Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Policy Forumsforums
QR code
Year
2025
2022
2021
2020
...
/static/0434c70fa6d0d8be97ed46c36b5811a3/e9a79/cover.png
15 ตุลาคม 2563
20201602720000000
Industry Transformation Series

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์

ห้องประชุมสมานสโมสร อาคาร 2 ชั้น 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย
บทสรุปผู้บริหาร
  • อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการแข่งขันกันสูงตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 จากธุรกิจต่างชาติขนาดใหญ่ ซึ่งได้แย่งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทาน มีโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และยอมขาดทุนเพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มีเงินทุนจำกัดแข่งขันด้วยได้ยาก

  • วิกฤตโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย โดยเฉพาะธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่หยุดชะงัก อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าภายในประเทศยังเติบโตได้ เช่น ธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจขนส่งอาหาร ธุรกิจขนส่งพัสดุแบบเร่งด่วน

  • มองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ e-commerce ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งกระตุ้นให้การซื้อขายออนไลน์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นหลักในตลาด e-commerce ยังคงเป็นบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติจีน ขณะที่ผู้ประกอบการไทยทำหน้าที่ได้เพียงเป็นผู้ขนส่ง last mile และต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง

  • ผู้ประกอบการไทยสามารถรับมือกับความท้าทายและคว้าโอกาสในการเติบโตได้โดย

    1. ขยายตลาดในธุรกิจคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งยังมีผู้เล่นต่างชาติไม่มากนัก โดยต้องเร่งดำเนินการก่อนที่บริษัทต่างชาติจะกลายเป็นผู้เล่นหลัก
    2. ขยายธุรกิจเข้าไปในกิจกรรมสนับสนุน โดยเฉพาะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อย และ
    3. ร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ โดยการเป็น sub-contract ในการขนส่งสินค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งแบบ B2B ทางถนน ซึ่งยังเติบโตได้
  • ข้อเสนอแนะสำคัญต่อภาครัฐ ได้แก่

    1. การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจเพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทย เช่น การปรับปรุงกฎกติกาเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ
    2. การสนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี การเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล big data การสนับสนุน startup ด้านเทคโนโลยีและโมเดลขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ
    3. การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย

ภาพรวม ภาวะและการปรับตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยช่วงวิกฤตโควิด-19

  • อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนี้

    • กลุ่มธุรกิจตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (freight transportation and forwarder) เน้นการขนส่งทางทะเลและอากาศ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่
    • กลุ่มธุรกิจชิปปิ้ง (shipping) ดูแลด้านพิธีการศุลกากรในการส่งออกและนำเข้าสินค้า โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยรายเล็กจำนวนมาก
    • กลุ่มธุรกิจจัดเก็บและบริหารคลังสินค้า (warehousing) อาทิ คลังคุมอุณหภูมิ โดยปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการน้อยราย เพราะต้องอาศัยเงินลงทุนสูง แต่ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงที่บริษัทต่างชาติจะกลายเป็นผู้เล่นหลัก อาทิ บริษัทอาลีบาบา (Alibaba) ซึ่งเข้ามาลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) ทำให้มีโอกาสในการควบคุมโลจิสติกส์ทั้งระบบได้ง่าย เนื่องจากธุรกิจคลังสินค้าอยู่ในตำแหน่งตรงกลางของห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์
    • กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ (trucking company) มีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศให้บริการขนส่งทางบก โดยขนส่งสินค้าทั้งอุปโภคบริโภค และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนใหญ่ที่สุด

    นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่คอยสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อาทิ ธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและงานที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ แต่ในประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการน้อยราย

  • ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยมีการแข่งขันกันสูง จากการเข้ามาทำธุรกิจของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ ซึ่งได้แย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้าน B2B (Business to Business) และ B2C (Business to Consumer) เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทานเป็นทุนเดิม รวมถึงการมีโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขณะเดียวกัน บริษัทต่างชาติยังใช้กลยุทธ์เจาะตลาดแบบยอมขาดทุนเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจากมีเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอ ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันด้วยได้ยาก

  • วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบในทางลบต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยในภาพรวม โดยเฉพาะมาตรการปิดเมืองที่ทำให้ธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าภายในประเทศยังเติบโตได้ เช่น ธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ (e-commerce) ธุรกิจการขนส่งอาหาร (food delivery) ธุรกิจการขนส่งพัสดุแบบเร่งด่วน (logistics express) โดยเฉพาะอุปกรณ์การแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนัก

    • ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบางส่วนปรับตัวมารับขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเน้นปรับตัวให้เร็วและต้นทุนต่ำ
    • แม้ว่า e-commerce จะขยายตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่วิกฤตโควิด-19 ได้มาเร่งกระบวนการปรับตัวธุรกิจจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคและผู้ขายสินค้าเชื่อมโยงกันผ่านแพลทฟอร์มการซื้อขายออนไลน์อย่างกว้างขวาง และเอื้อให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เติบโตด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาด e-commerce ยังคงมีผู้เล่นหลักเป็นบริษัทต่างชาติ
  • อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถือเป็นตลาดที่รองรับแรงงานจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้างจากอาชีพอื่น ๆ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มการขนส่งสินค้าแบบ last mile อาทิ มอเตอร์ไซค์ขนส่งพัสดุ ส่งอาหาร หากแต่ดำเนินงานอยู่ภายใต้แบรนด์ธุรกิจต่างชาติ อาทิ Grab ของมาเลเซีย Gojek ของอินโดนีเซีย ซึ่งในทางกลับกัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในธุรกิจแบบ last mile ที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ

โอกาสและความท้าทายในระยะต่อไปของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย

  • มองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ warehousing และ trucking company ขณะที่กลุ่ม shipping มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากการมีบทบาทเพิ่มขึ้นของบริษัทต่างชาติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้บริการของกลุ่ม shipping เหล่านี้อีกต่อไป

  • ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแข่งขันของธุรกิจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในปัจจุบัน ได้แก่ ข้อมูล เทคโนโลยี การตลาดออนไลน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงแนวคิด (mindset) และรูปแบบการทำธุรกิจ เรียนรู้และสร้างแพลทฟอร์มใหม่ ๆ โดยอาจร่วมมือกันระหว่างธุรกิจ หรือร่วมกับภาครัฐในรูปแบบหุ้นส่วน เชื่อมโยงทรัพยากรและข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ทำให้ธุรกิจอยู่รอดและแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติได้

    • การตลาดออนไลน์เป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตที่สำคัญของธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ดังนั้น โลจิสติกส์จึงไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพ เช่น การจัดตั้งโรงเก็บสินค้าที่ปลอดภัย การบริการที่ดี ส่งของรวดเร็ว หรือดูแลลูกค้าได้ดีแต่เพียงเท่านั้น แต่โลจิสติกส์เป็นเรื่องของระบบและแพลทฟอร์มที่ดี ซึ่งสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภค สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสินค้าเข้าสู่ตลาดให้ตรงตามความต้องการผู้บริโภค กระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นได้อย่างตรงจุดและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ (ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยบางรายได้เริ่มพัฒนาแพลทฟอร์มแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก จึงทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคได้มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับแพลทฟอร์มของต่างชาติ)
  • ความท้าทายสำคัญของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ คือ การแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยแบบครบวงจร ซึ่งมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีข้อมูลผู้บริโภค มีเงินทุนสนับสนุน รวมถึงมีเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันด้วยลำบาก

  • ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถพลิกความท้าทายให้เป็นโอกาสได้ ดังนี้

    • มุ่งเอาตลาดในธุรกิจ “คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ” โดยเฉพาะกลุ่มแช่เย็น แช่แข็ง ซึ่งยังมีผู้เล่นต่างชาติไม่มากนัก โดยเน้นที่สินค้าด้านสุขภาพ อาหารคุณภาพสูงที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น (ซึ่งต้องเร่งดำเนินการก่อนที่บริษัทต่างชาติจะกลายเป็นผู้เล่นหลัก)
    • ขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มธุรกิจสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังมีน้อย โดยเฉพาะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี เช่น ผู้พัฒนา application หรือ Tech startup ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้ประสบความสำเร็จ
    • รักษาส่วนแบ่งตลาดการขนส่งทางบกแบบ B2B (ซึ่งผู้ประกอบการไทยในกลุ่ม Trucking Company ยังคงครองสัดส่วนตลาดกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มธุรกิจนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม) โดยสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติในลักษณะเป็น sub-contract หรือ outsource การขนส่งในประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งแบบ B2B ทางถนนที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวโดยการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับเป็น e-logistics อย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอแนะจากการเสวนาต่อภาครัฐ

  • ภาครัฐควรสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) เพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทย อาทิ การปรับปรุงกฎกติกาเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ซึ่งรวมถึงกำกับดูแลไม่ให้เกิดการทุ่มตลาดของบริษัทต่างชาติ

  • สนับสนุนและร่วมมือกับภาคเอกชนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเอกชนไม่สามารถลงทุนได้เองทั้งหมด เนื่องจากขาดความรู้และเงินทุน ได้แก่

    • เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับแต่ละระบบโลจิสติกส์ (customized technology) ไม่ใช่เทคโนโลยีสำเร็จรูป
    • แพลทฟอร์มกลางที่มีประสิทธิภาพ จูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้งานมากขึ้น โดยเชื่อมโยงข้อมูลผู้ใช้งานและฐานลูกค้า เพื่อนำข้อมูล big data มาวิเคราะห์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจเป็น e-logistics ได้จริง
    • การสนับสนุน startup ด้านเทคโนโลยี
    • สนับสนุนให้มีการพัฒนาและการใช้โมเดลธุรกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างจริงจังในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน
  • สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้สามารถพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้แข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้นและเกิดประโยชน์แก่ลูกค้าในที่สุด

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในการประชุมนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email