Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Policy Forumsforums
QR code
Year
2025
2022
2021
2020
...
/static/3a2e93cc1d8e8c9a3f33a9b8ac7553bd/e9a79/cover.png
23 พฤศจิกายน 2563
20201606089600000
Industry Transformation Series

อุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

ห้องประชุมสมานสโมสร อาคาร 2 ชั้น 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย
บทสรุปผู้บริหาร
  • การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เพราะส่งผลให้อุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโตสูง ทั้งธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุที่ยัง active และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ในขณะที่ สินค้าและบริการต่าง ๆ ในปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอและยังไม่มีความหลากหลายเมื่อเทียบกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • นอกเหนือจากความต้องการที่อยู่อาศัยและการดูแลสร้างเสริมสุขภาพแล้ว ผู้สูงอายุยังต้องการชีวิตทางสังคม พักผ่อนท่องเที่ยว รวมถึงเรียนรู้ในทักษะใหม่ ๆ เพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณและการสร้างรายได้ (ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินและระดับรายได้)

  • ข้อจำกัดของอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยัง active คือ จำนวนผู้ให้บริการและความหลากหลายของสินค้าและบริการที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (ยกเว้นในกลุ่มผู้สูงอายุรายได้สูง) ขณะที่ข้อจำกัดด้านทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital literacy) เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงต้องเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูง บุคลากรผู้ให้บริการที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ care giver มีไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ รวมถึงสวัสดิการของผู้สูงอายุที่ไม่ครอบคลุมต่อการดูแลในระยะยาว

  • อย่างไรก็ดี โอกาสสำหรับอุตสาหกรรมยังมีอีกมาก ทั้งในแง่ปริมาณและความหลากหลายของสินค้าและบริการ อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ การให้บริการด้านนิติกรรม การให้บริการทางการเงินและประกันภัย การให้บริการด้านอาหารและโภชนาการ ธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ

  • ความท้าทายในระยะต่อไปสำหรับธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่สำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจ nursing home และ home care ได้แก่

    1. การออกแบบบริการที่สอดคล้องกับความต้องการและความสามารถในการใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุหลากหลายระดับ เนื่องจากอนาคตผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้น และมีความมั่นคงทางการเงินที่แตกต่างกัน
    2. กฎหมายใหม่เพื่อควบคุมธุรกิจให้มีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องและยกระดับมาตรฐานการให้บริการ
  • ข้อเสนอแนะสำคัญต่อภาครัฐ อาทิ

    1. เร่งสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะ care giver
    2. สนับสนุนด้านการเงินและภาษีสำหรับผู้ประกอบการ
    3. กำกับดูแลการแข่งขันที่เป็นธรรม
    4. สนับสนุนประกันชีวิตและประกันสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์การรับประกันและผู้รับผลประโยชน์ รวมทั้งเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
    5. มีระบบข้อมูลผู้สูงอายุที่ใช้ร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน
    6. พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ active พึ่งพาตนเองได้นานที่สุด และให้ความรู้ทางการเงินเพื่อขยาย wealth span ของผู้สูงอายุ

ภาพรวมของอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

อุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ตามจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความหลากหลายในสถานะและระดับรายได้ อันส่งผลต่อความแตกต่างด้านพฤติกรรมและอุปสงค์ในสินค้าและบริการต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงอายุแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. กลุ่ม active aging ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดและมีอุปสงค์ในสินค้าและบริการที่หลากหลายตามระดับรายได้ แต่อุปทานของสินค้าและบริการโดยเฉพาะเจาะจงของผู้สูงอายุยังมีอยู่น้อย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไปที่ผู้สูงอายุเอามาปรับใช้ให้เข้ากับตนเอง และ

  2. กลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มอยู่ในภาวะพึ่งพิงและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง ธุรกิจหลักที่รองรับผู้สูงอายุกลุ่มนี้คือ nursing home และ home care

หากพิจารณากลุ่มผู้สูงอายุแยกตามระดับรายได้ จะสามารถวิเคราะห์อุปสงค์และอุปทานได้ดังนี้

กลุ่ม active agingกลุ่มที่เริ่มอยู่ในภาวะพึ่งพิงและ ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง
รายได้สูงมีกำลังซื้อสูงและพึ่งพาตนเองได้ มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง มีความสนใจในกิจกรรมบันเทิง การพักผ่อน การท่องเที่ยว การสร้างเสริมสุขภาพ อาหารเสริม anti-aging เวชศาสตร์ชะลอวัย ขณะที่ธุรกิจรองรับกลุ่มนี้มีอุปทานค่อนข้างมากและมีการแข่งขันสูงมีกำลังซื้อสูงสามารถใช้บริการ home care โดยจ้าง care giver ที่มีคุณภาพรวมถึงการมีแพทย์ พยาบาลไปดูแลที่บ้านได้ และมีอุปทานในการให้บริการที่ค่อนข้างเพียงพอ
รายได้ปานกลางมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัย การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ มีเงินเก็บบางส่วน แต่อาจไม่มั่นใจในคุณภาพของที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่จัดการโดยภาครัฐ ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น โดยอุปสงค์ในการใช้บริการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุจะสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันอุปทานของธุรกิจมีไม่เพียงพอ หากเป็นที่อยู่อาศัยที่จัดการโดยภาครัฐจะต้องรอคิวนาน แต่หากเป็นของเอกชนก็อาจจะราคาสูงเกินไป นอกจากนี้ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้บางส่วนยังต้องการทำงานหลังการเกษียณอายุ โดยบางส่วนเข้าถึงเทคโนโลยี สื่อสารผ่าน social media และมีความต้องการเรียนรู้ในทักษะและความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ทั้งเพื่อสร้างรายได้และเพื่อคลายความเหงากลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนมีอุปสงค์และสามารถเข้าถึงได้ทั้งบริการ home care และ nursing home ที่มีคุณภาพระดับหนึ่งได้ ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลางระดับล่าง มีอุปสงค์สูงและอาจจะใช้บริการที่มีราคาต่ำลง ซึ่งในปัจจุบันมีอุปทานของธุรกิจให้บริการจำนวนมาก แต่อยู่นอกระบบ โดยไม่มีการควบคุมตรวจสอบทั้งคุณภาพและมาตรฐานของสถานประกอบการ และมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงคุณภาพและมาตรฐานของ care giver
รายได้น้อยมีอุปสงค์สูงมากในการใช้บริการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากบางส่วนไร้ที่พึ่ง ต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพ และยังต้องทำงานหารายได้แม้ว่าจะเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว เนื่องจากไม่มีเงินเก็บ และต้องการการดูแลจากภาครัฐเป็นพิเศษในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านสังคม ด้านการเรียนรู้และการฝึกทักษะอาชีพ ขณะที่อุปทานในการให้บริการมีไม่เพียงพอต้องพึ่งพาภาครัฐ พึ่งพาลูกหลานและ ญาติพี่น้องเป็นหลัก ทำให้ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ขาดการดูแลสุขภาพอนามัยที่ดี ขาดผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญดูแล ขาดการรับบริการยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะค่าใช้จ่ายโดยรวมในการเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาลสูงเกินไป ขณะที่อุปทานในการให้บริการมีไม่เพียงพอ

หากพิจารณากลุ่มผู้สูงอายุแยกออกเป็นรายพื้นที่ จะสามารถวิเคราะห์อุปสงค์และอุปทานได้ดังนี้

  • กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในเขตเมือง (urban) ที่ยังเป็นกลุ่ม active ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือต่างจังหวัด และเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงโดยส่วนใหญ่ ยังมีอุปสงค์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเป็นหมู่คณะ การเข้าสังคม การเข้าถึงเทคโนโลยีและ social media ซึ่งปัจจุบันยังมีอุปทานของธุรกิจที่ให้บริการกลุ่มนี้ไม่มากนัก ขณะที่กลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิงในเขตเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอุปสงค์ในการใช้บริการ home care และ nursing home สูงขึ้นต่อเนื่อง และมีอุปทานให้บริการสูงเช่นกัน

  • ผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตชนบท (rural) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย จะมีอุปสงค์ที่เน้นไปที่การเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเป็นหลัก ทั้งในกลุ่ม active และมีภาวะพึ่งพิง ขณะที่อุปทานของการให้บริการที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงยังคงขาดแคลน

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีธุรกิจบริการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มอยู่ในภาวะพึ่งพิงและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • home care บริการให้คนไปดูแลที่บ้าน ซึ่งอาจจะเป็นญาติ คนรู้จัก การจ้างวานกันเอง อีกส่วนเป็นผู้ให้บริการเอกชนที่ให้บริการส่ง care giver ไปดูแลตามบ้าน

  • nursing home เป็นศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยติดเตียง ปัจจุบันธุรกิจนี้ขยายตัวจากจำนวน 400 ศูนย์เป็น 2,000 ศูนย์ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากมีอุปสงค์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ลักษณะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลของ nursing home ร้อยละ 80 ไม่สามารถเดินได้ และร้อยละ 50 ของผู้สูงอายุใน nursing home พูดไม่ได้ ส่วนที่เหลือเป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องดูแลด้านสุขภาพอนามัยเป็นพิเศษ และมีบางส่วนที่อยู่ในภาวะวิกฤติสามารถเสียชีวิตได้ตลอดเวลา ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันของ nursing home ในไทยจึงเป็นการดูแลผู้สูงอายุที่อายุมากและมีภาวะพึ่งพิงเป็นพิเศษ

  • hospice care มีลักษณะกึ่งบ้านกึ่งโรงพยาบาล โดยเน้นดูแลผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิงสูงที่เป็นโรคเรื้อรัง เริ่มมีในประเทศไทย โดยในอนาคตภาครัฐอาจจะมีกฎหมายก่อตั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

ข้อจำกัดของอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน

กลุ่ม active aging

  1. ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital literacy) ของผู้สูงอายุ อาจจะยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต้องปรับปรุงแอพพลิเคชั่นให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งานที่เป็นผู้สูงอายุเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคตได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ข้อจำกัดนี้ทำให้ผู้สูงอายุเข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ จากภาครัฐที่ให้ผ่านการลงทะเบียนในเว็บไซต์ เนื่องจากไม่รู้วิธีลงทะเบียน ประกอบกับขั้นตอน/เงื่อนไขการลงทะเบียนมีความยุ่งยากเกินไป อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น

  2. ทัศนคติ ความเชื่อถือของผู้สูงอายุต่อข้อมูลและการทำธุรกรรมในอินเทอร์เน็ตยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าผู้สูงอายุบางส่วนจะเข้าถึงโลกดิจิทัลแล้ว แต่ยังมีความไม่เชื่อถือในข้อมูลต่าง ๆ และเลือกที่จะเชื่อถือข้อมูลที่ส่งต่อจากคนรู้จักผ่านแอปพลิเคชันที่คุ้นเคยมากกว่า เช่น การส่งต่อข้อมูลทางไลน์

กลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มอยู่ในภาวะพึ่งพิงและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง

  1. การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะ care giver เนื่องจากการผลิตบุคลากรด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ รวมทั้งบุคลากรส่วนใหญ่ยังไม่ได้คุณภาพ ส่วนหนึ่งจากหลักสูตรการบริบาลในไทยเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพียง 6 เดือน วุฒิการศึกษา ม. 3 ก็สามารถสมัครเข้าเรียนได้ ซึ่งผู้เรียนยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการและดูแลผู้สูงอายุได้ครบถ้วน ทั้งเรื่องโภชนาการ การฟื้นฟูเพื่อทำให้กลับมาพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ โรงเรียนการบริบาลของไทยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ขณะที่ nursing home ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ผู้เรียนซึ่งอยู่ต่างจังหวัดไม่มีประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุ เพราะขาดที่ฝึกงาน และสถานที่ทดลองปฏิบัติจริง

  2. การแข่งขันด้านราคาสูงมาก โดยเฉพาะการตัดราคาของผู้ประกอบการนอกระบบ โดยผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย จะมีค่าใช้จ่ายด้านภาษี ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย พยายามเฟ้นหาและจ้างบุคลากร care giver ที่มีคุณภาพ รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น nursing home ถูกกฎหมายจึงมีค่าใช้จ่ายคงที่ (fixed cost) สูงกว่า

  3. ความไม่เพียงพอของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุจำนวน 600 บาท/เดือน ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำวันของผู้สูงอายุ รวมทั้งความครอบคลุมของประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่ไม่ทั่วถึง และทำให้ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุจนกระทั่งเสียชีวิตได้

  4. การเข้าไม่ถึงเงินทุนและสินเชื่อสำหรับการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถปรับปรุงสถานประกอบการ พัฒนาบุคลากร care giver ให้มีคุณภาพ รวมถึงสามารถเพิ่มจำนวน care giver โดยการให้ทุนการศึกษา และสามารถจัดหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการดูแลที่มีความก้าวหน้ามาใช้เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความสะดวกและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

  5. กฎเกณฑ์ภาครัฐบางอย่างที่มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วย กลับไม่มีความจำเป็นในทางปฏิบัติ แต่เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เช่น การบังคับให้สถานประกอบการมีอุปกรณ์การแพทย์ในการยื้อชีวิตผู้ป่วยที่มีราคาแพง ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายแทบทุกคนแสดงเจตน์จำนงค์ในการไม่รับบริการนี้

โอกาส ความท้าทายและการปรับตัวในระยะต่อไปของอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

ปริมาณและชนิดของสินค้าและบริการโดยเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้สูงอายุยังมีอยู่น้อย แม้ว่าตลาดสินค้าและบริการ รวมทั้งที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุจะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการในกลุ่มของ active aging ที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ และมีอุปสงค์ที่หลากหลาย รวมไปถึงอุปสงค์ในที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุในราคาที่เหมาะสมกับฐานะทางการเงิน ขณะที่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงก็มีอุปสงค์ใน nursing home และ home care ที่ได้มาตรฐานในจำนวนที่เพียงพอ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจทั้งในแง่ปริมาณและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และผู้ให้บริการ

นอกจากธุรกิจ nursing home และ home care ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุสัญชาติไทย และผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศไทยมากขึ้นแล้ว ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่มีโอกาสเติบโตได้จากอุปสงค์ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง มีดังนี้

  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยที่มีการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ในราคาที่เข้าถึงได้ และมีการดูแลสวัสดิการต่าง ๆ ในระยะยาว อาทิ มีบุคลากรทางการแพทย์และ care giver ดูแล มีนักโภชนาการคอยดูแลด้านอาหาร มีกิจกรรมสันทนาการและกิจกรรมกลุ่ม รวมไปถึงการมี “aging in place” ซึ่งเป็นแนวคิดในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ที่บ้านและชุมชนเดิมให้นานที่สุดโดยไม่ต้องย้ายไป nursing home หรือ hospice จะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจการให้บริการปรับปรุงบ้านพัก ที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากขึ้น

  • ธุรกิจให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินของผู้สูงอายุ เช่น โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบย้อนกลับ (reverse mortgage) ที่ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานมากขึ้น ประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุมากขึ้น ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตลอดช่วงชีวิตในราคาที่เหมาะสมกับสถานะทางการเงิน รวมถึงเงื่อนไขของการรับผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต รวมทั้งผลิตภัณฑ์ด้านการวางแผนการเงินระยะยาว เพื่อเพิ่ม wealth span ตั้งแต่อยู่ในวัยทำงานเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุด้วย

  • ธุรกิจให้บริการด้านนิติกรรมและการจัดการชีวิตให้ผู้สูงอายุ เช่น ชีวเจตน์ (living will) ว่าจะไม่ยื้อชีวิตกรณีเจ็บป่วยวิกฤตและเรื้อรัง การจัดการด้านกฎหมายและเอกสารต่าง ๆ

  • ธุรกิจการดูแลฟื้นฟูและสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย เวชศาสตร์ชะลอวัย การดูแลด้านทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ อาหารเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว) ซึ่งควรมีราคาที่เหมาะสมมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีราคาสูงมาก

  • ธุรกิจบริการขนส่ง เคลื่อนย้ายผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อไปโรงพยาบาล ในราคาที่เข้าถึงได้ ราคาใกล้เคียงกับแท็กซี่สาธารณะและกระจายทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่ โดยมีบริการช่วยเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุที่ติดเตียง/พิการ เพื่อให้สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจการให้คำปรึกษาผ่าน telemedicine และจัดส่งยาให้และบริการ care giver กระจายไปตามชุมชนหมู่บ้าน เพื่อลดการเดินทางและตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้ทั่วถึงมากขึ้น

  • ธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ (devices and package) เช่น สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต สมาร์ทว็อช เครื่องช่วยฟัง จีพีเอสนำทาง หุ่นยุนต์ดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์สมาร์ทโฮม และระบบติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อให้ลูกหลานสามารถติดตามและดูแลผู้สูงอายุขณะที่อยู่ลำพังได้ เป็นต้น

  • ธุรกิจผลิตอุปกรณ์ช่วยดำรงชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะทุพพลภาพ เช่น ช้อนเฉพาะสำหรับคนไข้ที่มือพิการ สามารถตักอาหารเองได้ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ที่ช่วยในการเดิน รวมไปถึงผ้าอ้อมอนามัยสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในราคาที่ไม่แพงมากนัก และมีศูนย์รับซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

  • ธุรกิจจัดการขยะที่เกิดจากการดูแลผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะขยะจากผ้าอ้อมอนามัยที่ต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสมและถูกสุขลักษณะ

  • ธุรกิจเกี่ยวกับความบันเทิงสำหรับผู้สูงอายุ/ทัวร์ผู้สูงอายุที่มีผู้ติดตามดูแลหรือ care giver ไปด้วย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีโอกาสท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธุรกิจในลักษณะนี้ยังมีให้เห็นไม่มากนักในประเทศไทย

  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ และฝึกทักษะใหม่ ๆ ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อคลายความเหงาและเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมหลังการเกษียณอายุ

ความท้าทายที่สำคัญในระยะต่อไปสำหรับธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ได้แก่

  • จำนวนผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรงและอยู่ในภาวะพึ่งพิงจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการใช้บริการ โดยเฉพาะการเข้ารับการรักษาเวลาเกิดความเจ็บป่วย เนื่องจากช่วงชีวิต (life span) ที่ยาวนานขึ้น แต่ health span ไม่ยาวตาม รวมทั้งขาด wealth span หรือขาดความมั่นคงทางการเงิน จึงทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในภาวะ “แก่ก่อนรวย” และ “ป่วยก่อนตาย” ทั้งนี้ ครัวเรือนบางส่วนเผชิญภาวะ double aging (การตกอยู่ในวัยผู้สูงอายุทั้งรุ่นพ่อแม่และรุ่นลูก) ส่งผลต่อการแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงเกินไปในบางครอบครัวที่มีภาวะพึ่งพิง
  • กฎหมายลูกภายใต้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มาตรา 3(3) ที่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 28 ม.ค. 64 จะมีผลควบคุมกิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง กำกับดูแลมาตรฐานต่าง ๆ ให้ยกระดับทั้งมาตรฐานสถานประกอบการ และมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงการกำหนดให้ผู้บริหารของสถานดูแลต้องประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพ เภสัชกร และนักสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรฐานของ care giver ที่ปฏิบัติงานในสถานดูแล กำหนดเกี่ยวกับการออกแบบอาคาร สถานที่ที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งในระบบและนอกระบบ

การปรับตัวของสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตต้องเน้นคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งการยกระดับเป็น hospice care เพื่อดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะที่ป่วยเรื้อรัง ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ทักษะ และเงินทุน เพื่อประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในภาวะต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

ข้อเสนอแนะจากการเสวนาต่อภาครัฐ

  • การเร่งสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่

    1. การสร้าง care giver ที่มีคุณภาพ ผ่านการมีหลักสูตรอบรมที่มาพร้อมกับการฝึกภาคปฏิบัติให้สามารถทำงานได้จริง มีสถาบันเข้ามาดูแลตรวจสอบให้ care giver เป็นวิชาชีพ มีมาตรฐาน และสร้าง career track เพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ นอกจากนี้ ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในอาชีพ care giver ต่อสาธารณชนให้มากขึ้น เพื่อให้มองเห็นโอกาสในการประกอบอาชีพ รายได้ และจูงใจให้คนหันมาประกอบอาชีพนี้มากขึ้น
    2. สร้าง care team หรืออาสาสมัคร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นอาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแล พูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลหรือตามชุมชนหมู่บ้าน และ
    3. เพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และนักโภชนาการที่เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ
  • การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้ health span ของผู้สูงอายุยาวนานขึ้นตาม life span ทำให้ผู้สูงอายุที่ active พึ่งพาตนเองได้นานที่สุด ลดการพึ่งพิงให้น้อยลง รวมทั้งเพิ่ม wealth span ให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น โดยต้องเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เรื่องการวางแผนทางการเงิน วางแผนสวัสดิการสุขภาพและการเกษียณอายุในวัยทำงาน (financial literacy)

  • การสนับสนุนการสำรวจและสร้างฐานข้อมูลกลางของผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีความเป็นปัจจุบัน มีการสำรวจและติดตามข้อมูลของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เช่น ข้อมูลจำนวนผู้สูงอายุ สถานะทางเศรษฐกิจ/สังคมของครัวเรือน ข้อมูลสุขภาพและการรักษาพยาบาล การเข้าถึงยา เพื่อให้ภาครัฐ ภาควิชาการ สามารถออกแบบนโยบายและมาตรการเพื่อดูแลผู้สูงอายุได้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และภาคธุรกิจเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำไปสู่การออกแบบสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองผู้สูงอายุกลุ่มต่าง ๆ ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

  • มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและภาษี ได้แก่

    1. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน/สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน/เงินกู้เพื่อการฝึกอบรมของกลุ่มคนที่ต้องการเป็น care giver และนักเรียนบริบาล ในอัตราดอกเบี้ยและอัตราผ่อนชำระคืนเงินกู้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืน
    2. การมีสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการ เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สิทธิพิเศษทางภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการสนับสนุนและจูงใจให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมากขึ้น
    3. การปรับปรุงประกันชีวิตและประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์การรับประกันและผู้รับผลประโยชน์ อาทิ ระบบประกันสุขภาพของผู้สูงอายุอาจให้มีการแก้ไขผู้รับผลประโยชน์ เมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิต ให้ผู้รับผลประโยชน์เป็นสถานดูแล nursing home เพื่อให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ต่อเนื่องไปจนกระทั่งเสียชีวิต และ
    4. การเพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพ และสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
  • การกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการกำกับสถานประกอบการที่อยู่นอกระบบ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียม และเป็นผลดีด้านคุณภาพที่สูงขึ้นในการให้บริการผู้สูงอายุ

  • สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการสนับสนุนให้เกิดระบบดูแลผู้สูงอายุร่วมกัน สร้าง social safety net ให้เกิดขึ้นในระดับชุมชน โดยเฉพาะภาครัฐ ควรมีนโยบายช่วยเหลือ สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อรองรับอุปสงค์ของกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีรายได้สูง ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกจำนวนมากในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ไร้ที่พึ่งและที่อยู่อาศัย

  • การออกมาตรการให้ทุกสถานที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมที่รองรับและอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุและผู้พิการ เช่น อาคารสถานที่ต่าง ๆ ต้องมีทางลาดสำหรับรถเข็น และมีบันไดน้อยที่สุด มีอุปกรณ์ช่วยเคลื่อนย้าย มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการพบปะและทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตประจำวันและชีวิตทางสังคมของผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้น

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในการประชุมนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email