อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา
บทสรุปผู้บริหาร
ในภาพรวม ยอดขายของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศต่อหลายผลิตภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย แม้ว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดขายโดยรวมได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ตามการชะลอการลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนโดยส่วนใหญ่ก็ตาม
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวโดยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้รวดเร็วเท่าทันสถานการณ์มากขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นานเป็นปี ๆ วิกฤตที่เกิดขึ้นช่วยปลดล็อกให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ภายในเวลาเพียงแค่สองสัปดาห์ นอกจากนี้ กระบวนการขนส่งสินค้าสู่ร้านค้าปลีกต่าง ๆ ก็มีความรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย
อุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการส่งเสริมของภาครัฐในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เพราะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ในพื้นที่ EEC รวมทั้งผู้ประกอบการสามารถเน้นตลาดในประเทศได้มากขึ้น และไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูง อาทิ การเจาะตลาดสินค้าพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย การเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ส่วนบุคคล (Health-Related Personal Devices) การคิดค้นอุปกรณ์เชิงเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive care)
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญในระยะยาวของผู้ประกอบการไทยมีอยู่หลายประการ อาทิ
- อุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตในประเทศยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายของบุคลากรทางการแพทย์ในไทย ซึ่งนิยมนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
- การแข่งขันด้านราคาอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอุปกรณ์การแพทย์ และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดตลาดตามข้อตกลงการค้ากับต่างประเทศ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจาก BOI ซึ่งทำให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น
- ภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผลิตสินค้าเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้าแบบสำเร็จรูปได้ยาก และ
- การขาดความรู้และทรัพยากรที่เพียงพอในการลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ
ข้อเสนอแนะสำคัญต่อภาครัฐ ได้แก่
- การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคธุรกิจ
- การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- การปรับปรุงกฎระเบียบและภาษีที่เกี่ยวข้อง
- การสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ของไทยในหน่วยงานและโรงพยาบาลของทั้งภาครัฐและเอกชน 5) การบ่มเพาะ startup รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย
อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เตียงผู้ป่วย รถเข็น เตียงตรวจ
- วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง เข็มฉีดยา หลอดสวน และ
- ชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค อาทิ ชุดน้ำยาล้างไต ชุดตรวจการติดเชื้อ
ตลาดโลก อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ารวมคิดเป็นประมาณ 70 ล้านล้านบาท (ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2561) โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (ร้อยละ 76 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์รวม) รองลงมาเป็นกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (ร้อยละ 20) และกลุ่มชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (ร้อยละ 4) โดยประเทศที่ส่งออกเครื่องมือแพทย์สูงที่สุดในโลก ได้แก่ เยอรมนี รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่ประเทศที่นำเข้าสูงที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่ส่งออกในลำดับที่ 18 และนำเข้าเป็นลำดับที่ 33 ของโลก
ตลาดไทย อุตสาหกรรมมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.2 แสนล้านบาท (ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2562) โดย 1 แสนล้านบาท (ร้อยละ 83) เป็นการนำเข้า และ 20,000 ล้านบาท (ร้อยละ 17) เป็นการผลิตในประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ไทยผลิตสัดส่วนใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยา (ร้อยละ 41 ของมูลค่ารวม) รองลงมาคือ กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย (ร้อยละ 23) และกลุ่มชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค ซึ่งส่วนใหญ่ร่วมทุนกับต่างชาติมาลงทุนในไทย อาทิ น้ำยาตรวจโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับอักเสบ (ร้อยละ 5) ตามลำดับ
แม้ยอดขายโดยรวมในอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาชะลอตัวลงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 จากการชะลอการลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ แต่ในช่วงการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายปรับดีขึ้นตามอุปสงค์ภายในประเทศของอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาหลายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม เมื่อความตื่นตัวในการป้องกันตนจากโควิด-19 ของคนไทยลดลงในช่วงที่ผ่านมา อุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ประเภทที่เกี่ยวข้องก็ได้ปรับลดลงบ้าง ผู้ประกอบการบางส่วนจึงเน้นส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ยังมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอยู่ เช่น พม่า บังกลาเทศ อินเดีย
การปรับตัวที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์โควิด-19 คือ การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ๆ ให้รวดเร็วเท่าทันสถานการณ์มากขึ้น จากเดิมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ แต่จากวิกฤตที่เกิดขึ้นช่วยปลดล็อกให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ภายในเวลาเพียงสองสัปดาห์ นอกจากนี้ กระบวนการขนส่งสินค้าสู่ร้านค้าปลีกต่าง ๆ ก็มีความรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย
ผู้ประกอบการบางส่วนได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือ Soft loan ในช่วงโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงทำให้ธุรกิจยังดำเนินการต่อเนื่องได้
อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการจ้างแรงงานที่มีทักษะสูงและมีความพร้อมจะผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงได้มากขึ้น ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี เช่น AI หรือ Internet of Things เข้ามาช่วย รวมทั้งอุตสาหกรรมยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เพราะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ในพื้นที่ EEC โดยส่วนหนึ่งมีเป้าหมายในการผลิตและส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
โอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ สามารถเน้นไปที่ตลาดในประเทศได้มากขึ้น และไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูง อาทิ การเจาะตลาดสินค้าพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย การเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) การเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ส่วนบุคคล (Health-Related Personal Devices) โดยการใช้ AI และ Big Data ในการวินิจฉัยโรค การคิดค้นอุปกรณ์เชิงเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive care) รวมทั้งการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องมือใหญ่ จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น อาทิ อุปกรณ์สอดใส่ในเส้นเลือด การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจเน้นการผลิตไปที่ระดับไมโครมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยประสบกับความท้าทายอยู่หลายประการ อาทิ
- แม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะสามารถผลิตอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาหลายประเภทที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศด้วยราคาที่ถูกกว่า แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศมากนัก เนื่องจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในไทยยังคงนิยมสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีราคาสูงกว่า (ภาครัฐมักตั้งงบประมาณไว้สูงสำหรับสั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนให้มีสินค้าที่ผลิตในประเทศแทนจะช่วยประหยัดงบประมาณได้จำนวนมาก) นอกจากนี้ อุปสงค์ต่อสินค้าของผู้ประกอบการไทยมักจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภาวะวิกฤตเท่านั้น เช่น เหตุการณ์สึนามิ เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
- อุตสาหกรรมมีการแข่งขันด้านราคาอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามา โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติ ตามการเปิดตลาดจากข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ซึ่งจะทำให้บริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุปกรณ์การแพทย์ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
- อัตราภาษีนำเข้าชิ้นส่วน อะไหล่ และวัตถุดิบในการผลิตที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่อัตราร้อยละ 20–30 ทำให้ราคาสินค้าของผู้ประกอบการไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศมีภาษีอยู่ในระดับต่ำหรือไม่มีการจัดเก็บภาษี ทำให้ผลิตสินค้าเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้าแบบสำเร็จรูปได้ยาก
- ขาดความรู้และทรัพยากรที่เพียงพอในการลงทุน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ know-how และงบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การมีห้องปฏิบัติการนำร่อง (Pilot plant) เพื่อสร้างมาตรฐานการส่งออกที่ดี
การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดประสิทธิผล กล่าวคือ การจับคู่ทำงานร่วมกันระหว่าง “นักวิจัย” และ “ผู้ประกอบการ” โดยนักวิจัยจะทำหน้าที่คิดค้นทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนผู้ประกอบการจะนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (prototype) นั้นไปผลิตออกสู่ตลาดจริง ดังนั้น ความร่วมมือที่เหมาะสมและทันการณ์ จะสามารถทำให้เกิดประโยชน์เชิงธุรกิจ (commercialize) ซึ่งเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมในที่สุด
- สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อความร่วมมือ อาทิ การสร้าง platform เพื่อจับคู่หรือระดมความคิดตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงภาคการผลิตและภาคนโยบาย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) อาจจะเป็นจุดเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องได้
การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- ปรับปรุงระบบการให้ทุนวิจัย และร่วมกันลงทุนในการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้เอกชนสามารถรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภาครัฐได้ และทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา ในการร่วมกันคิดค้นทดลองเครื่องมือและอุปกรณ์ใหม่ ๆ โดยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้เพื่อพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าสูงเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
การเร่งปรับปรุงกฎระเบียบและภาษีที่เกี่ยวข้อง ลดอุปสรรคเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาของไทย สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้น อาทิ
- การอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีความรวดเร็ว การมีจำนวนศูนย์ตรวจสอบมาตรฐานที่มากขึ้น มีมาตรฐานและค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
- การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ อะไหล่ ชิ้นส่วนสำหรับการผลิตอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ
การสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ของไทยในหน่วยงานและโรงพยาบาลของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและคุ้นเคยให้กับสินค้าแบรนด์ไทย อาทิ
- การปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ส่งเสริมการจัดซื้อสินค้าของผู้ประกอบการไทยในหน่วยงานและโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น และมีการเบิกจ่ายที่รวดเร็ว ซึ่งช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันแต่ราคาสูง ประหยัดงบประมาณ และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาของไทยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
- กำหนดให้มีการนำอุปกรณ์ที่ผลิตโดยคนไทยไปใช้ในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาแพทย์คุ้นเคยอุปกรณ์เหล่านี้และมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการใช้งานสินค้าแบรนด์ไทยมากขึ้น และมี feedback เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ไทยพัฒนาขึ้นได้ต่อเนื่อง
- การมีมาตรการส่งเสริมการส่งออก สนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้านงบประมาณในการนำสินค้าไทยไปจัดแสดงยังต่างประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
การส่งเสริมให้มีระบบนิเวศที่บ่มเพาะ innovator ที่เป็นผู้ประกอบการ มีแนวคิดทางธุรกิจที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมให้มี startup ด้านการแพทย์จำนวนมากขึ้น