ประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศกำลังประสบปัญหาการว่างงานอย่างหนัก ทั้งปัญหาเดิมที่แรงงานหางานดี ๆ ทำไม่ได้ และปัญหาใหม่ที่เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนที่คน
สิ่งเหล่านี้กดดันให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องยื่นมือเข้าช่วย ซึ่งความช่วยเหลือก็มักจะมาในสองรูปแบบ ได้แก่ การอบรมเพิ่มพูนทักษะ และการช่วยจับคู่คนกับงาน
งานวิจัยของ Carranza and McKenzie (2024) ได้ตั้งคำถามว่า ควรใช้นโยบายช่วยเหลือทั้งสองรูปแบบนี้หรือไม่? ควรใช้เมื่อไหร่? และควรใช้อย่างไร? โดยผู้วิจัยทั้งสองได้รวบรวมผลลัพธ์เชิงประจักษ์จากงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ซึ่งทำในประเทศแถบเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาใต้ รวมแล้วกว่า 20 ประเทศมาวิเคราะห์ และได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้
โดยทั่วไปแล้ว ไม่ควรใช้นโยบายทั้งสองรูปแบบ เพราะนโยบายช่วยเหลือเหล่านี้มักเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ การว่างงานนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมาก การเข้ามาช่วยโดยไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาอาจทำให้เกิดการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า และไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการฝึกอบรมทักษะ ที่โดยเฉลี่ยแล้วช่วยเพิ่มอัตราการได้งานขึ้น 2% และเพิ่มเงินเดือนได้ 650 บาท แต่มีค่าใช้จ่ายกว่า 5 แสน ถึง 2 ล้านบาทต่อคน หรือโครงการจับคู่คนกับงานที่โดยเฉลี่ยช่วยเพิ่มอัตราการได้งานขึ้น 2–8% แต่เนื่องจากโครงการเหล่านี้เพียงแต่ช่วยจับคู่คนกับงานเป็นครั้ง ๆ ไป ประกอบกับอัตราการลาออกที่ค่อนข้างสูง ผลลัพธ์เหล่านี้จึงเป็นเพียงผลลัพธ์ระยะสั้น เมื่อผู้หางานเหล่านี้ออกจากงานอีกครั้ง พวกเขาก็ยังคงไม่สามารถหางานได้ด้วยตนเองเช่นเดิม และต้องพึ่งพาโครงการจับคู่คนกับงานอย่างต่อเนื่อง
หากภาครัฐสามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า สาเหตุหลักของการว่างงานเกิดจากแรงงานขาดแคลนทักษะที่จำเป็น หรือการที่ผู้หางานกับตำแหน่งงานไม่สามารถหากันเจอ นโยบายเหล่านี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
- การอบรมเพิ่มพูนทักษะ นอกจากจะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงความต้องการของนายจ้างมาให้ดีแล้ว ยังต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ในตลาดงาน เพื่อให้รับประกันได้ว่าผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการว่าจ้างหลังจบหลักสูตร ส่วนการบริหารโครงการให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย ยังคงเป็นประเด็นที่ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
- การช่วยจับคู่คนกับงาน ไม่ควรแค่ให้ความช่วยเหลือในการหางานเท่านั้น แต่ควรเสริมสร้างความสามารถในการประเมินงานที่เหมาะสมด้วยตนเองได้ด้วย เช่น สอนการเลือกประเภทของงาน สอนการประเมินระดับเงินเดือน และให้ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางการเติบโตในสายงาน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้หางานสามารถหางานได้ด้วยตัวเองในระยะยาว
สรุปก็คือ นโยบายช่วยเหลือทั้งสองรูปแบบนี้ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นสูตรสำเร็จเพื่อลดปัญหาการว่างงาน แต่ใช้เมื่อนโยบายเหล่านี้เหมาะสมกับสาเหตุของการว่างงานในประเทศนั้น ๆ และการออกแบบโครงการนั้นควรพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายของภาครัฐ