Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Policy Forumsforums
QR code
Year
2025
2022
2021
2020
...
/static/3f5b46affe71521434d7c15fb66ce7cc/e9a79/cover.png
15 ธันวาคม 2563
20201607990400000
Industry Transformation Series

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

ห้องประชุมสมานสโมสร อาคาร 2 ชั้น 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย
บทสรุปผู้บริหาร
  • อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกที่ทำรายได้สูงสุดให้กับประเทศไทยมานานหลายทศวรรษ และมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความพร้อมเพียงพอที่จะก้าวเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคและของโลกได้

  • จุดเด่นสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย คือ การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี (พลอยสี) ของภูมิภาค รวมทั้งความสามารถของช่างฝีมือไทยในการเผาพลอยสีและเจียระไนพลอยที่มีคุณภาพและประณีต อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบในประเทศมีทรัพยากรเหลือน้อยและไม่เพียงพอสำหรับการผลิตอีกต่อไป

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างหนัก โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงจากในอดีต ทั้งจากการส่งออกสินค้าที่มีข้อจำกัดและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง และสูญเสียการจ้างแรงงานที่มีฝีมือไปบางส่วน

  • ปัญหาและข้อจำกัดของอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมต้นน้ำขาดแคลนวัตถุดิบและพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก อุตสาหกรรมกลางน้ำขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม และขาดการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมปลายน้ำขาดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย รวมถึงขาดการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก

  • โอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย คือ ความได้เปรียบในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมและการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงที่คู่แข่งและผู้ส่งออกสำคัญของโลกอื่น ๆ ดังเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง และอินเดีย ประสบปัญหาจากสงครามการค้าและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง

  • อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ด้านอุปสงค์ คือ ผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่นิยมเครื่องประดับทอง เพชร พลอย ต่างจากคนรุ่นก่อน รวมถึงแนวโน้มการแต่งงานที่น้อยลงในคนรุ่นใหม่อาจทำให้ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับน้อยลง ขณะที่ด้านอุปทาน ได้แก่ การสร้างแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นไปได้ยาก และต้องใช้เวลานานในการสร้างความเชี่ยวชาญ และข้อจำกัดในการพัฒนาสินค้าให้ทันสมัย มีคุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

  • ข้อเสนอแนะสำคัญต่อภาครัฐ แบ่งออกเป็น ระยะสั้น การให้สภาพคล่องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการลดภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถพยุงธุรกิจให้อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤต ระยะยาว การมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะนำมาสู่นโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการค้าต่างประเทศ ด้านการคลังและภาษี ด้านการศึกษาและพัฒนาแรงงาน ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และด้านการพัฒนาการตลาดและการสร้างแบรนด์ เป็นต้น

ภาพรวมของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

  • อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี และเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับประเทศมานานหลายทศวรรษ โดยทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับส่งออก และเป็นผู้ค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในระดับโลก ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความพร้อมที่จะก้าวเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคและของโลกได้

  • นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทย ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตมาจากธุรกิจ SMEs การผลิตต้องใช้ทักษะฝีมือ ความชำนาญเฉพาะ และความประณีต ที่ผ่านมาจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดการจ้างงานสูง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากกิจการขนาดเล็กบางส่วนทยอยปิดตัว ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้ทดแทนในกระบวนการผลิตมากขึ้น

  • โครงสร้างอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณี และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ โดยอุตสาหกรรมอัญมณี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเจียระไนเพชร และพลอย ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้ (เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง) และเครื่องประดับเทียม (อัญมณีสังเคราะห์) ทั้งนี้ แต่ละอุตสาหกรรมมีโครงสร้างภายในที่แตกต่างกัน มีรายละเอียดและลักษณะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม

  • จุดแข็งสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย คือ ความสามารถของช่างฝีมือในการเผาพลอยสีและเจียระไนพลอยที่มีฝีมือดี และมีคุณภาพดีที่สุดในโลกก็ว่าได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากฝีมือช่างต่างประเทศ เช่น ช่างจีน หรือเวียดนาม โดยแรงงานไทยส่วนใหญ่มีทักษะระดับกลางถึงสูง

  • ในอดีต ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่งหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีแรงงานราคาถูก ความสามารถในการเผาพลอยสีที่โดดเด่น แหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ และเป็นประเทศแรกที่มีการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า ความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่งลดลง และบริษัทขนาดใหญ่เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ อาทิ จีน เวียดนาม ซึ่งมีค่าแรงที่ต่ำกว่า ขณะที่การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของไทยปัจจุบันต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะทองคำ เพชร และพลอย เนื่องจากวัตถุดิบภายในประเทศเหลือน้อย จึงทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทยจำกัดอยู่ในขั้นกลางถึงปลายน้ำ

ปัญหาและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

  • อุตสาหกรรมต้นน้ำ ขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ และต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งต้องแบกรับความเสี่ยงด้านราคาและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีศุลกากร รวมถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ

  • อุตสาหกรรมกลางน้ำ ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่ควรเร่งแก้ไข โดยแรงงานเมื่อมีอายุมากขึ้นจะลาออกจากวงการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมนี้เท่าที่ควร ทำให้ขาดการถ่ายทอดองค์ความรู้และขาดแรงงานใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีในการผลิตเพราะขาดการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ ขณะที่ประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะจีน มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเงิน ทองและโลหะ อันโดดเด่น ส่วนอินเดียมีการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเจียระไนเพชรที่มีคุณภาพระดับโลก

  • อุตสาหกรรมปลายน้ำ มีอุปสรรคที่สำคัญคือ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทันสมัย ช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด และข้อจำกัดในการสร้างแบรนด์และมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทำให้ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ไม่นิยมเครื่องประดับทอง เพชร พลอย เน้นสินค้าที่มีมาตรฐาน และนิยมหาข้อมูลเปรียบเทียบราคาผ่านอินเทอร์เน็ตก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า นอกจากนี้ อุตสาหกรรมปลายน้ำในปัจจุบันยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่โน้มแข็งค่า ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

  • ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างหนัก โดยเฉพาะยอดการสั่งซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ลดลงอย่างมาก อีกทั้งคนทั่วไปในประเทศไทยมักเข้าใจว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจก็จะลดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยลง รวมทั้งการที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความนิยมในสินค้าประเภททองคำมากกว่า จึงทำให้ที่ผ่านมาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอื่น ๆ ต้องเน้นการส่งออกมากกว่าจำหน่ายในประเทศ ซึ่งในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 การค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับไปยังต่างประเทศก็ประสบปัญหา และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

  • ผลการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับยังไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้จริง และยังไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก เช่น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องเจียระไน โดยเมื่อทำได้ระยะหนึ่งกลับพบว่า เครื่องเจียระไนที่พัฒนาขึ้นมายังไม่สามารถสู้เครื่องเจียระไนของจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญได้ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งปิดช่องว่างของการวิจัยกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้จริง

โอกาสของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

  • ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับและการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนและฮ่องกง รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงในอินเดีย ซึ่งทั้งหมดเป็นประเทศผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญ และเป็นคู่แข่งของไทย ทำให้โดยรวมไทยยังคงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกได้ ซึ่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย และนักท่องเที่ยวกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง โอกาสที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจะกลับมาเติบโตและนำรายได้เข้าประเทศ เพิ่มการจ้างงานก็มีมากขึ้น

  • ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังเป็นคนไทย และเป็นธุรกิจ SMEs มีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจนี้ไม่มาก ดังนั้น อุตสาหกรรมนี้จึงยังถือเป็นอุตสาหกรรมของคนไทย ซึ่งช่วยสร้างรายได้และเพิ่มการจ้างงานให้กับคนในประเทศ สร้างทักษะฝีมือ และสินค้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของไทย ไม่ใช่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แบบประเทศอื่น

  • การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี (พลอยสี) ของภูมิภาค จากความสามารถในการเผาพลอยสี ยังคงเป็นจุดแข็งสำคัญของไทยที่ต้องรักษาไว้ โดยเฉพาะการรักษาองค์ความรู้ในการเผาพลอยและทักษะความประณีตที่อยู่ในตัวแรงงานทักษะขั้นสูงที่ต้องส่งต่อและถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปยังคนรุ่นหลัง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลานานในการบ่มเพาะความเชี่ยวชาญ

  • นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินการตามนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องกันและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด จะเป็นโอกาสที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้สามารถแข่งขันและเป็นผู้นำในตลาดโลกได้

ความท้าทายของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

  • ความท้าทายประการสำคัญของอุตสาหกรรม คือ วัตถุดิบ ที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งทองคำ เพชร และพลอยเนื่องจากวัตถุดิบในประเทศเหลือน้อยและไม่เพียงพอกับความต้องการ

  • การผลิตแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นความท้าทายสำคัญอีกประการของอุตสาหกรรม ซึ่งแท้จริงแล้วประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดหลักสูตรอัญมณีและเครื่องประดับในระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา แต่ปัญหาที่พบคือ นักศึกษาที่สนใจศึกษาในหลักสูตรนี้มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านนี้ได้

  • ความท้าทายในด้านอุปสงค์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่ไม่นิยมเครื่องประดับทอง เพชร พลอย เหมือนคนรุ่นก่อน รวมถึงแนวโน้มการแต่งงานที่น้อยลงในคนรุ่นใหม่อาจทำให้ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับลดน้อยลงด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ สร้างคุณค่าและการรับรู้ให้สอดคล้องกับรสนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภค

ข้อเสนอแนะจากการเสวนาต่อภาครัฐ

ระยะสั้น

  • การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องด้านการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs

  • การปรับลดภาษีให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระของผู้ประกอบการ

ระยะยาว

  • การมีความชัดเจนในการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้ประเทศ กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพที่รัฐบาลให้อำนาจในการดูแลอย่างชัดเจน กำหนดทิศทาง เป้าหมาย และวางตำแหน่งอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลกให้ชัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการดำเนินการตามนโยบายที่สอดคล้องกัน ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานมีการดำเนินการภายในที่เข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ยังขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน
  • การส่งเสริมกระบวนการผลิตแรงงานที่มีทักษะเข้าสู่อุตสาหกรรมให้มากขึ้น มีหลักสูตร re-skill up-skill และแบบ non-degree การออกแบบหลักสูตรที่สนับสนุนความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น
  • การสนับสนุนให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีมาตรฐานด้านราคาและคุณภาพ โดยอยู่ในลักษณะ standard policy และมีการตั้ง standard price ที่ใช้ร่วมกันในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ซึ่งในขณะนี้จีนได้เริ่มทำแล้ว เพื่อให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ส่งผลดีในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมในอนาคต
  • การปรับโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย และทำให้ระยะยาวช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ช่วยเชื่อมห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศและต่างประเทศ และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องประดับของไทยด้วย
  • การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สามารถใช้งานได้จริง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดและคู่แข่ง เพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในทุก ๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพของสินค้า การพัฒนาตลาดและการสร้างแบรนด์ เป็นต้น
  • การส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาถูก รวมถึงการผลักดันการค้าเสรีให้เกิดเป็นรูปธรรม ลดการกีดกันด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในการประชุมนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email