรีนิยม มีทัศนคติหรือค่านิยมที่สำคัญคือ “คิดใหม่ ให้เท่าเทียม” โดยมักจะให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก ๆ เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความหลากหลาย ความเสมอภาค และความเท่าเทียม เป็นต้น
- อนุรักษ์นิยม มีทัศนคติหรือค่านิยมที่สำคัญคือ “ของเดิมดี มีค่ารักษาไว้” โดยเป็นให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก ๆ เช่น ประเพณีนิยม ศีลธรรมอันดีงาม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความมั่นคงในชีวิต และการเคารพผู้อาวุโส เป็นต้น
กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจจะตอบคำถามเกี่ยวกับทัศนคติหรือค่านิยมของตนเอง โดยให้คะแนนในสเกล 1–6 ไล่ระดับตั้งแต่การมีค่านิยมค่อนไปทางเสรีนิยมมาก (1) ปานกลาง (2) น้อย (3) ไปยังการมีค่านิยมค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมน้อย (4) ปานกลาง (5) มาก (6) ซึ่งจากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติหรือค่านิยมค่อนไปทางเสรีนิยม 1,426 ราย (ร้อยละ 71) และอีก 590 ราย (ร้อยละ 29) มีแนวคิดค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระดับทัศนคติหรือค่านิยมของตัวอย่างแต่ละกลุ่มในปี 2564 ว่าเดิมทีคนเหล่านั้น “เคย” เลือกพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ทำให้เราได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจ ได้แก่
คนที่เคยเลือกพรรคการเมืองคนละพรรคกัน ก็อาจมีทัศนคติหรือค่านิยมในปัจจุบันที่คล้ายคลึงกันได้ ดังจะเห็นได้จาก คนที่สนับสนุนแนวคิดเดียวกันในปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นแบบเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยมนั้นมาจากกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคการเมืองที่ต่างกันในปี 2562
อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถบอกได้ว่าการที่คนมีค่านิยมที่คล้ายคลึงกันในปี 2564 นั้นมาจากสาเหตุใด ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากคนมีการเปลี่ยนทัศนคติ เนื่องจากพลวัติทางด้านเศรษฐกิจการเมืองในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา หรือแท้จริงแล้วอาจเป็นเพราะคนที่เคยเลือกพรรคการเมืองที่ต่างกันแต่มีทัศนคติหรือค่านิยมบางอย่างร่วมกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้นก็เป็นได้
คนที่เคยเลือกพรรคเดียวกันในปี 2562 ต่างก็มีระดับความสุดขั้วที่แตกต่างกันในแง่ของความเป็นเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมในปี 2564 ดังจะเห็นได้จาก กลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือกอนาคตใหม่ ก็มีระดับความสุดขั้วของแนวคิดแบบเสรีนิยมที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของการเก็บข้อมูลในลักษณะออนไลน์ จึงทำให้ตัวอย่างที่ได้เป็นกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30–59 ปี โดยมากมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพ และมีรายได้ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรไทยโดยทั่วไป
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ผลการศึกษาดังกล่าวจะยังไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของสังคมโดยรวมได้ แต่ก็พอจะทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ท่ามกลางความแตกต่างที่เราเห็นนั้น คนเราอาจมีทัศนคติ ค่านิยม และแนวคิดบางอย่างร่วมกันมากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้