ข้อเสนอการกำหนดตลาดส่งออกเป้าหมาย: A Gravity Model Approach

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก ดร.ณัฐ ธารพานิช นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ มาเป็นวิทยากรบรรยายในงาน PIER Research Exchange ภายใต้หัวข้อ “ข้อเสนอการกำหนดตลาดส่งออกเป้าหมายของไทย: A Gravity Model Approach”
งานศึกษานี้ ใช้แบบจำลองแรงโน้มถ่วง (Trade Gravity Model) เพื่อศึกษาว่าไทยส่งออกไปยังตลาดสำคัญต่าง ๆ เต็มศักยภาพแล้วหรือไม่ โดยพิจารณาปัจจัยที่กำหนดมูลค่าการส่งออกระหว่างสองประเทศ (country-pair specific) ซึ่งได้แก่ระยะทาง และปัจจัยความคล้ายคลึงระหว่างสองประเทศ ทั้งทางกายภาพและที่จับต้องไม่ได้ รวมถึงปัจจัยที่กำหนดการส่งออกเฉพาะประเทศ (country specific) ผลการศึกษาพบว่าตลาดที่ไทยส่งออกไปน้อยกว่าศักยภาพ ได้แก่ จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และเกาหลีใต้ และที่ส่งออกไปเกินค่าศักยภาพได้แก่ ลาว บราซิล และเม็กซิโก นอกจากนี้ งานศึกษายังพบว่า สำหรับตลาดที่ไทยส่งออกไปต่ำกว่าศักยภาพ สินค้าไทยมีความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในการกำหนดตลาดส่งออกเป้าหมายมีปัจจัยที่ควรคำนึงถึง 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ การหาตลาดลูกค้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนการนำเข้าของโลกหรือเป็นตลาดที่สำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก (Consumer) การศึกษาศักยภาพการส่งออกของไทยไปสู่ตลาดข้างต้น (Potentiality) และการศึกษาความสอดคล้องระหว่างสินค้าส่งออกของไทยและสินค้านำเข้าของตลาดข้างต้น (Compatibility)