Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
PIER Blogblog
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
/static/394241ba64fb16cdea2886b9de90e889/e9a79/cover.png
3 มกราคม 2567
20241704240000000

ความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: โลกพร้อมแค่ไหนในการรับมือ และเพียงพอหรือไม่?

กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
ความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: โลกพร้อมแค่ไหนในการรับมือ และเพียงพอหรือไม่?

ปี 2023 เป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปีหรือร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ อีกทั้งเป็นปีที่หลายประเทศทั่วโลกทั้งในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ เผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather events) ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่าที่รุนแรง รูปที่ 1 บน แสดงแนวโน้มเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะที่รูปที่ 1 ล่าง แสดงแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความสูญเสีย (loss) และความเสียหาย (damages) อย่างมากต่อเศรษฐกิจ สุขภาพของประชาชน และระบบนิเวศ

ความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง ผลกระทบและความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งครอบคลุมทั้งสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ปรากฏการณ์ทะเลกรด (UNFCCC, 2013; UNFCCC, 2015; Mechler & Linnerooth-Bayer, 2019) โดยความสูญเสียและความเสียหายมีความแตกต่างกัน ความสูญเสียเป็นผลกระทบที่ไม่สามารถฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ เช่น การสูญเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนรุนแรง การที่ประการังถูกทำลายอย่างถาวร เป็นต้น ในขณะที่ ความเสียหายเป็นผลกระทบที่สามารถบรรเทาให้เบาบางลงได้หรือสามารถซ่อมแซมได้ เช่น การที่ตึกหรืออาคารได้รับความเสียหายจากลมพายุรุนแรงหรือน้ำท่วมรุนแรง เป็นต้น (Boyd et al., 2017)

รูปที่ 1: เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในประเทศไทยระหว่างปี 2000–2022 จำแนกตามประเภทภัยพิบัติและสภาพอากาศสุดขั้ว
ที่มา: วิเคราะห์โดยผู้เขียน; ข้อมูลจาก EM-DAT - The International Disaster Database

รูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่าอุทกภัยหรือน้ำท่วม (สีส้ม) เป็นภัยที่เกิดบ่อยครั้งที่สุดทั้งทั่วโลกและในประเทศไทย เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้สร้างความสูญเสียและความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี รูปที่ 2 แสดงมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (economic loss) จากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลก เห็นได้ว่าในภาพรวม พายุเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกสูงที่สุด หากพิจารณาในช่วงปี 2000–2019

รูปที่ 2: ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (economic losses) จากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (economic losses) จากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ที่มา: OECD (2021)

ความเชื่อมโยงระหว่างความสูญเสียและความเสียหายกับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเชื่อมโยงกับหลักการของความเสี่ยง (risks) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งระดับความเสี่ยงจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความรุนแรงของภัยอันตรายทางธรรมชาติ (hazards) เช่น ภัยน้ำท่วม พายุ ภัยแล้ง ฯลฯ
  2. การเปิดรับภัย (exposure) เช่น ระยะทางจากที่พักอาศัยถึงแม่น้ำ โดยผู้ที่อยู่อาศัยใกล้กับแม่น้ำจะมีการเปิดรับภัยน้ำท่วมมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในระยะที่ห่างไกลจากแม่น้ำ เป็นต้น
  3. ความเปราะบาง (vulnerability) ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติหรือสภาพอากาศสุดขั้ว โดยผู้ที่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือที่ดีกว่า เช่น การยกบ้านสูง การสำรองน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ฯลฯ ย่อมมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือใด ๆ เลย

โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำมาซึ่งความสูญเสียและความเสียหายต่อ 3 ด้านหลัก (OECD, 2021) ได้แก่

  1. ด้านสุขภาพ อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากความร้อน อีกทั้งเพิ่มอัตราการเจ็บป่วยจากโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ
  2. ด้านการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร ทั้งการปลูกพืช ทำปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมง โดยทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และกระทบต่อทั้งห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งท้ายที่สุดกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชน
  3. ด้านผลิตภาพแรงงาน อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ผลิตภาพของแรงงานลดลง โดยเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น แรงงานอาจเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น ภาวะเครียดจากความร้อน (heat stress) โรคลมร้อน (heat stroke) ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพจากการที่ต้องจำกัดชั่วโมงทำงาน ขาดงานมากขึ้น (Ananian, 2023)

นอกจากความสูญเสียและความเสียหายเชิงเศรษฐกิจแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังนำมาซึ่งความสูญเสียและความเสียหายในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การสูญเสียโบราณวัตถุ การสูญเสียความมั่นคงจากการที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่ ผลกระทบต่อสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งการสูญเสียเหล่านี้เป็นการสูญเสียในมิติที่ไม่ใช่ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจประเมินมูลค่าเป็นรูปแบบของตัวเงินได้ยาก

การรับมือกับความสูญเสียและความเสียหายของประเทศไทยที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือสภาพอากาศสุดขั้ว ประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย รับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกลไกการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีของประเทศไทย การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจะต้องเป็นไปตามที่ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 กำหนด โดยครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือดังนี้

  1. การให้ความช่วยเหลือทางด้านการดำรงชีพ (เช่น อาหาร น้ำสำหรับบริโภค ถุงยังชีพ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้านพักชั่วคราว เป็นต้น)
  2. การให้ความช่วยเหลือทางด้านการประกอบอาชีพ (เช่น เงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับผู้ประสบภัยเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวในภาวะวิกฤต)
  3. การให้ความช่วยเหลือทางด้านการช่วยเหลือทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดหาวัสดุ เคมีภัณฑ์ อาหาร และเวชภัณฑ์

เป็นที่น่าสังเกตว่าลักษณะการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ประสบภัยพิบัติในประเทศไทยนั้นมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือในระยะสั้นในขณะที่เกิดภาวะวิกฤตเท่านั้น ไม่ได้เน้นการชดเชยการสูญเสียและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศ ที่จริงแล้ว ประเทศไทยยังขาดหรือมีช่องว่าง (gaps) ด้านงานศึกษาที่ประเมินความสูญเสียและความเสียหายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม/ระบบนิเวศ

วิวัฒนาการของการรับมือความสูญเสียและความเสียหายในเวทีโลก

สำหรับวิวัฒนาการของแนวทางการรับมือกับความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในต่างประเทศนั้น เริ่มมีการพูดถึงความจำเป็นที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการชดเชยเพื่อให้สามารถรับมือกับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ทางกลุ่มพันธมิตรประเทศหมู่เกาะ (Alliance of Small Island States) ได้มีการเรียกร้องให้มีการชดเชยผลกระทบและความเสียหายจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (INC, 1991) อย่างไรก็ดี เวลาผ่านไปหลายปีกว่าจะมีการจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศวอร์ซอสำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Warsaw International Mechanism for Loss and Damage associated with Climate Change Impacts) ในการประชุม COP19 ที่เมืองวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์

นอกจากนี้ ความตกลงปารีส ข้อที่ 8 (Article 8) ในปี 2015 ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อลดความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งในปี 2022 ในที่ประชุม COP27 ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์ ถึงจะเริ่มมีการตกลงกันเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) ขึ้น แต่ยังไม่มีการระบุวงเงินสนับสนุนหรือสมทบจากประเทศต่าง ๆ ในกองทุนดังกล่าว จนเมื่อปี 2023 ในการประชุม COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีการบรรลุข้อตกลงที่จะมีการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหายเป็นครั้งแรกเป็นจำนวนเงิน 792 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ประเทศไทยไม่ควรรอเพียงเงินช่วยเหลือจากกองทุน Loss and Damage แต่ควรเริ่มมองหากลไกอื่นควบคู่ไปด้วย

ถึงแม้ว่าจะเป็นข่าวดีที่กองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหายเป็นกลไกระดับโลกที่หลายประเทศได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯ อย่างไรก็ดี ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่สามารถขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนมีกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ เม็ดเงินช่วยเหลือภายใต้กองทุนฯ ในขณะนี้ไม่เพียงพออย่างแน่นอนในการรับมือกับความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ควรมองหากลไกหรือทางเลือกรูปแบบอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย

จากงานศึกษาของ OECD (2022) การรับมือกับความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องอาศัยกลไกทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สำหรับกลไกภายในประเทศ เริ่มต้นจากการระบุและประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางด้านการเงินต่อภาครัฐ รวมถึงการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เช่น การประกันภัยความเสี่ยงจากภูมิอากาศ (catastrophe risk insurance) การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูจากภัยพิบัติ (recovery loan) หรือสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อลดการสูญเสียทางการเงินจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องประเมินงบประมาณของประเทศว่าเพียงพอสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูภาคส่วนที่ได้รับความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ โดยอาจอาศัย 3 กลไกทางการเงินดังต่อไปนี้

  1. เงินสำรองฉุกเฉิน (contingency reserves) ซึ่งเป็นการกันงบประมาณบางส่วนสำหรับใช้รองรับสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยแต่ไม่ค่อยรุนแรง
  2. กองทุนสำรอง (reserve funds) ซึ่งเหมาะสำหรับรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วที่มีความรุนแรง
  3. การโยกงบประมาณ (budget reallocations) โดยภาครัฐควรมีความยืดหยุ่นพอสมควรในการโยกงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้ในการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงได้

นอกจากการจัดการเงินงบประมาณแล้ว อาจพิจารณาใช้เครื่องมืออื่น ๆ เช่น เงินกู้เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟู การใช้เงินที่ระดมทุนได้ผ่านพันธบัตรสีเขียวมาใช้ในการปรับตัวเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาว (long-term climate resilience) เช่น การลงทุนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในการรับมือกับน้ำท่วม เป็นต้น อย่างที่มีการดำเนินการในประเทศฟิจิ นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ (Qadir & Creed, 2021)

เอกสารอ้างอิง

Ananian, S. (2023). Impact of Heat Stress on Labor Productivity and Decent Work.
Boyd, E., James, R. A., Jones, R. G., Young, H. R., & Otto, F. E. (2017). A typology of loss and damage perspectives. Nature Climate Change, 7(10), 723–729.
INC. (1991). Vanuatu: Draft annex related to Article 23 (Insurance) for inclusion in the revised single text on elements relating to mechanisms (a/AC.237/WG.II/Misc.13.
Mechler, & Linnerooth-Bayer, J. (2019). Science for Loss and Damage. Findings and Propositions. In Loss and Damage from Climate Change: Concepts, Methods and Policy Options. SpringerOpen.
OECD. (2021). Managing Climate Risks, Facing up to Losses and Damages.
OECD. (2022). Building Financial Resilience to Climate Impacts: A Framework for Governments to Manage the Risks of Losses and Damages.
Qadir, U., & Creed, A. (2021). Green Bonds for Climate Resilience: A Guide for Issuers.
UNFCCC. (2013). Decision 2/CP.19, Warsaw International Mechanism for loss and damage associated with climate change impacts. UN Doc FCCC/CP/2013/10/Add.1.
UNFCCC. (2015). Decision 1/CP.21.Adoption of the Paris Agreement. UN Doc FCCC/CP/2015/10/Add.1.
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email