How much should central banks lean against the wind?

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จัดงาน PIER Research Exchange โดยได้รับเกียรติจาก คุณธีรัชฌ์ วงศ์รัตนพิบูลย์ นักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Carleton College มาบรรยายในหัวข้อ “How much should central banks lean against the wind?” โดย คุณธีรัชฌ์ ได้เล่าให้ฟ้งว่า ในช่วงหลังวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา ธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้นำนโยบายการเงินในลักษณะพิงกระแสลม (leaning against the wind) มาใช้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน (financial stability) และลดโอกาสของการเกิดปัญหาวิกฤตการเงินในอนาคต โดยนโยบาย leaning against the wind คือการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในลักษณะที่เร็วและมากกว่าในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น หรือการปรับดอกเบี้ยลงช้าและน้อยกว่าในช่วงเศรษฐกิจขาลง เมื่อเทียบกับการปรับดอกเบี้ยโดยพิจารณาจากปัจจัยด้านเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจเท่านั้น อย่างไรก็ดี แบบจำลองที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยด้าน financial stability เท่าที่ควร ในงานวิจัยนี้ คุณธีรัชฌ์จึงได้พัฒนาแบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium Model ที่ให้ความสำคัญกับโอกาสของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต โดยในการประเมินความเสี่ยงของวิกฤตเศรษฐกิจของธนาคารกลางนั้น ขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของสินเชื่อเป็นสำคัญ (loan growth)