Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
PIER Blogblog
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
/static/2db0b317d383c4f65640f55073aaadf0/e9a79/cover.png
17 มกราคม 2567
20241705449600000
เศรษฐศาสตร์เข้า “ท่า”

ความจริงของนโยบายหลักประกันสุขภาพไทย: 'มีได้ ย่อมมีเสีย'

ยศ ตีระวัฒนานนท์
ความจริงของนโยบายหลักประกันสุขภาพไทย: 'มีได้ ย่อมมีเสีย'

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 มีข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มอบสิทธิประโยชน์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ การฝังแร่ และการรักษาด้วยรังสีโปรตอนสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฟังดูแล้วอาจเป็นข่าวดีเพราะผู้ป่วยได้สิทธิการรักษาฟรีเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ แต่หากมองอย่างนักเศรษฐศาสตร์จะเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า ด้วยงบเหมาจ่ายรายหัวที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับ คือ 3,539 บาทต่อคนต่อปีเท่าเดิม เมื่อสิทธิประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้นแล้ว จะมีสิทธิประโยชน์เดิมที่ต้องลดลงหรือไม่ และใครจะเสียประโยชน์จากการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่นี้กัน?

รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีงบประมาณจำกัด กล่าวคือ มาตรการป้องกันโรคและมาตรการรักษาพยาบาลเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกคัดเลือกให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ส่งผลให้ประชาชนที่ต้องการได้รับประโยชน์นี้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยแกนนอนหรือความกว้างของแต่ละกล่อง แสดงถึงขนาดของงบประมาณ ขณะที่แกนตั้งหรือความสูงของกล่อง แสดงถึงประโยชน์ทางสุขภาพ ซึ่งอาจเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่สังคมให้คุณค่า เช่น จำนวนคนที่ป้องกันโรคได้ในกรณีการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค จำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลง หรือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ดีขึ้นในการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ รูปที่ 1 แสดงมาตรการ ก จนถึงมาตรการ ง ที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ปัจจุบันเรียงลำดับตามความคุ้มค่า โดยมาตรการ ง คือมาตรการที่มีความคุ้มค่าน้อยที่สุดที่บรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ เพราะได้ประโยชน์ทางสุขภาพต่ำที่สุดต่อเงินงบประมาณ 1 ล้านบาทที่ต้องใช้ในการจัดบริการ มาตรการ ง จึงเป็นตัวกำหนดเพดานความคุ้มค่าของมาตรการอื่น ๆ ที่จะนำเข้ามาใหม่ในชุดสิทธิประโยชน์นี้ (แสดงด้วยเส้นสีเขียว)

รูปที่ 1: ตัวอย่างมาตรการในชุดและนอกชุดสิทธิประโยชน์ตามผลลัพธ์ทางสุขภาพและงบประมาณที่ใช้

ตัวอย่างมาตรการในชุดและนอกชุดสิทธิประโยชน์ตามผลลัพธ์ทางสุขภาพและงบประมาณที่ใช้

ตามปกติ จะมีมาตรการใหม่ ๆ เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง1 บางมาตรการมีความคุ้มค่ากว่ามาตรการเดิมในชุดสิทธิประโยชน์ (เช่น มาตรการ จ ในรูปที่แสดง) และบางมาตรการไม่คุ้มค่า (เช่น มาตรการ ฉ) ทั้งนี้ หากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคัดเลือกมาตรการ จ เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ โดยไม่ใส่งบประมาณหรือทรัพยากรอื่น ๆ เข้าไปในระบบประกันสุขภาพ ระบบสุขภาพก็จำเป็นต้องยุติการให้บริการบางมาตรการไปโดยปริยาย หากโชคดี มาตรการที่ถูกปรับลดหรือยุติลง คือมาตรการที่มีความคุ้มค่าน้อยที่สุดในชุดสิทธิประโยชน์เดิม (คือ มาตรการ ง) จะพบว่า เพดานความคุ้มค่าจะมีค่าสูงขึ้น สะท้อนระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2: เพดานความคุ้มค่าที่สูงขึ้นจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่มีความคุ้มค่ากว่าเดิม

เพดานความคุ้มค่าที่สูงขึ้นจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่มีความคุ้มค่ากว่าเดิม

เมื่อพิจารณาพื้นที่ใต้กราฟของชุดสิทธิประโยชน์เดิมในรูปที่ 1 กับชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ในรูปที่ 2 จะพบว่าสังคมโดยรวมได้ประโยชน์ทางสุขภาพมากขึ้นด้วยงบประมาณเท่าเดิม ดังนั้น การที่ระบบสุขภาพมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เทียบเท่ากับการช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น การเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น หรือทั้งสองอย่างก็ได้

ในทางตรงกันข้าม หากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คัดเลือกมาตรการ ฉ ซึ่งไม่คุ้มค่า เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ และยกเลิกมาตรการ ง ออกจากชุดสิทธิประโยชน์เดิม (เพราะต้องการงบประมาณเท่ากัน) ดังรูปที่ 3 จะพบว่า เพดานความคุ้มค่าจะมีค่าต่ำลง สะท้อนระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพลดลง

รูปที่ 3: เพดานความคุ้มค่าที่ต่ำลงจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่า

เพดานความคุ้มค่าที่ต่ำลงจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่า

เมื่อพิจารณาพื้นที่ใต้กราฟของชุดสิทธิประโยชน์เดิมในรูปที่ 1 กับชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ในรูปที่ 3 จะพบว่าสังคมโดยรวมสูญเสียประโยชน์ทางสุขภาพไป (อาจเป็นจำนวนคนเสียชีวิตที่มากขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ลดลง หรือทั้งสองอย่างก็ได้) โดยยังต้องใช้งบประมาณเท่าเดิม ดังนั้น ระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพลดลง อาจเท่ากับการสังหารหมู่โดยเจตนาก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ย่อมหมายถึงการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ โดยไม่ได้ปรับลดมาตรการเดิมออกจากชุดสิทธิประโยชน์ จะทำให้สังคมโดยรวมได้ประโยชน์ทางสุขภาพมากขึ้นเท่ากับพื้นที่ของมาตรการใหม่ จ โดยที่เพดานความคุ้มค่ายังคงเท่าเดิม ดังรูปที่ 4

รูปที่ 4: การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ที่มีความคุ้มค่ามากกว่าเดิม โดยเพิ่มงบประมาณและคงสิทธิประโยชน์เดิมไว้ด้วย

การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ที่มีความคุ้มค่ามากกว่าเดิม โดยเพิ่มงบประมาณและคงสิทธิประโยชน์เดิมไว้ด้วย

แต่เนื่องจากงบประมาณของรัฐบาลไทยเป็นระบบปิด คือได้กำหนดยอดวงเงินรวมไว้แล้วตั้งแต่ต้นปีงบประมาณและเนื่องจากทรัพยากรในโลกนี้ย่อมมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลาหรือจำนวนบุคลากรที่ให้บริการ ทำให้ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องมีประชาชนบางส่วนในสังคมที่ได้รับความเดือดร้อนจากสวัสดิการสังคมด้านอื่น ๆ ที่ลดลงอยู่ดี โดยอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป หากสวัสดิการสังคมเหล่านั้นมีความคุ้มค่าน้อยกว่ามาตรการใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ย่อมเกิดประโยชน์สุทธิโดยรวมต่อสังคม แต่หากมาตรการที่ถูกปรับลดหรือยุติลงไป มีความคุ้มค่ามากกว่ามาตรการใหม่ที่เพิ่มเข้ามา การเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ก็อาจไม่ใช่ข่าวดี เพราะสังคมโดยรวมจะเสียประโยชน์

นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ ผู้กำหนดนโยบายมักจะเลือกไม่ประกาศอย่างตรงไปตรงมาหรือยุติสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่มีปากเสียงน้อยในสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้คะแนนนิยมลดลงหรือไม่กลายเป็นข่าวร้าย (ใหญ่) ในสังคม กรณีเช่นนี้จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีโอกาสมากกับคนที่มีโอกาสน้อย (และมีปากเสียงน้อย) ทำให้เกิดความอยุติธรรมในสังคม หากมาตรการที่ปรับลดเป็นมาตรการในระบบสุขภาพก็มีแนวโน้มสูงที่มาตรการด้าน “การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค” จะถูกปรับลดลง ซึ่งมักมีความคุ้มค่าเพราะมักใช้ทรัพยากรน้อยเมื่อเทียบกับการรักษา และได้ผลดีในระยะยาว คือ ทำให้ไม่เจ็บป่วยหรือพิการ แต่ประชาชนไม่ทราบหรือไม่เห็นความสำคัญเร่งด่วนเฉพาะหน้าต่างจากมาตรการ “รักษาพยาบาล” ยกตัวอย่างเช่น มาตรการแจกและรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิด การคัดกรองโรคเบาหวาน มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือการรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การดูแลแบบองค์รวมเพื่อชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมาตรการเหล่านี้ยังมีประชาชนใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มาก

ด้วยเหตุนี้ ครั้งหน้าที่เราได้ยินข่าวการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์หรือนโยบายประชานิยมอื่น ๆ เราอย่าเพิ่งดีใจไปจนลืมตั้งคำถามว่า ข่าวนั้น ๆ เป็นข่าวดีจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ได้แก่

  1. หากนโยบายดังกล่าวไม่ได้รับงบประมาณหรือทรัพยากรเพิ่มเติม
    • มาตรการใหม่มีความคุ้มค่ากว่ามาตรการเดิมหรือไม่ วัดความคุ้มค่ากันอย่างไร?
    • มาตรการเดิมอะไรบ้างที่จะถูกปรับลดหรือมีแนวโน้มว่าจะต้องถูกตัดออกไป? มาตรการเหล่านั้นมีความคุ้มค่ามากกว่าหรือน้อยกว่าเพดานความคุ้มค่าใหม่หรือไม่? วัดกันอย่างไร?
    • แนวโน้มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีโอกาสมากกับคนที่มีโอกาสน้อยในสังคมเป็นอย่างไร?
  2. หากนโยบายนี้ได้รับงบประมาณและทรัพยากรเพิ่มเติม
    • งบประมาณหรือทรัพยากรที่เพิ่มเติมนั้นมาจากไหน?
    • สวัสดิการสังคมเดิมอะไรบ้างที่อาจถูกเบียดแทรกให้ลดลงเพราะบุคลากรจำกัด? สวัสดิการสังคมเหล่านั้นมีความคุ้มค่ามากกว่าหรือน้อยกว่าเพดานความคุ้มค่าใหม่หรือไม่? วัดกันอย่างไร?
    • แนวโน้มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีโอกาสมากกับคนที่มีโอกาสน้อยในสังคมเป็นอย่างไร?

  1. คนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์นี้ได้ โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเป็นผู้ตัดสินสุดท้าย↩
ยศ ตีระวัฒนานนท์
ยศ ตีระวัฒนานนท์
กระทรวงสาธารณสุข
Topics: Public economicsHealth economics
Tags: universal health coverageฺbenefit packageworthiness
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email