อุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกผลไม้
บทสรุปผู้บริหาร
ผลไม้เป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง จึงทำให้ยอดคำสั่งซื้อของผลไม้บางชนิดลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกจำเป็นต้องปรับวิธีการขนส่งสินค้าไปเป็นทางบกหรือทางเรือ เพราะไม่สามารถใช้ช่องทางการขนส่งทางอากาศได้เป็นปกติในช่วงการปิดประเทศ ทำให้การควบคุมคุณภาพของผลไม้ที่ส่งออกไปทำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า เมื่อวิกฤตคลี่คลายลง แนวโน้มของตลาดผลไม้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศต่าง ๆ
ในปัจจุบัน การส่งออกผลไม้ของไทยพึ่งพาตลาดจีนมาก ซึ่งคนจีนมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปจีนได้ผ่าน “ล้งจีน” เพราะกระบวนการส่งออกไปประเทศจีนมีความยุ่งยากและซับซ้อนสูง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรดูแลให้อำนาจต่อรองระหว่างล้งจีนกับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยมีความเป็นธรรมมากที่สุด และไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
ในระยะต่อไป ผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ อาทิ รสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะคู่แข่งจากต่างประเทศ ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยควรพยายามหาตลาดใหม่ ๆ นอกเหนือจากจีน พยายามพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ผลไม้ใหม่ ๆ ปลูกผลไม้ในหลายชนิดและหลายสายพันธุ์ ยกระดับมาตรฐานการผลิต รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปให้สามารถตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ ได้
ภาครัฐควรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาต GAP เร่งการใช้ National Single Window สำหรับภาคเกษตรไทย เพื่อเพิ่มข้อมูลตลาดและผู้เล่น เพิ่มประสิทธิภาพและลดความยุ่งยากทางด้านเอกสาร นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการจัดตั้งการรวมกลุ่มสถาบันเกษตรกรไทยทั้งในและต่างประเทศ ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ และเร่งสร้างความตระหนักรู้ในผลไม้ไทยให้กับชาวต่างชาติ
ผลไม้เป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง ซึ่งแตกต่างจากอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ดังนั้น เมื่อประเทศพัฒนาขึ้น ประชากรมีรายได้สูงขึ้น จะหันมารับประทานผลไม้มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมผลไม้มีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ดีในอนาคต ทั้งนี้ อาจถือได้ว่า ผลไม้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) ในบางประเทศ โดยเฉพาะจีน ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานทุเรียนที่สะท้อนฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนจีนว่าอยู่ในระดับสูง
การปลูกผลไม้ต้องอาศัยความเอาใจใส่และความประณีตสูง อาทิ การปลูกมังคุดให้มีคุณภาพดีเป็นเรื่องยาก เพราะหากได้รับน้ำมากเกินไป อาจทำให้ผลผลิตที่ได้ออกมามีอาการเนื้อแก้วและยางไหล ซึ่งทำให้ราคามังคุดตกต่ำลง นอกจากนี้ ผลไม้หลายชนิดยังต้องผ่านการอบไอน้ำและรมยาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อยืดอายุของผลไม้ โดยเฉพาะลำไยที่ต้องรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งหากมากเกินไป อาจไม่ผ่านมาตรฐานการผลิตและทำให้ส่งออกไม่ได้ นอกจากนี้ ในกระบวนการส่งออก ผลไม้ควรจะไปถึงมือผู้บริโภคในต่างประเทศในระดับที่สุกพอดี อย่างไรก็ตาม การควบคุมระดับความสุกเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ ทำให้มีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งเลือกเดินทางเข้ามารับประทานผลไม้ในไทยเอง เช่น คนจีนเดินทางเข้ามาเพื่อรับประทานทุเรียนในประเทศไทยโดยเฉพาะ เพราะสามารถเลือกระดับความสุกของทุเรียนได้อย่างพอเหมาะ
การส่งออกผลไม้ไทยพึ่งพาตลาดจีนมาก สะท้อนจากขนาดตลาดและอุปสงค์ต่อผลไม้ไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรไทยต้องอาศัย “ล้งจีน” ในการส่งออกผลไม้ไทย เพราะการส่งออกไปตลาดจีนโดยตรงมีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก
ยอดคำสั่งซื้อผลไม้บางชนิดลดลงอย่างมากตามอุปสงค์ที่หดตัวในช่วงวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากผลไม้เป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง อาทิ ยอดคำสั่งซื้อทุเรียนของผู้ประกอบการบางรายที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ของยอดคำสั่งซื้อตามปกติ ในช่วงเกิดการระบาดอย่างรุนแรงในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน ก่อนที่ยอดคำสั่งซื้อจะกลับมาดีขึ้นบ้างเป็นร้อยละ 30–40 หลังวิกฤตเริ่มคลี่คลาย
วิกฤตโควิด-19 ยังก่อให้เกิดปัญหาในกระบวนการขนส่งผลไม้ด้วย เพราะไม่สามารถใช้ช่องทางการขนส่งทางอากาศตามปกติ ทำให้บางบริษัทต้องปรับตัวและหันมาใช้การขนส่งทางบกและทางน้ำแทน ซึ่งใช้เวลานานกว่าในการขนส่ง และทำให้การควบคุมคุณภาพของผลไม้ที่ส่งออกไปทำได้ยากขึ้น
ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้บางส่วนประสบปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากผู้ส่งออกจะต้องซื้อผลไม้จากเกษตรกรด้วยเงินสด แต่กว่าจะขายผลไม้ที่ซื้อมาได้ต้องใช้เวลานาน อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะ soft loan ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ได้ไปแล้วบางส่วน
เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องรับมือกับรสนิยมการรับประทานผลไม้ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ คนรุ่นใหม่ดื่มน้ำลำไยลดลง ซึ่งทำให้อุปสงค์ของลำไยอบแห้งลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยยังต้องรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วยในอนาคต โดยเฉพาะคู่แข่งจากต่างประเทศ อาทิ เวียดนามเริ่มที่จะปลูกทุเรียนบางสายพันธุ์มาแข่งขันกับไทย ทุนต่างชาติที่ลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เช่น ลาวและกัมพูชา ได้เข้าไปวางรากฐานเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ประเทศเหล่านี้เริ่มผลิตผลไม้มาแข่งขันกับไทยได้เช่นกัน นอกจากนี้ คุณภาพผลไม้ไทยที่เคยเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลก อาจประสบกับภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย อาทิ ทุเรียนที่คนจีนคิดว่าดีที่สุดในโลก อาจไม่ใช่ทุเรียน “หมอนทอง” จากไทยแล้ว แต่เป็นทุเรียน “มูซานคิงส์” จากมาเลเซีย ดังนั้น เกษตรกรควรพยายามวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ผลไม้ใหม่ ๆ และควรปลูกผลไม้แต่ละชนิดในหลากหลายสายพันธุ์ เพราะแต่ละพันธุ์ก็มีเวลาเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน
ผู้ประกอบการไทยควรหาตลาดการส่งออกใหม่ ๆ นอกเหนือจากจีน เพราะการพึ่งพาประเทศจีนเป็นหลักในการส่งออกเพียงประเทศเดียว ทำให้เกิดความเสี่ยงของการกระจุกตัว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไม่ควรส่งออกผลไม้ดิบแต่เพียงอย่างเดียว ควรสร้างสรรค์และแปรรูปผลไม้เหล่านั้นให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และยกระดับมาตรฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง
การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย แม้จะทำให้โอกาสในการส่งออกผลไม้ไทยมีเพิ่มขึ้น แต่อาจทำให้การแข่งขันในประเทศไทยสูงขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยต้องมีความเข้มแข็งและพร้อมปรับตัวเสมอด้วย
ภาครัฐต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาต GAP (Good Agricultural Practices หรือแนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด) อย่างเร่งด่วน โดยในปัจจุบันมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น อาทิ การออกใบอนุญาตที่ต้องอาศัยทั้งสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งจำนวนบุคลากรของสำนักงานมีไม่เพียงพอ ต้องว่าจ้างเจ้าหน้าที่จากองค์กรนอกจังหวัดมาตรวจและทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงขึ้นต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ การซื้อขายใบอนุญาตระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างผิดกฎหมาย
ภาครัฐควรเร่งจัดทำระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูล (National Single Window) สำหรับภาคเกษตรไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มข้อมูลตลาดและผู้เล่น เพิ่มประสิทธิภาพและลดความยุ่งยากทางด้านเอกสารในการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ สะท้อนตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น จีนสามารถตรวจสอบผ่าน National Single Window ได้ตลอดเวลาว่ามีสินค้าจากจีนส่งออกไปขายในไทย และมีสินค้าจากไทยเข้าไปขายในจีนมากน้อยเพียงใด ซึ่งเปิดโอกาสให้จีนรับรู้ข้อมูลอุตสาหกรรมผลไม้ไทยได้ดีกว่าประเทศไทยเองเสียอีก
ภาครัฐจะต้องพยายามขจัดการผูกขาด และต้องส่งเสริมกลไกตลาดให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้ จะต้องแก้ปัญหาและระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่นที่กำลังเกิดกับลำไยไทย ซึ่งถูกผูกขาดโดย “กลุ่ม 5 เสือ” ที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่ได้รับผลตอบแทนจากราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นเท่าที่ควร นอกจากนี้ แม้ว่าล้งจีนจะมีความสำคัญต่อการส่งออกผลไม้ไทยมาก แต่ภาครัฐควรดูแลให้อำนาจต่อรองระหว่างล้งจีนกับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยมีความเป็นธรรมที่สุด ไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน และจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกรไทยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้าให้แก่เกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น การขายผลไม้กีวี่ของเกษตรกรชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งสำนักงานขายในต่างประเทศ และถือว่าเป็นการส่งออกเชิงรุก
ภาครัฐควรเร่งเจรจาการค้าเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการผลไม้ไทยในการหาช่องทางการส่งออกใหม่ ๆ อาทิ ผู้ประกอบการบางรายที่หันไปส่งออกไปเกาหลีใต้แทนจีน แต่ภาษีส่งออกไปเกาหลีใต้จากไทยนั้นกลับสูงถึงร้อยละ 24–30 ซึ่งสร้างต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการมาก นอกจากนี้ ภาครัฐควรเจรจาและส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (local currency) ในการค้าขายกับประเทศต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนเงินวอนและบาทโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินให้แก่ผู้ประกอบการ
รัฐบาลไทยต้องยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ และสร้างความตระหนักรู้ในผลไม้ไทยให้กับชาวต่างชาติ โดยพยายามสื่อสารให้ต่างชาติเกิดความตระหนักรู้ว่า ประเทศไทยมีผลไม้อะไรบ้าง และมีคุณภาพดีเพียงใด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยเน้นการยกระดับข้าวและยางเป็นหลัก แต่ไม่ได้ให้ความสนใจผลไม้เท่าที่ควร
ภาครัฐอาจพิจารณาต่ออายุมาตรการที่สามารถช่วยเหลืออุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะมาตรการ soft loan